-ปิดยาวคราวนี้....ได้รับประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ มากมายเลยล่ะครับ.....ถือเป็นสิ่งที่ครอบครัวเล็ก ๆ ของเราได้มีโอกาสถ่ายทอดถึงวิถีแห่งการแบ่งปันด้วยความสุขใจ.....กัลยาณมิตรที่ได้ติดตามอ่านในอนุทินของผมก็คงจะพอรับรู้แล้วว่าช่วงระยะเวลานี้จะมี"กิจกรรมดี ดี"เกิดขึ้น ณ พื้นที่เล็ก ๆ ในอำเภอพรานกระต่ายแห่งนี้ครับ...เอาเป็นว่าพร้อมแล้วตามผมไปชมช่วงเวลาดี ดี กับเรื่องราวที่ผมขอให้ชื่อบันทึกว่า"น้อยนิด....มหาศาล.."คร้าบ!!!!!
ตึ๊ดๆ ตึ๊ด ๆ ๆ ๆ เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นของเย็นวันหนึ่ง...ต้นสายบอกกับผมว่า"สวัสดีค่ะ หนูชื่อไอด้า ฝ่ายข้อมูลรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง นะคะ....แล้วหลังจากนั้น....การประสานข้อมูลและการส่งต่อเรื่องราวต่าง ๆ ของอำเภอพรานกระต่ายก็ถูกส่งไปยังน้องไอด้าผู้ประสานงาน....และเย็นของวันอังคาร ที่ 13 กรกฎาคม 2559 ครอบครัวเล็ก ๆ ของผมก็ได้ต้อนรับ"คุณสตังค์และทีมงาน"รายการ"ภัตตาคารบ้านทุ่ง"คร้าบ!!!!!
1."คุณสตังค์และน้องๆ ทีมงาน"มาถึงบ้านของเราในช่วงเย็น ๆ ของวันนั้นครับ...สำหรับ"คุณสตังค์ พิธีกรรายการ"ตัวผมเองก็คงจะไม่ต้องแนะนำ แต่สำหรับน้องๆ ทีมงานแล้ว ผมก็คงต้องขอแนะนำให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันก่อนครับ เริ่มจาก"น้องนิศ(เสื้อลายสก๊อตสีน้ำเงิน)/น้องไอด้า(ผมเปีย)/น้องรัน(เสื้อสีส้ม)/น้องขวัญ(เสื้อสีขาว)" สำหรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ของทีมงานนั้นสำหรับตัวผมเองแล้วก็ไม่ค่อยจะคุ้นหูมากนัก เอาเป็นว่าน้อง ๆ เค้าจะทำหน้าที่อะไรก็ปล่อยเค้าไปก็แล้วกันนะครับ 555555
2.เป้าหมายของการถ่ายทำรายการในครั้งนี้ มุ่งเป้ามาที่"ผักพื้นบ้าน"ชื่อแปลกๆ คือ"ใบส้มกบ"และ"ต้นเป้ง"ครับ ซึ่ง"น้องไอด้า"ฝ่ายข้อมูลได้สืบหาข้อมูลจาก Internet และมาพบกับข้อมูลของผมซึ่งน่าจะมาจากบันทึกที่ผมเคยเขียนเอาไว้ที่นี่ครับ ต้นส้มกบ / ขนาบปลาใบส้มกบ และ เรื่องราวของหัวเป้ง และเมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงได้ประสานงานพร้อมกับมาถ่ายทำรายการ ณ อำเภอพรานกระต่ายแห่งนี้ครับ.....สำหรับการถ่ายทำผักพื้นบ้าน จะถ่ายทำชนิดละ 2 วัน โดยวันแรกจะให้ชาวบ้านนำทางไปค้นหาผักพื้นบ้านจากป่าก่อน และวันที่ 2 ก็จะเป็นการถ่ายทำเรื่องเมนูอาหารพื้นบ้านจากผักชนิดนั้น ๆ ครับ...และผักชนิดแรกที่ถูกถ่ายทอดเรื่องราวในวันนี้ก็คือ"ใบส้มกบ"ครับ...สำหรับสถานที่ถ่ายทำเรื่องอาหารจากใบส้มกบนั้น ใช้บริเวณบ้านไร่ของผมเอง..ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีและภูมิใจเป็นอย่างมากเลยล่ะคร้าบ!!!!!
3.ผักพื้นบ้านชนิดที่สอง ที่ทีมงานให้ความสนใจก็คือ"หัวเป้ง"ครับ..."หัวเป้ง"เป็นผักพื้นบ้านของอำเภอพรานกระต่าย ที่พี่น้องชาวพรานกระต่าย จะต้องรู้จักเป็นอย่างดีครับ...และแหล่งที่มี"ต้นเป้ง"ขึ้นอยู่มากก็คือ"บริเวณเขตตำบลวังควง ซึ่งตัวผมเองได้ประสานงานไปยัง"กำนันตำบลวังควง"และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลและนำทีมงานไปสืบหา"ต้นเป้ง"ในป่าชุมชน ซึ่งขณะนี้"ต้นเป้ง"ถือว่าเป็นผักพื้นบ้านที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ เพราะว่าหากปล่อยเอาไว้ไม่แน่รุ่นลูกรุ่นหลานอาจจะไม่รู้จัก"ต้นเป้ง"ก็เป็นได้ครับ...
4.และนี่ก็คือ"เมนูจากผักพื้นบ้าน"ครับ เมนูใบส้มกบ ประกอบด้วย"ยำใบส้มกบใส่หมูย่าง/ขนาบใบส้มกบกับกบนา"และเมนูจาก"หัวเป้ง"คือ"แกงน้ำมันหัวเป้ง/แกงกะทิหัวเป้งใส่ไก่บ้าน"ครับ.....อาหารพื้นบ้านที่ถูกยกระดับให้เป็นอาหารแบบภัตตาคารถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวของวิถีชีวิตและการยังชีพของชาวบ้าน แบบนี้ถือเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาไปสู่คนรุ่นหลังได้อย่างภาคภูมิใจเลยล่ะครับ....
5.นอกจากได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวของ"ผักพื้นบ้าน"แล้ว ตัวผมและคนข้างกาย(มดตะนอย)ก็ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ จากทีมงานด้วยล่ะครับ การได้ลองสัมผัสอาชีพของผู้อยู่เบื่้องหลังความสวยงามที่ถ่ายทอดออกสื่อทีวี ทำให้เราสองคนรู้สึกตื่นเต้น และเรียนรู้ไปด้วยความสุขพร้อมกับได้แบ่งปันวิถีชีวิตอันพอเพียงนี้ไปให้กับน้อง ๆ ทีมงานอีกด้วยล่ะครับ.....
6.เขามักจะบอกเอาไว้ว่า"ช่วงเวลาแห่งความสุข มักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว"และคราวนี้ก็ทำให้ครอบครัวเล็ก ๆของผมและชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ครับ หากลองเทียบเคียงเวลาเดียวกันนี้กับ"ความทุกข์"ผมว่ามันอาจจะยาวนานมากถึงมากที่สุด แต่เมื่อเทียบกับ"ความสุข"ที่พวกเราได้สัมผัสแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ๆ เลยล่ะครับ.....แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือ"มิตรภาพ"และ"เยื่อสัมพันธ์"ที่เรายังสามารถเชื่อมร้อยกันได้ในยุค IT ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ๆ บนโลกใบนี้เราก็จะเชื่อมต่อกันได้อย่างอบอุ่นใจคร้าบ!!!!!!
7.เรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายจากพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้....ตัวผมในฐานะผู้เป็น"ต้นน้ำ"แห่งข้อมูล ไม่เคยคิดว่าจะได้รับการสนใจจากผู้ใดเป็นพิเศษ หากแต่ทำไปเพื่อส่งต่อข้อมูลดี ดี ของผักพื้นบ้านที่ซ่อนแอบอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอพรานกระต่าย และพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตัวผมได้พบเจอมาบันทึกเอาไว้ผ่านสมุดออนไลน์เล่มนี้ อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน ผักพื้นบ้านไม่กี่สิบชนิด ถือว่ายังน้อยมาก หากเทียบกับพืชผักที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีพให้ดำรงอยู่ได้...และนี่ก็คือ"รางวัลอันล้ำค่า"ที่ตัวผมเองภาคภูมิใจ ไม่สามารถประเมินค่าด้วยเงินทองได้ แต่มันมีคุณค่าที่"จิตใจ"และสิ่งนี้...ผมขอใช้คำสั้น ๆ ว่า"น้อยนิด....มหาศาล"ครับ.....
เรื่องราวต่างๆ ที่ตัวผมและชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากตัวผมไม่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่ออนไลน์ จากทีมงานพัฒนาระบบ G2K การขอบคุณถือเป็นสิ่งที่เราใช้ตอบแทนความรู้สึกกับผู้ที่ให้ในสิ่งที่เราต้องการ แต่สำหรับผมแล้ว"การขอบคุณ"ยังรวมไปถึงมิตรภาพ และความดีงาม ที่ผู้ให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันเรื่องราวและส่งต่อความสุขของเราไปยังจุดหมาย ดังเช่นที่นี่...ที่บอกเอาไว้ว่า"GotoKnow คือชุมชนออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของคนทำงานภาครัฐและภาคสังคมของไทย สมาชิก GotoKnow ถ่ายทอดความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) อันเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานและชีวิตผ่านการเขียนบันทึกลงในสมุด (หรือเรียกว่าบล็อก) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกคนอื่นๆ รวมทั้งเป็นวิทยาทานแก่สาธารณชนและเพื่อเป็นประวัติศาสตร์แก่ชนรุ่นหลังต่อไป"
สำหรับวันนี้.....
สวัสดีครับ
เพชรน้ำหนึ่ง+มดตะนอย
21 กรกฎาคม 2559