บทวิพากษ์: working definition ของ นักเลียน นักเรียน นักศึกษา บัณฑิต ครู อาจารย์ ในระบบการศึกษาไทย


แม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นต้น โดยไม่ต้องจบหลักสูตรครูใดๆ หรือรอให้มีใครมาแต่งตั้งให้ใดๆทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ลูกก็จะเป็นนักเลียน คอยลอกเลียนการแสดงของแม่และคนเลี้ยง จนกว่าจะเข้าใจความหมายต่างๆ จึงเริ่มเป็นนักเรียน เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และพัฒนาตนเองเป็นนักศึกษาโดยการนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง พอเติบใหญ่เลี้ยงตัวเองได้ก็เป็นบัณฑิตที่มีปัญญาเลี้ยงตัวเองจนรอด และเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นๆได้

                 ที่ผมจะขอเปิดประเด็นต่อไปนี้ ขอให้เป็นการวิพากษ์ความหมายของคำที่ใช้ทำงาน (Working definition) โดยไม่พูดถึงสถานะทางสังคมของใครทั้งสิ้น เพราะในความเป็นจริงทุกคนในสังคมจะมีสถานะเกือบทุกอย่างปะปนกันไปทั้งหมด เช่น ที่กล่าวว่า แม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นต้น โดยไม่ต้องจบหลักสูตรครูใดๆ หรือรอให้มีใครมาแต่งตั้งให้ใดๆทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ลูกก็จะเป็นนักเลียน คอยลอกเลียนการแสดงของแม่และคนเลี้ยง จนกว่าจะเข้าใจความหมายต่างๆ จึงเริ่มเป็นนักเรียน เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และพัฒนาตนเองเป็นนักศึกษาโดยการนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง พอเติบใหญ่เลี้ยงตัวเองได้ก็เป็นบัณฑิตที่มีปัญญาเลี้ยงตัวเองจนรอด และเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นๆได้ ในระหว่างนั้นก็จะเป็นครูให้ผู้อื่นเห็นเป็นแบบอย่าง และเป็นอาจารย์จากการนำความรู้และภูมิปัญญาไปบอกเล่าหรือสอนให้คนอื่นได้รู้และนำไปลองใช้ในการปรับปรุงตนเอง ภายใต้ระบบการพัฒนาและถ่ายทอดภูมิปัญญาของสังคม ทั้งในรูปแบบของนักเลียน (นำไปใช้โดยตรง) นักเรียน (นำความรู้ไปปรับใช้) และนักศึกษา (นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง) จนเกิดปัญญาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นบัณฑิต(นำปัญญาที่ได้ไปทำให้ตัวเองอยู่ได้ในทางที่ดี) ในระดับต่างๆ ทั้งมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต

                เมื่อผมมาทบทวนและพิจารณาวงจรชีวิตของคนรอบๆตัวผม มาตลอดชีวิตการทำงานผม ผมเห็นธรรมชาติของระบบการศึกษาแบบตลอดชีวิตในระบบชีวิตจริงของทุกคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการแล้ว ผมก็เริ่มมาประหลาดใจว่า เราเริ่มทำลาย หรือกดความหมายของคำว่านักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตให้ต่ำลงไปตั้งแต่ตอนไหน ทำไม เพื่ออะไร ใครได้ ใครเสียประโยชน์กับการทำแบบนี้ ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา ๓๐ ปีพอดี ผมแทบไม่เคยพบนักศึกษาที่มาศึกษาและนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง (ตามรากศัพท์) มีบ้างที่เป็นนักเรียน (เรียนเอาความรู้) ที่พบส่วนใหญ่คือนักเลียน (คอยลอกแผ่นใส สมุดจด ตำรา เพื่อเอาไปตอบข้อสอบ เพื่อ ผ่านให้ได้ใบปริญญาก็พอ) แม้แต่การศึกษาระดับปริญญาเอกก็ยังใช้วิธีนำเสนอแบบตัดแปะ แบบนักเลียน ผมพยายามถามทุกครั้งว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ได้แบบจับเข่าคุยกันส่วนใหญ่ ก็บอกว่า เคยชินมาอย่างนั้นตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม ใช้มาตลอดจนได้เกียรตินิยมในระดับปริญญาตรี ทำได้สบายอย่างไม่มีใครว่าอะไรในระดับปริญญาโท ก็เลยไม่รู้จะหยุดอย่างไรในระดับปริญญาเอก (ให้สังเกตว่าผมไม่เรียกคนเหล่านั้นว่านักศึกษา เพราะเขายังเป็นแค่ นักเลียน ในชีวิตจริงของเขาที่สัมพันธ์กับระบบการศึกษา แต่ในเรื่องอื่นๆ เขาอาจเป็นบัณฑิต หรือ มหาบัณฑิตแล้วก็ได้ ) ใครพอจะมีคำตอบถึงจุดและสาเหตุที่มีการทำลายระบบการศึกษาของไทย กดและตีกรอบให้คนที่หลงเข้ามาในระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง(ตามรากศัพท์) เหลือหรือได้แค่ความเป็น นักเลียน หรืออย่างมากก็นักเรียน แล้วเราจะมีระบบการศึกษาแบบนี้ไว้ทำอะไร ทำไมเราไม่เรียกว่า ระบบการเลียน (แทนคำว่าระบบการศึกษา)และ กระทรวงการเลียน (แทนกระทรวงศึกษาธิการ) และ สำนักงานแจกกระดาษเปื้อนหมึก (แทนโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย) ให้ตรงกับที่เราทำกันอยู่ จะได้ไม่ต้องมาหนักใจและอึดอัดกับการทำงานไม่ตรง ไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ (จะทำไปทำไมผมก็ไม่มีคำตอบนะครับ เพียงเห็นทำกันอยู่แล้วจึงเสนอให้เป็นหลักการซะเลย จะได้ไม่ลำบากใจ) ถ้าเราจะรักษาและพัฒนาระบบการศึกษา ทำไมเราไม่ช่วยกันหาทางให้ทุกคนที่เข้ามาได้วิ่งผ่านการเป็น นักเลียน (ในเบื้องต้น) อย่างรวดเร็ว จะได้เป็นนักเรียน กันเร็วๆ จนสามารถเป็นนักศึกษา และ บัณฑิตในระดับต่างได้ในระหว่างที่อยู่ในระบบการศึกษา จะ ๔ หรือ ๖ ปีก็แล้วแต่ ไม่ต้องรอให้เขาผ่านอย่างไม่ถูกต้องจากระบบการศึกษา แล้วจึงผ่านไปพัฒนาตัวเองเป็นนักศึกษา และ บัณฑิตในกระบวนการทำงานและประกอบอาชีพ ของแต่ละคน ที่ทำให้คุณค่าของระบบการศึกษา (ในระบบ) ของเราด้อยลงไป ดังที่มีคำกล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยคือระบบทำลายสมองคน โดยถอดบทเรียนและข้อสรุปของเครือข่ายปราชญ์ ที่พบว่าผู้ที่จบปริญญาตรี โท เอก ด้านการเกษตรแล้ว ยังทำการเกษตรสู้คนที่ไม่เรียนไม่ได้ บทเรียนดังกล่าวในอีกหลายวิชาชีพก็สรุปได้ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ดังนั้น เราลองมาพิจารณารากศัพท์ และใช้ความหมายที่แท้จริงเป็นตัวนำทางในการพัฒนากันดีไหมครับ อย่าทนอยู่กับความชินที่ไม่ถูกต้องนี้เลยครับ ท่านเห็นว่าอย่างไรครับ

หมายเลขบันทึก: 63348เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ดร.แสวง ที่เคารพครับ
  • เป็นบันทึกที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษาบ้านเราได้อย่างชัดเจนมาก ๆ เลยครับ
  • แต่ผมขออนุญาตถามอาจารย์เพิ่มเติมสักนิดหนึ่งครับ
  • ท่านอาจารย์คิดว่า นักเลียน ครู อาจารย์ หรือผู้บริหารกระทรวงการเลียน แม้กระทั่งรัฐบาล อาจารย์ในความคิดเห็นของท่านอาจารย์ อาจารย์คิดว่า ใคร หรือหน่วยงานใด เป็นตัวแปรต้น ตัวแปรตามครับ หรือมีตัวแปรแทรกซ้อนอะไรบ้างครับที่ทำให้การศึกษาบ้านเราถึงเป็นอย่างนี้ได้ครับ
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ล่วงหน้าครับ

ประเด็นใหญ่อยู่ที่เราไปวิ่งตามคนอื่นทุกเรื่อง กว่า ๕๐ ปีมาแล้ว จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดฐานคิด ฐานความรู้ และฐานการปฏิบัติ ทำให้ป็นระบบการศึกษาแบบหมาหางด้วน (คำท่านพุทธทาส) ขาดทิศทาง ไม่รู้ทำอะไร เพื่ออะไร ประเมินกันแค่กระดาษ ไม่ดูผลงานที่เป็นจริง

ปัญหาเริ่มบานมาเรื่อยๆ จนแทบจะไร้ทิศทางแบบเซลล์มะเร็ง หาจุดเริ่มแก้ไขไม่ได้นอกจากจะจำกัด หรือกำจัดเซลล์มะเร็งออกไป เหมือนกำจัดเซลล์คนเป็นมะเร็งโลหิตขาว แล้วปลูกถ่ายเซลล์ใหม่ลงไป

เซลล์ใหม่คือภูมิปัญญาไทยที่ยังพอหลงเหลือ อยู่บ้าง ถ้าไม่เริ่มตรงนี้เซลล์มะเร็งก็จะกินระบบจนเสียหายแน่นอน หรือก็อยู่กับเซลล์มะเร็งไปเรื่อยรอวันตายก็ได้

นี่คือทางเลือกที่ผมพอมองเห็น จะเอาเซลล์มะเร็ง มากำจัดเซลล์มะเร็งอย่างที่ทำอยู่ ผมยังมองไม่เห็นทางออกครับ

ขอบพระคุณ ดร.แสวง ที่เปิดประเด็นท้าทายให้ทราบกันนะครับ ผมชอบความคิดเรื่อง "นักเลียน" มากครับ เป็นเรื่องจริงทีเดียวที่ทารก และเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่ก็เรียนรู้ตลอดเวลา เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่คนสับสน เพราะเมื่อใดมีคำว่า "เรียน" ก็ต้องคิดถึง "โรงเรียน"

เทอมที่ผ่านมา มีเพื่อนในชั้นนำเสนอสองทฤษฎีที่น่าสนใจอยากเล่าสู่กันฟังครับ คือ เรื่อง lifelong learning ซึ่งแบ่งเป็น professional development (formal) และ personal development (informal / non-formal) โดย informal หมายถึงการเรียนรู้ในบริบททางสังคม (น่าจะตรงกับคำว่าภูมิปัญญาของอาจารย์นะครับ) และ non-formal หมายถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นการเรียนดนตรี เมื่อย้อนมาดูประเด็นที่ดร.แสวงกล่าวไว้ว่าเมื่อไรกันหนอที่เราเริ่มกดความหมายของการเรียนแบบ personal ให้ต่ำลง อาจเป็นเพราะมันไม่มีราคา ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ? การเรียนรู้แบบวิชาชีพมันใช้ทำมาหากินได้มากกว่าหรือ? ผมว่าหลายคนเห็นเป็นภาพลวงตาไปแล้วครับ ไม่ได้คิดว่าจะมาเอาความรู้วิชาชีพ คิดแต่จะมาเอาปริญญาวิชาชีพ ซึ่งอาจเป็นผลจากทั้งสถาบันและผู้เรียน คือสถาบันเองสร้างภาพของความเป็นวิชาการ สร้างคุณค่า ส่วนผู้เรียนก็หลงไปกับภาพนั้น พอดีกันเลย แค่เข้าไปเรียนได้ ก็เหมือนเก่งแล้ว เหมือนที่เราคิดกันว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดังได้ ก็เหมือนจบแล้ว เก่งแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนกันเลยด้วยซ้ำ!

อีกทฤษฎีที่อยากเล่าสู่กันฟังเนื่องจากประเด็นที่ ดร.แสวงกล่าวถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนคิดของสังคม ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎี diffusion of innovations  ที่กล่าวถึงการกระจายตัวของนวัตกรรมใหม่ในสังคม ซึ่งบางครับ ของดี อาจไม่ได้เกิด เพราะนำเสนอผิดวิธี หรือของไม่ดีอาจจะเป็นที่นิยม ถ้านำเสนอดีๆ กล่าวสั้นๆ จากหนังสือของคุณ Everett Rogers เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือการแพร่ขยายความคิดโดยสื่อมวลชนนั้นไปได้ไกลและเร็ว แต่ไม่ยั่งยืนครับ ส่วนการใช้ผู้นำชุมชน ผู้นำสังคมค่อยๆ นำความคิดไปใช้นั้น ช้ากว่าแต่แน่นอน มีเรื่องสั้นๆ จากหนังสือเล่มนี้ตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก

เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทผลิตเกมรายหนึ่งอยากจะขายเกมกดตัวใหม่ ที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับเครื่องเกมที่อยู่ใกล้ๆ ได้ เกมนี้ต้องเล่นหลายคนถึงสนุกครับ ต่อสู้กับเพื่อนที่มีเกมกดเหมือนกัน วิธีการนำเสนอสินค้าของบริษัทคือทำวิจัยสอบถามนักเรียนทั่วนิวยอร์ก โดยถามสั้นๆ ว่า "คิดว่าเด็กคนไหนในโรงเรียนเจ๋งบ้าง? (cool kid)" พอได้ชื่อมาก็นำไปถามเด็กเหล่านั้นต่อ ถามไปเรื่อยๆ จนเจอเด็กที่ตอบว่า ฉันนี่แหละเจ๋ง เขาเอาเด็กที่คิดว่าตัวเองเจ๋งมาทำ focus group เสนอสินค้า และแจกเกมกดให้ฟรีคนละหลายเครื่อง เท่านั้นล่ะครับ ขายดิบขายดี คือภาพของเด็กเจ๋งมันสอดคล้องกับเกมกดที่ต้องการนำเสนอความเจ๋งน่ะครับ

จะเห็นว่าประเด็นทางสังคมมีส่วนอยู่มากแม้แต่ในการขายเกมกด เรื่องการกระจายความรู้ด้านอื่นๆ ก็คงไม่ต่างกัน ผมเชื่อว่าการสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้การสร้างเครือข่ายแข็งแกร่งขึ้นในทางหนึ่ง และช่วยขยายเครือข่ายให้กว้างไกลขึ้นอีกด้วยครับ

กลับมาที่ประเด็นเรื่องนักเรียน นักเลียนอีกนิดนะครับ ผมเข้ามาทำงานในวงการศึกษาไม่นานนักแต่ก็พอจะเห็นและสัมผัสความคาดหวังทางสังคมจากสถาบันการศึกษาได้พอควร ว่าต้องเป็นทางการ ต้องจับต้องได้ ใช้หาเงินได้ เพราะเราผลิตนักศึกษาตอบสนองภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ความรู้จากในห้องเรียนต้องแปรเป็นเงินเดือนได้ (ผมมีพื้นฐานเป็นคนชั้นกลางในเมือง ผู้ปกครองรับราชการ ทำงานบริษัท ดังนั้นผมไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้) และมหาวิทยาลัยก็ตอบสนองความต้องการได้ แต่พอผมเริ่มสอนเอง ได้มีโอกาสช่วยวางหลักสูตรภาควิชาฯ ได้ลองเขียนโครงการสอน (course syllabus) แล้วต้องมาสอนตามแผนซึ่งบางครั้งเนื้อหาเยอะจนไม่สามารถสอนทัน หรือสอนทันแต่ไม่สามารถดูแลผู้เรียนได้ทั่วถึง (หรือไม่สนใจจะดูแล) ก็ทำให้คิดว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เรียนอะไรกันมากมายในมหาวิทยาลัยเลย โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีแต่วิชาพื้นฐาน และไม่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม กรณีตัวอย่างก็เอามาจากต่างประเทศ เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่ได้จับไม่ได้ใช้จริง ทฤษฏีก็ล่องลอยจับต้องไม่ได้ ปัญหาก็คือมันยากครับ สอนแบบเชื่อมโยงมันยาก ผมเจอบล๊อกของ ครูบัว ทองกะไลย ท่านนำเสนอวิธีการสอนภาษาอังกฤษโดยใช้ละครเป็นสื่อให้เด็กเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางสังคมได้ ทั้งน่าสนใจและน่าเผยแพร่ให้ทดลองกันนะครับ ท่านยังบอกด้วยว่าไม่ได้ใช้เวลามากสำหรับกิจกรรมสอดแทรกนี้ และที่สำคัญคือผู้บริหารสนับสนุนครับ

ขอบคุณครับอาจารย์วสะ

ผมคาดไม่ผิดว่าอาจารย์ต้องเป็นละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้งในทุกรายละเอียด ที่เราจำเป็นต้องมี ต้องสร้างขึ้นให้ได้ในสังคมไทย

ถ้าเราไม่เข้าใจแบบนี้ เราจะมีทางรอดอื่นอีกหรือไม่ ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ

เราต้องปรับ และอาจต้องผ่านความเจ็บปวด เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครับ

ผมไม่หวังจะเห็นในช่วงชีวิตผมหรอกครับ

ชาติหน้าตอนบ่ายๆก็ยังดี

แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะห้ามไม่ให้เราพยายามทำ และแสดงแนวคิดครับ

ผมอยากเห็นอาจารย์ ลงเรื่องของตนเองในบล็อคบ้างครับ

คนอื่นจะได้ตามได้

ขอบคุณ อีกครั้งครับ

อาจารย์ทำให้ทราบความหมายของคำเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น นักเลียน (นำไปใช้โดยตรง) นักเรียน (นำความรู้ไปปรับใช้) และนักศึกษา (นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง) จนเกิดปัญญาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นบัณฑิต(นำปัญญาที่ได้ไปทำให้ตัวเองอยู่ได้ในทางที่ดี) ในระดับต่างๆ ทั้งมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ได้ชัดเจนขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท