เยือนมหาวิทยาลัยจีน : 4. Shanghai Jiao Tong University (SJTU)


๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑  บ่าย

หลังกินอาหารเที่ยง  เราไปที่ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง ระหว่างนั่งรถไป ดร. พิชัย สนแจ้ง อธิบายชื่อให้ฟังว่าชื่อบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านการคมนาคมขนส่งและสื่อสาร ทั้งทางบก เรือ อากาศ ราง คลื่น และดิจิตัล    จึงเน้นวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อการนั้น    รวมทั้งด้านการจัดการเพื่อการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารด้วย   

Biomass Energy Engineering Research Center

 ศาสตราจารย์ Ronghou Liu ผู้อำนวยการศูนย์ มีความร่วมมือกับ มช. อยู่แล้ว   และเคยไปสอนที่ มช.    ท่านนำเสนอโดยใช้ PowerPoint แนะนำมหาวิทยาลัย และคณะเกษตรศาสตร์และชีววิทยา (School of Agriculture and Biology)    แต่ภาษาอังกฤษของท่านฟังยาก    โชคดีที่ผมถ่ายรูป PowerPoint มา เอามาดูทีหลังได้   

 SJTU ก่อตั้งปี ค.ศ. 1896   ขณะนี้มี ๒๐ คณะ   นศ. ๔๔,๐๒๐ คน   อจ. ๒,๘๕๑ คน   ศูนย์วิจัยวิศวกรรมพลังงานชีวมวลสังกัดคณะเกษตรศาสตร์และชีววิทยา    ตัวอย่างคณะอื่นๆ เช่น School of Mechanical and Power Engineering, School of Environment Engineering, etc.  

 ศูนย์วิจัยวิศวกรรมพลังงานชีวมวล ทำงานวิจัยด้าน พลังงานชีวมวลและสภาพแวดล้อม    เน้นที่ characterization of biomass, biomass pyrolysis, biochar, gasification, bioethanol, biogas, etc.   

ตามด้วยการนำเสนอของ ผศ. ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี เรื่องการวิจัยพลังงานชีวมวล ที่มีพัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓   จนถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากทีเดียว  

หลังจากนั้น เราไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ    ซึ่งผมดูไม่รู้เรื่อง จึงรออยู่นอกห้อง เพราะสถานที่แคบ    แต่ก็ได้เรียนรู้คำว่า pyrolysis ว่าหมายถึงการเผาไหม้ในบรรยากาศไนโตรเจน ไม่มีอ็อกซิเจนเลย    ให้ส่วนที่ไม่ใช่คาร์บอนออกไป    เหลือแต่คาร์บอน    

 

Institute of Refrigeration and Cryogenics

สถาบันนี้ตั้งอยู่ใน Green Building หรืออาคารประหยัดพลังงาน ที่สร้างโดยความร่วมมือกับอิตาลี      สถาบันมีความร่วมมือกับ มช. มายาวนาน   สนิทสนมกันมาก    

เริ่มด้วยการนำเสนอของ ผศ. ดร. ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. และ ศ. ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เรื่องความร่วมมือระหว่าง SJTU กับมหาวิทยาลัยไทยด้าน Thermal System ทั้งในอดีตและในอนาคต   โดยทางฝั่งไทยมี ๔ มหาวิทยาลัยคือ มช., แม่โจ้, มทร. ล้านนา, และ มจธ.   เน้นงานวิจัย renewable energy ทั้งที่เป็นงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยเชิงประยุกต์   มีทั้งการวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนนักศึกษา  ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน  และจัดการประชุม Sino-Thai Meeting on Renewable Energy ทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นครั้งที่ ๑   การประชุมครั้งที่ ๘ จัดที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ 

ตามด้วยการนำเสนอของฝ่ายมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง โดย ศาสตราจารย์ R.Z. Wang เสนอเรื่อง Recent research hotspots of cooling, heating, and thermal storage using environmental friendly working substances    ต่อด้วยงานวิจัย ๕ กลุ่มที่กำลังดำเนินการ คือ ด้าน refrigerator, heat pumps, thermal storage, solar systems, buildings    ซึ่งผมฟังรู้เรื่องไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์     

ผมมีข้อสังเกตสองประการคือ (๑) งานของเขาไปถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม  (๒) เขาให้เกียรติความคิดของนักศึกษาที่คิดโจทย์วิจัยเพื่อปริญญาเอกของตนเอง และสร้างเครื่องมือออกมาใช้งานได้จริงๆ    มีหลายตัวอย่าง    ผมเอารูปมาให้ดูหนึ่งตัวอย่างพร้อมเจ้าของผลงานเป็นนักศึกษาหญิงตัวเล็กๆ เล่าผลงานของตนอย่างภาคภูมิใจด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น    คือผลงานสร้างเครื่องควบแน่นน้ำจากความชื้นในอากาศ    ผลิตน้ำได้วันละ ๕๐ ลิตร ได้รับรางวัลดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์   

หลังการนำเสนอผลงาน และแนวทางเพิ่มความร่วมมือกัน ก็เป็นการแลกเปลี่ยนของขวัญ    และชมห้องปฏิบัติการและชิ้นผลงาน    น่าประทับใจยิ่ง 

เราต้องรีบลาเพื่อไปพบรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย

 

เยี่ยมคำนับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง

เป็นการพบปะเพื่อเจรจาความร่วมมือให้แน่นแฟ้นและขยายตัวยิ่งขึ้น คุยกันโดยใช้ภาษาอังกฤษ    ท่านนายกสภาฯ ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย มีความชำนาญการเจรจามาก    ท่านเริ่มโดยการบอกวัตถุประสงค์ของการไป   และอ้างถึงทำเลของเชียงใหม่ที่อยู่ใน Silk Road    และบอกว่ามีความร่วมมือกันอยู่แล้ว  อยากขยายขึ้น

รองอธิการบดีบอกว่าสามารถร่วมมือเพิ่มได้หลายแบบ   ทั้งระยะสั้นและระยะยาว    ได้เอ่ยถึง Summer International Course ระยะเวลา ๖ - ๑๐ สัปดาห์ มีนักศึกษาจากหลากหลายประเทศสมัครมาเรียน   

เนื่องจากท่านรองอธิการบดีต้อนรับคณะเราด้วยใบหน้าไร้รอยยิ้ม   ท่านนายกสภาฯ จึงใช้ยุทธศาสตร์กล่าวถึงสุนทรพจน์ของท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต่อ CAS & CAE เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๖๑   ที่สะท้อนนโยบายร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อความสมบูรณ์พูนสุขร่วมกัน   แสดงว่าโลกหมุนกลับ สมัยห้าสิบปีก่อน จีนปิดประเทศ สหรัฐอเมริกาปิดประเทศ    เวลานี้อเมริกาปิดประเทศ จีนเปิดประเทศ    พวกเราจึงไปเยือนเพื่อหาทางร่วมมือใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ตรงตามนโยบายของท่านประธานาธิบดี    เรียกเสียงหัวเราะและทำให้ท่านรองอธิการบดีมีสีหน้าเปื้อนยิ้มทันที    

ท่านนายกสภฯ บอกว่าเมืองเชียงใหม่สวยงามมาก  ขอเชิญท่านรองอธิการบดีไปเยี่ยมเยียน    ยิ่งสร้างบรรยากาศชื่นมื่น    หลังแลกเปลี่ยนของขวัญ และถ่ายรูปร่วมกัน เราก็อำลา

วิจารณ์ พานิช        

๗ มิ.ย. ๖๑ 

 

9 Research areas ของ Institute of Refrigeration and Cryogenics

10 ผลงานพัฒนาเครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศได้วันละ ๕๐ ลิตร  ได้รับรางวัลที่ ๑

 

13 หลังจากได้ฟังคำกล่าวของท่านนายกสภา มช. ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย หน้าตายิ้มแย้มอย่างนี้

 

1 ในห้องบรรยายสรุป.เรื่องศูนย์วิจัยวิศวกรรมพลังงานชีวมวลjpg

2 ผศ. ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี (คนซ้ายสุด) บรรยายสรุปงานวิจัยพลังงานชีวมวลของ มช.

3 ศ. หลิวเสนอประเด็นความร่วมมือ

4 งานวิจัยพลังงานชีวมวลของ มช. ในปัจจุบัน

5 ในห้องปฏิบัติการพลังงานชีวมวล

6 Green Building

7 ลักษณะภายในของ Green Building

8 โครงสร้างด้านนอกผนังกระจกทำหน้าที่ฉนวน

9 Research areas ของ Institute of Refrigeration and Cryogenics

10 ผลงานพัฒนาเครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศได้วันละ ๕๐ ลิตร  ได้รับรางวัลที่ ๑

11 ด้านหน้าของสำนักงานอธิการบดี

12 รองอธิการบดีคือคนกลาง

13 หลังจากได้ฟังคำกล่าวของท่านนายกสภา มช. ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย หน้าตายิ้มแย้มอย่างนี้

14 ภายในมหาวิทยาลัยเขียวอย่างนี้

หมายเลขบันทึก: 648898เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2018 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 06:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท