​เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๑๗. บทบาทของพ่อ



บันทึกชุดเลี้ยงลูกสู่ความสำเร็จในชีวิตนี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙


บันทึกที่ ๑๗ บทบาทของพ่อ ตีความจากบทความชื่อ Where’s Dad โดย Paul Raeburn คำตอบคือพ่อมีส่วนสำคัญมากต่อพัฒนาการด้านจิตวิทยาของลูก


บทความขึ้นต้นด้วยปรากฏการณ์ที่โรงเรียนชั้นมัธยมแห่งหนึ่งที่นักเรียนหญิงประมาณหนึ่งในห้า ตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดลูก เกิดคำถามว่ามีสาเหตุจากอะไร ความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ในพื้นที่นั้นประมาณหนึ่ง ในสี่ของครอบครัวไม่มีพ่อ จึงมีนักจิตวิทยาให้คำอธิบายว่า การขาดพ่อทำให้เกิดผลทางใจต่อเด็กผู้หญิง โดยตนเองไม่รู้ตัว ทำให้เกิดสภาพทางจิตใจสู่ “ยุทธศาสตร์การเจริญพันธุ์แบบรีบเร่ง” เพราะมีจิตใต้สำนึกว่า ผู้ชายอยู่ไม่นาน


ในขณะที่เด็กผู้หญิงที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยกัน จิตใต้สำนึกจะบอกว่า ไม่ต้องรีบเร่งก็ได้ รอไว้ให้พร้อมเสียก่อน นี่คือคำอธิบายทางจิตวิทยา ที่มีหลักฐานการทดลองที่ใช้พิสูจน์ทฤษฎีนี้


สายสัมพันธ์ที่ขาดหาย

ยิ่งนับวัน ในสหรัฐอเมริกา ยิ่งมีครอบครัวไร้พ่อมากขึ้น เป็นสายสัมพันธ์ที่ขาดหาย ก่อปัญหาสังคม ก่อปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกสาวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์


เสี่ยงที่ลูกสาว

นักวิจัยทำการทดลองโดยให้หญิงสาววัยทีนหรือเพิ่งผ่านพ้นวัยทีน เขียนเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ได้รับ ความอบอุ่นจากพ่อ และช่วงที่พ่อจากไปหรือขาดการติดต่อ แล้วให้บอกพฤติกรรมทางเพศ และพฤติกรรมอื่นๆ ของตน พบว่าเมื่อขาดความอบอุ่นจากพ่อ หญิงสาวจะมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่พฤติกรรมเสี่ยงแบบอื่นๆ ไม่เพิ่ม คำถามคือการขาดพ่อเป็นสาเหตุของพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ของลูกสาว หรือเป็นเพียงสิ่งที่พบร่วมกัน (association)


นักวิจัยมีวิธีทดสอบข้อมูลที่แยบยลมาก ที่นำไปสู่หลักฐานว่าการขาดพ่อเป็นสาเหตุของพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ของลูกสาว


นักวิจัยมีวิธีหาคำตอบต่อไปว่า พฤติกรรมแบบไหนของพ่อมีส่วนเป็นสาเหตุของพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ในลูกสาว และพบว่าพ่อที่ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก จะทำให้ลูกสาวมีความเสี่ยงน้อยลง


ต่อคำถามว่าปัจจัยอะไรจากพ่อ ที่ให้ผลทางจิตวิทยาแก่ลูกสาว คำตอบน่าพิศวงและอาจเป็นไปได้คือ กลิ่นตัวของพ่อเป็นปัจจัยสำคัญ โดยอาศัยหลักฐานจากสัตว์ตัวเมียที่ได้รับ pheromones จากสัตว์ตัวผู้ที่ไม่ใช่พ่อ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น แต่หากได้รับฟีโรโมนส์จากพ่อ จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง ทฤษฎีฟีโรโมนส์นี้ยังไม่มี การพิสูจน์นะครับ


บทบาทของพ่อแม่ยามลูกมีปัญหาความประพฤติ

พ่อแม่มีปฏิกิริยาได้ ๒ แบบ คือแสดงความเกลียดชังไม่พอใจ กับให้ความรักความเห็นใจ นักจิตวิทยาบอกว่า ลูกของพ่อแม่แบบหลัง จะมีลักษณะมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่นตนเอง และมองโลกแง่ดี มากกว่าลูกของพ่อแม่กลุ่มแรก และพบว่าบทบาทของพ่อมีน้ำหนักพอๆ กันหรือมากกว่าบทบาทของแม่ และตัวเหตุของปฏิกิริยาแบบแรกมักมาจากพ่อมากกว่าแม่


นักวิจัยตั้งคำถามเรื่องความเป็นคนเห็นอกเห็นใจคนอื่น และตรวจสอบหาคุณสมบัติของพ่อแม่ที่มี สหสัมพันธ์กับคุณสมบัตินี้ในลูก และพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์สูงสุดคือเวลาที่พ่อให้แก่ลูก และที่น่าแปลกใจคือ การแสดงความรักต่อลูกไม่มีสหสัมพันธ์


ยังมีข้อค้นพบ คุณสมบัติความเป็นคนทนความเครียดในชีวิตประจำวันได้ดีในผู้ชาย มีสหสัมพันธ์กับการมีความทรงจำที่ดีต่อพ่อ และมีการทดลองตรวจการทำหน้าที่ของสมองด้วยเครื่อง MRI พร้อมกับให้ ดูภาพใบหน้าของพ่อ สมองส่วนที่แสดงการทำงานคือบริเวณที่เกี่ยวกับความรัก ในขณะที่ให้ดูภาพใบหน้า ของแม่สมองส่วนอื่นทำงาน


บทบาทของพ่อคือ ช่วยให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีความสุขและมีสุขภาพดี เตรียมตัวเติบโตไปเป็นพ่อ (หรือแม่) ที่ดี เรื่องราวในตอนนี้บอกว่า อิทธิพลของพ่อมีมากกว่าที่เราคิด


เขาบอกว่าแม้พ่อจะมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางจิตใจของลูก แต่เด็กจากครอบครัวที่ไม่มีพ่อก็อาจ ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังตัวอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา


ข้อสรุป ๓ ข้อของผู้เขียนคือ

  • พ่อเป็นบุคคลที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลานานในการศึกษาด้านจิตวิทยาครอบครัว การวิจัยในระยะหลัง ยืนยันความสำคัญของพ่อต่อพัฒนาการของลูกวัยรุ่น
  • พ่อมีผลต่อพัฒนาการของชีววิทยาการเจริญพันธุ์ของลูกสาว และต่อการเป็นคนที่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในลูกทั้งสองเพศ
  • ความรักและความเข้าใจของพ่อ มีน้ำหนักเท่ากันหรือมากกว่าความรักและความเข้าใจของแม่


ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว

การขาดพ่อในที่นี้อาจเป็นกรณีหย่ากัน หรือมีพ่อแต่ไม่รับผิดชอบ คำแนะนำคือให้ใช้หลัก ๓ ประการ

  • มีคนรับผิดชอบดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง
  • ความร่วมมือระหว่างพ่อกับแม่ที่แยกทางกัน ในการเลี้ยงดูลูก
  • หาทางให้พ่อได้ทำกิจกรรมกับลูก

ตัวอย่างของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในการเลี้ยงลูกชายสองคนให้ประสบความสำเร็จ ในชีวิตคือแม่ของหมอเบน คาร์สัน ซึ่งผมเล่าไว้ ที่ https://www.gotoknow.org/posts/590633


มีความจริงข้อหนึ่งของสังคมไทย คือในชนบทเด็กไทยสองในสามไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จึงน่าจะมีการวิจัยทางจิตวิทยาว่าสภาพสังคมเช่นนี้มีผลต่อพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย หรือไม่ และจะมีวิธีเยียวยาได้อย่างไร เพราะเวลานี้โดยเฉลี่ย เกือบร้อยละ ๒๐ ของการคลอดในประเทศไทย เป็นการคลอดของแม่วัยรุ่น


มีหลักการ childhood attachment (https://en.wikipedia.org/wiki/Attachment_in_children) ที่บทบาทของพ่ออาจมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางจิตวิทยาของเด็ก ที่น่าจะมีการวิจัยในบริบทไทย



วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ค. ๒๕๕๙

ห้อง ๑๑๒๔ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ เชียงใหม่


หมายเลขบันทึก: 616268เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2016 07:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2016 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท