ประสบการณ์จากการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ ๑ สถาบันอาศรมศิลป์ (๓) : เสียงสะท้อนจากนักศึกษา


สิ่งสูงสุดที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษาวิชาดังกล่าวนี้ คือการตอกย้ำต่อความเป็นไทยในก้นบึ้งของจิตใจของตัวผมเอง หลายๆ กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ หลายๆ กิจกรรมเตือนความคิดตนเอง และตั้งคำถามต่อแรงบันดาลใจของตนเองในอดีต จนทำให้ผมย้อนมองกลับมาที่ตนเอง ทบทวน และถวิลหาความประทับใจเก่าๆ จากศิลปะไทย เป็นแรงขับเคลื่อนต่อความรัก ความหวงแหน และความห่วงใยต่อศิลปะไทย




คำนำแฟ้มรวบรวมผลงานของธีรนพ นักศึกษาต้นกล้าสถาปัตย์ รุ่น ๑


ผมเคยตั้งคำถามต่อการศึกษาวิชาภาษาไทยเมื่อครั้งศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าทำไมวิชาภาษาไทยจึงไม่ฝึกทักษะที่รองรับต่อการเป็นสถาปนิก ทำไมผมเรียนแล้วทักษะการเขียน การอ่านจับใจความ หรือแม้กระทั่งทักษะการพูดกลับไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร


ผมหอบหิ้วคำถามนี้มาถามกับตัวเองหลังจากเรียนวิชาทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูด และการเขียนภาษาไทย ในวันแรกเป็นประสบการณ์พิเศษและทึ่งต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาของครูใหม่ที่มีลำดับขั้นตอนและความสัมพันธ์กันอย่างแยบยล จนผมรู้สึกว่าเนื้อหาต่างๆ ถูกร้อยเรียงกันไปเรื่อยๆ เหมือนบันไดที่จะพาผมพัฒนาไปอีกหลายขั้น จนจบกระบวนการตลอด ๑๒ สัปดาห์ ผมรู้สึกถึงพัฒนาการในตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสำคัญและเนื้อหาเพื่อสื่อสารอย่างตรงประเด็น และมีเป้าหมายในการสื่อความอย่างมีชั้นเชิง ผมสามารถสร้างรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ค้นหาเอกลักษณ์ในงานเขียนที่เฉพาะตน หรือแม้กระทั่งสร้างลูกเล่นในการจัดการต่อความรู้สึกคนอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นถึงความหลากหลายของการสื่อความ ได้ร่วมเรียนรู้กลเม็ดและเทคนิคเฉพาะตัวต่างๆ ของเพื่อนร่วมชั้น พัฒนาและปรับใช้กับตัวเองอย่างเหมาะสม จับใจความสำคัญจากการฟังและการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงความคิดกับองค์ความรู้ต่างๆ ตั้งคำถาม และหาคำตอบมากยิ่งขึ้นกว่าอดีต ซึ่งผมเล็งเห็นถึงประโยชน์มากมายที่สามารถหยิบยกมาพัฒนาการประกอบอาชีพของตนเอง


แต่สิ่งสูงสุดที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษาวิชาดังกล่าวนี้ คือการตอกย้ำต่อความเป็นไทยในก้นบึ้งของจิตใจของตัวผมเอง หลายๆ กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ หลายๆ กิจกรรมเตือนความคิดตนเอง และตั้งคำถามต่อแรงบันดาลใจของตนเองในอดีต จนทำให้ผมย้อนมองกลับมาที่ตนเอง ทบทวน และถวิลหาความประทับใจเก่าๆ จากศิลปะไทย เป็นแรงขับเคลื่อนต่อความรัก ความหวงแหน และความห่วงใยต่อศิลปะไทยที่กำลังถูกมองข้ามและเลือนหายไปกับกาลเวลา เปิดใจมองคุณค่า จนกระทั่งสาบานต่อตนเองที่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถและความรักต่อศิลปะวัฒนธรรมไทยให้ยังคงสืบทอดต่อไป



ธีรนพ จำนงค์

๓ ธันวาคม ๒๕๕๗



หมายเลขบันทึก: 628399เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท