แบบประเมิน EF คัดกรองความบกพร่องทางอารมณ์เด็กปฐมวัย


วันนี้ปัญหาเด็กและวัยรุ่น เช่น การติดยา ติดเกม ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การตีกัน ตลอดจนความรุนแรงที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจในทุกวัย ตามที่ปรากฏในสังคม เป็นประเด็นที่แม้หลายๆ ฝ่ายพยายามที่จะแก้ไขป้องกัน แต่ก็ยังไม่สามารถคลายปมสถานการณ์ได้ โดยยังมีข้อโต้แย้งถึงสาเหตุของปัญหาว่ามาจากการไม่มีเวลาของครอบครัว การอบรมสั่งสอนที่ไม่ถูกต้อง โดยยังขาดการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง


ในทาง “วิทยาศาสตร์” ทีมวิชาการจากศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานของระบบสมองในมนุษย์ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจไว้ทางหนึ่งคือ การทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร หรือ Executive Functions (EF) เพื่ออุดช่องว่างของปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ



ปัญหา EF เด็กไทย ที่สังคมยังขาดความเข้าใจ

รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล นักวิจัย ศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล กล่าวไว้ในหลายประเด็นดังนี้

  • การคิดเชิงบริหาร หรือ Executive Functions (EF) คืออะไร : การทำหน้าที่ระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำได้ เช่น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนทำไม่หุนหันพลันแล่น ซึ่ง EF มีความสัมพันธ์กับชีวิตการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม โดยเป็นทักษะที่เหมาะกับการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะวัย 2-6 ขวบ
  • หากขาดการพัฒนาส่งเสริม จะส่งผลอย่างไร : เด็กจะขาดการยับยั้งตนเอง ขาดการควบคุมอารมณ์ การคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดยาก ขาดการใส่ใจจดจ่อและความจำขณะทำงาน ทำให้มีปัญหาในการทำงานให้เสร็จลุล่วง รวมถึงขาดความพร้อมทางการเรียนและอาจจะล้มเหลวในการเรียนได้ เหล่านี้ยังกระทบไปถึงปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสังคมต่างๆ ที่อาจตามมา
  • เมื่อไหร่ที่มนุษย์ต้องใช้ EF : เมื่อเราเจอสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น เมื่อเปลี่ยนโรงเรียน เปลี่ยนที่ทำงาน พบเพื่อนใหม่ เมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เมื่อสิ่งที่ทำไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เมื่อต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุเพื่อเลือกทำสิ่งที่ยากสิ่งที่ไม่สนุก ในบริบทเหล่านี้ การคิดเชิงบริหาร (EF) ช่วยให้เราตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จหรือดำเนินไปในทางที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราควรมีเครื่องมือที่สามารถคัดกรอง ค้นหาและทราบได้ว่าเด็กมีความบกพร่องในเรื่องพัฒนาการด้าน EF หรือไม่อย่างไร




รศ.ดร.นวลจันทร์ เล่าว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการประเมินการคิดเชิงบริหาร (EF) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศได้มีการใช้อย่างแพร่หลายและผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว โดยเครื่องมือที่มีชื่อว่า Behavioral Rating Inventory of Executive Functions หรือ BRIEF-P ถูกนำมาใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อประเมินพฤติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องของ EF ในเด็กอายุ 2-6 ขวบ ตามค่ามาตรฐานของกลุ่มเด็กอเมริกัน โดย BRIEF-P ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแปรผล มีความซับซ้อน หากเราจะใช้เครื่องมือประเมินนี้จะต้องซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ

ดังนั้น ทีมวิจัย ม.มหิดล โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เห็นว่าเรื่องของการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเด็ก ขณะที่ในไทยยังไม่มีแบบประเมินฉบับภาษาไทย รวมทั้ง BRIEF-P ของอเมริกา ไม่ใช่ค่ามาตรฐานของเด็กไทยและยังไม่เคยมีการหาค่าเกณฑ์มาตรฐานของพัฒนาการด้าน EF ของเด็กไทยมาก่อน จึงได้พัฒนาแบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียนขึ้น ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาและหาค่าเกณฑ์มาตรฐานเครื่องมือประเมินการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ปีที่ 2


รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล : “เราใช้เวลา 2 ปี ในการศึกษา โดยปีแรก เป็นการพัฒนาแบบประเมินให้มีคุณภาพ มีความเที่ยงตรง มีความถูกต้องเชิงเนื้อหาและตรวจสอบความเชื่อมั่นของแบบวัดจนเป็นที่ยอมรับตรงตามโครงสร้างเทียบเคียงสัมพันธ์กับ BRIEF-P และจากการทดสอบซ้ำให้ค่าคงที่ จนเกิดเป็นแบบประเมิน 2 ชิ้น คือ 1) แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101) และ 2) แบบประเมินปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-102) ที่สามารถนำไปใช้หาค่าเกณฑ์มาตรฐานของพัฒนาการด้าน EF ในเด็กปฐมวัยได้ จากนั้นในปีที่ 2 ได้มีการนำลงไปใช้เก็บข้อมูลกับกลุ่มเด็กตัวอย่างชายและหญิง จำนวน 2,965 คน จากทุกภาค เพื่อที่จะหาค่าเกณฑ์มาตรฐานของแบบประเมินทั้ง 2 ชุด ทั้งนี้ จากการทดสอบคุณภาพของเครื่องมือคัดกรองความบกพร่อง EF ในเด็กปฐมวัย จนเป็นที่น่าพอใจสามารถที่จะนำไปใช้ในงานวิจัยที่เป็นการทดสอบแบบ Pre-Test, Post-Test ได้”


เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ สวรส. และ ม.มหิดล ได้มีการจัดอบรมการใช้แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ให้กับครูปฐมวัยและผู้ดูแลเด็ก ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 200 คน เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักการ วิธีการใช้แบบประเมิน และนำไปใช้ส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของเด็กในพื้นที่ต่อไป

กระบวนการดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือในระยะเบื้องต้น เพื่อสร้างเครือข่าย หาประสบการณ์ในการใช้และพัฒนาเครื่องมือ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ระหว่างครูผู้ใช้กับทีมวิจัย



ตัวอย่าง แบบประเมิน EF ฉบับภาษาไทย กระตุ้นครูปฐมวัย ใช้เครื่องมือ-พัฒนากิจกรรมช่วยเด็ก

สำหรับแบบประเมินพัฒนาการด้าน EF ฉบับภาษาไทย ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมา มีตัวอย่างเนื้อหาดังนี้ แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101) ใช้สำหรับประเมินในเด็กอายุ 2-6 ขวบ มีคำถามทั้งหมด 32 ข้อ สำหรับให้ครูผู้ดูแลเด็ก/ครูอนุบาล ใช้ประเมินพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียนที่รู้จักและคุ้นเคย แบ่งเป็น

  • ตัวบ่งชี้ถึงพัฒนาการด้านการยับยั้งพฤติกรรม เช่น เข้าคิวอดทนรอคอยได้ รู้จักรอที่จะพูดไม่พูดแทรกผู้อื่น เมื่อขัดแย้งกับเพื่อนไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหา เป็นต้น
  • ตัวบ่งชี้ถึงพัฒนาการด้านการเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นทางความคิด เช่น เมื่อถูกเพื่อนปฏิเสธที่จะเล่นหรือถูกแย่งของเล่นก็สามารถไปเล่นอย่างอื่นโดยไม่หงุดหงิด เป็นต้น
  • ตัวบ่งชี้ถึงการควบคุมอารมณ์ เช่น เมื่อเจอปัญหาสามารถสงบสติอารมณ์หาทางแก้ปัญหาโดยไม่โวยวาย เมื่อผิดหวังเสียใจสามารถคืนอารมณ์หลังการปลอบโยนให้เป็นปกติในเวลาไม่นาน เป็นต้น
  • ตัวบ่งชี้ถึงพัฒนาการด้านความจำขณะทำงาน เช่น การจำได้และไม่ทำผิดในเรื่องซ้ำเดิม สั่งงาน 2-3 อย่าง สามารถจำได้และปฏิบัติครบถ้วน เป็นต้น
  • ตัวบ่งชี้พัฒนาการด้านการวางแผนจัดการ เช่น เก็บของเล่นเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด รู้จักแก้ปัญหาเมื่อทำน้ำหกรู้จักเช็ด ทำงานเสร็จโดยไม่ติดกับรายละเอียดเล็กน้อยที่ไม่สำคัญมากเกินไป เป็นต้น

แบบประเมินข้างต้น ทางครูผู้ดูแลเด็กหรือครูอนุบาล จะนำใช้ไปสังเกตเด็กในชั้นเรียนตามหัวข้อ ว่ามีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร เป็นไปตามวัยหรือไม่ หรือมีปัญหาพฤติกรรมด้านใดที่พบว่าบกพร่อง




เมื่อมีการประเมินเป็นรายข้อแล้ว ผู้ประเมินจะทำการรวมคะแนนของแต่ละตัวบ่งชี้ มากำหนดจุดบนกราฟที่ตรงกับช่วงอายุและเพศของเด็ก ซึ่งค่าคะแนนและการแสดงของกราฟ ก็จะบ่งบอกได้ว่าพัฒนาการและพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารของเด็กอยู่ในระดับใด ตั้งแต่ระดับดีมากไปถึงควรปรับปรุงดังนั้น การที่ครูสามารถมองเด็กออกว่ามีปัญหาบกพร่องตรงจุดไหน ก็จะทำให้ครูสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และสามารถออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กได้ นอกจากนี้ ครูยังสามารถใช้ตัวแบบประเมินเป็นเครื่องมือในการติดตามดูความก้าวหน้าดูพฤติกรรมของเด็กได้เป็นระยะ


รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล: “เด็กก่อนวัยเรียนหรืออนุบาล เป็นช่วงของการพัฒนาในเรื่องของอารมณ์ สังคม บุคลิกภาพ การตัดสินใจถูกผิด ซึ่งมีความสำคัญกว่าการที่เราจะไปเร่งในเรื่องของการเรียน เขียน อ่านในช่วงนั้น ฉะนั้นการปูพื้นฐานในเรื่องของพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร หรือ EF จะเป็นการสร้างความพร้อมทางด้านอารมณ์และสังคม เมื่อก้าวไปสู่การเรียนระดับประถมศึกษาเด็กก็จะมีความพร้อมในเรื่องการเรียนได้อย่างมีคุณภาพ”

นางสุภี หาญชนะ ครู คศ.1 อบต.บางคูรัต จ.นนทบุรี ผู้เข้ารับการอบรมใช้แบบประเมินพัฒนาการด้าน EF : “แบบประเมิน EF ถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ของครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก สามารถเป็นเครื่องในการประเมินคัดกรองเพื่อวิเคราะห์อารมณ์ พฤติกรรมของเด็กได้ เมื่อพบว่าพฤติกรรมหรือความคิดของเด็กบกพร่องเรื่องใด ครูผู้สอนจะต้องหาแนวทางในการออกแบบกิจกรรมในการแก้ปัญหาต่อไป เช่น การเปลี่ยนให้เด็กที่ร้องไห้งอแง มาสนใจกิจกรรมเสริม ตัวอย่างงานศิลปะ การร้องเพลงที่มีการเคลื่อนไหวประกอบ เป็นต้น”

นายทวีสิทธิ์ ฉิ่งแก้ว ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี : “แนวคิดของรัฐบาลต้องการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ครูผู้ดูแลเด็ก ก็ควรมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่าที่จะเป็นผู้บอกความรู้ โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านพัฒนาการของเด็ก ให้พร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงต่อไป ฉะนั้นหากนำแบบประเมินพัฒนาการด้าน EF ในเด็กที่ดูแลไปทำการวิเคราะห์เพื่อหากิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเด็ก เชื่อได้ว่าคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของประเทศเราและตัวเด็กเองก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกันในระหว่างการใช้เครื่องมือ ทีมวิจัยควรติดตามเพื่อพัฒนาแบบประเมินให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น”



ผลักดันแบบประเมิน EF ใช้ประโยชน์ หนุนเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ เปลี่ยนแปลงแนวคิดสู่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า บทบาทของ สวรส. ต่อจากนี้คือส่งเสริมการทำความเข้าใจเรื่องการพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัย และสนับสนุนการขับเคลื่อนให้ผู้ที่มีหน้าที่ คือ กลุ่มครูผู้ดูแลเด็ก ครูอนุบาล นำเครื่องมือแบบประเมิน MU.EF-101 และ MU.EF-102 ไปใช้ รวมไปถึงการหากระบวนการฝึก ให้เกิดการใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย

“สิ่งที่ต้องเติมเต็มคือ เมื่อมีเครื่องมือแล้วจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างกำลังคนให้พร้อมในการใช้เครื่องมือ เสมือนเรามีโปรแกรมในคอมพิวเตอร์แล้วแต่ยังใช้ไม่เป็น ก็ต้องใส่องค์ความรู้ความเข้าใจให้กับครูกลุ่มเป้าหมาย ไม่เพียงแค่ทำการประเมินแต่จะต้องมีกระบวนการที่เพิ่มสมรรถนะครูในการออกแบบกิจกรรม ไปเสริมจุดบกพร่องพฤติกรรมของเด็กได้ด้วย และเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของครูกับรูปแบบการสอนเดิมๆ ตัวอย่างเช่น เดิมเราเห็นแต่ครูอยู่หน้าชั้นเรียนเขียนกระดานดำ แต่หากมีกระบวนการไปปรับให้ครูได้รู้จักแสดงบทบาทสมมุติ หรือมีกิจกรรมแสดงละครประกอบการสอน เล่าเรื่องใหม่ๆให้เด็กสนใจ ก็อาจเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจของเด็กได้ง่ายขึ้น”

และอีกกลุ่มสำคัญที่ลืมไปไม่ได้เลย คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องรู้จักและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วย โดย สวรส. จะหาทีมวิจัยมาช่วยกันพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการต่อไป




นอกจากการอบรมในการสร้างกำลังคนให้สามารถใช้เครื่องมือเป็นแล้ว สวรส. มองว่า ขั้นตอนต่อไปหากจะให้เครื่องมือได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด จำเป็นต้องมีกลไกในเชิงนโยบาย แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องมีพื้นที่ต้นแบบสะท้อนรูปธรรมในการทดลองใช้เครื่องมือแบบประเมินฯ ซึ่งเป็นลักษณะของการวิจัยเพื่อพัฒนา โดยเริ่มจากตำบลที่มีความพร้อม เช่น ใน 1 ตำบล มีเด็กอายุ 2-6 ขวบ 100 คน ตั้งเป้าว่าใน 3 ปี จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้อย่างไรบ้าง มีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร ลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กได้อย่างไร หากทำแบบนี้ได้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่งานวิจัยแต่นับว่าเป็นการพัฒนาเด็กได้ถึง 100 คน และคนที่จะออกมาพูดให้สังคมเห็นความเปลี่ยนแปลงและคุณค่าของเครื่องมือประเมินก็คือ ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่นนั่นเอง

“การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในบ้านเราควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายระดับชาติหรือการผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเลยนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เราเชื่อว่า กระบวนการทางความคิดจะเปลี่ยนง่ายที่ชายขอบ โดยเริ่มทำในระดับโมเดลเล็กๆ ในพื้นที่ระดับตำบลในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล แล้วมองหากลไกจากการเรียนรู้ต้นแบบเป็นตัวอย่างไปขยายผล จะดีกว่าการประกาศเป็นนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งอาจเป็นแค่การจัดแคมเปญใหญ่ๆ ซึ่งสุดท้ายการปฏิบัติจริงก็หายไป” พญ.วัชรา กล่าว

ทั้งหมดนี้ คือ เส้นทางการพัฒนาสู่การใช้เครื่องมือแบบประเมินพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กปฐมวัยในระยะเริ่มต้น ที่ทาง ม.มหิดล และ สวรส. ได้เริ่มให้แม่พิมพ์ของชาติเข้าร่วมเรียนรู้การใช้เครื่องมือแล้ว นับจากนี้ คือ การติดตามผลลัพธ์ที่จะทำให้เครื่องมือแบบประเมิน EF มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และผลักดันเข้าสู่การใช้ในระบบการศึกษาไทยต่อไป

//////////////////////////////////////////////////

งานวิจัย : โครงการวิจัยพัฒนาและหาค่าเกณฑ์มาตรฐานเครื่องมือประเมินการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ปีที่ 2

สอบถามข้อมูลได้ที่ หน่วยสื่อสารและขับเคลื่อนการใช้ความรู้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข : ศุภฑิต สนธินุช (ดิษ)โทร. 02 832 9246 / 089 050 1165 / [email protected]

หมายเลขบันทึก: 628408เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2017 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2017 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สุดยอดเลยครับ ความรู้ด้านนี้ ;)...

สุดยอดครับ สนใจแบบประเมินครับ ต้องทำยังไงครับผม

vuttipong อาจารย์ครับ อยากให้ลองประสานทาง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล โดยตรงดูนะครับ

สนใจแบบประเมินวัดทักษะการคิดเชิงบริหาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท