แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม


ในฐานะของผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งที่ผู้ดูแลทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุด ควรค่าแก่การเป็นมนุษย์มากที่สุด และเดินทางผ่านความตายได้อย่างเต็มศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ในที่สุด

แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม

ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างเพียงพอในด้านต่างๆ ต่อไปนี้

-  ความเจ็บป่วยทางกาย โดยเฉพาะการควบคุมความเจ็บปวด ดูแลให้เขาสามารถอยู่หรือทนกับความเจ็บปวดได้มากที่สุด

-    ความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ  เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักเกิดความรู้สึกไม่อยากจากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือบุคคลอันเป็นที่รัก จึงเกิดเป็นความทุกข์ทรมานทางใจ

-   ความทุกข์ทรมานด้านจิตวิญญาณ

-  ปัญหาทางครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม

และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและญาติมีความพร้อมที่จะเผชิญความสูญเสียจากการตายได้อย่างสงบ เขาควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

-  เหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ (การพยากรณ์โรค)

-  แนวทางการรักษาและการจัดการดูแล

-  ให้โอกาสในการปฏิบัติตามค่านิยมและความเชื่อต่างๆได้อย่างเหมาะสมทั้งนี้ การที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สามารถตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยระบบเครือข่ายการดูแลแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงเป็นทีมเดียวในลักษณะของสหสาขานั่นเอง

ปัญหาของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม

-  ทัศนคติ กระบวนทัศน์ของผู้ให้บริการจำนวนมาก ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น อาจคิดว่าการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีทางรอดเป็นการเสียเวลา ควรเอาเวลาไปดูแลคนที่มีโอกาสรอดจะดีกว่า เป็นต้น

-  ขาดทีมดูแลแบบสหสาขา (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น) ส่งผลให้การดูแลไม่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

-  ขาดทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการสื่อสาร การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตาย (dead and dying consulting) การดูแลเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความโศกเศร้าหลังการตาย ฯลฯ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือผ่อนคลายความทุกข์จากการสูญเสีย และดำเนินชีวิตต่อไปได้

-  ขาด consultation service team

 -  ขาดการเอาใจใส่ดูแลสภาพจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของญาติและครอบครัวผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยเช่นกัน

ทางออกของปัญหา

-  ปรับทัศนคติ กระบวนทัศน์ที่มีต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ รวมถึงญาติผู้ป่วย ให้เห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ทุกวินาทีที่เหลืออยู่ในชีวิตเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากที่สุด

-  ควรมีการประเมินผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของการเจ็บป่วย การรักษา การเผชิญความตาย การบอกความจริง เพื่อให้รู้ว่าควรบอกความจริงอย่างไร และควรให้ญาติเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพียงใด

-  ควรมีระบบสนับสนุนในการช่วยดูแลสภาพจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของญาติหรือผู้ดูแล โดยการประเมินปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข  รวมทั้งดึงให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมดูแลผู้ป่วยที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบและชัดเจน

-  ก่อนให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดูแลควรตรวจสอบสภาพจิตใจของตนว่าพร้อมให้บริการหรือไม่ รวมทั้งทำความเข้าใจว่าแม้จะพยายามเต็มที่ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย แต่บางครั้งผลที่ได้อาจไม่สวยงามดั่งหวัง ก็ควรทำใจให้ยอมรับเพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจและเป็นทุกข์ เพราะบางครั้งอาจต้องอาศัยความร่วมมือหรือเหตุปัจจัยหลายๆอย่างเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

-  ผู้ให้บริการควรตระหนักเสมอว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุด คือ การดูแลเอาใจใส่ ความเอื้ออาทร ห่วงใยถ่ายเทความรู้สึกเพื่อให้เห็นว่าเราเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน โดยให้การดูแลในลักษณะ cure sometime, comfort often, and care always

-  บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ให้บริการควรเชื่อมั่นในความรู้สึกดีๆที่มีให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งต้องมุ่งมั่น อดทน และตั้งใจจริงในการที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ไปสู่ปลายทางของการตายอย่างสงบได้ในที่สุด

ที่มา : การบรรยาย เรื่อง  ปัญหาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมโดยวิทยากร  ดร.วัชราภรณ์  อภิวัชรางกูล  พยาบาลวิชาชีพระดับ ๘ ประจำภาควิชาพยาบาลชุมชนและจิตเวช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อ.เมือง จ.ชลบุรี ในงาน สรุปการเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ครั้งที่ ๙ ณ ห้องประชุมอาคารเพชรรัตน์ ชั้น ๖ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล วันเสาร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 68033เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท