เก็บตกวิทยากร (55) : เขียนบล็อก” (Blog)


การเขียนบล็อกก็เป็นการเขียนไดอารี่ชนิดหนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้เก็บไว้อ่านคนเดียว เพราะเขียนแล้วสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เสมือนการนำเรื่องราวตนเองอันสร้างสรรค์มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาตนเอง

วันนี้ (อาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561)  รับบทบาทวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “การเขียนบล็อก”  (Blog)  แก่นิสิต ณ ห้องประชุม 2 อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งจัดโดยเครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) และเครือข่ายนิสิต ๙ ต่อBefore After

กิจกรรมวันนี้  เป็น “แนวคิดร่วม” ระหว่าง “ผมกับนิสิต” ทั้งสององค์กร  เพราะต้องการให้แกนนำที่ขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร  ได้ฝึก “ถอดความรู้” หรือ “จัดการความรู้”ด้วยตนเอง  ผ่านการเขียนที่คนใน Gotoknow.org  เรียกกันว่า “การเขียนเพื่อการจัดการความรู้”

อันที่จริง  ผมเปรยกับบรรดาแกนนำนิสิตเหล่านี้ว่า  “... การเขียน Blog  คือระบบและกลไกอันสำคัญในการเผยแพร่เรื่องราวการเรียนรู้ของตัวเองและองค์กรไปสู่สาธารณะ และอยากให้แกนนำได้ตระหนัก หรือให้ความสำคัญต่อการเขียนเพื่อเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์  เป็นไปได้ก็อยากให้ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของการขับเคลื่อนกิจกรรม  อันหมายถึง “ทำแล้วก็เขียนสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” นั่นเอง...”

นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่ผมพูดกับนิสิตในเวทีวันนี้


บรรยายเชิงกระบวนการ 

เวทีครั้งนี้ ผมเลือกใช้กระบวนการหลัก  คือการบรรยายเชิงกระบวนการ  ไม่ได้มุ่งไปยังเทคนิคการเขียนโดยตรง  เพราะเทคนิค หรือทักษะของการเขียนคงต้องปฏิบัติการให้มากกว่านี้  เพื่อให้เกิดความรู้คู่ไปกับทักษะ  หากแต่คราวนี้ผมเลือกปฏิบัติการทางความคิดมากกว่า  ย้ำให้เกิด “ทัศนคติที่ดีต่อการเขียน-เข้าใจหลักของการเขียน-เชื่อมั่นในตัวเอง-กล้าที่จะเขียน”เสียมากกว่า

พร้อมๆ กับการชวนคิดชวนคุยเรื่องจิปาถะอันเป็นความรู้ทั่วๆ ไปเพื่อให้นิสิตเข้าใจถึงบริบทอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงมาเป็นข้อมูลการเขียน  -  เสมือนการสอนให้นิสิตได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องราวระหว่างทางพอๆ กับปลายทาง  หรือการให้ความสำคัญกับกระบวนการ พอๆ กับผลลัพธ์ –

หลายต่อหลายครั้ง  ผมโยนคำถามกว้างๆ แบบไม่เจาะจงให้นิสิตได้ขบคิดไปเรื่อยๆ เช่น

  • ระหว่างการพูด กับการเขียน อะไรยากว่ากัน
  • บันได 4 ขั้นแห่งความเป็นปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) คืออะไร
  • มองการเขียน คืออะไร 
  • ฯลฯ

เขียนอะไรดี

ประเด็นสำคัญที่ผมย้ำเน้นมากมายในครั้งนี้คือ “ต้องเชื่อว่าตนเองมีศักยภาพที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านงานเขียน”  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “คนทุกคนเขียน Blog ได้”  โดยสะท้อนว่า  เป็นไปได้ก็เขียนจากเรื่องที่ตนเองคุ้นชิน สันทัด  -สัมผัสด้วยตนเอง  (พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี)   หรือการเขียนจากเรื่องที่ตนเองทำจริงด้วยตนเอง  เขียนจากเรื่องที่ตนเองสนใจ  เขียนเท่าที่รู้  ซึ่งคำว่า “รู้”  ในที่นี้เน้นการรู้จากการลงมือทำ  ที่เหลืออาจค้นคว้าเพิ่มเติม หรือเรียนรู้จากคนรอบข้างก็ไม่ผิด

เช่นเดียวกับการย้ำถึงการเขียนอย่างสม่ำเสมอ  เมื่อเขียนสม่ำเสมอจะตกผลึกในเรื่องการของใช้คำ (ร่ำรวยถ้อยคำ)  เกิดทักษะลีลาการเขียน  ประเด็นของการนำเสนอ  หรือกระทั่งการอ่านให้มากๆ เพราะการอ่านคือรากฐานของการเขียน 

และการอ่าน คือกระบวนการของการ “มองโลกและชีวิต”


มีความหมายใดในการเขียน

ผมยังคงยืนยันวิธีคิดของผมเกี่ยวกับการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ผ่าน Blog  ในวิถีเรื่องเล่า  กล่าวคือ เขียนในลักษณะเล่าเรื่อง เสมือนเรากำลังนั่งพูดคุยนั่งเล่าเรื่องให้คนฟัง  ทำให้คนอ่านรู้สึกราวกับว่ากำลังนั่งสบตาเสวนากับเรา  -

รวมถึงการบอกย้ำว่าเรื่องที่เขียนต้องสื่อให้เห็นวิธีคิดของเราต่อสิ่งที่ทำ  เช่น

  • เราทำอย่างไร  
  • ทำแล้วได้ผลอย่างไร 
  • ผลที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง  
  • ครอบคลุมถึงอุปสรรค หรือความล้มเหลว ก็ควรต้องเขียนถึงด้วยเช่นกัน  ยิ่งในตอนท้ายหากเสนอแนะแนวทางการเดินต่อ  หรือจุดประเด็นให้ขับเคลื่อนต่อ  ยิ่งถือว่านั่นคือเรื่องเล่าอันทรงพลัง 

ที่สุดแล้ว  ผมบอกกับทุกคนว่าการเขียนไม่ใช่สิ่งที่จะมาร่ายมนต์เชิงทฤษฎีโดยไม่ผ่านการลงมือทำ/การเขียน  ดังนั้นคนทุกคนต้องลงมือเขียน  มิใช่ฟังแล้วก็ไม่พยายามที่จะลุกขึ้นมาเริ่มต้นที่จะเขียน  

ครั้งนี้  ผมโยงกระทั่งว่าการเขียนบล็อกก็เป็นการเขียนไดอารี่ชนิดหนึ่ง  เพียงแต่ไม่ได้เก็บไว้อ่านคนเดียว  เพราะเขียนแล้วสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์  เสมือนการนำเรื่องราวตนเองอันสร้างสรรค์มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาตนเอง

หรือกระทั่งการยกตัวอย่างว่า  เมื่อผมเขียนบล็อก  ผมก็มีสังคมที่กว้างขึ้น ทั้งในเชิงบุคคล  เครือข่ายทำงาน  ความรู้ใหม่ๆ  รวมถึงการนำเรื่องราวที่เขียนมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรียนนอกฤดู  โดยปัจจุบันก็ยังคงมีแฟนคลับของเรียนนอกฤดูหลงเหลืออยู่บ้าง  

แต่ที่แน่ๆ  ผมใช้ข้อเขียนในบล็อกไปประกอบการสอนหนังสือ และจัดกระบวนการเรียนรูู้มาเป็นระยะๆ

และนี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิต ได้เริ่มเขียนในเวทีที่ว่านี้ –

หมายเลขบันทึก: 657596เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2018 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอจดจำไปใช้อีกคนค่ะอาจารย์
จริง ๆ การเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้นี้เป็นเทคนิคและพรสวรรค์ของแต่ละคน แต่ถ้ามีหลักการเขียนที่ถูกต้องมันก็ทำให้การเขียนง่ายขึ้น และสามารถผูกโยงเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ไม่สับสน คล้าย ๆ กับการผูกปม และกระตุกปม ผ่อนความคิดให้แผ่ขยายออกไปนั่นเอง

ขอไปเรียนด้วยสิครับ คุณแผ่นดิน ;)…

มาเรียนรู้ด้วยคนครับ

เขียนบ่อยๆ ทำให้มองโลกในแง่บวกได้ด้วยนะคะ

สวัสดีครับ อ.แม่มด

จวบจนวันนี้ ผมก็ยังคงเขียนในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” ครับ เน้นเล่าเรื่อง ถามตัวเอง อธิบายกับตัวเอง ยังค้นหาสูตรสำเร็จรูปในแบบฉบับตนเองชัดๆ ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ในเวทีนี้ ผมเน้นให้ “นิสิต” ได้เริ่มต้นจากการบทวทวนมุมมองตัวเองที่มีต่อการเขียน เพราะผมเชื่อว่า หากทัศนคติไม่เอื้อต่อการเขียน ก็ลำบาก

ทัศนคติที่ว่านั้น คือ ต้องเชื่อว่าตนเองมีเรื่องที่จะเขียน-เชื่อว่าตนเองเขียนได้ โดยเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่ถนัด เรื่องที่ทำอยู่แล้ว ฯลฯ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ไฉนเลย ผมจะกล้าสอนครูให้ฝึกจับไม้เรียว ละครับ 5555

สวัสดีครับ คุณnobita

ยินดีและเป็นเกียรติครับ-เพราะเราต่างเชื่อในพลานุภาพของการเขียน —

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

แท้จริงแล้ว ในอีกนิยาม การเขียน ก็คือการเจียระไนชีวิตนั่นเอง กระมังครับการเขียนเสมือนการใคร่ครวญต่อการที่เราได้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของโลกและชีวิตว่าเป็นเช่นใด และเราต้องดำเนินชีวิตไปเช่นใด ทั้งในมุมของส่วนตัว และสังคม

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท