บันทึกคัมภีร์เทวดา


มีคนบอกผมว่า เสียงสวดมนต์สามารถกล่อมเกลาจิตใจเราได้ การสวดมนต์เป็นการฝึกจิตฝึกสมาธิ และการสวดมนต์คือ meditation

ค่ำวันนี้หลังจากเลิกร้านก็เตรียมตัวกลับบ้าน และก้าวแรกที่กำลังจะข้ามถนน ก็รู้สึกแปลกๆในใจลึกๆ เอ๊ะ..วันนี้เราจอดรถอยู่อีกทางนี่นา ว่าแล้วก็หันหลังเดินกลับมาทางเดิม พลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ดังออกมาจากวัดจีนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลินิก (เอ๊ะ..อีกรอบ หรือว่าร้านผมตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดจีนกันแน่วะ)

ผมหยุดเดิน

ความตั้งใจที่จะรีบกลับบ้านต้องถูกวางเอาไว้ที่ปลายเท้า แต่ความตั้งใจที่จะฟังเสียงสวดมนต์ที่แว่วดังออกมานั้นต่างหาก ที่ทำให้ผมถูกตรึงอยู่ที่หน้าคลินิกของตัวเอง

เสียงสวดมนต์นั้น ช่างไพเราะคุ้นหูเสียนิ่งนัก

.................................

พ.ศ. ๒๕๓๔ ใจผมลอยออกไปยังสถานที่แห่งนั้น

"บินหลา ๑" หอพักนักศึกษาแพทย์ผู้ชายที่มีโถงใต้หอเป็นที่โล่งกว้าง มันถูกจัดวางไว้เพื่อการสังสรรค์ เสวนาสโมสร บ้างใช้เป็นที่ประชุม บ้างใช้เป็นที่เล่นไพ่ บ้างใช้เป็นที่จัดกิจกรรมของสโมสรนักศึกษา และบ้างใช้เป็นที่อ่านหนังสือ

ในช่วงเวลาที่กำลังเรียนแพทย์ในชั้นปีที่ ๒ เป็นปีที่เขาว่ากันว่าเรียนหนักที่สุดในช่วงก่อนขึ้นชั้นคลินิก แต่ผมคิดว่า อันที่จริงแล้ว กระบวนการปรับตัวของนักศึกษาแพทย์ในการเรียนหนักนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง พวกเราล้วนผ่านการเรียนมาอย่างหนักในชั้นมัธยมอย่างเคยชิน แต่สิ่งที่เรียกว่าหนักเป็น “นรก” นั้นกลับไม่ใช่การเรียน ไม่ใช่การเรียน Gross Anatomy ไม่ใช่การเรียน Physiology ไม่ใช่การเรียน Histology แต่มันคือการ “สอบ” ต่างหาก

แม้การสอบเป็นการวัดผลที่ง่ายที่สุดและไม่ใช่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่สุดในการเรียนแพทย์ แต่หากเมื่อการสอบมันเกิดขึ้นทุกสัปดาห์เป็นเวลาติดกันในทุกวันเสาร์ ๗ สัปดาห์ และบางสัปดาห์มีการสอบทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ผมจึงเรียกความหนักในช่วงชีวิตนี้ว่า “นรก”

บางคนอาจจะโชคดีที่เกิดมาเก่ง อ่านหนังสือครั้งเดียวก็เข้าใจและจำได้ คนแบบนี้อาจจะไม่ค่อยรู้สึกว่าการสอบเป็นภาระมากมายไปกว่าการที่จะต้องสอบให้ได้ที่ ๑

บางคนอาจจะขยัน อ่านหนังสือ ทบทวนความรู้ที่ได้จากการเรียนทุกวัน อ่านมันทุกวัน ครั้นเมื่อถึงเวลาสอบก็แค่ทบทวนสิ่งที่ได้อ่านมาทุกวัน คนแบบนี้ก็จะค่อนข้างสบาย การสอบเป็นเพียงแค่การใช้ชีวิตตามปกติเท่านั้นเอง แล้วคนพวกนี้ก็ยังคงอ่านหนังสือต่อไป

แต่สำหรับคนส่วนมาก การอ่านหนังสือสอบอาจจะเรียกว่าเป็น “มหกรรม” เขาจะเริ่มอ่านหนังสือเมื่อใกล้สอบ ลองหลับตานึกภาพความชุลมุนที่เกิดขึ้น การยืมเล็คเช่อร์จากคนลายมืออ่านง่ายไปถ่ายเอกสาร ฉบับแล้วฉบับเล่า วลีสำคัญของวิชาต่างๆจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกัน ฉบับก็อปปี้ของใครมีรอยขีดเส้นใต้เน้นความสำคัญ ฉบับนั้นคือทองคำ เพราะพวกที่อ่านไม่ทันจะชอบมาก มันจะอ่านเฉพาะที่เพื่อนอ่านมาก่อนและขีดเส้นใต้เน้นความสำคัญไว้แล้วเท่านั้น เราจะเห็นเพื่อนหน้าตาบึ้งตึง ดูลนลาน มากกว่าเพื่อนที่ยิ้มแย้มต่อกันในทุกๆวัน

และที่น่าหมั่นไส้ไปกว่านั้น ก็คือคนพวกแรกที่มีความต้องการอ่านหนังสือน้อยที่สุดลงมากวนใจ มาเล่นไพ่โชว์ หรือมาคอยทดสอบความรู้เพื่อนๆให้พวกที่ ๓ ต้องรู้สึกกังวลมากขึ้นไปอีก

แล้วมันก็จะผ่านไปเมื่อถึงเวลาเย็นวันอาทิตย์ และจะหวนกลับมาชุลมุนอีกครั้งช่วงราวๆเย็นวันพฤหัสและศุกร์

ในชั้นปี ๒ เทอม ๒ มีการสอบแบบนรกที่ว่านั้นเกิดขึ้น ความรู้สึกเครียดถูกสั่งสมมาจนกระทั่งสัปดาห์หนึ่ง เราต้องสอบวิชา Physiology วิชาที่ว่าด้วยกระบวนการทำงานของร่างกาย มันคือวิชาที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็เพราะมันว่ากันจนถึงระดับโมเลกุลเลยทีเดียว เรามองภาพอย่างไรก็มองมันไม่ออก อย่างเช่นกระบวนการเผาผลาญแป้ง Krebs cycle, glycolysis, gluconeogenesis เป็นต้น ใครจะไปรู้ ข้าวที่กินไปหนึ่งคำ เซลล์ร่างกายจะได้น้ำตาลไปใช้แต่ละที ต้องผ่านกระบวนการแบบนี้ นี่ยังไม่รวมการควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนต่างๆที่เข้ามาข้องเกี่ยวอีกนะ (ขอกลับไปอ๊วกก่อนเลย กูไม่อยากกินข้าวแล้ว) แต่ที่จะว่าง่าย มันก็ง่าย เพราะมันคือการดำรงอยู่ของชีวิตเรา หลายคนบอกว่า วิชานี้ใครท่องจำเก่งจะได้เปรียบ แต่ผมมักจะเถียงเสมอว่า วิชานี้ต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าการจำ เพราะเมื่อเข้าใจแล้วเราจะสามารถมองภาพการทำงานของร่างกายได้โดยง่าย

แต่การสอบในครั้งนั้นมันคนละเรื่อง เพราะเขาเล่นสอบกันทุกเสาร์ และวิชานี้กำหนดสอบภาคทฤษฎีในวันเสาร์ และสอบในส่วนของ labs ในวันอาทิตย์ และจะให้ไอ้คนพวกที่ ๓ ทำอย่างไรล่ะครับ

ในเช้าวันเสาร์ก่อนสอบภาคทฤษฎี ผมและเพื่อนจำนวนหนึ่งได้ประชุมนัดแนะกันว่า หลังสอบเสร็จจะรวมกลุ่มกันติววิชา labs physiology เพราะต่อให้อ่านหนังสือเก่งแค่ไหนก็คงอ่านทบทวนบทต่างๆไม่ทันแน่นอน ดังนั้น วิธีที่น่าจะง่ายที่สุดคือ เราอ่านบางตอน และเพื่อนอ่านบางตอน แล้วมาติวกัน

“ใครจะมาร่วมติวกันบ้าง” ผมถามออกไปหลังจากที่มีเพื่อนกลุ่มใหญ่เริ่มทำข้อสอบเสร็จแล้วออกมายืนออกันหน้าห้องสอบ

“ใครอยากติว กินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วก็ขอให้ไปรวมตัวกันที่บินหลา ๑ เดี๋ยวจะได้แบ่งหัวข้อกันไปอ่าน จะได้มาช่วยกันติว” ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเอาแนวคิดแบบนี้มาจากไหน รู้แต่ว่า เลือดมันเข้าตา ยังไงก็ต้องใช้วิธีนี้ เพราะที่ผ่านมาก็อ่านบ้างเล่นบ้าง (ผมเป็นพวกกลุ่ม ๒.๕ ครับ คืออ่านหนังสือเกือบทุกวัน และเล่นๆเรียนๆพอๆกัน)

และช่วงบ่ายของวันนั้น เรามีเพื่อนที่อยากจะร่วมติวรวมๆกันได้เกือบ ๓๐ คน ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงทุกคนก็ได้เรื่องที่ตัวเองต้องรีบกลับไปอ่าน ผมได้มา ๒ เรื่อง คือการเต้นของหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

“ขอให้เจ้าของเรื่อง เก่งที่สุดในเรื่องของตัวเอง และต้องสอนเพื่อนๆทุกคนจนเข้าใจ เราจะไม่ผ่านไปเรื่องอื่นถ้าเพื่อนยังไม่เข้าใจ บ่าย ๓ โมงมาเจอกันนะ” นั่นคือข้อตกลงที่วางเอาไว้

และก็เป็นที่น่าแปลก ที่เวลาบ่าย ๓ โมง ทุกคนก็มากันอย่างพร้อมเพรียงที่ว่าแปลกก็เพราะการตรงเวลามิใช่เรื่องปกตินั่นเอง แสดงว่า งานนี้ลนลานกันพร้อมเพรียง) และมหกรรมการติวจึงได้เริ่มขึ้น บทแล้วบทเล่าผ่านไปด้วยดีบ้าง กระท่อนกระแท่นบ้าง เราจะได้เห็นกลยุทธในการสอนเพื่อนในรูปแบบต่างๆ หากเจ้าของเรื่องอธิบายต่อไปไม่ได้ ก็จะมีอีกหลายคนที่จะมาช่วยต่อให้ในสไตล์ของตัวเอง

เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ผมก็ไม่ได้จำ มีพักเบรกกินข้าวเย็นกันหรือไม่ผมก็ไม่ได้จำ เพราะตอนนั้นกำลังอินเต็มที่กับการทำความเข้าใจ หาเหตุและผลของ physiology ที่เพื่อนอธิบายให้ฟังจนไม่สามารถเอาสมาธิออกไปไหนได้ไกลๆ มารู้ตัวอีกทีก็พบว่า เพื่อนที่มาร่วมติวกันนั้นมีมากกว่า ๓๐ คนแน่ๆ บางคนหอบเอาหมอนมานั่งกอดไปพลางพร้อมทำความเข้าใจเรื่องที่เพื่อนกำลังติว บางคนคงทนเครียดไม่ไหว ก็เดินไปยกน้ำหนักเรียกเหงื่อเรียกแรง ก่อนที่จะมานั่งรวมกลุ่มต่อไป มีการถกเถียงกันบ้างเป็นบางครั้งเมื่อสิ่งที่รู้มาไม่เหมือนกัน

แล้วเราก็ติวกันจนจบในเวลา ๓ ทุ่มเศษๆ

“แป๊ะ ไปดูหนังกันเหอะ อั้นไม่ไหวแล้ว”

อั้นไม่ไหวแล้ว ไม่ได้หมายความว่า ขี้จะแตก หรืออ๊วกจะแตกจนอั้นแทบจะไม่ได้แล้วนะครับ แต่อั้นเธอเป็นเพื่อนผู้หญิงที่สนิทคนหนึ่ง เธอเดินเข้ามาแล้วบอกว่า “มันหนักหัว” อยากจะไปผ่อนคลายบ้าง

แล้วเราอีกหลายชีวิตก็ควบมอเตอร์ไซค์ไปดูหนังกันที่ “โรงภาพยนต์ ซีกิมหยง” รอบดึก ซึ่งตอนนั้นกำลังฉายหนังเรื่อง “เดชคัมภีร์เทวดา” มันเป็นยุคที่หนังจีนกำลังเฟื่องฟูในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังกำลังภายใน หรือกำลังภายนอกแบบ “ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ” มาฉายเถิด มีคนดูแน่นอน

ผมเองก็จำเนื้อเรื่องมันแทบจะไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าตอนจบนั้น มีคนได้ฝึกวิชากระบี่จนสำเร็จแล้วตัวเองกลายร่างเป็นผู้หญิง แล้วมันก็สวยชิ๊บหาย แต่สิ่งที่ผมจำได้แม่นยำก็คือ “เพลงประกอบหนัง”

โซง โหย ยัด แซง สิ่ว โถว โถว เลิง งอน จิ่ว..........

...................................................................................................................................

ผมสูดหายใจลึกๆเข้าเต็มปอด ความชุ่มชื้นจากฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงเที่ยงและบ่ายทำให้รู้สึกสบาย แอบสำลักเล็กน้อย เพราะมันเป็นอากาศบริเวณสี่แยกวัดฉื่อฉาง สี่แยกที่มีรถสัญจรไปมาคับคั่งแห่งหนึ่งของเมืองหาดใหญ่

เสียงสวดมนต์นั้น ช่างไพเราะคุ้นหูเสียนิ่งนัก

ผมฟังภาษาจีนไม่รู้เรื่อง แต่ทำนองของบทสวดนั้นมันคือ “เดชคัมภีร์เทวดา” ชัดๆ เพลงนี้แน่ๆ

แล้วผมก็ยืนฟังการสวดมนต์นั้นต่อไป แล้วพลางนึกไปถึง “บินหลา ๑” ในคืนวันนั้น

โอว.......

ธนพันธ์ ชูบุญอยากเป็นพระเอกเดชคัมถีร์เทวดา โซง โหย ยัด แซง สิ่ว โถว โถว เลิง งอน จิ่ว..........

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐


หมายเลขบันทึก: 628394เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ผมตามมาอ่านบันทึกนี้ทันที ที่อ่านเรื่องของ"ป้าน้อย"จบ

-คงต้องตามไปอ่านบันทึกหลังๆ อีก 55

-ชักสนุกกับบันทึกเล่าความของอาจารย์แล้วล่ะครับ

-ขอบคุณนะคร้าบ...


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท