เรียนพิเศษจําเป็นไหม



นวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ไม่ซ้ำแบบใคร เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จทั้งขององค์กรและของประเทศชาติค่ะ ดังนั้นองค์กรต่างๆ ย่อมต้องการค้นหาบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มาร่วมงานกับเขา เพื่อจะได้ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ แก่องค์กรทั้งในสินค้าและบริการ ซึ่งบริษัทชั้นนำในโลกในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Amazon Google Facebook เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ค่ะ

แต่ทักษะในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้สร้างขึ้นมาตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วค่ะ มันจะต้องถูกสร้างมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเยาวชนอยู่ และเป็นที่น่าเสียดายว่าในสิบกว่าปีของเยาวชนไทยนั้น แทนที่จะถูกสอนให้มีความคิดสร้างสรรค์ เยาวชนเหล่านี้ถูกนำมานั่งอยู่ในโรงเรียนสอนพิเศษในช่วงเย็นถึงคำ่ของวันธรรมดา และตั้งแต่เช้าถึงเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อจะทำให้สามารถสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ โดยเฉพาะในโปรแกรมพิเศษที่เฟ้นแต่นักเรียนเรียนเก่งมาอยู่รวมกัน

การเรียนพิเศษเป็นการเรียนเพื่อสอบค่ะ เป็นการเรียนล่วงหน้าและเรียนยากขึ้นเรื่อยๆ เน้นการแก้ไขโจทย์ และฝึกทำให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ทันกับเนื้อหาที่ยากขึ้นได้เรื่อยๆ การเรียนพิเศษไม่ได้ทำให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์นะคะ และยิ่งไปกว่านั้นเยาวชนเหล่านี้ขาดความสุขในการดำรงชีวิต

แน่นอนเค้าอาจจะเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในตอนเริ่มต้น แต่ในการใช้ชีวิตต่อต่อมา อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าจะรวย แต่ก็ใช่ว่าจะมีความสุขที่แท้จริง เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึกให้รักการเรียนรู้ และไม่ได้ถูกฝึกให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการนำเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงนั่นเองค่ะ

การเรียนหนังสือเพื่อสอบ สอบแข่งขัน สอบวัดผล ต่างๆนานา มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทยค่ะ ดิฉันคิดง่ายๆ ว่ามี 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ พ่อแม่ ครู และนักเรียน

สำหรับพ่อแม่ที่มีฐานะหน่อย ก็อยากจะให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ จึงเกิดความต้องการในการส่งลูกเข้าเรียนพิเศษค่ะ แม่ก็เครียดลูกก็เครียดเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างยาวนาน ถ้าโรงเรียนในประเทศไทยดีเท่าเท่ากันหมด ก็คงไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นค่ะ

และเมื่อมี demand ก็ย่อมที่จะมี supply ค่ะ ครูเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งของการศึกษาไทย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้นเพราะครูเก่งมักจะอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนครูที่ไม่ค่อยเก่งก็มักจะอยู่ตามชนบทค่ะ แต่เราอยากได้ครูเก่งกระจายมาอยู่ในชนบทบ้าง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันค่ะ

ดิฉันขอให้คำนิยามว่า ครูเก่ง คือ ครูที่มีเทคนิคการสอนดี สอนสนุก สอน active learning สอนให้ทำกิจกรรม สอนให้ทำโปรเจค สามารถนำการปฏิบัติเข้าสู่ทฤษฎี และจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเข้าใจ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ครูก็มีความสุข นักเรียนก็มีความสุข และครูเก่งจะทำให้นักเรียนรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตค่ะ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ ครูต้องสอนพิเศษนอกห้องเรียน ทำไมครูต้องสอนพิเศษ ก็เพราะครูต้องการหารายได้เพิ่มเติม เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ครูเป็นหนี้เยอะแยะมากมาย

และในเวลาสอนทำไมคุณครูไม่สอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ก็เพราะโรงเรียนถูกประเมินผลด้วยผลการเรียนของนักเรียนหรือผลการสอบแข่งขันต่างๆ ครูจึงต้องเน้นสอนให้เด็กท่องจำและทำข้อสอบให้เร็วจึงไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ด้วยการปฏิบัติจริง

ซึ่งจริงๆ แล้วการสอนลักษณะนี้จะสนุกทำให้เด็กรักการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กค่ะ และทำได้ไม่ยาก ก็คือ สอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถามมากๆ และ ไกด์นำวิธีให้เขารู้จักหาคำตอบด้วยตัวเขาเองค่ะ สอนให้เขารู้จักนำความรู้มาประยุกต์ใช้ผ่านการทำโครงงานต่างๆ แล้วครูก็เป็นคนช่วยอำนวยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการทำโครงงานได้ด้วยตนเองหรือทีมของเขาเอง

ส่วนตัวผู้เรียนเอง ตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว แม้กระทั่งในอนุบาลก็ยังมีการต้องเรียนพิเศษทางด้านวิชาการ เด็กถูกยัดเยียดความรู้เกินความจำเป็น กลายเป็นเยาวชนที่ขาดความสุข เป็นเยาวชนที่ไม่รู้จักเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ต้องรอให้ป้อนความรู้อย่างเดียว

นักเรียนที่เรียนเก่งก็อาจจะเก่งได้ด้วยการเรียนพิเศษ เก่งแก้โจทย์ แต่ไม่เก่งในทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางปัญหา ทักษะการทำงานเป็นทีม คนที่เก่งได้โดยไม่เรียนพิเศษนั้นมีอยู่น้อย แต่จะทนแรงกดดันไหวเรื่องเรียนพิเศษไหวไหมในเมื่อเพื่อนทุกคนเรียนพิเศษกันหมด

ยิ่งหากไปเจอฐานะทางครอบครัวที่ย่ำแย่ พ่อแม่ไม่มีเงินให้เรียนพิเศษเทอมละ 4-5 หมื่นบาท เด็กไม่มีการยับยั้งชั่งใจทางอารมณ์ได้ เด็กไม่มี EQ เด็กก็ฆ่าตัวตายในที่สุด หรือกลายเป็นเด็กที่เครียดตั้งแต่เด็กจนจิตหลุดในตอนโต

ส่วนเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่งและไม่ได้เรียนพิเศษ อีกทั้งไม่ได้มีความรักในการเรียนรู้เลย เรียนมาเพื่อให้พอผ่านพ้นไปตามข้อบังคับการศึกษาไทย อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเราก็เป็นไปได้ และอาจจะจบมากับการทําวุฒิปลอม จ้างฟังเลคเชอร์ จ้างจดเลคเชอร์ จ้างทำโปรเจค และจ้างทำวิทยานิพนธ์สารนิพนธ์ ที่แย่กว่านั้นคือครูจ้างทำ คศ.3 ผลงานครู เพื่อปรับวุฒิ

เขาเหล่านี้คือเยาวชนกลุ่มใหญ่ของประเทศเราหรือเปล่า และเยาวชนเหล่านี้คือคนที่กำลังจะมาสร้าง Thailand 4.0 ในอนาคตที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจะเป็นไปได้แค่ไหนหนอ

สุดท้ายดิฉันยอมรับว่า ดิฉันเขียนบันทึกนี้ขึ้นมาย่อมจะเกิดการผิดใจกับเพื่อนๆ ผู้ปกครองอยู่หลายต่อหลายคน ก็ต้องขออภัยด้วยค่ะ คิดต่างไม่จำเป็นต้องเกลียดกันนะคะ

ถ้าเราไม่เริ่มตีแผ่สถานการณ์อันเลวร้ายด้านการศึกษาของไทย ทุกคนก็จะตกเป็นเหยื่อของการสอบแข่งขันทั้งหลาย ผลร้ายที่สุดก็ตกอยู่กับลูกๆ ของเรา ที่จะทำให้เขาเป็นเด็กที่คิดไม่เป็น เป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เป็นเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างที่เขาควรได้ทำ และเป็นเด็กที่โดนปิดหู ปิดตา ปิดปาก เหมือนเป็นหุ่นยนต์ตั้งแต่ยังเล็กค่ะ


คำสำคัญ (Tags): #การเรียนพิเศษ
หมายเลขบันทึก: 619960เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2016 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2016 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมไม่เคยเรียนพิเศษอ่ะ อ.จัน
ที่บ้านฐานะไม่เพียงพอที่จะได้เรียน
เหมือนเพื่อน ๆ ในห้องเดียวกัน

ค่านิยมแบบนี้เป็นความเชื่อของใครสักคน
ที่เชื่อว่า มันดี มันสำเร็จ แต่ในระยะยาว
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลดีจริง ๆ

สมัยก่อนเด็กที่ต้องเรียนพิเศษกับคุณครู คือเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนนะคะ ไม่เหมือนกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่ะ

ใช่เลยครับ รู้สึกคล้ายๆกับว่าโรงเรียนของรัฐเป็นเพียง สถานที่รับรองการเรียนจบตามหลักสูตรของรัฐ แล้วนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องไปลงทะเบียนเรียนกับสถาบันติวเตอร์ไปพร้อมๆกัน เพื่อเอามาสอบแข่งขัน รูปภาพของนักเรียนที่เรียนเก่งก็จะถูกทำแผ่นป้ายปิดไว้ทั้งที่หน้าโรงเรียน และสถาบันติว 555 ตกลงเด็กเก่งเพราะใคร

พ่อแม่สำคัญที่สุดค่ะ ควรจะฟังความคิดของลูก และหากมีลูกที่ตามกระแสจริงๆก็ต้องคุยปรับความเข้าใจ ปรับความคิดกัน พบกันครึ่งทางก็ได้ พี่โอ๋พบพ่อแม่หลายท่านหลากหลายแบบนะคะ ได้แต่ยืนยันกับคนที่ยังไม่หลงเข้าไปในวังวนนี้ว่า ปล่อยให้ลูกเรียนรู้แบบมีความสุขดีกว่าไปตามระบบจนเกินไป เด็กๆเขาฉลาดพอที่จะเลือกถ้าพ่อแม่สนับสนุนให้ถูกทาง แนะแนวให้เขาเห็นว่าสิ่งที่สำคัญจริงๆคืออะไร เขาจะปรับตัวได้เองนะคะ ไม่ต้องเก่งมาก แต่ผ่านไปในระบบได้ และได้ทำสิ่งที่อยากทำ จะได้ไม่ต้องแปลกแยกมากนักและไม่สับสน ชีวิตมีอะไรมากกว่าแค่การสอบผ่านและเลื่อนชั้นไปให้จบๆในระบบนะคะ

หากจะหา trigger point ที่ทำให้ระบบการศึกษาแบบเรียนพิเศษ เรียนเพื่อทำข้อสอบ สอบแข่งขัน

ผมเห็น การประเมิน สุดท้าย คือ "ขั้นตอนออกข้อสอบ เข้ามหาวิทยาลัย "เป็นจุดก่อกำเนิดคลื่น trigger ถูกคลื่นซัด ไล่มาจนถึงมัธยม ..ประถม..จนถึงแข่งขัน ติว ระดับอนุบาล ไปแล้ว...เราออข้อสอบประเมินเกินชั้นปี ..ขาดการประเมินแล้วแก้ไขปรับปรุงตามระบบแบบPDCA cycle...,เราเลือกวิชาสอบเฉพาะ highlights มาตีค่า..ที่ให้ค่าว่า ใครทำได้คือคนเก่ง....

***เราลืมวัดที่ความดี...เช่นการ เป็นหน้าที่พลเมืองดี รู้สร้างสรรค์สิ่งดีงามในสังคม

***เราลืมวัดที่มีความสุข...เช่น ความสงบสุขในใจ ความพอเพียง อโลภะ

*เราวัดแต่ความเก่ง(ของคนกลุ่มหนึ่ง) ...แล้วเราก็คัด คนที่เหลือออก..ไม่เชิดชูคุณค่า ตัดสินเขา...ตามมาตรวัด(ที่ชอบอ้างว่าได้มาตรฐาน) ทุกวันนี้....Final Outcome based ไม่มีความสุข ต้องเฟ้นหาคนดี คนเก่งมีแค่หยิบมือ

..................สุดท้าย เราจะเหลืออะไร???............

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท