สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือจะเป็นเพียง "สภายุง"


(บทความนี้ผมเขียนลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ไทยนิวส์ ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2549)

ท่าน บก.ไทยนิวส์ (อ.อภัย บุญประเสริฐ) ได้แจ้งความประสงค์ว่าในโอกาสครบรอบ 1 ปีของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์  บทความจากคอลัมนิสต์กิตติมศักดิ์ทั้งหลายอยากจะให้มีเนื้อหาที่มีคุณค่าเป็นพิเศษเพิ่มมากกว่าบทความปกติในแต่ละเดือน โดยผมได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่อง สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่า เป็นผู้หนึ่งที่ผ่านการสรรหาจาก จ.ชุมพร ให้เข้าไปอยู่ใน 1,982 รายชื่อ ที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2549

ที่พิเศษหน่อยก็ตรงที่ชื่อ ไอศูรย์ เมื่อเรียงตามพยัญชนะ ปรากฎอยู่ลำดับที่ 1982 The Last Number ของบัญชีรายชื่อทั้งหมด เมื่อเอามาพูดถึงกันก็ใช้เป็นมุขเล็ก ๆ เรียกรอยยิ้มสนุก ๆ จากผู้ที่ให้กำลังใจว่า ขอให้ได้ผ่านเป็น The Last Number ลำดับที่ 200 และ 100 ต่อไปเถอะ (ซึ่งยอมรับว่ายากส์..สุด ๆ)

ผมเขียนคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 49 ดังนั้น ขณะที่ไทยนิวส์ฉบับนี้ออกจำหน่าย ผลการเลือกกันเองของสมาชิกสมัชชาฯ ทั้งหมดคงจะออกมาแล้ว เกรงว่าข้อมูลจะไม่อัพเดท ท่าน บก.บอกว่า ไม่เป็นไร เนื้อหาในเชิงหลักการเหตุผลของการมีสมัชชาแห่งชาติ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมือง ฯลฯ จะยังคงเป็นภารกิจสำคัญซึ่งคาดว่ามีความต่อเนื่อง ยาวนานไปตลอดปี 2550 จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศในปี 2551

ท่านขอให้ผมช่วยรับเป็นภารกิจในการถ่ายทอดเรื่องราวของการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมือง โดยใช้หน้าหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์เป็น เวทีเสวนาประชาธิปไตยเพื่อชาวชุมพร โดยเป็นการทำงานร่วมกับผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ทั้งใน จ.ชุมพร และภูมิภาคอื่น ๆ ท่านเชื่อมั่นว่า ผมจะทำหน้าที่ประสานงาน เชื่อมโยง และแสวงหาเรื่องราวต่าง ๆ มานำเสนอได้ ยกย่องให้เกียรติกันแบบนี้ ... ก็ OK ครับท่าน บก.

1. รายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 12 คน จาก จ.ชุมพร

ขอเริ่มต้นด้วยการนำรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาและรับรองคุณสมบัติ ได้รับการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการ เรียงตามลำดับที่ของบัญชีรายชื่อทั้งหมด จำนวน 12 คน จาก จ.ชุมพร มีดังนี้

427 นายทนง          สมร่าง

482 นายธงชัย        ลิ้มตระกูล

598 นายนิพล         แดงลาศ

739 นายประยูร       สงค์ประเสริฐ

746 นายประวิทย์     ภูมิระวิ

1260 นางวิภา         วิภาสวัชรโยธิน

1445 นายสมชาย    สุทธิรักษาวงศ์

1480 นายสมพงษ์   อินทรสุวรรณ

1551 นายสังคม      บำรุงราษฎร์

1628 นายสุชาติ      มีสมบัติ

1860 นายอวยชัย    วรดิลก

1982 นายไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

นอกจากนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพินัย อนันตพงศ์ ท่านก็ผ่านการสรรหาเป็น 1 ใน 36 คน ของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ได้รับการประกาศชื่ออยู่ในลำดับที่ 917

ยังมีชาวชุมพรอีกหลายท่านที่ผมเห็นรายชื่อ แต่ต้องขอยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด เนื่องจากจำนวนรายชื่อมีเยอะมาก บางท่านผมก็ไม่รู้จัก เกรงว่าจะมีการตกหล่น ผมจึงไม่ขอนำมาสรุปไว้ ณ ที่นี้

2. มีขั้นตอนในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน อย่างไร ?

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คน จากนั้นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นประธานในการประชุม ให้เลือกกันเองด้วยการลงคะแนนลับ 1 คนเลือกได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยจะเลือกสมาชิกจากภาคส่วนเดียวกันหรือต่างภาคกันก็ได้

ในขั้นตอนของการตรวจนับคะแนน ประธานฯ จะประกาศผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบ 200 คนเป็นผู้ได้รับเลือก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันในลำดับที่จะทำให้มีผู้ได้รับเลือกเกิน 200 คน ให้ใช้วิธีจับสลากเป็นการตัดสิน

รายชื่อสมาชิกฯ 200 คนที่ผ่านการคัดเลือก ประธานฯ จะแจ้งรายชื่อดังกล่าวไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 100 คน จึงจะนำขึ้นรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

นอกจากนั้นในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ประธาน คมช. จะแต่งตั้ง คณะผู้ยกร่าง 35 คน ซึ่งมีที่มาจากบุคคลทั้งในและนอก สสร. เพื่อนำเสนอผลการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สสร. เป็นลำดับไป

3. สมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่เหลือ 1,882 คน เข้าไปทำอะไร ?

หลายท่านอ่านขั้นตอนมาถึงตรงนี้ก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า สมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่เหลือ 1,882 คน ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ก็เปรียบเสมือน สภายุง เพราะมีอายุนับตั้งแต่ประกาศรายชื่อ จนกระทั่งไม่ผ่านการคัดเลือกเป็น สสร. นับได้ไม่เกิน 10 วัน ก็จะต้องกลับบ้านกันไปทำหน้าที่ปกติของแต่ละคน
มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผ่านการตั้งคำถามในที่ประชุมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ผมขอนำมาประมวล ดังนี้ 
-ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ได้ให้สิทธิ์ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้น ในส่วนของสมาชิก 1,882 คน ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งเป็นผู้แทนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น
-  การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองจะได้รับเสียงสะท้อนเป็นอย่างดี ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อให้ได้รับข้อมูลจริง มีการเชื่อมโยง ส่งต่อข้อมูลข่าวสารจากท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ผ่านตัวแทนส่งต่อถึงผู้แทนในส่วนกลาง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการวางหลักการและแนวทางปฏิบัติงานให้ชัดเจน
-  การทำงานของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่เปิดเวทีการมีส่วนร่วมในพื้นที่ ควรจะต้องเน้นเรื่องกระบวนการสร้างความคิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำข้อสรุปที่ได้จากเวทีประชาชน ส่งต่อไปยัง สสร.
-  ในเนื้อหาของการร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง มาตราไหนที่เป็นประโยชน์ก็ยังคงไว้ และแก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา เช่น การตรวจสอบการกระทำทุจริต การเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ เป็นต้น

สรุปก็คือ มีข้อเสนอให้ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 1,882 คน ทำหน้าที่เผยแพร่รัฐธรรมนูญสู่ประชาชน, จัดกิจกรรมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับท้องถิ่น, สรุปผลการจัดกิจกรรมรายงานต่อคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ, เป็นผู้ประสานงานระหว่างประชาชนในท้องถิ่นกับ สสร. สมาชิกสภานิติบัญญัติ และคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ

4. บทส่งท้ายก่อนถึงวันใช้สิทธิ์เลือกกันเอง

ผมทำการบ้านมาพอสมควรครับว่า ตัวเองจะใช้สิทธิ์เลือกใครใน 3 รายชื่อ ผมตั้งใจจะเลือกผู้ที่มีศักยภาพ มีความรู้เหมาะสมจะเข้าไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแทนเรามากที่สุด เพราะถือว่าการใช้สิทธิ์ของเราเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีเพื่อแผ่นดิน
รายชื่อที่ผมจะเลือกทั้ง 3 รายชื่อ เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องรู้เพราะผมไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ แม้ไม่มีใครทราบว่า ผมเลือกใคร แต่ตัวเราเองรู้ดีที่สุด และเราจะต้องซื่อสัตย์กับตัวเองโดยเฉพาะในการทำหน้าที่เพื่อแผ่นดิน.

 

หมายเลขบันทึก: 67516เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2006 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เห็นด้วยค่ะ การที่มีสมาชิกที่มาจากภาคส่วนต่างๆของประเทศแล้วไม่ควรให้หมดวาระไปในเวลาสั้นมากๆ น่าจะให้เป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่นและชุมชนเพราะแม้จะคัดเลือกมาในระยะเวลาสั้นๆก็ใช้งบประมาณไปมาก
ขอแสดงความยินดีกับพี่ด้วยอาจจะช้าไปหน่อย ผมว่าน่าจะมีวาระต่อเนื่อง ไม่น่าจะทำเพื่อให้ครบกระบวนการแล้วก็จบ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท