งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ : เรียนรู้เรื่องราวหลากหลายจากงานศิลปะของนักเรียนชั้น ๕


ภาพเดียวกัน แต่คำที่สะท้อนภาพนั้นแตกต่าง ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้มอง และโลกภายในของผู้มองเป็นอย่างไร

กิจกรรมแรกของวันนี้คือ กิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวหลากหลากหลายจากงานศิลปะของนักเรียนชั้น ๕ ที่ครูใหม่ตั้งโจทย์กับผู้ร่วมงานทุกคนเดินชมภาพผลงานสีน้ำของนักเรียนที่ถูกจัดวางติดอยู่ตามผนังและบนโต๊ะในบริเวณงาน จากนั้นให้ทุกคนได้เลือกภาพที่ตนเองชื่นชอบหรือประทับใจพร้อมกับการคิด"คำ" ให้กับภาพนั้นๆ โจทย์นี้ช่างท้าทายผู้เข้าร่วมงานเสียจริงๆ

ภาพเดียวกัน แต่คำที่สะท้อนภาพนั้นแตกต่าง ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้มอง และโลกภายในของผู้มองเป็นอย่างไร




ครูใหม่ หลังจากที่มีการปล่อยโจทย์ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาเราจะดูว่าผู้เรียนมีการทำงานกับโจทย์ของเราอย่างไร มีใครอยากรู้บ้างว่าใครเป็นเจ้าของภาพที่ตัวเองเขียนถึง โดยเฉพาะคุณครูชั้น ๕ ปัจจุบัน ซึ่งคุณครูช่วงชั้นที่ ๑ ก็เคยเป็นคุณครูที่เคยรู้จักเข้าเมื่อ ๒ ปีที่แล้วบ้าง ๓ ปีที่แล้วบ้าง

ใครเลือก ๔ ภาพนี้ (ใน PPT) ขอให้คนที่เลือก ๔ ภาพนี้ยืนขึ้นแล้วอ่านเรื่องที่เราเขียนถึงภาพนั้น ดูซิว่าเพื่อนต่างคนต่างเขียนจะเหมือนกันไหม ให้อารมณ์ภาพเหมือนกันไหม

ครูตัง (ภาพของแพมมี่) ตอนแรกดูจากรูปก่อนไม่ได้ดูชื่อ จะได้ไม่รู้สึกว่าเรารู้จักใครไม่รู้จักใคร ภาพสะดุดตาเพราะต้นไม้ใหญ่ตรงกลาง แบ่งครึ่งบนครึ่งล่างด้วยสีที่ต่างกัน ภาพอื่นๆ เป็นต้นไม้กับพื้นหญ้าทั้งหมดแต่ภาพนี้เป็นต้นไม้กับปูนซีเมนต์ เปรียบต้นไม้ใหญ่เหมือนพี่ใหญ่ที่แผ่ร่มเงาให้กับพื้นที่ข้างล่างไม่ว่าจะเป็นพื้นหญ้าหรือปูนซีเมนต์

ครูแป๊ะ (ภาพของแพมมี่) งานชิ้นนี้ดูดีมีคุณค่า ครูเลือกมาจากทุกภาพที่สร้างสรรค์ คงพากเพียรวาดเขียนทุกคืนวัน จนได้ออกมาเป็นภาพแบบนี้ ชอบที่สุดคือสีน้ำตาลของต้นไม้มันเข้มมีพลังและสีใบไม้ไม่จำเป็นต้องเขียวอย่างเดียว

ครูมายด์ (ภาพของแพมมี่) อาจจะแตกต่างจากคุณครูทั้ง ๒ ท่านเพราะภาพที่เลือกรู้สึกว่ามีชีวิต มีความอ่อนโยนและพริ้วไหวตามลม แสงแดด เพราะสิ่งที่ได้มาคือต้นไม้พริ้มเอนตามอารมณ์ที่อ่อนไหว

ครูใหม่ เป็นยังไงบ้างคะ ๓ ลีลาจากภาพเดียวกัน มันเป็นความแตกต่างจากโลกภายในที่ทำงานกับโลกภายนอกแล้วก็คุณครูต้องละเอียดพอที่จะเห็นไม่ใช่คุณครูคนเดียวที่สัมผัสกับโลกภายนอกแล้วมีอาการแตกต่าง เด็กก็เหมือนกันเราจะบังคับให้เขาเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมดไม่ได้




...๔ ภาพถัดไป

ครูซาร่า (ภาพของเอลิซ) จริงๆ แล้วไม่รู้จักน้องมาก่อนแล้วมาสังเกตการสอนครั้งแรก เลือกภาพนี้เพราะชอบที่ไล่สีได้สวย สีเข้ม สีอ่อนแล้วมีสะพาน ใบไม้ก็ไล่สีสวย

ครูจุ๋ม (ภาพของเอลิซ) ตอนแรกเดินเลยไปแล้วเดินกลับมาใหม่แล้วรู้สึกว่ารูปนี้เห็นความละเอียดของต้นไม้เลยชอบ สิ่งที่ตัวเองเขียน คือ เลือกไป ๒ รูปแล้ว ๒ รูปมีความคล้ายคลึงกันเมื่อเห็นแล้วรู้สึกสะดุดตาทำให้อยากมองภาพ ทำให้แสดงถึงใบไม้ที่กำลังพลิ้วไหวไปตามกำลังของลม และต้นไม้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงสามารถใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเป็นเสาหลักให้กับสิ่งรอบตัวได้

ครูวิว (ภาพของเอลิซ) มีการใช้สีที่เข้มกว่าและอ่อนกว่าเห็นว่าถ้าเราทำทุกอย่างให้เกิดความหนักและความเบาจะทำให้เกิดสมดุล

ครูเปีย (ภาพของยิปปี้) ที่เลือกภาพนี้เพราะชอบการจัดองค์ประกอบของภาพ คือ ให้ต้นไม้เป็นจุดเด่น ทำให้รู้สึกมั่นคงและเด่น ชอบการระบายสีที่ไม่ได้ใช้สีเขียวในการแสดงให้เห็นว่าเป็นต้นไม้แต่เข้าใช้สีน้ำเงินทึบทำให้เห็นว่าต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนต้นไม้ต้นอื่น แต่ให้ความรู้สึกลึกลับเหมือนเรื่องแฮรี่พอตเตอร์ กล้าเล่นสีดี

ครูใหม่ ในฐานะที่เราเป็นครูและถ้าเราเป็นครูศิลปะด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องตัดสินเลยว่าทำไมต้นไม้เธอไม่เป็นสีเขียวไปแก้มาระบายใหม่ อันนี้เหมือนเราเอาโลกของเราไปครอบโลกของเขา แต่ถ้าเราสนใจแล้วถามก่อน เขาคงสนใจฟอร์มของต้นไม้ และเห็นว่ารูปร่างของต้นไม้เหมาะที่จะใช้สีนี้มากกว่าสีที่เป็นจริงแสดงว่าเขาsurreal แล้ว คือเหนือจริง แต่ความเหนือจริงของเขามาสร้างสีสันให้กับชั้นเรียน ถ้าทุกคนทำต้นไม้สีเขียวหมด ต้นไม้สีน้ำตาลหมด ใบไม้ลักษณะเดียวกันหมดก็ไม่ต่างอะไรกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กระด่างแล้วไม่ได้สะท้อนว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร แล้วโลกภายในของเราทำงานอย่างไร

ครูมอส (ภาพของยิปปี้) เขียนไว้ว่า ต้นไม้ใหญ่ ลำต้นสีน้ำตาม ไร้ซึ่งใบสีเขียว ก่อนเคยเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและสร้างประโยชน์แก่ผู้มาพักพิง บัดนี้ใบไม้ร่วงโรย ลำต้นแห้งเหี่ยวและได้ตายลงไปเหลือเพียงซากความดีไว้ให้กล่าวขาน

ครูใหม่ ถ้าเราไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้จากมอสมาก่อนเราจะรู้ไหมว่าเขาเป็นคนล้ำลึก (ไม่รู้เลย) เพราะท่าทางเขาสนุกและแจ่มใสเราจะไม่เห็นมิติความลึก และถ้าเราเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนเราจะรู้สึกว่า โห! แบบนี้เลยเชียว แล้วเราจะเห็นความแตกต่างระหว่างมอสกับเปีย เขาไม่ได้แตกต่างกันเฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น แต่สำนวนที่เขาพูดถึงงานของยิปปี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

(ครูใหม่ให้ครูเปียโชว์ตัว) ครูเปียถ้าดูจากภายนอกเขาเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยไหมคะ แล้วสิ่งที่เขาเขียนถึงงานของยิปปี้ดูเป็นวิชาการเราก็ไม่ต่างอะไรที่เราจะบังคับให้เปียโตแบบมอส หรือมอสโตแบบเปีย มันเป็นไปไม่ได้เราไม่ได้เปิดพื้นที่เติบโตในแบบที่เขาเป็น

ครูเอฟ (เลือกภาพขวาล่าง) เห็นตอนแรกนึกภาพต้นไม้ที่มีความเขียวขจี ใบไม้แผ่กระจายเต็มต้น แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ส่วนตัวชอบธรรมชาติที่สดใสและเขียนแบบนี้

คุณหมอสมบูรณ์ (ภาพซ้ายบน) ตั้งแต่สมัยเด็กแล้วที่เวลาวาดภาพแล้วองค์ประกอบของภาพจะมี ภูเขา ดวงจันทร์ ท้องนา เห็นภาพวันนี้เรานึกถึงเมื่อ ๒๐ ปีก่อนแตกต่างกันนิดนึงว่าตอนนี้ในสกลนครเรากำลังพูดถึงเรื่องท้องนาในผืนป่า ผมเขียนว่า ต้นไม้ใหญ่ใต้แสงจันทร์เสี่ยว ภายใต้ป่าเขาและท้องนามีความเขียวขจีและสงบเย็น ความอุดมสมบูรณืจากท้องนาจะเกิดได้จากต้นไม้ใหญ่

ครูใหม่ การสะท้อนนอกจากจะบอกเพศ ความสนใจก็ยังบอกวัยได้ด้วย




...๓ ภาพถัดไป

ครูวิ (ภาพของเป็ป) เป็นภาพที่วาดผ่านมุมมองที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้มองจากระดับสายตา เป็นภาพที่มองจากมุมสูง รู้สึกถึงความแตกต่างจากภาพอื่น ภาพนี้มองได้หลากหลายเป็นเหมือนวงกลมที่เหมือนวงเวียนชีวิตเหมือนวัฎจักรที่เคลื่อนหมุนวนซ้อนกันหลายๆ วัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด วงกลมมีการไล่สีให้เห็นถึงความต่างของแต่ละวง เหมือนวัฎจักรของชีวิตแต่ละคนที่แตกต่างกันซึ่งอยู่รวมกันอย่างมีระบบ

ครูโอ๋ (ภาพของเป็ป) ก้นหอยขดวน เห็นแล้วชอบกล เห็นแล้วชอบใจ สีเทาสีที่เป็นแอ่งมองแล้วเป็นแถวๆ นี้เอง ถ้าจินตนาการดูคล้ายรูปนาฬิกา ที่ฉันนี้หนักหนา เสียเวลารอคอย

ครูใหม่ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างคุณครูช่วงชั้นที่ ๒ และช่วงชั้นที่ ๑ คุณครูโอ๋เป็นคุณครูช่วงชั้นที่ ๑ และเรียนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยมากับเด็ก ๓ ปีเต็ม จะได้ซับซับคุณงานทางภาษาและลีลาทางภาษาที่สนุก ในขณะที่คุณครูวิ สอนวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ ๒ เป็นคนที่ช่างคิดช่างสงสัยก็เลยออกมาเป็นปริศนาวงกลมอย่างที่ว่า แล้วน่าสนใจมากเลยที่ครูแป๊ะที่สอนวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนหน้านี้แต่งกลอนออกมาซึ่งได้รับการซึมซับจากครูปุ๊ก ซึ่งเป็นครูภาษาไทยที่อยู่ห้องทำงานเดียวกัน คุณครูไม่ใช้เพียงสอนเด็กแต่ยังออสโมซิสถึงกันด้วย

ครูแม้ค (ภาพของดรีม) เครื่องเล่นไม้ในวัยเด็กเมื่อตอนยังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ดูมันสูงจังเลย แต่ตอนนี้เราสามารถปีนได้สบาย

ครูมีน (ภาพของดรีม) เมื่อมองภาพครั้งแรกรู้สึกถึงความแข็งแรงคงทน ความสวยงานของภาพ ลายเส้น สี แข็งแรงคงทนเปรียบเหมือนการอดทน ฟันฝ่าอุปสรรคใน การใช้ชีวิตว่าเราต้องใช้ความอดทนในการใช้ชีวิตเพื่อก้าวดำเนินชีวิตต่อไป

ครูแอ๊ว - สกลนคร (ภาพของเป็บ) ตั้งชื่อภาพว่า ลานชุมชุมวงโสเหร่ ที่สกลนครคำว่าโสเหร่คือการที่เราได้มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เหตุผลที่เลือกภาพนี้สีที่ใช้ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากแต่การสื่อความหมายไม่ธรรมดาสื่อให้เห็นว่าในลานนี้เป็นลานที่ทำให้เราได้เจอกัน ได้พูดคุยกันได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แสดงถึงความอบอุ่น

ครูส้มโอ (ภาพของดรีม) ความมั่นคงในสิ่งที่ตัวเองเป็น เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง หากเมื่อเธอต้องการความสนุกสนานจากเรา เราพร้อมที่จะส่งผ่านให้เสมอ

ครูใหม่ วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียนก็จะมีรสชาติอย่างนี้ คือทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และยิ่งปฏิสัมพันธ์ไปเขาจะยิ่งนำเสนอจิตวิญญาณความเป็นตัวเอง ต่างคนต่างร่วมสร้างซึ่งกันและกัน ในการที่เรามีศรัทธาในเพื่อนเรา ในการที่เราค้นพบความดีงานที่มีในตัวเพื่อนเราก็จะส่งผ่านมาถึงตัวเรา เราก็จะถูกหล่อหลอมอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ไม่ใช่แค่การวาดรูปให้ได้รู้ เราไม่ใช่แค่สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนมาเพื่อเราจะให้คะแนน แต่เราสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างคน ให้คนได้รู้จักกับคน และได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เติบโตไปด้วยกัน




...๔ ภาพถัดไป

ครูจากโรงเรียนวิถีธรรม (เลือกภาพขวาบน) พยายามอ่านชื่อของทุกคนที่วาดแต่ไม่ชัด พอเห็นแล้วแล้วใช้ได้ เป็นภาพที่วาดโดยต้นไม้ที่ขุดมาปลูกโดยดูจากไม้ค้ำไม่ให้ล้ม ภาพนี้สื่อให้เห็นว่าคนที่วาดเป็นคนในเมืองชัดเจน

ครูอาม (เลือกภาพขวาบน) ด้วยสภาพแวดล้อมที่มืดมนความมั่นคงที่จะยืนไม่ไหวตามกระแสของสิ่งรอบตัวต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวของตนเองและมีคนรอบข้างที่คอยจุนเจือ

ครูปาล์ม (ภาพบนซ้าย) เป็นต้นไม้ต้นใหญ่ที่ใช้สีเพียงไม่กี่สีแต่สามารถบอกเรื่องราวได้มากมาย แต่เรื่องราวที่แต่ละคนได้มองจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป เปรียบเหมือนเด็กแต่ละคนเขาจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป เราต้องเข้าใจเขาด้วย

ครูปราง (ภาพบนขวา) ชอบสีที่ผสมกันไปหมด ออกจางๆ ไม่กระโดดออกมาดูกลมกลืนกันไปหมด ชอบต้นไม้ที่ลำต้นตั้งตรงขึ้นมาล้อไปกับแนวของกระดาษ A4 ชอบแนวของไม้ค้ำยันที่ดูยังไงก็เป็นตัว A



...๔ ภาพถัดไป

ครูต้อง (ภาพของพิ้งค์) ต้นไม้ที่ยืนอยู่เพียงต้นเดียวโดดเดี่ยวลำพัง แต่สื่อถึงพลังความอดทนภาพพื้นหลังที่มองดูสบายตา ธรรมดาแต่ก็สวยงาม

ครูจอยซ์ (ภาพของพิ้งค์) จะเห็นได้ว่าเป็นต้นไม้ที่ยืนอยู่เพียงต้นเดียวลำพังให้ความรู้สึกเงียบๆ เหงาๆ ให้ความรู้สึกถึงสายลมที่พัดผ่านใบไม้ ซึ่งเหมาะกับผู้เขียนดีซึ่งเป็นตัวตนของพิ้งค์




...๔ ภาพถัดไป

ครูปักเป้า (ภาพของเพียว) ตั้งชื่อภาพว่าหูกระจง เขียนว่าต้นไม้ใหญ่แข็งแรงลำต้นสีน้ำตาลตรง สูง สีเขียวของใบมีสัดส่วนสวยงามให้ความมั่นคง บรรยากาศหลังฝนตกจากเด็กตัวเล็ก เด็กหญิงเพียว ๕/๓

ครูนัท (ภาพของเพียว) เห็นภาพแล้วนึกถึงคนคนนึงที่ทำให้เราได้รู้จักต้นนี้ คือ พี่อ้อ ภาษาไทย ที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่นี้แล้ว เลยเขียนเป็นกลอนว่า หูกระจง จงใจให้ให้หวน คิดใคร่ครวญถึงคนที่ห่างหาย เธอเป็นอยู่อย่างไรสุขสบาย หรือระคายขุ่นมัวเศร้าหมองใจ แม้วันนี้สองเราจะไกลห่าง ได้คุยบ้างบางเวลาที่ร้อนใจ ขอให้รู้ว่าเรายังห่วงใย ด้วยหัวใจที่รักและหวังดี

ครูหมิว (ภาพของอชิ) แต่งเป็นกลอนเปล่าว่า ต้นไม้ที่ใบร่วงหล่น กิ่งต้นโปร่งเห็นท้องฟ้า หากใบนั้นล่วงลงสู่พื้นหญ้า ก็เป็น ประโยชน์หนักหนากับพื้นดิน

เหมือนกำลังจะบอกว่าทุกคนมีคุณค่าในตนเอง อยู่ที่เราเลือกจะมอง เหมือนกับเด็กที่เหมือนกับใบไม้ที่จะเติบโตและงอกใหม่

ครูเกมส์ (ภาพของอชิ) ตั้งชื่อภาพว่า ดำรงอยู่เคียงข้างกัน แม้ดอกใบจะลาลับไปแล้วมีเพียงลำต้นที่ยังยืนหยัดมั่นคงในความเข้มแข็งแต่ยังแฝงความอ่อนโยน

ครูโอ๊ต (ภาพของอชิ) ชอบรายละเอียดของกิ่งไม้ ถึงแม้จะไม่มีใบแต่ดูอ่อนโยน สวยงาม สบายตา

ครูใหม่ เราจะพบว่าช่วงเวลาในชั้นเรียนถ้าเราทำได้แบบนี้จะเป็นช่วงเวลาของความสุขและเราก็ไม่อยากให้จบ แต่ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนคาบแล้ว โอกาสหน้าเราจะมาต่อเรื่องนี้กัน


..........................................................................


ภาพแต่ละภาพกำลังบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง


ตัวฉันเลือกที่จะเขียนคำว่า "ดำรงอยู่เคียงข้างกัน แม้ดอก-ใบ จะลาลับไปแล้ว มีเพียงลำต้นที่ยังยืนหยัดมั่นคง ในความเข้มแข็ง แต่ยังแฝงความอ่อนโยน" ให้กับภาพต้นไม้ต้นหนึ่งที่ฉันเลือก

ภาพต้นไม้แต่ละต้น สะท้อนผ่านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของทั้งผู้วาด และผู้มาชื่นชม ฉันคิดว่าจุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแต่จะทำครูจะได้เห็นและรู้จักเด็กผ่านผลงานเท่านั้น แต่ครูยังได้รู้จักหัวใจตัวเองอีกด้วย

แบบไหนถึงจะเรียกว่า รู้จักหัวใจตัวเอง ฉันยิ่งค้นพบและแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ฟังเรื่องราวที่คุณครูใหม่ – วิมลศรี ศุษิลวรณ์ และคุณครูหนึ่ง – สันติสุข ซุ่นกี้ บอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ที่เขาได้"ลงมือทำ"มาแล้วในช่วงถัดไป


คุณครูเกมส์ - สาธิตา รามแก้ว บันทึก

หมายเลขบันทึก: 628402เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท