การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน(1)


ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูปการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ
แนวทางการดำเนินงานปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน 

เหตุผลและความจำเป็นในการปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียน

ในการปฏิรูปการศึกษา       โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ "เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข"             นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  .. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 ที่ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษา ของชาติไว้ในหมวดที่ 4 ตั้งแต่มาตรา 22 ถึง มาตรา 30 ซึ่งโรงเรียนได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ในการจัดการศึกษา  สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.      การจัดการศึกษาต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน/ ประสบการณ์การเรียนรู้ยึดหลักดังนี้

1.1       ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องจัดสภาวะแวดล้อม บรรยากาศ รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ต่างๆให้หลากหลายเพื่อเอื้อต่อความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจ เหมาะสมกับวัยและศักยภาพของผู้เรียน         เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกเวลา  ทุกสถานที่และเป็นการเรียนรู้กันและกัน   อันก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้   เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง บุคคล ชุมชนและทุกส่วนของสังคม

1.2       ผู้เรียนสำคัญที่สุด  การเรียนการสอนมุ่งเน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น  มีนิสัยรักการเรียนรู้ และเกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

2.      มุ่งปลูกฝังและสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับผู้เรียนโดยเน้นความรู้ คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและบูรณาการความรู้ในเรื่องต่างๆอย่างสมดุลเพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาโรงเรียนที่ว่า "ฉลาดและ มีคุณธรรม" รวมทั้งการฝึกทักษะและกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ใช้ความรู้โดยให้ผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

2.1       ความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม  ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก  รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของท้องถิ่นอยุธยา สังคมไทย และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.2       ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน

2.3       ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาสากล และการรู้จักประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

2.4       ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและเน้นการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง

2.5       ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ    และการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข 

กระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้กับผู้เรียน

โรงเรียนได้กำหนดแนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนดังนี้

1)       จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

2)       ให้มีการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

3)       จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

4)       จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม   และคุณลักษณะที่พึงประสงค์             ไว้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

5)      ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาผู้เรียน

6)      ส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนเรียนรู้ไปพร้อมๆกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ ตลอดจนภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น

7)      มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 

สภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนก่อนการปฏิรูปการเรียนรู้

เนื่องด้วยโรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา    เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า "ฉลาดและมีคุณธรรม"กล่าวคือนักเรียนทุกคนในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาจะต้องได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบในการแก้ปัญหา มีคุณธรรมจริยธรรมและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   ดังนั้นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน         จิระศาสตร์วิทยา นับตั้งแต่ก่อนจะมีการปฏิรูปการศึกษา  โรงเรียนได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษาอย่างมาเป็นระบบและต่อเนื่อง ดังนี้

1)      จัดทำหลักสูตรสถนศึกษา บริบทอยุธยามรดกโลก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ  ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน

2)      จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นพัฒนาความรู้ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง    คุณธรรมจริยธรรม และส่งเสริมให้มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี โดยให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งในโรงเรียน และในแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ-สถานแห่งชาติ  พิพิธภัณฑ์เรือไทย  ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา  ฯลฯ

3)      ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง โดยได้จ้างอาจารย์ชาวต่างประเทศจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จำนวน 8  คน มาทำการสอนประจำในโรงเรียน  พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยสอนและเน้นการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง

4)      จัดระบบการบริหารงานบุคลากรอย่างชัดเจน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานตามความถนัด ความสามารถ ความสนใจ โดยเป็นกรรมการฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายวิชาการ กิจการนักเรียน บุคลากร อาคาร-สถานที่ ธุรการ-การเงิน ความสัมพันธ์กับชุมชน รวมทั้งจัดตั้งกลุ่ม STAR (Small Team Activity Relationship) ให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนานักเรียนด้านการเรียน ด้านพฤติกรรม  และมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทุกฝ่าย

5)      จัดระบบการบริหารงานธุรการ-การเงินอย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส ถูกต้อง คล่องตัว อำนวยความสะดวกต่อการทำงานของทุกฝ่าย

6)      จัดบริเวณ อาคารสถานที่ให้มีความสะอาด เรียบร้อย สวยงาม เอื้อต่อการเรียนการสอนและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ตลอดจนมีการจัดห้องประกอบเพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีห้องเรียน  สีเขียว (ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ห้องคอมพิวเตอร์ ศูนย์อินเตอร์เน็ต  ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพนักเรียน  ศูนย์ข้อมูลพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

7)      เสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง   ชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการจัดการศึกษาและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์  โดยมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นกรรมการ และมีการประชุมผู้ปกครองเครือข่าย เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง           

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
18 ธ.ค.2549

หมายเลขบันทึก: 68028เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • อ่านเรื่องของอาจารย์
  • ทำให้นึกถึงตอนทำงานกับ สกศ
  • ตอนงาน KM ผมเดินหาอาจารย์แต่ไม่พบ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท