เก็บตกวิทยากร (33) : พัฒนาศักยภาพสภานักเรียนโรงเรียนเมืองพลพิทยาคม (สิ่งที่คิดและสิ่งที่อยากจะทำ)


ผมอยากจะบอกว่านี่คือกระบวนการทำแผนกิจกรรมของสภานักเรียนที่อิงกรอบการ SWOT แบบกรายๆ แต่ด้วยความเป็นนักเรียน ผมจึงไม่ได้เอากระบวนการทั้งหมดมาใช้กับพวกเขา เน้นประยุกต์ให้เกิดการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา แต่ก็แอบอิงอยู่กับข้อมูลจริงทั้งที่เป็นจุดอ่อน จุดแข็งและการถกคิดแบบมีส่วนร่วม

กระบวนการจัดการเรียนรู้ของผมเริ่มต้นอีกครั้งในช่วงประมาณเกือบๆ จะ 11 นาฬิกาของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นช่วงที่นักเรียนกลับจากการ "เดินป้า" ศึกษานิเวศวัฒนธรรมของมหาชีวาลัยอีสาน –


อันที่จริงกระบวนการทั้งปวงของวันนี้ ผมต้องเริ่มจากการบ้านที่ฝากให้แกนนำนักเรียนในแต่ละกลุ่มได้ขบคิดตั้งแต่เมื่อคืน (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560) นั่นก็คือ “โครงการ หรือกิจกรรมที่อยากจะทำในโรงเรียนเมืองพลพิทยาคม” ซึ่งในค่ำคืนที่ผ่านมา ผมให้แต่ละคนได้ "นึกและเขียน" ถึงเรื่องที่อยากจะทำ โดยบอกกับนักเรียนว่า หากเขียนเป็นชื่อโครงการเลยยิ่งดี หรือเอาแค่ประเด็นที่อยากจะทำก็ได้ ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้น ผมออกแบบให้ต่อยอดมาจากตาราง 4 ช่องที่ผมแทรกไว้ในกระบวนการก่อนหน้านี้







ย้อนกลับไปอีกสักนิด- กระบวนการที่ว่านั้นผมให้นักเรียนเขียนถึงเรื่องราวดีๆ ในในโรงเรียนไว้โดยสังเขป เสมือนการค้นหาต้นทุนดีๆ ในโรงเรียนแบบกรายๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัว เป็นกระบวนการเสาะหาข้อมูลบางอย่างเพื่อเตรียมผูกโยงมาสู่การจัดทำแผนงานกิจกรรมของสภานักเรียน ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้น ผมไม่ได้อธิบายว่าจะต่อยอดมาสู่กิจกรรม หรือกระบวนการที่ว่านี้

และกระบวนการถัดมา ผมก็ให้แต่ละคนได้เล่าสู่กันฟังว่าแต่ละคนมีความคิดความฝันที่จะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง พร้อมๆ กับการให้แต่ละกลุ่มลองโสเหล่และเลือกกิจกรรมที่อยากจะทำมาสักกิจกรรม หรือสองกิจกรรม โดยใช้หลักคิดของอริยสัจ 4 เป็นกรอบในการขบคิด ได้แก่ ค้นหาปัญหา ค้าหาสาเหตุของปัญหา กำหนดเป้าหมาย และกำหนดแนวทางของการทะลุทะลวงไปสู่เป้าหมาย - อันหมายถึงคลี่คลายปัญหา


ผมอยากจะบอกว่านี่คือกระบวนการทำแผนกิจกรรมของสภานักเรียนที่อิงกรอบการ SWOT แบบกรายๆ แต่ด้วยความที่ว่าพวกเขายังเป็นนักเรียน ผมจึงไม่ได้เอากระบวนการทั้งหมดมาใช้กับพวกเขาให้เคร่งเครียดและเป็นทางการมากนัก จึงเน้นประยุกต์ให้เกิดการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา แต่ก็แอบอิงอยู่กับข้อมูลจริงทั้งที่เป็นจุดอ่อน จุดแข็งและการถกคิดแบบมีส่วนร่วม





กำหนดการ (...เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา...)


เอาเข้าจริงๆ ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงกัน “หน้างาน” อยู่ดี - เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องร้องถามผู้เข้าร่วมกระบวนการว่าทำอะไรถึงไหนแล้ว... ทว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองการสังเกตการณ์ของผมนี่แหละ


สรุปคือผมรู้ว่าเด็กยังไม่ได้ทำการบ้านที่ผมมอบให้ เพราะเมื่อเช้าเดินสวนป่าเพลินซะนาน ทานข้าวเช้าก็เสร็จเอาในราวเกือบๆ จะ 11 นาฬิกา ดังนั้น ไม่มีเหตุผลกลใดที่ผมจะไม่ปรับแต่งกระบวนการ หรือกำหนดการใหม่




ผมเริ่มกระบวนการจากการมอบโจทย์เพิ่มเติม กล่าวคือให้แต่ละกลุ่มโสเหล่กันใน 2 ประเด็น คือ (1) สะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทัศนศึกษาในสวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน (2) สะท้อนกิจกรรม/โครงการที่อยากจะทำในโรงเรียนของตนเอง โดยกำหนดให้ไปโสเหล่กันที่ไหนก็ได้ แต่ต้องกลับมาอย่างพร้อมเพรียงในราว 11.30 น.


ใช่ครับ-เวลาแสนจำกัดนัก แต่นี่คือการฝึกทักษะของการทำงานในสถานการณ์ที่บีบรัด ซึ่งผมมองว่านี่คืออีกหนึ่งทักษะของผู้นำที่เขาต้องมี

และด้วยความที่เวทีครั้งนี้จำกัดด้วยวัสดุอุปกรณ์ ผมจึงเน้นการให้บอกเล่า หรือบรรยายผ่านกระดาษขนาดเล็กมากกว่าการทำผังมโนทัศน์แผ่นใหญ่ๆ เพื่อบอกย้ำว่าผู้นำที่ดีต้องมีทักษะในการสื่อสารสร้างพลังผ่านคำพูด โดยไม่ติดยึดเรื่องตัวช่วยอันเป็นสื่ออื่นๆ ไปเสียทุกเรื่อง





ที่เขาคิด และอยากจะทำ

ก่อนที่แกนนำนักเรียนจะมานำเสนอตามโจทย์ที่กำหนดให้ ผมประสานบรรดาอาจารย์ทั้งที่เป็นที่ปรึกษาและที่เกี่ยวข้องได้ช่วยรับฟัง พร้อมทั้งรับฟังว่ากิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมใหม่หรือกิจกรรมเก่า สอดคล้องกับข้อมูลในกระบวนการที่ผ่านมากี่มากน้อย รวมถึงการเตรียมความพร้อมที่จะร่วมโส่เหล่ร่วมกับนักเรียน


การเตรียมการที่ว่านี้ผมก็ไม่ได้แจ้งนักเรียนเลยนะครับ เพราะอยากให้เขาทำหน้าที่ของเขาแบบเต็มที่โดยไม่ต้องมาพะวงว่าจะมีคนมาตีกรอบ หรือท้วงทัก !

พอได้เวลา – ผมก็เปิดเวทีตามความพร้อม หมายถึง ใครพร้อมก็มานำเสนอ ไม่บังคับกะเกณฑ์ว่าใครก่อนใครหลัง แต่มีแซวบ้างว่า พอกลุ่มที่นำเสนอเสร็จแล้ว พึงใจอยากฟังกลุ่มใดออกมานำเสนอก็ “โยนไมค์” ไปได้เลย 555




ดังนั้นกระบวนการที่นำเสนอจึงเริ่มจากการสะท้อนผลการเรียนรู้ของภาคเช้าในการเดินสวนป่ามหาชีวาลัย ซึ่งนักเรียนก็สะท้อนได้อย่างน่าชื่นชม เก็บรายละเอียดได้เยอะมาก ทั้งปรากฏการณ์ของต้นไม้ต้นหนึ่งประกอบด้วยอะไร เติบโตอย่างไรมีสรรพคุณอย่างไร บางกลุ่มพูดถึงสวนผักปลอดสาร บางกลุ่มพูดถึงการเลี้ยงแพะ บางกลุ่มพูดถึงพลังงานทางเลือก (พลังงานแสงอาทิตย์) ฯลฯ


และที่ผมชอบมากก็คือบางคนถึงกลับอุทานหลุดออกมาว่า “ลืมไปเลยว่าที่โรงเรียนก็มีต้นไม้ประเภทนี้เหมือนกัน” --- เข้าตำรา “หันกลับไปดูบ้านเกิด” หนึ่งในแนวคิด 9 ข้อของการเรียนรู้ชุมชนที่ผมเขียนไว้อย่างมหัศจรรย์





ส่วนกรณีประเด็นกิจกรรมที่อยากจัดขึ้นในนามสภานักเรียนนั้น ต้องบอกว่าชวนคิดตามเป็นที่สุด เกือบ 100 % คือ “คิดใหม่” แทบทั้งสิ้น ประหนึ่งการตอกย้ำว่าที่ผ่านมาพวกเขายังไม่ได้คิดและทำในสิ่งที่พวกเขาเฝ้าฝันเลยก็ว่า เป็นต้นว่า

  • เขาอยากซ่อมแซมห้องน้ำในโรงเรียน
  • เขาอยากปลูกต้นจานไว้ให้มากๆ เพราะ “ถนนต้นจาน” เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน และถูกตัดทิ้งไปก็หลายต้น
  • เขาอยากติวเตอร์พี่กับน้อง ติวเตอร์เพื่อนกับเพื่อน
  • เขาอยากตกแต่งห้องเรียนด้วยไม้ประดับที่มีชีวิต
  • เขาอยากให้แต่ละห้องมีคนดูแลประจำ เพราะที่นี่นักเรียนส่วนหนึ่งไม่มีห้องประจำ ต้องเดินเรียนทั้งวัน เพราะห้องไม่เพียงพอ
  • เขาอยากให้นักเรียนทั้งโรงเรียนท่องศัพท์เขียนศัพท์และความหมายอันเป็นภาษาต่างประเทศผ่านหน้าเสาธงร่วมกันอย่างน้อยวันละคำ
  • เขาอยากมีแปลงผักและการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียน
  • เขาอยากมีเวทีให้แสดงความสามารถที่หลากหลายเดือนละครั้งสองครั้ง และมีพื้นที่รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
  • เขาอยากมีกิจกรรมกับศิษย์เก่าเป็นระยะๆ
  • เขาอยากจัดการเรื่องขยะในโรงเรียน
  • เขาอยากจัดการเรื่องวินัยจราจร
  • ฯลฯ



ใช่ครับ – สิ่งที่เขาสะท้อนออกมานั้น ล้วนเป็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีขึ้นในโรงเรียน ทั้งเขาและอาจารย์ต่างยืนยันว่าเป็นการคิดใหม่และอยากจะทำขึ้นใหม่ ไม่ใช่การทำหน้าที่แค่เพียงเฝ้าระวังและเฝ้าจับผิดพฤติกรรมของนักเรียนด้วยกันเองในแบบวันต่อวัน หรือกระทั่งการจับคนมาสายเพื่อให้มาคัดเพลงชาติไทยหลายๆ จบ แต่กลับไม่ออกแบบให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กันไป .....

นั่นคือสิ่งที่เขาคิด และพูดออกมา

ผมว่า “เข้าท่าดี” นะครับ

เข้าท่าดีในที่นี้หมายถึง ให้เขาได้ทำในสิ่งที่คิด เพราะสิ่งที่เขาคิดมีนัยสำคัญชวนคิดตามเป็นอย่างมาก

โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่เขาคิดและอยากจะทำจริงๆ เพราะเหมือนที่พูดมานานแล้วว่า ผู้นำที่ดีในมิติของผมก็คือ กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ----

ถ้าคิดแล้วไม่ได้ทำ จะรู้ได้อย่างไรว่าดี หรือไม่ดี สำเร็จ หรือล้มเหลว

ถ้าไม่ได้ทำ แล้วจะเรียนรู้กับคำว่า “รับผิดชอบ” ได้อย่างไร

นั่นคือสิ่งที่ผมสะท้อนคืนกลับไปยังนักเรียนและคณะครูในเวทีนั้น


หมายเลขบันทึก: 623522เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2017 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2018 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ฝึกความเป็นผู้นำนะครับ ;)...


สวัสดีจ้ะ แวะมาทักทายก่อนนอนจ้ะ

เป็นการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

ครับ .

อาจารย์ Wasawat Deemarn


จริงๆ กระบวนการเหล่านี้ มีเรื่องที่เกี่ยวกับผู้นำแทรกไว้เนียบๆ เช่น จิตนาการ การวิเคราะห์ปัญหา ประชาธิปไตย การสื่อสาร การอธิบาย การอภิปราย คามเป็นทีม ฯลฯ

ก็ได้แต่หวังว่านักเรียนจะเข้าใจ เพราะไม่อยากบรรยายภาคทฤษฎีมากจนเกินเหตุ ครับ


ขอบคุณมากๆ ครับ

พี่ คุณมะเดื่อ


อากาศทางโ้นเป็นยังไงบ้างครับ ทะเลไร้คลื่นบ้างมั๊ย 555


สวัสดีครับ

พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ใจจริงก็อยากเจาะลงที่การระดมแผนงานของสภานักเรียนเลยครับ แต่ด้วยเหตุบางอย่างเช่น แกนนำมาไม่ครบ และกลัวจะออกแนววิชาการเกินไป เลยผ่องถ่ายผ่านกระบวนการในแบบบันเทิงเริงปัญญา เป็นหลัก ซึ่งถ้าไม่เข้าข้างตัวเองมากนัก นักเรียนก็มีปฏิกริยา -ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท