"ภพจบ ลบชาติ"


"ปรินิพพาน (ตาย) ประหารภพ จบในชาตินี้"

This is now completely ending of Self.

-----------------------

(๑) เกิดคือ ตาย
(๒) ตายคือ เกิด
(๓) เกิดคือ เหตุให้จบสิ้น
(๔) จบสิ้น เพราะรู้เหนือมายา

------------------------

เหตุการณ์ที่ ๓ ของวันวิสาขบูชาคือ "ปรินิพพาน" (Pass away) หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตาย" ซึ่งเป็นผลปลายทางของการเกิดมีชีวิต มีร่างกายในโลกใบนี้

พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีกายเนื้อ จึงอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเช่นกันทุกคน อาจมีผู้มีศรัทธากล้าเกินปัญญาที่มองว่า พระพุทธเจ้าเหนือมนุษย์ ไม่น่าจะตาย!


เป็นเรื่องที่เราต้อง "ศึกษา" ในโลกของภาษาและมายาของสังคม ที่มีคติ มีวัฒนธรรม มีประเพณี ที่สร้างขึ้นมา โดยอาศัยความเชื่อเป็นฐาน (Dogma) ซึ่งอาจแย้งความจริงได้

(๑) สังคมอินเดียในสมัยนั้น มีความหลากหลายด้านทัศนะ ที่แตกต่างกัน เหตุผลที่แตกต่างกัน เนื่องมาจากอินเดียในระยะก่อกำเนิดมาจากหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง กรีกอารยัน อาหรับ (อิหร่าน) ดราวิเดี่ยน ตุโรเนี่ยนฯ


ชนเหล่านี้ มีความเชื่อไปตามพื้นฐาน ท้องถิ่น และความเชื่อที่นำมาจากท้องถิ่นอื่น เมื่อมารวมกันจึงกลายเป็นแบบผสมผสาน และรักษาเอกลักษณ์ของเผ่าตนเองไว้ด้วยการนับถือเทพเจ้าของตน

กลุ่มอินโด อารยันกรีกนั้น อพยพมาทางตอนเหนือ ซึ่งได้นำเอาคติความเชื่อทางศาสนาของตนมาด้วย พวกนี้เชื่อในเทพดวงดาว เช่น เทพอัคคนี (อาทิตย์) เทพวรุณ (น้ำ) พระอินทร์ และพระยม (ตาย)


เรื่องนี้ย้อนไปที่กรีกที่เชื่อว่า หลังชีวิตตายลง เขาจะทำมัมมี่กับร่างบุคคลสำคัญไว้ เพื่อรอคืนชีพ หลังจากเดินทางไปสู่โลกของความตายนาน ๓,๐๐๐ ปี ที่ไปอยู่กับเทพ Osiris ก่อนจะจุติลงมาสู่โลกมนุษย์ในร่างเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามชาวอียิปต์ มี ๒ กลุ่มที่มีความเชื่อต่างกันคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มผู้มีการศึกษาดี จะเชื่อในพลังอำนาจของธรรมชาติและนับถือเป็นศาสนา (Natural religion)


อีกกลุ่มที่ไร้การศึกษา เชื่อในตำนานแบบเก่าที่เล่าสืบๆ กันมา ทั้งสองจึงแยกกันทำพิธีเรื่อง การบูชาเทพเจ้าต่างๆ ต่อมาภายหลังจึงรวมกันกัน แต่ยังคงบูชาเทพหลายองค์อยู่เช่น Khem Maut Thoth Ammon ฯ

พวกเขาเชื่อเรื่อง วิญญาณกำเนิดอย่างไร และเกิดกาย จนไปสู่ความตายอย่างไร ซึ่งเรื่องนี่คือ จุดกำเนิดที่ชาวอิยีปต์ กรีก ที่อพยพไปทางอินเดีย แล้วเผยแผ่แนวคิดเรื่องนี้ จนถึงสมัยพุทธกาล ถือว่ามีความละเอียดที่ซับซ้อนมาก


เดิมเขาเชื่อว่า เทพเจ้าสูงสุดชื่อ "Knep" เดิมเป็นเทพที่ประจำในพืชผักในฐานะเป็นเทพเจ้าความอุดมสมบูรณ์ และเทพนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ด้วย ว่ากันว่า แต่เดิมสิงสถิตในแดนสวรรค์ในฐานะเป็น "Soul"

และโซลนี่เอง ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการสร้างสรรพสิ่งโดยมีชื่อว่า "Breath" (ลมหายใจ) และเขาได้สร้างพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ และใต้รัศมีของสวรรค์ และอยู่เหนือโลก แล้วทุกสรรพสิ่งจึงก่อกำเนิดมา


ซึ่งสอดคล้องกับนักปรัชญาชาวกรีกในสมัยของไพทากอรัสที่เชื่อเรื่อง "โซล" ว่ามีลักษณะเกิดตาย ในขณะเพลโตและอริสโตเติ้ล ก็เชื่อในเรื่องนี้ด้วย

มาถึงศาสนาพราหมณ์ก็เชื่อเรื่อง "วิญญาณ" ในฐานะ "ปรมาตมัน" ซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดหรือเรียกอีกอย่างว่า เทพเจ้าสูงสุดชื่อว่า "พรหม" ส่วนมนุษย์แต่ละคน ก็ได้อาศัยการแตกหน่อเชื้อมาจากพระพรหมนี่เอง


พอมาถึงมนุษย์ "โซล" ก็กลายเป็นวิญญาณที่สิงอยู่ในร่างกายของมนุษย์ แต่พวกพราหมณ์ เรียกว่า "อนุอัตตา" (small Self) อัตตานี่เอง ที่ชาวพุทธพูดกันมานาน ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า

พอมาถึงสมัยพระพุทธองค์ พระองค์ก็ใช้อัตตานี้ในความหมายเฉพาะของพระองค์ มิได้มีนัยแบบพราหมณ์ พราหมณ์เชื่อว่า โซล นี้เดิมเป็นอมตะที่อยู่กับพรหมัน แต่เมื่อแยกหน่อออกมาอยู่กับกาย โซลก็กลายเป็นวิญญาณตาบอด


ที่่สุดก็หาทางกลับไปสู่พรหมันไม่ได้ เนื่องจากถูกกายหล่อหลอมให้เป็นไป ด้วยแรงอำนาจของกายที่ไม่สะอาด ที่ห่อหุ้ม จนทำให้ปัญญาของอัตตานี้ หลงทาง มืดมนไปด้วย แล้วจึงหลงเกิด ตายในวังวนของกายโลกอยู่ประจำ

การเกิด การตายของอัตตานี้ ขึ้นอยู่กับอำนาจของการกระทำของคำสั่งของพวกพราหมณ์เอง เนื่องจาก ๑) พวกเขาเชื่อว่า พรหม คือ ผู้บันดาลชีวิต จึงไม่กล้าขืนโชคชะตา จึงยอมรับความจริงของตน ๒) การเป็นไป เส้นทางชีวิต อยู่ที่พระเจ้าลิขิต


๓) การกระทำขึ้นอยู่กับพิธีกรรมหรือคำสั่งของพระพิธีในพระเวท ที่จะกำหนดให้ชีวิตเป็นไปเช่น การบูชายัญ การล้างบาป การแสวงหาความจริง ๔) เป็นไปตามกฎประเพณีคือ อาศรม ๔ และหลักพิธีศาสนาต่างๆ

ชีวิตและจิตวิญญาณของคนอินเดียสมัยก่อนจึงถูกคติความเชื่อในสังคมพราหมณ์กำหนดเส้นทางชีวิตและรวมทั้งชีวิตหลังตายด้วย ชีวิตหลังตายของเขาคือ มนุษย์สามารถเกิดเป็นอะไรก็ได้ ก้อนหิน ต้นไม้ สัตว์ มนุษย์ ฯ จนกว่าจะหาทางเข้าสู่โมกษะในที่สุด


แต่พอมาถึงสมัยพุทธเจ้า พระองค์มิได้เชื่อตามนั้นทั้งหมด อัตตาที่ตาบอด ที่หลงทางจนเกิด ตาย ๆ เป็นภพ เป็นชาติ เป็นวัฎฎะนั้น กินเวลายาวนานมาก เรื่องนี้ พระพุทธองค์ก็ยอมรับว่า มนุษย์ก็เกิด ตาย มาแล้วหลายชาติเช่นกัน (เรื่อง ทสชาติของพระองค์)

อย่างไรก็ตาม พระองค์เชื่อว่า อัตตาหรือวิญญาณของมนุษย์มีจุดจบ มีจุดดับ มีจุดยุติที่จะไม่ไหลเวียนวนอีก นี่คือ จุดเปลี่ยนสำคัญที่พระองค์กำหนดเส้นทางใหม่ให้กับพระองค์เองในชาตินี้


และสั่งสอนเรื่องการทำวิญญาณหรือจิตให้แจ้งสว่างบรรลุในชาตินี้ ด้วยการเข้าถึงพระนิพพาน (ดับสาเหตุวัฎฎะ) นี่คือ (จิต) จุดตาย ที่เป็นอมตะ ชาติมนุษย์จึงเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์ เหมือนที่ประสูติใหม่ เปล่งพระวาจาว่า เราเกิดมาเป็นชาติสุดท้าย

ในมิติของการตายของปุถุชนมีนัย ๒ นัยคือ ตายทางกาย และตายทางใจ (วิญญาณ) อันแรกเป็นไปตามกฎของโลก ที่มีเกิด แก่ เจ็บตาย เป็นเรื่องปกติวิสัยของชาวโลก เรียกว่า "เกิดมีกาย ตายมีศพ"


และอันหลังเป็นควาตายทางวิญญาณที่ตายแบบตาบอด ตายแบบไม่ได้บรรลุนิพพาน เมื่อจิตตายแบบมายาเช่นนี้ แน่นอนว่า จิตย่อมหาทางจุติใหม่อีก จนอยู่ในลักษณะเวียนว่ายอีก ไม่รู้จบสิ้นเรียกว่า ตายจากพระนิพพาน (ดับถาวร)

จึงสร้างข้อสงสัยแก่ผู้คนมากมายว่า เราตายจริงหรือตายมายา เราตาย เพื่อเกิด หรือเพื่อตายจริงๆ ในชีวิตหนึ่งอาจกลายเป็นตายเพื่อเกิด หรือเกิดเพื่อตาย ก็ได้


(๒) ในแง่บุคคล ที่เป็นปุถุชน แน่นอนถือเอาตามคติพระพุทธศาสนามองว่า การเกิดมีจุดหมายปลายของมันคือ ตาย แต่การตายแบบมีศพนั้น พระพุทธศาสนามองเห็นเป็นมายา มิใช่ตายจริง

เหมือนนักปรัชญาทั้งหลายสงสัยว่า ชีวิตหลังตายมีหรือไม่หรือวิญญาณหลังตายมีหรือไม่ ส่วนศาสนาอื่นๆ มองว่า มีชีวิตเดียว เกิดตายครั้งเดียว โดยเฉพาะลัทธิบริโภคนิยม มองว่า ชีวิตนี้คือ เอกชาติ


มองในแง่ชีววิทยา สัตว์ทุกชนิดดูเหมือนจะไม่มีชาติเดียวในแง่สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน เนื่องจากว่า พวกเขาได้ถ่ายทอดพันธุกรรมไปยังลูก และลูกก็สืบทอดต่อไปอีก

มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ก็มีสายพันธุ์ต่อไปยังลูกหลาน เราจึงพบว่า พ่อแม่ยังอยู่ในร่างกายของเราเสมอ ในแง่นี้ เป็นเพียงพันธุกรรมของสัตว์โลก ตามกฎของสายพันธุ์ ซึ่งจากจากจิต


ในแง่พระพุทธศาสนาเน้นที่จิต วิวัฒนาการของจิตเท่านั้น (Only mind) เพราะจิตคือ ตัวปัจจัยหลักในการสืบเนื่องของภพของชาติ เมื่อกำหนดทิศทางจิตได้ ชีวิตย่อมยุติได้

ความตายของกายจึงเป็นเพียงมายาของชาวพุทธ แต่กระนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่อง ความเป็น ความตายนี้ให้ชัดเจน และต้องยึดหลักการพระพุทธศาสนาไว้ด้วย


หลักการคือ ชีวิตกำเนิดมาอาศัยโลก พ่อแม่ สิ่งแวดล้อม และการกระทำ เป็นเครื่องหนุน โดยเฉพาะเรื่องกรรม เป็นคำที่กินความหมายตั้งแต่เกิด ไปถึงตาย

พระพุทธศาสนาถือหลักว่า การกระทำทางกายคือ มือ เท้า ตัว ศีรษะคือ อวัวยะที่ก่อผลต่อตนเอง ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมและต่อโลกได้ ทางกระทำทางภาษา วาจาที่สื่อสาร ย่อมมีผลเช่นเดียวกันและทางจิตก็เช่นเดียวกัน


อะไรคือ แรงกรรม เจตนาคือ แรงกรรม แรงกรรมทางกาย วาจา ใจ เกิดมาจากหลายปัจจัยเช่น เจตนา เงื่อนไขกาย สิ่งกระตุ้น สิ่งแวดล้อม และความไม่รู้ เป็นเหตุให้เราแสดงออกไปอย่างนั้น

กรรมคือ การกระทำ ซึ่งมีผล ๓ ชั้นคือ ดี ไม่ดี กลางๆ ผลทั้งสามขึ้นอยู่กับแรงเจตนาหรือปัจจัยดังกล่าว ว่าอันไหนเข้มข้นกว่ากัน ก็จะเอนเอียงไปเช่นนั้น เมื่อเรากระทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนเคยชิน กรรมนั้นก็อาจส่งผลไปเป็นสันดานได้


การกระทำของเรา มันมีผลตามมีอีกคือ ความเจ็บปวด เจ็บไข้ บาดเจ็บทางกาย เจ็บทางใจ และเรื้อรังออดๆ แอดๆ จนกลายเป็นความทุกข์ ความเครียด ความกดดัน และที่สุดก็คือ ความตาย

เพราะกรรมของชีวิตมีผลตั้งแต่เรื่องเล็กไปหาเรื่องใหญ่ สะสมอยู่ในภพ ในชาติของเรา เมื่อเราตั้งเจตนจำนงไม่ตรง ไม่ถูกต้อง ก็จะจบในแค่ความตายที่เป็นมายา นี่คือ ความทุกข์ของชีวิตในภพต่อไป


เรื่องตาย จึงเป็นเรื่องที่เราควรตระหนักในกาย ในกาล ในกรรมของตน อย่างละเอียด เพราะพลาดครั้งเดียว ก็อาจว่ายอยู่ในภพไปอีกนาน พระองค์ศึกษาเรื่องจิต ในขณะเป็นมนุษย์ ตั้งเจตนาเส้นทางชีวิต เพื่อไปสู่เป้าหมายที่พระนิพพานอย่างเดียว

แต่ปัจจุบัน คติดังกล่าวนี้ ไม่มีพลังพอที่จะทำให้คนตื่นใจ ตื่นรู้ในความเป็นจริงของชีวิต มีแต่คนไม่กลัวตายท้าทายความตายอยู่ทุกวัน โดยไม่รู้ว่า ตายไปแล้วจะไปอย่างไร หรือไม่รู้ว่าว่าตัวตายด้วยซ้ำ


คติปัจจุบันสวนทางกับพระพุทธศาสนาที่ว่า อยากเกิดมาอีก อยากมาเกิดเป็นพี่น้อง เป็นคู่กันอีก หรือใครตายก็ภาวนา ขอให้ไปเกิดใหม่ หรือไปเกิดอีก นี่คือ การสะท้อนคติความเชื่อแบบเก่า

เนื่องจากปัจจุบัน เราหาคนรู้ที่จะชี้ทางให้คนสว่างไม่ได้ ยืนยันในอนาคตของคนที่จะตายไม่ได้ ไม่มีใครมาบอกเรา แม้จะมีบ้างที่บอกว่า ตายแล้วฟื้น แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไป ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากมาก


การตายจึงเป็นเรื่อง คลุมเครือและมีคติที่ยังไม่ชัดเจนใดๆ ทำให้ผู้คนต่างปฏิบัติต่อคนตายไปแบบประเพณีเก่าๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาถาวรได้ โดยเฉพาะในศาสนพิธีของคนตายในรัศมีของชาวพุทธ ซึ่งหลงทางไปมากแล้ว

เมื่อใครตายเรื่องที่เราเห็นประจำคือ พระสวดอภิธรรม ซึ่งเป็นภาษาบาลี คนฟัง คนสวดก็ไม่รู้เรื่อง จึงมีพิธีแค่นั้น มาเพื่อเคารพญาติหรือคนตายเท่านั้น


ที่จริงงานศพ การตายเป็นเรื่อง อภิสาร อภิธรรม อภิโอกาส สำหรับคนเป็นมากกว่า คนตาย เพราะคนตายคือ อ.ใหญ่ ที่คนเป็นควรยกขึ้นมาพิจารณาให้เป็นสัจธรรม

แต่อนิจจา! เวลาไปงานศพ เราเห็นผู้คนไปแต่งตัวอวดกัน แต่งโป๊เปลือยๆ ไปพบปะพูดคุยกันเสียงดัง ใส่ชุดสีดำเพื่อไหว้อาลัย อาลัยจริงๆหรือ) ที่ศพก็ตบแต่งอย่างสวยงาม จนไม่อาจมองเห็นเป็นอสุภะได้


ทำให้สิ้นเปลืองทรัพย์สินทองมากมาย จะทำให้น่าสังเวชหน่อยก็ตรงเปิดโลงศพก่อนเผา ที่จะได้พิจารณาอสุภะความจริง นี่คือ พิธีกรรมที่ชาวพุทธไปไกลหรือหลงทางในเรื่อง ความตาย

ที่จริงในคำสวดของพระสงฆ์สวดนั้น ล้วนเป็นเรื่องธรรมเกี่ยวกับชีวิตคนเป็นทั้งสิ้น เป็นเรื่องความจริงของชีวิตแท้ๆ แต่คนเป็นฟังไม่ออก กลับไปมอบสาระนี้ ให้กับคนตาย ซึ่งเขาไม่รู้เรื่องเลย


ด้วยเหตุนี้ที่เราไม่รู้เรื่อง ไม่ศึกษาชีวิตด้วยการกระทำดังกล่าว (ศึกษา ลงมือ ปฏิบัติ) จึงกลายเป็นเรื่องชาชินและคุ้นเคยกับความตายไป แต่ก็ยังไม่อยากตายอยู่ดี

เราจึงไม่เข้าในเรื่องความตาย อย่างชัดเจน และคิดเชื่อไปต่างๆกัน ว่า ตายแล้วจบกัน ไปสบายแล้ว ไปสวรรค์แล้ว ไปเกิดแล้ว ฯ มันไม่เป็นอย่างที่คาดคิดได้เลย เพราะเราชอบมอบความหวังให้กับอนาคต ไปเสี่ยงเอาในวันหน้า ในภพหน้า


(๓) ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่ยืนยันว่า ภพจบได้ในภพนี้ เดี๋ยวนี้ ซึ่งหลวงพ่อพุทธทาสขานรับอย่างถูกต้องว่า ภพนี้ ไม่มีตัวกู ของกู นั่นแหละถูกแล้ว

ในวันสาขะนี้ พระองค์ได้ตรัสรู้เรื่อง ชีวิตในภพนี้ จนสิ้นภาระทางจิตแล้ว และดับขันธ์ไปอย่างถาวร ไม่มีการหวนคืนอีก เรื่องนี้ ต้องเชื่อมั่นในหลักการของพุทธ เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตที่เกิดภพ เกิดชาติ เหมือนศาสนาพราหมณ์สอนกัน


แต่พระพุทธองค์ตัดสายใยเส้นทางของจิตในภพนี้เท่านั้น โดยเฉพาะในภพมนุษย์ มนุษย์คือ สัตว์ชนิดเดียวที่จะยุติทางเส้นนี้ได้ ถ้ายืนยันและเชื่อมั่นในหลักการนี้ แล้วทุ่มเทให้จิตไปทางนี้ อย่างจริง

โดยมีเป้าหมายในอนาคตข้างหน้าว่า จะจบวัฏฏะให้ได้ ปฎิเสธเสีย นี่คือ จิตที่สร้างเจตนาให้ตัวเองไม่สืบพันธุ์อีก หากไม่แล้ว จิตเราจะกลายเป็นแค่มายา ไม่ตายจริง มันก็จะมาผ่านภาคกาย ที่มาเล่นมายาอีก


เนื่องจาก เมื่อเราศึกษาจากคติเรื่องความตาย จิต และการเกิดใหม่ มันก็เหมือนๆกันคือ ไปสวรรค์ ไปอยู่กับพระเจ้า ไปตกนรก นี่คือ คติเดิมๆ แต่พระพุทธศาสนาสอนมิใช่สอนให้ไปเช่นนั้น (ไม่ใช่สวรรค์ ) แต่สอนเรื่องให้รู้ก้าวเดินที่ปลายเท้า ขณะเคลื่อนปัจจุบัน หมายถึง รู้ชีวิต จิต ที่เป็นอยู่ในปัจจุับนให้ดี นี่คือ รหัสที่จะบอกสวรรค์นรก นิพพาน หรือพระเจ้าได้ ในทุกขณะๆ ชีวิตจริง


ดังนั้น การเกิดคือ ภพที่มีรหัสของการดับในขณะเป็นๆ นี้ด้วย จบด้วยจิตเป็นๆ ที่อยู่ในโลกความจริงนี้ เป็นพลังที่จะแก้ไขตนเองได้ ช่วยเหลือคนอื่นได้ อย่าหวัง ชีวิตหลังตายจะช่วยตนเองได้

จงศึกษาเส้นทางที่เราเคยตาย เคยเกิดมา ในชีวิตนี้ ด้วยการมองที่ศักยภาพของสมองหรือจิตของเราในขณะพูดได้ สื่อสาร กระทำ จัดการ บริหาร ชีวิต จิตได้ นั่นแหละจะพบรหัสความจริงด้วยตัวเอง


(๔) การจบสิ้นของมนุษย์แต่ละคน มีเส้นทางทั้งเหมือนและไม่เหมือนกัน ที่เหมือนคือ แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน ส่วนที่ไม่เหมือนคือ บางกลุ่มก็ตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ออกจากครรภ์ เติบโตมาได้นิดหน่อย และแก่ชราแล้วตาย

การเกิดมีเป้าหมายของมันคือ ตาย ทั้งๆ ผู้คนก็รู้ว่า ตายคือ อะไร น่ากลัว ไม่อยากตายด้วย แต่ใครจะห้ามได้ แล้วเรารู้ซึ้ง ถึงแก่นมันหรือยัง ท่านว.วชิรเมธี เคยเขียนเรื่องนี้ว่า สบตากับความตาย เป็นอย่างไร


พระไพศาล วิสาโล ก็เหมือนจะเน้นเรื่อง ตายก่อนตาย และหาวิธีเยียวยา รักษาวาระสุดท้ายของมนุษย์ด้วยสติ อย่างเข้มข้น เรื่องนี้ ไม่มีแพ้หลวงพ่อพุทธทาส ที่ท่านตระหนักในเรื่องตายก่อนตายเลย

เพราะฉะนั้น เรื่องตาย เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้คน บนโลกนี้ ส่วนพระอรหันต์นั้น ดูเหมือนจะก้าวข้ามประตูมรณะนี้ว่า เป็นเพียงมายา ที่มีม่านบางๆ บังตาเท่านั้น หลังฉาก หลังม่านคือ ความจริง ที่เราควรเข้าถึง


สำหรับงานของมนุษย์ในเรื่อง ความเป็น ความตาย มี ๒ เรื่อง เรื่องตายดี และตายตามอายุไข การตายดี เป็นแบบไหน ตายแบบอุดมคติในพุทธศาสนาหรือว่า จะตายแบบอิยิปต์ (มัมมี่) หรือแบบธิเบต (บริจาคเนื้อ กระดูกให้แร้ง) หรือแบบไทยพุทธ (เผา) แบบคริสต์ (ฝัง)

ไม่มีคติไหนดีไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับค่านิยม ความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แต่ปัญหาคือ ความตายสอนคนเป็นในเชิงจริยศาสตร์อย่างไรบ้าง ผู้คนอาศัยความตายสอนคนอย่างไร และได้ประโยชน์อะไรต่อตนเอง


นั่นคือ น่าเป็นตัวอย่าง เป็นคุณค่ากับคนเป็น เช่น ศพอ.ใหญ่ของแพทย์ หรือการเผาศพกลางแจ้ง เพื่อให้ผู้คนได้ปลงอสุภะ นี่คือ คติที่ถือว่า ได้บุญหรือไม่ นี้ถือว่า ความดีในความตาย

ถ้าจะให้เห็นชัดเจนทั้งสองด้าน ต้องยกเอาด้านที่ไม่ดีในการตายมาเปรียบเทียบ เพื่อจะได้เห็นว่า ตายดี ไม่ดี อันไหนน่าเป็นทางเลือกก่อนตาย เช่น อุบัติเหตุ ถูกยิงตาย ถูกฆ่าตาย ถูกประหาร ถูกสัตว์กัด เป็นโรคร้าย ฯ


ถือว่า ภาพออกมามองไม่สภาในศพเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้ผ้าปิดห่อไว้ คนใจอ่อนอาจเสียขวัญได้ การจัดงานศพในรูปแบบให้เกียรติคนตายในปัจจุบันก็ถือว่า ดีแล้ว แต่ต้องอย่าไปหลงในพิธีมากไป จนเลยแก่นสารคำสอนที่พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั้น

ส่วนตายตามอายุไขนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่า การตายแบบนี้ ก็ทรมานร่างกายเหมือนกัน กว่าจะตาย กายต้องจมอยู่กับน้ำหนักของตนเอง จนเจ็บปวดทรมาน


กระนั้น ก็เป็นปลายทางที่ทุกคนปรารถนาอยู่ เพราะเป็นไปตามกลไกของกาลเวลา ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าเป็นได้ทั้งสองคือ แก่ชรา และดับกิเลส ภพ วัฏฏะได้อย่างถาวรแล้ว นั่นคือ "อุดมคติ" ของการตายอย่างหมดจดของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องความตาย ที่ไม่ดับสิ้นนี้ ในทางปรัชญามีประเด็นหนึ่งถามว่า มีชีวิตหลังตายหรือไม่ (Life after death) เป็นประเด็นที่หาคำตอบยาก เพราะไม่มีคนตายกลับมาบอกเรื่องราวนี้เลย


ฉะนั้น ในแง่การสงสัย การถกเถียงกัน ก็คงต้องปล่อยให้มนุษย์ว่ากันต่อไป ว่ามีหรือไม่ (วันหน้าหากมีข้อมูล จะนำมาเขียนเรื่องนี้) แต่พระพุทธศาสนา ไม่อยากตอบเชิงปรัชญาแบบคาดเดาหรือ คาดเอาเอง แต่เน้นที่ขณะจิต ขณะเคลื่อน ในปัจจุบัน (Here and Now)

มองในแง่อภิปรัชญาในเรื่องปฏิจจสมุปบาท มี ๒ มิติ คือ สายเหตุ และสายผล หรือเกิด และดับ ในชีวิตของสัตว์ มีเกิดเป็นภพ หนึ่งชาติ (อายุ ๑๐๐ ปี) ถือว่า ๑ ภพ ๑ ชาติ ถ้าเกิด ตาย หลายภพ หลายชาติ ก็จะกินเวลายาวนานเป็นกัปป์ นับกัลป์


แต่ในแง่ขณะของจิต ที่เกิดตาย ทุกๆขณะนั่นคือ ๑ ภพ ๑ ชาติ (นิยามของหลวงพ่อพุทธทาส) นี่ก็น่าคิดว่า จิตมีกระแส มีการสะสมภพ ชาติในระดับที่ละเอียดด้วย การคิด มีกระบวนการคือ ต้นคิด (เกิด) คิดนั้นเปลี่ยนไปสู่การกระทำ (เติบโต) และสำเร็จกิจหรือผล (ความคิดนั้นตาย) นี่คือ กระบวนการทางจิต (Mind process)

อย่างนี้ ถ้าจะบอกว่า กายเรามีเกิด ตายทุกวัน เช่น นอน ตื่น จิตเรามีเกิดตายทุกวัน ก็คงไม่ผิดเช่น คิดเรื่องหนึ่ง (เกิด สืบเนื่อง และจบลง) เรื่องใหม่ก็เกิดอีก เช่นนี้ทั้งวัน การหยุดคิด การรู้ทันขณะจิต คือ การยับยั้ง มิให้สร้างโครงของภพใช่หรือไม่


ดังนั้น จุดจบจึงอาจเป็นได้ ๒ ประเด็นคือ ๑) ภพใหญ่จบ ไปพร้อมกับจิตจบ ๒) จิตจบในแต่ละขณะ เพื่อไม่สะสมให้เป็นมหภพอีกต่อไป ปฏิเสธภพ ที่จะเกิดอีก อย่างนี้เราตั้งคติเอาไว้ในชีวิตอย่างไรก่อนตาย

หรือว่า เราไม่รู้เลยว่า มันคือ อะไร มันจะตายหรือจะเกิดกำหนดเองไม่ได้ ปล่อยไปตามยถากรรมของตนเองหรือเจ้ากรรมนายเวรก็แล้วกัน อย่างนี้ถือว่า ประมาทหรือไม่

คำสำคัญ (Tags): #ภพจบ ลบชาติ
หมายเลขบันทึก: 606813เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016 06:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท