บอกเล่า...พี่สอนน้องหลังอุทกภันน้ำท่วม ช่วงเดือนพฤจิกายน 2560



วันที่18 พฤศจิกายน 2560 ผมเดินทางไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนปลาเดิดปลาปัดสำโรง ตำบลยางท่าแจ้ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กิจกรรมที่ว่านั้นเป็นกิจกรรม “จิตอาสา” ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยผู้รับผิดชอบหลักคือศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


กิจกรรมที่จัดขึ้น คือการ “สอนชดเชยน้ำท่วม” กล่าวคือการสอนเสริมและทบทวนความรู้ว่าด้วยวิชาต่างๆ ให้กับนักเรียน เช่น สังคมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ อังกฤษ ซึ่งนักเรียนไม่ได้เรียนหนังสือมาตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพราะประสบเจอกับภาวะน้ำท่วม โดยทีมงานของเราได้ชวนนิสิตจากสาขาที่เกี่ยวข้องมาช่วยสอนหนังสือน้อง นี่คืออีกความสำเร็จหนึ่งของการทำงานของเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม ที่มุ่งทำดีเพื่อการพัฒนาสังคม พัฒนาตนเองและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนสโลแกนที่ว่า “ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน”





นอกจากกิจกรรมด้านวิชาการแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกเช่น สันทนาการเพื่อสร้างความสนุกและความสุขที่ขาดหายไปจากเหตุการณ์น้ำท่วม มีเกมและเพลงสนุกๆ ให้ได้ผ่อนคลายและละลายพฤติกรรมเข้าหากัน รวมทั้งการล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนและครู ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ในช่วงน้ำท่วม การจัดการกับน้ำท่วม ปัญหาในปัจจุบันที่อยากให้ช่วยเหลือ






กิจกรรมครั้งนี้ ไม่ได้จัดแค่นิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเท่านั้น หากแต่จัดร่วมกับเครือข่ายนอกสถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ประสานงานผ่านที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ (พี่พนัส ปรีวาสนา) โดยพี่พนัส ได้มอบหมายให้ทีมงานของศูนย์ประสานเครือข่ายฯ ได้ทำงานต่อด้วยตนเอง เพื่อฝึกการสืบสานกับภาคีนอกสถาบัน พร้อมๆ กับการฝึกการบริหารงานจากระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและเครือข่ายที่มาร่วมจัดกิจกรรม


กรณีการทำงานจิตอาสาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีก็ไม่ได้ขับเคลื่อนเพียงคนเดียวเหมือนกัน มีการทำงานร่วมกับศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงวีรบุรุษโอลิมปิค (พี่สมจิตร จงจอหอ) ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนและอุปกรณ์กีฬามาให้กับน้องๆ นักเรียน ขณะที่ผมก็ได้ทำงานนี้เต็มที่ร่วมกับทีมงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาและชมรมรุ่นสัมพันธ์ เช่น การสอนวิชาสังคมศึกษา และการช่วยกิจกรรมทั่วไปอย่างสุดกำลัง โดยไม่เกี่ยงงอนว่างานนั้นจะเป็นงานอะไร



กิจกรรมครั้งนี้สอนให้ผมได้เรียนรู้การทำงานจิตอาสาหลายอย่าง ความเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ฯลฯ และที่ผมประทับใจมากอีกเรื่องก็คือการได้ได้รับฟังประสบการณ์จากน้องๆ นักเรียนที่นั่งเล่าให้ผมฟังว่า “... ตอนที่น้ำท่วม พวกเขาออกไปเล่นที่ไหนไม่ได้ โรงเรียนก็หยุดจะออกไปซื้อขนม หรือวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ก็ไม่ได้ บางคนโดนตะขาบกัด ...”


นั่นคือเรื่องราวที่น้องนักเรียนเล่าให้ผมฟัง เรื่องเล่าเหล่านั้นทำให้ผมเห็นภาพชัดเจนว่าพวกเขาต่อสู้อะไรบ้างในช่วงที่น้ำท่วมหมู่บ้านและโรงเรียน เช่นเดียวกับการทำให้ผมสุขใจที่ได้ทำสิ่งเล็กๆ ในวันนี้ให้กับพวกเขา แม้จะไม่ยิ่งใหญ่นัก แต่ก็ทำด้วยความรักในงานจิตอาสา ยิ่งทำก็ยิ่งได้เรียนรู้ความสุขของการเป็นผู้ให้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มาเกี่ยวข้อง และยิ่งรู้สึกว่าจะมุ่งมั่นทำกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

หมายเลขบันทึก: 655665เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2018 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2018 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกนี้ แม้จะไม่ลงรายละเอียดเยอะ แต่เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนว่าไปทำกิจกรรมอะไร เพราะอะไร เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากที่เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะน้ำท่วมโรงเรียน พอน้ำลดในระดับหนึ่งก็เข้าไปหนุนเสริมเยีวยยาการเรียนให้นักเรียน ผสมผสานกับกิจกรรมอื่นๆ

รวมถึงเห็นภาพความคิดการทำงานร่วมเชิงเครือข่าย ทั้งเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างน่าชื่นชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท