mini-UKM-MSU: ครูมืออาชีพ (๖) มาตรวัดด้านคุณธรรมจริยธรรม (แบบตะวันตก)


การวัดคุณธรรมจริยธรรม เกือบทั้งหมดที่สืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ตสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ ขอเรียกด้วยสำนวนตนเองว่า แบบตะวันตก และ แบบตะวันออก ... ที่น่าสนใจ (และน่าน้อยใจ) มาก ๆ คือ งานวิจัยด้านการวัดผลประเมินส่วนใหญ่ เป็นแบบตะวันตก (ตามฝรั่ง) ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่มีคำสอนเรื่อง "จิต" และ "เจตสิก" อันครอบคลุมคำว่า "เจตคติ" ที่นิยามขึ้นตามฝรั่งแทนคำว่า "Attitude" ... การเห่อตามฝรั่งแบบนี้ก่อเกิดผลรุนแรงถึงขึ้นเปลี่ยนความรู้ความเห็นของคนทั้งประเทศได้เลย ดังเช่น กรณี "พุทธอุบัติภูมิ" ที่ผมเคยเขียนไว้ที่นี่

ทฤษฎีการวัดผลทางการศึกษา บอกว่า การวัดผลประเมินผลด้านคุณธรรมจริยธรรม คืออันเดียวกับ การวัดผลทางเจตคติ (Attitude) ตามทฤษฎีลำดับขั้นการเรียนรู้ของบลูม (Bloom' Taxonomy) ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) จึงใช้เครื่องมือวัดแบบต่าง ๆ ที่ใช้วัดเจตคติมาใช้วัดคุณลักษณะด้านคุณธรรม....ดังนั้น หากเราจะสร้างเครื่องมือวัดคุณธรรมและจะทำให้เป็นที่ยอมรับ ควรจะเริ่มศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่อง "เจตคติ" นี้เป็นเบื้องต้น

จากการศึกษา ผมพบว่า การทบทวนวรรณกรรม (literature review) ในเอกสารภาษาไทยที่ผมสืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ตหลากหลายที่ กล่าวอ้างถึงผลงานของนักการศึกษาไทยโดยไม่อ้างไปถึงต้นคนแห่งความคิดนั้น โดยเฉพาะเรื่ององค์ประกอบของเจตคติ ... เอกสารที่ทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้ได้ที่สุดที่สืบค้นดาวน์โหลดได้ที่นี่  (เอกสารอื่นก็พบมีบ้าง ที่นี่  ที่นี่ หรือ ที่นี่ )


เนื่องจากความรู้น้อยไป เวลาก็น้อยด้วย จึงไม่สามารถจะศึกษาสังเคราะห์เขียนแบบอ้างอิงตามหลักสากลได้อย่างสมบูรณ์ จึงขอเขียนแบบสรุปความเกี่ยวกับองค์ประกอบของเจตคติโดยไม่ขออ้างอิงถึงต้นคนแห่งความรู้นั้น ดังต่อไปนี้ครับ

๑) นิยามและองค์ประกอบของเจตคติ

ราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า เจตคติ คือ ท่าที ความรู้สึก ความคิดเห็นของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)

ทฤษฎีที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดทฤษฎีหนึ่งเมื่อกล่าวถึงความหมายของ "เจตคติ" คือ การนิยามตามความคิดของเทอร์สโตน (Thurstone) ผลงานของเขาที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ถูกตีพิมพ์ในช่วงปี 1926-1931 นักจิตวิทยาที่เห็นด้วยกับเทอร์สโตน ได้แก่ Bem, Fishbein & Ajzen, Insko

  • เทอร์สโตน บอกว่า เจตคติ คือ....the sum-total of a man's inclinations and feelings, prejudice or bias, preconceived notions, ideas, fears, threats, and convictions about any specific topic. (คลิกที่นี่)  แปลโดยรวมว่า เจตคติ คือ ความโน้มเอียงภายในใจและความรู้สึก เช่น ความอิจฉา อคติ ยึดมั่นอุปาทาน ความคิด ความกลัว รู้สึกว่ามีภัยคุกคาม และความเชื่อมั่น (ยึดมั่น) ในสิ่งหนึ่ง 
  • สังเกตว่า เทอร์สโตน บอกว่า เจคคติ มีเพียงองค์ประกอบเดียวคือ ความรู้สึก เท่านั้น
การให้นิยามของคำว่า เจตคติ แตกต่างกันอย่างมากระหว่าง การให้นิยามเชิงจิตวิทยา (Psychological definition) และการให้นิยามเชิงสังคมวิทยา (Sociological definintion)
  • นักจิตวิทยาบอกว่า เจตคติ คือสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม (Behavior) ของมนุษย์ต่อสิ่งใดหรือบุคคลใดๆ  หากจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องไปเปลี่ยนที่เจตคติ 
  • ส่วนนักสังคมวิทยา บอกว่า เจตคติ และ พฤติกรรม นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ พฤติกรรมนั้นเกิดจากความจงใจหรือตั้งใจ ส่วนเจตคติเป็นปัจจัยภายใน เป็นแนวโน้ม (Inclination) ที่อาจส่งลให้เกิดพฤติกรรมนั้น ๆ  ดังนั้น หากต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนเจตคติเพียงอย่างเดียว 
ในปี 1960 M.J.Rosenberg และ C.I.Hovland ได้เสนอว่า เจตคติมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ๓ ด้าน ได้แก่ คือ cognitive (ด้านปัญญา) affective (ด้านความรู้สึก) และ behavioral (ด้านพฤติกรรม) แม้ว่าตอนนั้นยังไม่สามารถอธิบายเชื่อมโยงกับผลการสังเกตได้ดีนัก (คลิกอ่านเองที่นี่)  ต่อมา Breckler (1984) ได้พัฒนาเครื่องมือวัดตามแนวคิดนี้ที่รู้จักกันดีในชื่อ ABC model (คลิกที่นี่)
  • Affective conponent (ด้านความรู้สึก) คือ เจคติที่เกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่เป็น attitude object โดยสามารถแสดงออกได้หลากหลายมาก เช่น บางคนรู้สึกกลัวแมงมุม ทำให้มีเจตคติทางด้านลบในการตอบสนองต่อแมงมุม เป็นต้น 
  • Behavioural component (ด้านพฤติกรรม) คือ เจตคติที่เกิดจากพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมา จากประสบการณ์การตอบสนองต่อ attitude object  กล่าวคือ เจตคติจะเกิดจากการกระทำที่ผ่านมา 
  • Cognetive component (ด้านปัญญา) เป็นเจคติที่เป็นผลจากความเชื่อ ความคิด การให้คุณค่าหรือความหมายต่อ attitude object ซึ่งบุคคลจะมีเจตคติที่ดีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าความสำคัญในทางบวกหรือทางลบต่อสิ่งนั้น ๆ 
นักจิตวิทยาที่สนับสนุนแนวคิดว่า เจคติมีองค์ประกอบ ๓ ด้านนี้ได้แก่ Kretch, Crutchfield, Pallachey, และ Triandis (อ่านจากเอกสารนี้)

โดยภาพรวม (จากการสืบคนวรรณกรรมที่ทำกันมา) แบ่งองค์ประกอบของเจตคติ ๑, ๒, ๓,  ๕ องค์ประกอบ และแบ่ง "ระบบเจตคติ" ออกเป็น ๕ องค์ประกอบ ได้แก่ 
  • มีเพียง ๑ องค์ประกอบ คือ ความรู้สึกหรืออารมณ์ (Affective)
  • แบ่งเป็น ๒ องค์ประกอบ ได้แก่ 
    • ด้านความรู้สึกหรืออารมณ์ 
    • ด้านการรับรู้หรือการคิดหรือด้านปัญญา (Cognitive)
  • แบ่งเป็น ๓ องค์ประกอบ ได้แก่
    • ด้านความรู้สึกหรืออารมณ์ 
    • ด้านปัญญาหรือความคิด 
    • ด้านพฤติกรรม (Behavioral) 
  • แบ่งระบบเจตคติออกเป็น ๕ องค์ประกอบ (อ่านที่นี่)ได้แก่
    • ด้านความรู้สึกหรืออารมณ์
    • ด้านปัญญาหรือความคิด 
    • ด้านความตั้งใจทางพฤติกรรม (Behavioral intentions) 
    • ด้านพฤติกรรม (Behaviors)
    • ด้านเจตคติ (Attitude)
เมื่อกำหนดนิยามเบื้องต้นของ เจตคติ แล้ว ก่อนจะสร้างเครื่องมือวัด จะต้องนิยามคุณลักษณะของคุณธรรมแต่ละข้อ เช่น  ความชื่อสัตย์  ความรับผิดชอบ ความเสียสละ เป็นต้น ก่อนจะออกแบบเครื่องมือต่อไป

๒) ประเภทของเจตคติ

เจตคติมี ๓ ประเภทตามการแสดงออก ได้แก่

  • เจตคติเชิงบวก เห็นด้วย จะร่วมด้วย พึงพอใจ ชอบ ฯลฯ
  • เจตคติเชิงลบ ไม่เห็นด้วย ต่อต้าน ไม่พึงพอใจ เกลียด ฯลฯ
  • เจตคตินิ่งเฉย ไม่แสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นต่อสิ่งเร้า ฯลฯ 
บางท่านบอกว่าเจตคติมี ๒ ประเภท คือ แบบบวกและแบบลบ หรือก็คือ ๒ ประการแรก 

๓) ลักษณะของเจตคติ

คุณลักษณะของเจตคติตามคติฝรั่ง มีดังนี้

  • เจตคติ เกิดจากประสบการณ์ตรง ประสบการณ์ฝังใจ เกิดจากการเรียนรู้ ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (สืบค้นชื่อนักจิตวิทยาชื่อ อัลล์พอร์ต, Allport) เกิดขึ้นภายหลัง จากอิทธิพลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 
    • ครอบครัว 
    • วัฒนธรรม
    • กลุ่มเพื่อน
  • เจตคติ เป็นแรงจูงใจ แนวโน้มภายในใจ มีผลต่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เป็นแรงผลักดัน เช่น เกิดความกล้าเผชิญ หรือหลีกเลี่ยง เห็นด้วยหรือต่อต้าน ฯลฯ  ไม่สามารถจะวัดได้โดยตรง 
  • เจตคติ มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของบุคคล แต่พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกอาจไม่ตรงกับเจตคติก็ได้ 
  • เจตคติ มีระดับรุนแรงต่าง ๆ  เจคติต่อบางสิ่งคงทน ฝังลึกภายในใจ เปลี่ยนแปลงได้ยาก ทำให้เกิดนิสัย  แต่เจตคติต่อบางสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเพียงได้ประสบการณ์ใหม่หรือความรู้หรือข้อมูลที่ครบถ้วน 
  • เจตคติ เกิดกับทุกสิ่งอย่าง ทั้งกับคน สัตว์ สิ่งของ สถาบัน ขบวนการ แนวคิด ฯลฯ   

๔) การเปลี่ยนเจตคติ

การเปลี่ยนเจตคติตามคติฝรั่ง เกิดขึ้นเมื่อ

  • ยินยอม (compliance) หรือยอมรับ ยอมตาม เชื่อฟัง อ่อนข้อ ฯลฯ  เกิดขึ้นเมื่อบุคคลยอมรับในสิ่งที่มีอิทธิพลที่เหนือกว่าตัวเขา  อาจเป็นการยินยอมกระทำตามเพื่อหวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนหรือไม่ต้องการจะรับการลงโทษ   
  • การเลียนแบบ (identification) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น พลังผลักดันให้เปลี่ยนเจตคติจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับการโน้มน้าวใจของสิ่งเร้าที่มีต่อบุคคลนั้น 
  • ความต้องการจะเปลี่ยนแปลงจากภายใน (internalization) เป็นความต้องการที่แน่วแน่ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งมักเกิดจากการยอมรับต่อค่านิยมหรืออิทธิพลจากภายนอกที่ตรงกับความต้องการภายใน 
แนวทางนี้สอดคล้องกับลำดับความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs) คลิกที่นี่


๕) วิธีการวัดและมาตรวัดเจตคติ

วิธีการวัดทั้ง ๕ ขั้นตอนนำเสนอไว้ในบันทึกนี้  บันทึกนี้ขอเน้นไปที่มาตรวัดแต่ละประเภทที่นิยมใช้กันเท่านั้น ได้แก่  (ท่านที่สนใจคลิกต่อไปอ่านบันทึกย่อยของการวัดแต่ละวิธีเถิด)

  • มาตรวัดแบบเทอร์สโตน (Thurstone) (คลิกที่นี่)





  • มาตรวัดเจตคติของลิเคิร์ท (Likert) (คลิกที่นี่)



  • มาตรวัดเจตคติแบบกัทแมน (Guttman) (คลิกที่นี่)


ขอจบไว้เท่านี้ก่อนครับ  บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่อง การวัดคุณธรรมตามคติพุทธ

หมายเลขบันทึก: 659296เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2019 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2019 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท