หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสียงจากนิสิต (คณะะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์)


โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือกระบวนการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคมอย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นการบริการวิชาการในแบบเรียนรู้คู่บริการ เสริมสร้างองค์ความรู้และศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยและชุมชนอย่างเท่าเทียม เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ให้และผู้รับ

งานบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในชื่อโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" (1 หลักสูตร 1 ชุมชน) มีลักษณะเด่นหลายประการ

แต่ที่แน่ๆ คือ การบูรณาการด้านการบริการวิชาการเข้ากับการเรียนการสอน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แบบมีส่วนร่วมระหว่าง "มหาวิทยาลัยกับชุมชน"


คำว่ามหาวิทยาลัยกับชุมชน ในที่นี้หมายถึง สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง นิสิต อาจารย์ กับชาวบ้าน หรือกระทั่งภาคส่วนภาคีอื่นๆ ... และเป็นการทำงานบนพื้นฐานของความต้องการ (โจทย์) ของชุมชน โดยผสมผสานกับวิทยาการ หรือองค์ความรูใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัย ขณะที่ชุมชนก็ใช้องค์ความรู้อันเป็นภูมิปัญญามาเป็นส่วนผสมของการเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัย





หรือในอีกทำนองคือ เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้มีส่วนร่วมกับการบริการวิชาการแก่สังคม โดยนำองค์ความรู้ในวิชาชีพไปบริการ หรือแลกเปลี่ยนกับชุมชนตามปรัชญา "เรียนรู้คู่บริการ" ร่วมกับอาจารย์ ซึ่งมิใช่การไปเป็น "ลูกมือ" หรือ "ลูกทีม" ที่มีตัวตนแค่รองรับการลงทะเบียน แจกเอกสาร แจกอาหารว่าง แจกแบบสอบถาม ฯลฯ ตรงกันข้ามกลับต้องทำหน้าที่วิทยากร ผู้ช่วยวิทยากร หรืออื่นๆ อย่างมีตัวตน

กระบวนการเช่นนี้ คือการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง (เป็นสำคัญ) เป็นการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะแก่นิสิต เป็นการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะทัศนคติ หรือโลกทัศน์ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมอย่างไม่ผิดเพี้ยน แถมยังเป็นการศึกษาแบบให้เกียรติต่อชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนมิใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า หากแต่อัดแน่นไปด้วยความรู้เหมือนเช่นมหาวิทยาลัย





หรือจุดเด่นอีกประการ ก็คือ การบูรณาการศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัย อันหมายถึงกการทำงานร่วมกันของหลักสูตรต่างๆ เพื่อเป้าหมายของการเรียนรู้คู่บริการอย่างทรงพลัง ซึ่งช่วยให้ทั้งนิสิตได้เรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย ชุมชนเองก็ได้เรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นพื้นฐานของการนำไปประยุกต์ใช้ในวาระต่างๆ


สรุปคือ โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือกระบวนการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคมอย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นการบริการวิชาการในแบบเรียนรู้คู่บริการ เสริมสร้างองค์ความรู้และศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยและชุมชนอย่างเท่าเทียม เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ให้และผู้รับ


ขณะที่นิสิตเองก็ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ไม่ใช่แค่อบรมรับความรู้แต่ไม่มีเชิงปฏิบัติการหน้างานร่วมกัน พอกลับไปก็เหมือนไฟไหม้ฟาง หรือไม่ก็ปล่อยวางความรู้ไว้ในสถานที่ของการเรียนรู้โดยไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งในระดับครัวเรือน หรือชุมชน


ส่วนจะแตกหน่อต่อยอดไปสู่การวิจัย ทั้งวิจัยของนิสิต หรือวิจัยของอาจารย์ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแนวคิด ปรัชญา หรือศักยภาพของอาจารย์



หมายเหตุ

1. โครงการ "การพัฒนาบทเรียนท้องถิ่นด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ" โดย สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สาขาสาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน อำเภอนาเชือกจังหวัดมหาสารคาม

2.เนื้อหา/ออกแบบ : บรรจง บุรินประโคน


หมายเลขบันทึก: 607346เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2016 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2016 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาขาพัฒนาสิ่งแวดล้อม

นิสิตทำกิจกรรมได้หลายเรื่องมาก

ได้นำความรู้ในการเรียนไปใช้จริง

ขอบคุณมากครับ

มาให้กำลังใจคนทำงานจ้าา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท