“โรงเรียนไม่ได้ขาดนวัตกรรม ขาดแค่เวลา” PLC คือ ทางออก..


ถ้าจะให้ PLC เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีคุณูปการต่อการจัดการศึกษามาก เพราะครูหรือคนทำงาน ณ สถานศึกษานั้นๆ ย่อมรู้ดีถึงปัญหา ภูมิหลัง ปัจจัย สาเหตุ วิธีแก้ไข(นวัตกรรม) ขอเพียงระดับนโยบายคิดแทนโรงเรียนให้น้อยลง นวัตกรรมสำเร็จรูปหรือเสื้อตัวเดียวกันต้องลด จนกระทั่งเกือบหมดไป

โครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนสีขาว โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนดีประจำตำบล-อำเภอ ระบบดูแลช่วยเหลือ กิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมสานสัมพันธ์บ้านโรงเรียน(ประชุมผู้ปกครอง) ระบบคัดกรองนักเรียนยากจน การพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการศึกษาจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) การเรียนรู้แบบSTEM การพัฒนาการอ่านตามแนวPISA ชุมชนการเรียนรู้ของครู(PLC) กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ฯลฯ เท่าที่นึกได้ เหล่านี้เป็นโครงการ กิจกรรม หรือเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนถูกกำหนดให้ปฏิบัติ หรือเพิ่งดำเนินการไปหมาดๆ หรือเพิ่งประชุม อบรม สร้างความรู้ความเข้าใจ

เมื่อลองไล่เรียงโครงการ กิจกรรม หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนต้องทำอย่างมากมายแล้ว น่าเหนื่อยใจพร้อมคำถาม คุณภาพของทุกเรื่องที่กล่าวมา จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า โรงเรียนไม่มีสิทธิปฏิเสธงานนโยบาย? ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เคยพูดถึงการทำงานของราชการไทย ซึ่งเป็นเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ว่า “ราชการไทยเรา เน้นทำตามรูปแบบ หรือคำสั่งจากหน่วยเหนือ ไม่ได้เน้นทำงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง”

ความรู้สึกจากประสบการณ์การเป็นครูของตัวเองมามากกว่า 30 ปี เพิ่งรู้สึกอย่างนี้ในระยะหลังๆ หรือสัก 10 ปีที่ผ่านมา แต่นับวันยิ่งรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีมานี้ โรงเรียนแทบไม่มีโอกาสคิดทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยตัวเองเลย เพราะลำพังแค่ทำตามนโยบายก็ทำไม่ทันแล้ว คำว่าทำไม่ทัน รวมถึงทำทันแต่ไร้คุณภาพด้วย ก็ทำๆไป ไม่ให้ขัดนโยบาย ไม่ให้ถูกตำหนิเอาได้ จึงทำเพื่อให้มี ทำให้รู้ว่าทำแล้ว ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งหวังผลสำเร็จอย่างที่ระดับนโยบายคิดและมีความต้องการ

เวลาของครูที่โรงเรียน ก็เหมือนกับราชการอื่น คือมีวันละ 7 ชั่วโมง(ไม่นับพักรับประทานอาหาร) หรือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง(ไม่นับเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุด) แค่งานสอน ถ้าสอนคนละ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งดูเหมือนเวลาเหลือ แต่ในทางปฏิบัติ หน้าที่สอน 1 ชั่วโมง ควรมีเวลาเตรียมก่อนสอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และหลังสอนควรมีเวลาประเมินผล ตรวจงาน หรือตรวจแบบฝึกหัด ฯลฯ เพื่อให้รู้ว่านักเรียนแต่ละคนแตกต่าง เด่นหรือด้อยเรื่องใด อย่างไร ทั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในการสอนครั้งต่อๆไป ดังนั้นสอน 1 ชั่วโมง ถ้าจะให้ได้คุณภาพ จะใช้เวลาจริงถึง 3 ชั่วโมง ถ้าสอน 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เวลาจริงที่ใช้จัดการเรียนการสอนจะปาเข้าไปถึง 45 ชั่วโมง ซึ่งเกินเวลาที่มีในแต่ละสัปดาห์แล้ว นี่คิดเฉพาะงานสอน ซึ่งเป็นหัวใจของงานครู หรือหัวใจของโรงเรียนเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณภาพของผู้เรียน มักถูกตำหนิติติงจากสังคมอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญเอะอะอะไรก็คุณภาพครูไว้ก่อน 

ครูทำงานพิเศษอื่นๆนอกจากงานสอนด้วย อีกสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนครูในโรงเรียน โรงเรียนเล็กงานพิเศษยิ่งมาก หมายถึง จำนวนงานเท่าโรงเรียนใหญ่(งานเหมือนกัน) แต่คนน้อยกว่า งานนโยบายที่เกริ่นมาตั้งแต่ข้างต้นอีก ทุกงานต้องใช้เวลา มากหรือน้อยต้องพิจารณาในรายละเอียด แต่ถ้าคำนึงถึงเวลาที่มีในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์เทียบกับงานที่ครูต้องทำ เอาแค่เรื่องสอนเรื่องเดียว เวลาครูก็มีไม่พอแล้ว แต่ครูไม่อาจปฏิเสธ ให้ทำก็ทำ คุณภาพจึงอย่างที่เห็น ทำสารพัดอย่าง ทำให้ครบ ได้แค่เพียงปริมาณ สุดท้ายจึงตามมาด้วยเสียงบ่นจากสังคมอยู่เนืองๆ 

สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู หรือ PLC(Professional Learning Community) นโยบายใหม่เอี่ยมอ่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) คนปัจจุบัน นับเป็นข่าวดี เพราะคล้าย ศธ.จะเข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนแล้ว ครูต้องตั้งวงพูดคุยกันเอง เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองที่มีอยู่ แต่ละคน แต่ละโรงเรียน ต่างที่ต่างถิ่น คนละภูมิภาค คนละวัฒนธรรม ความคิด ความเป็นอยู่ต่างกัน สภาพปัญหาจะเหมือนกันได้อย่างไร ใช้วิธีแก้หรือนวัตกรรมสำเร็จรูปอย่างเดียวกัน หรือสวมเสื้อโหลตัวเดียวกัน คงไม่ลุล่วงแน่ อันเนื่องมาจากความต่างในบริบทของปัญหานั่นเอง

ห้วงยามนี้โรงเรียนจึงคึกคัก อยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน ในการสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องของ PLC แต่จะอีหรอบเดิม หรือเหมือนนวัตกรรมสำเร็จรูปอื่นๆอีกหรือไม่ ที่มาแล้วก็ผ่านเลยไป มาแค่ชั่วครู่ยาม ตามวาระการดำรงตำแหน่งของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายอื่นๆ ยังไม่น้อยหรือเบาบางลงเลย ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาทิ โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนสีขาว โรงเรียนประชารัฐ คัดกรองนักเรียนยากจน ยกระดับคุณภาพการศึกษาจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) เรียนรู้แบบSTEM พัฒนาการอ่านตามแนวPISA เป็นต้น

ถ้าจะให้ PLC เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีคุณูปการต่อการจัดการศึกษามาก เพราะครูหรือคนทำงาน ณ สถานศึกษานั้นๆ ย่อมรู้ดีถึงปัญหา ภูมิหลัง ปัจจัย สาเหตุ วิธีแก้ไข(นวัตกรรม) ขอเพียงระดับนโยบายคิดแทนโรงเรียนให้น้อยลง นวัตกรรมสำเร็จรูปหรือเสื้อตัวเดียวกันต้องลด จนกระทั่งเกือบหมดไป จำได้ว่าระดับนโยบาย เคยถึงกับแนะให้จัดการกับกิจกรรมที่โรงเรียน ซึ่งมีมากมายด้วยวิธีการใด หรือ ถึงกับแนะครูว่า ควรจะจัดการกับการจ้างทำการบ้านของนักเรียนอย่างไร เป็นต้น ระดับนโยบายควรพูดเฉพาะภาพรวมอยู่แล้ว ไม่ควรลงลึกถึงรายละเอียดหรือการปฏิบัติ อย่าห่วงโน่นห่วงนี่ หรือไม่มั่นใจโรงเรียน นี่กระมังที่เป็นเหตุให้หลายคนถามหาความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา

ต้องเริ่มจากเชื่อก่อนว่าโรงเรียนทำได้ ให้เวลา ตระหนักเสมอ ว่ากล้วยไม้ออกดอกช้าเป็นธรรมชาติ ต้องให้โอกาส รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณอย่างเพียงพอ ถึงขั้นนั้นแล้ว ถ้าโรงเรียนยังไม่ทำอยู่ดี ยังไม่คืบหน้า ให้คิดให้ทำเองแล้ว แต่ไม่ยอมคิดไม่ยอมทำ อย่างนี้ควรถูกตำหนิหรือลงโทษอย่างจริงจัง ระดับนโยบายต้องเน้นไปที่การกำกับ ติดตาม การทำงานของโรงเรียนให้เข้มข้นขึ้น

โดยสรุป ศธ. ต้องลดจำนวนนโยบายต่างๆ อย่าพยายามยัดเยียดนวัตกรรมสำเร็จรูปทั้งหลาย ปล่อยให้แต่ละโรงเรียนคิดเองทำเอง ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง กระบวนการ PLC เหมาะกับการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง

ได้ยินหลายคนแอบซุบซิบกันครับ โรงเรียนไม่ได้ขาดนวัตกรรม โรงเรียนขาดแค่เวลา..

หมายเลขบันทึก: 630503เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2017 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2017 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ตามมาเชียร์พี่ครู

กำลังทำเรื่องนี้กับครูครับ

https://www.gotoknow.org/posts/630495

  • ตามไปหาความรู้และตัวอย่างกิจกรรมดีๆเกี่ยวกับPLCแล้ว ..ได้ความรู้เยอะเลยครับ และถ้าจะคุยกันในเรื่องนี้ที่โรงเรียน ก็พอเห็นแนวทางครับ
  • ขอบคุณอ.ขจิตมากๆเลยครับ

ภาพสวยเหมือนเดิมครับ ....


ผมเข้าใจว่า PLC คือ "ความสามัคคี" ที่ในหลวงเน้นให้ทุกคนใส่ใจที่สุด ความยากอยู่ตรงที่ "ความสามัคคี" จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ "มีเป้าหมายร่วมกัน" เท่านั้น .... หากเป็นเป้าหมายในสิ่งที่มอบหมาย ความสามัคคีก็เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวหรือไม่เกิดขึ้นเลย (เพราะวางใจว่าเป็นเพียงหน้าที่) ดังนั้น จะเกิด PLC ที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริง คงต้องมีการ "ระเบิดจากภายใน" มีวิสัยทัศน์ร่วม .... สำหรับครู ก็กลับมารวมลงตรง "ครูเพื่อศิษย์" นั่นเอง ....

  • "หากเป็นเป้าหมายในสิ่งที่มอบหมาย ความสามัคคีก็เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว.." ด้วยความกระจ่าง จึงให้ภาพที่ชัดเจนมาก เห็นด้วยทุกประการเลยครับอาจารย์
  • ขอบคุณอ.ต๋อยมากๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมเพิ่มเติมครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบันทึกเกี่ยวกับวิชาชีพของครู

-เวลา...สำคัญมากนะครับ

-บางคนมีมากถึงกับต้อง"ฆ่าเวลา"กันเลยทีเดียวเชียว

-ขอเป็นกำลังใจให้กับครูทุกๆ ท่านด้วยนะครับ

-นำ"เมี่ยงใบหม่อน"มาฝากครับ..


เข้ามาทีไร ไม่เคยผิดหวังครับ ข้นเข้ม และละเมียดละไมเสมอ


วันนี้หลายชีวิต ถูกครอบด้วยตัวชี้วัดมากมาย มีลู่ให้วิ่งมากมาย

ในบางมุมมันก็ดี ถ้าเข้าถึงและลึกซึ้งกับมันได้

ในบางมุมก็กลับกลายเป็นภาระงอกเงยขึ้นมาซะงั้น


แวะมาชื่นชม -ครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

ลดนโยบาย ลดโครงการ เพิ่มเวลา PLC กำกับ ดูแล ส่งนักคิดทั้งหลาย มาอยู่โรงเรียน

  • งานนโยบายมีมาก จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถคิดเองทำเองได้ นอกจากจะแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด อันเนื่องมาจากความต่างของแต่ละโรงแล้ว หากมองในระยะยาว ยิ่งจะเป็นผลเสีย โรงเรียนอาจจะชินกับการไม่ต้องคิด สร้างความอ่อนแอครับ..
  • ขอบคุณอ.แผ่นดินครับ
  • ทฤษฎีดี แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติ ปัจจัยต่างๆที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จมีหลายอย่างครับ เรื่องเวลาที่โรงเรียนมี ก็เรื่องหนึ่งล่ะครับ..
  • ขอบคุณท่านอ.Preechaครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท