สร้างพลเมืองเยาวชน



        เช้าวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานโครงการ พัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน   ที่เราเรียกชื่อย่อๆ ว่า โครงการ Active Citizen    ส่วนที่ดำเนินการในจังหวัดลำพูน และจังหวัดสตูล    สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล  สสส.  และ สกว.    ในส่วนจังหวัดลำพูนดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และสถาบันวิจัยหริภุญชัย    และส่วนจังหวัดสตูลดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.   

ที่มาของโครงการ Active Citizen เริ่มปี ๒๕๕๕ ที่สงขลา    ดำเนินการนำร่องโดย สงขลา ฟอรั่ม    เมื่อได้โมเดลการทำงานก็เข้าสู่ Phase 2 : สงขลา   ศรีสะเกษ   น่าน  สมุทรสงคราม    ที่มานำเสนอในวันนี้เป็น Phase 3 : ลำพูน  สตูล  

ข้อเรียนรู้สำคัญจากการประชุม ๓ ชั่วโมงครึ่งของผมคือ

  1. 1. การสร้างพลเมืองเยาวชนในพื้นที่ ต้องสร้างโดยกิจกรรม    เข้าไปหนุนให้เยาวชนในพื้นที่รวมตัวกันทำกิจกรรมที่มีคุณค่า หรือมีความหมายต่อชุมชน    ไม่ใช่โดยวิธีจัดการฝึกอบรม  หรือจับเยาวชนไปเข้าค่ายฝึกแบบทหาร
  2. 2. ต้องให้เยาวชนคิดโจทย์เอง    โดยมีกระบวนการคิดโจทย์ให้เป็นโจทย์ที่เหมาะสมต่อชุมชน    เรื่องนี้ ทีมพี่เลี้ยงของสตูลทำได้ดีมาก  
  3. 3. ต้องหาทางให้องค์กร หรือผู้นำ ในชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของ  หรืออย่างน้อย ร่วมเป็นเจ้าของกิจกรรมหรือโครงการ    ซึ่งที่จริงต้องไม่ทำแบบ project-based   ต้องวางยุทธศาสตร์ระยะยาว    โดยในระยะยาว องค์กรในท้องถิ่นต้องเข้ามาเป็นเจ้าของกิจกรรมนี้
  4. 4. นี่คือกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตจริง ในพื้นที่ ของภาคีที่หลากหลาย   ได้แก่ เยาวชน (ทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบ)   พี่เลี้ยง  ทีมจัดการโครงการ  พ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชน   ผู้นำชุมชน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น    ที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ   
  5. 5. เป็นกระบวนการเดินทาง สู่การพัฒนา องค์กร (หรือกลไก) ระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาเยาวชน   
  6. 6. ผมฝันเห็นกลไกนี้เข้าไปเชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียน   เอื้อให้ครูออกแบบกิจกรรมเรียนรู้แบบ PBL เชื่อมโยงกับชีวิตจริงในชุมชน   

เราได้เห็นวิธีการ empower ให้เยาวชนทำความรู้จักตนเองผ่านกระบวนการนาฬิกาชีวิต    ทำความรู้จักชุมชนของตนเอง ผ่านกระบวนการ แผนที่ทางสังคม    นำไปสู่การตั้งโจทย์พัฒนาท้องถิ่นบนฐานความเข้มแข็งของตนเอง และความต้องการของท้องถิ่น  

ผลลัพธ์สำคัญที่สุดคือ สำนึกพลเมือง ทั้งที่เป็นสำนึกรักถิ่น และสำนึกรักบ้านเมือง    และทักษะการทำงานเป็นทีม ตอบโจทย์สำคัญของท้องถิ่น      

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659292เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2019 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2019 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท