“ความเป็นกลาง” หลุมพรางดักนักวิจัย


นี่อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ ที่อยากจะพาตัวเองหลุดพ้นจากหลุมพรางของทฤษฏีงานวิจัยแบบสากล

 

"ผู้เขียนขณะกำลังเดินทางไปเป็นครูดอย หมู่บ้านกะเหรี่ยงในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2542"

 ย้อนกลับไปเมื่อผมยังเป็นนักวิจัยมือใหม่ (ปัจจุบันก็ยังใหม่ครับ) ผมมักคิดว่า อาชีพนักวิจัยนั้น มีบทบาทที่ชัดเจนแน่นอน คือ เราจะต้องสนใจแต่สิ่งที่เราจะทำวิจัยเท่านั้น เพราะเวลาเรามีจำกัด เรามีกรอบหรือ คุกที่เราต้องแบกติดตัวเป็นอัตลักษณ์ซ่อนเร้นไปกับตัวเราในทุกๆที่  

ไม่นานมานี้ ผมเจอนักวิจัยรุ่นน้องบางคน ที่กำลังศึกษาปริญญาเอก อาจด้วยความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ หรือเหตุปัจจัยอื่นๆประกอบกัน ทำให้เธอเหล่านั้นสนใจจะได้มาซึ่ง ข้อมูลมากกว่า ความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน  

นั่นคงคล้ายๆกับการที่นักศึกษาจำนวนมากเอาแต่เรียนเพื่อจะได้ใบปริญญาอย่างเดียว โดยไม่เหลียวแลประสบการณ์ด้านอื่นๆของชีวิต ไม่สนใจศึกษาปัญหาสังคมร่วมกับคนทุกข์ยาก   อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ในมหาวิทยาลัยไม่ใคร่พูดกันเท่าไร เพราะสนใจประเมินงานวิจัยจากการนำเสนอและจำนวนครั้งที่พิมพ์ จำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิง ความเป็นสากล จนมืดบอดต่อการประเมินงานวิจัยจากท้องถิ่นที่ถูกเข้าไปทำวิจัย  

 งานวิจัยต้องมีความเป็นกลางอันนี้เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งที่ถูกครอบจากวิทยาศาสตร์ ไม่เถียงว่าในการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ต้องมีความเที่ยงตรง ชัดเจน เป็นกลาง หมายถึงไม่เอาความรู้สึกของผู้วิจัยเข้าไปชี้วัด แต่ทางสังคมศาสตร์นั้น ถือว่าใช้ไม่ได้

ในนิยามของผมซึ่งไม่ได้อ้างอิงตำราเล่มไหนเห็นว่างานวิจัยทางสังคมศาสตร์เป็นการศึกษาวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเรียนรู้เข้าใจสังคมมนุษย์และปลดปล่อยมนุษย์จากอคติต่างๆที่ครอบงำอยู่ เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในแง่ที่มีผลปฏิบัติการต่อสังคมเช่นนี้ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์จึงไม่สามารถเป็นกลางได้ เพราะมันเอียงมาทางข้างความยุติธรรมซึ่งอยู่คนละขั้วกับความอยุติธรรม   

มิหนำซ้ำ หากดูประวัติศาสตร์งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ในยุคที่ผ่านๆมา ก็จะเห็นว่ามันถูกสนับสนุนให้สร้างความรู้ /ตอกย้ำความชอบธรรมที่รัฐก็ดี จักรวรรดินิยมก็ดีจะใช้อำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ การศึกษาเข้าไปจัดการประเทศเล็กๆ ชนกลุ่มเล็กๆที่อ่อนแอกว่า  

อะไรคือความเป็นกลาง??? อันนี้ คงต้องมาพูดกันให้ชัด แต่จะให้งานวิจัยเป็นกลางไปทุกมิตินั้น เป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยภาษาที่ใช้ก็ไม่เป็นกลางแล้ว (เพราะเป็นภาษาของชนชั้นกลางที่กีดกันภาษาของคนกลุ่มอื่นๆ)  

และที่ไม่สามารถเป็นกลางได้ หรือถ้าจะเป็นก็ยากมาก และผมก็ไม่เห็นด้วยถ้าจะนักวิจัยเป็นกลางในเรื่องนี้ ก็คือ เป็นกลางต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านหลายคนมักจะอ้างว่า ตัวเองไม่มีเวลาบ้าง ตัวเองเป็นคนเล็กๆจะไปช่วยอะไรเขาได้ บ้างก็ยกเอางานมาอ้างเลยว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของนักวิจัย ผมบอกเลยว่า นี่แหละเป้าหมายสูงสุดของนักวิจัย คือทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาของเขาเองบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่ชัดเจนรอบด้าน   

มิใช่วิจัยแล้ว มุ่งเอาไปแก้ปัญหาของนักวิจัยเอง  

ผมคิดว่าการจะบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้ อย่างแรก นักวิจัยหน้าใหม่ต้องยอมลอกคราบตัวเองออกเสียก่อน ให้รู้เท่าทันว่าระบบการเรียนการสอนเรื่องวิจัยที่เราเรียนในห้องในภาคทฤษฎีนั้นมันมีจุดบอดมากมาย เราจึงต้องให้ชุมชนและชาวบ้านสอนเราให้มากๆ  

                "ผู้เขียนขณะถอดความหมายพิธี "สมาตาเว" ของชาวลาหู่ยี 
               จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ สื่อวิดีทัศน์ประกอบ เมื่อต้นปี 2549"

ด้วยเหตุนี้ เราพึงตอบแทนพวกเขา แม้ไม่ได้ด้วยการทำให้พวกเขาพ้นทุกข์มากมาย แต่ก็ด้วยใจเมตตา หรือใช้ความรู้ของเราช่วยเขาในเรื่องเล็กๆน้อยตามโอกาส  ถ้าไปดูหลัก สังคหวัตถุ 4 นี่ใช่เลย ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา นี่ครบหมด  

นี่อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ ที่อยากจะพาตัวเองหลุดพ้นจากหลุมพรางของทฤษฏีงานวิจัยแบบสากล  

 

ใครสนใจ ลองอ่านเพิ่มเติมในบทความของผมตามชื่อที่ให้ไว้ข้างล่างนี้นะครับ  

 

วิสุทธิ์  เหล็กสมบูรณ์. 2546. การเขียนงานทางมานุษยวิทยากับการศึกษา ความเป็นจริงทางสังคม : มุมมองจากสตรีนิยม. ใน อานันท์  กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). 2546. ทะลุกรอบคิดของทฤษฎี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร        

หมายเลขบันทึก: 66836เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ภาพแรก เหมือนเรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่เลย

มาเสพความรู้ครับผม...

ส่วนบทความที่แนบมาตอนท้ายบันทึก หาอ่านจากที่ไหน มี Link มั้ยครับพี่วิสุทธิ์

  • เป็นกำลังใจให้นะครับ
  • ชื่นชมครับ

สำหรับบทความที่ผมให้ชื่อไว้ ไม่มีลิงค์ครับคุณจตุพร แต่ยังไงผมจะส่งเป็น attach file ไปให้ (ถ้าผมหาเจอนะครับ)

 ยินดีต้อนรับ Mr. Kamphanat และขอขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ

วิจัยสมัยนี้เห้นแต่ข้อมูล ไม่เห็นคน

ครูสมัยนี้ก็เห็นแต่วิชา ไม่เห็นคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท