กิจกรรมบนฐานปัญญา ๑ : การเป็นกระบวนกรพื้นฐานเเละหลักคิดที่สำคัญ


การเป็นกระบวนกร หรืออาจเรียกว่าวิทยากรกระบวนการนั้น เป็นผู้นำกิจกรรมที่สามารถออกแบบกระบวนการได้ นำกระบวนการได้ เเละเข้าใจหลักการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใด สิ่งสำคัญที่กระบวนกรจำเป็นต้องมี ได้แก่ ๑)ความสามารถในการออกเเบบกระบวนการ ๒)ความรู้จากประสบการณ์ตรง ๓)ทักษะที่จำเป็นสำหรับกระบวนกร ๔)ความรู้เชิงเนื้อหาทฤษฎีด้านการเรียนรู้ หลักจิตวิทยา หลักคลื่นสมอง เเละหลักปัญญา ๓ ฐาน เป็นต้น โดยสิ่งที่สำคัญต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่กระบวนกรต้องรู้ ต้องเข้าใจ ทั้งฐานคิด ฐานทำ ในบทบาทนักพัฒนาคน

หัวใจการเป็นกระบวนกร
หัวใจการเป็นกระบวนกร คือ "การจัดกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ในเชิงบวกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น" การจัดกระบวนการในเชิงบวกหรือเเนวทางการคิดบวก(Positive thinking) มีความสำคัญที่สุด เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จากพลังบวก โดยสมองอยู่ในโหมดปกติโดยธรรมชาติ เช่น กิจกรรมจิตตปัญญา การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม การสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเเละพฤติกรรมของเด็ก(Transformative learning) ทั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเครื่องมือ กระบวนการ ระยะเวลา กลไก เเละฐานเดิมของตัวเด็กที่มีอยู่เเล้ว ฉะนั้นจึงเน้นการจัดกิจกรรมในเชิงบวกถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพราะพลังบวกคือแรงกระตุ้นจากภายนอกที่สามารถทำให้เด็กทำได้(Pygmalion effect)

กระบวนทัศน์พื้นฐานของกระบวนกร

หลักกระบวนทัศน์ในที่นี้ เป็นทรรศนะหนึ่งในหมื่นความหมาย ซึ่งหลักพื้นฐานในที่นี้ คือ หลักการที่กระบวนการจำเป็นต้องรู้ เข้าใจ เเละนำไปปฏิบัติอยู่เเล้ว เป็นพื้นฐาน ได้แก่

  • กระบวนทัศน์ใหม่แบบองค์รวม โดยยึดหลักความเชื่อมโยงเข้าสู่กันเเละกันโดยไม่ตัดสิน เเต่จะยอมรับเเละเข้าใจอย่างลึกซึ้งเเทน
  • การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเชิงบวกเป็นสำคัญเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดเละพฤติกรรมในเชิงบวกของเด็ก
  • กระบวนการสำคัญกว่าคำตอบ กล่าวคือเน้นให้ความสำคัญที่ระยะทางมากกว่าเส้นชัย เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ระยะทาง
  • การจัดกิจกรรมต้องนำไปสู่การเกิดผลดีต่อตนเอง ต่อชุมชน เเละต่อสังคม
  • การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการลงมือทำจึงจะนำไปสู่ปัญญาเเละทักษะ อันเป็นความรู้ที่ยั่งยืน

หลักคิดพื้นฐานของกระบวนกร
๑.จุดประสงค์ของกิจกรรมหรือเป้าหมายของกิจกรรมที่เราควรรู้อยู่เสมอว่าคืออะไร ซึ่งจุดประสงค์นี้เองที่จะเป็นเส้นมาตรฐานของกิจกรรมเราว่าจะไปในทิศทางใด ถ้าจะให้ชัดเจนในขั้นการออกเเบบกระบวนการควรเเยก ต้องการจริง กับ ต้องการน้อย คือ สิ่งที่ต้องการจริงๆเเละสิ่งที่ต้องการรองลงมาไว้ร่วมด้วยเพราะหากเรามีจุดประสงค์หลายๆอย่าง ภาพที่ออกมาเราอาจจะเห็นเป็นภาพเบลอๆได้

๒.ชุดคำถาม ในกระบวนการ อันนี้ยิ่งสำคัญเพราะว่าหากเราใช้คำที่ยากๆอาจไม่เหมาะสมกับเด็กๆตัวเล็กๆ หรือหากเราใช้คำถามที่กำกวมไม่เข้าใจ เราจนกลายเป็นคนที่ไม่เข้าใจเสียเอง คำถามที่ควรถามเด็กๆ ได้เเก่ รู้สึกอย่างไร ประทับใจอะไร เรื่องนี้สอนอะไรเรา ฯ คำถามหลักๆที่เราคุ้นเคยจะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ได้เเก่ ปลายปิด เช่น ใช่หรือไม่ ปลายเปิด เช่น เป็นอย่างไร เพราะอะไร (เห็นถึงเหตุผล) ในบทบาทนี้เราควรที่จะใช้คำถามปลายเปิดเข้าไว้เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กๆได้สะท้อนมุมมองเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนคำถามปลายปิดนั้นเราอาจถามได้ในในช่วงเวลาเช่น เขายังไม่ชัดเจน เขายังเบลอๆ เขายังเข้าใจผิด เป็นต้น

๓.เครื่องมือในกระบวนการ อันที่จริงเเล้วที่เราเห็นๆกันนั้นเครื่องมือ คือ สิ่งที่ทำให้เรามองเห็นภาพร่วมกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นำไปสู่การเรียนรู้ เครื่องมือก็มีหลายๆอย่าง วิธีการใช้ คือ เราควรประเมินก่อนว่าบุคคลที่เราจะนำไปใช้นั้นเขามีศักยภาพมากน้อยเพียงใดด้วย วิธีการดำเนินเครื่องมือก็มีอยู่ 2 อย่างหลักๆเช่นเดียวกัน ได้เเก่ นำเเบบปลายปิด คือ ทำไปตามคำสั่งทีละอย่างๆ ทำไปโดยมีรูปเเบบเดียวมาให้คิด ฯ เเละนำเเบบปลายเปิด คือ ให้ออกเเบบรูปเเบบด้วยตนเอง ให้สรุปกิจกรรมลงบนกระดาษ เป็นต้น

๔.ประเมินตลอด เป็นการประเมินดูว่ากิจกรรมเราที่ทำนั้นมันเกิดผลมากน้อยเพียงใด อะไรที่เราควรที่จะเสริมเข้าไปอีกในกระบวนการ เมื่อเสริมเข้าไปเเล้วเราย่ำที่เดิมหรือไม่ เช่น การละลายพฤติกรรม หากเรายังไม่ค่อยพูดคุยกัน เราควรจะเพิ่มอะไรลงไปได้อีกโดยมองดูจุดประสงค์ของกิจกรรมเป็นหลัก หรือ เครื่องมือนี้มันยากไปสำหรับคนที่ไม่เคยทำ เรามีเเผนสำรองที่จะใช้เครื่องมือง่ายๆกว่านี้หรือเปลี่ยนรูปเเบบวิธีการได้ไหม ฯ

๕.ลำดับขั้นของกิจกรรมในตอนออกเเบบที่เราควรเชื่อมร้อยกัน เเม้เเต่กิจกรรมสันทนาการก็ควรที่จะทิ้งท้ายเพื่อเข้าสู่บทเรียนของกิจกรรมหรือเครื่องมือ หากมีการปรับเเผนควรปรับความเชื่อมร้อยนี้ไปด้วยเพราะหากไม่เชื่อมกันกระบวนการนี้ จะเหมือนกับ "กระตุก" ทำเเล้วเปลี่ยนอันใหม่ๆ เด็กอาจจะเบื่อได้เเละหลุดบทเรียนไปเลยก็ได้

๖.ตัวอย่างที่ดีมีมากกว่าคำอธิบาย หมายถึงว่า ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆนานานั้น เราจะชอบอธิบายอะไรยาวๆที่หล่ายๆคนไม่เข้าใจ หากเราลองอธิบายสั้นๆเเล้วยกตัวอย่างให้ดูเลย เขาอาจจะเข้าใจได้เร็วขึ้นเยอะ หากใช้กับเด็กๆควรยกตัวอย่างเป็นหลัก

๗.เมื่อมีการจับประเด็นอะไรสักอย่างไม่ควรที่จะใส่ความคิดของตนเองลงไป เพราะมันความคิดของทุกๆคน สามารถรวบยอดได้ วิธีการที่ช่วยให้ง่ายขึ้น ได้เเก่ การวาดเเมปปิ้ง การทำตาราง วาดภาพ เป็นต้น

ทักษะที่จำเป็นของกระบวนกร(จับประเด็น)

หลักเบื้องต้นหรือพื้นฐานในการจับประเด็นหรือชวนคุย กับทุกๆคนเพื่อเเลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเพื่อให้ทุกๆคนเห็นในสิ่งๆหนึ่งร่วมกัน ในการเป็นกระบวนกรที่นำกระบวนการ น่าจะมี ๔ ทักษะสำคัญที่อยู่ตัว คือ ทักษะทางการคิด การฟัง การพูด เเละการเขียนออกมา ดังนี้

๑ ) ทักษะทางการคิด เป็นสิ่งสำคัญที่ควรระวังมากที่สุด เเละควรใช้มากที่สุด ได้เเก่ วางโครงความคิดแทนการวางความคิด ความเชื่อมโยงกัน/แยกออกจากกัน ประเด็นสำคัญ/ประเด็นรอง หลักการ/ทฤษฎี สิ่งสำคัญในข้อนี้ คือ ในการจะคิดเพื่อจับประเด็นต่างๆ เรามักจะเอาความคิดของตนเองใส่เข้าไปด้วย เเต่จริงๆเเล้วเราไม่ควรใส่ความคิดของตนเองลงไป เพราะข้อมูลมาจากการฟัง ไม่ใช่การคิดของเราเอง ไม่ได้เอาความคิดของตนเองใส่ เเต่ให้เอาโครงความคิดของตนเองใส่ได้ เช่น หลักคิด ปศพพ. หลักคิด PDCA หลักคิดเชิงวิธีการ/เชิงกระบวนการ เป็นต้น

๒ ) ทักษะทางการฟัง เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประเด็นไม่เพี้ยน คำถามที่เกิดขึ้นอย่างเเรก คือ จะฟังอย่างไร ไม่ให้เพี้ยน ข้อนี้คงจะไม่มีใครตอบใครได้ เเต่หลัก พื้นฐาน คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ กับใคร เกิดผลอย่างไร ฯ เเละสิ่งที่ควรจะมีในการฟัง คือ มีสมาธิ การเเยกเเยะประเด็นจากการฟัง เรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่อง ใจความสำคัญของเรื่อง/ส่วนขยาย เรื่องนี้ต้องฝึกไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

๓ ) ทักษะทางการพูด สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งอันดับเเรกก่อนกระบวนการ ระหว่างกระบวนการ เเละหลังกระบวนการ ได้เเก่ การตั้งคำถาม การชวนคุย/สรุป การสะท้อนผลการพูดคุยฯ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การสะท้อนผลออกมาสู่การฟังเเละเขียน

๔ ) ทักษะทางการเขียน อันนี้เป็นเรื่องของศิลปะที่จะต้องหัดๆกันไป เพราะหากสามารถสื่อสารทางการเขียนนี้ได้ตรง ผู้รับสารจากที่เราเขียนหรือวาด ก็จะเห็นภาพเดียวกันกับเรา โดยควรจะมี มีศิลปะ เข้าใจง่าย/มีโมเดล เน้นจุดสำคัญ/ประเด็นหลัก - รอง ใช้สัญลักษณ์ /ภาพสื่อความหมาย ประเด็นทุกอย่างมาจากข้อมูล ในเรื่องการเขียนหากเราใช้สัญลักษณ์หรือใช้ภาพ ผู้รับสารจะเข้าใจตรงกันกับเรามากยิ่งขึ้น ผมคิดว่า การเขียนเเบบแผนผังความคิด หรือวาดภาพเป็นขั้นเป็นตอนจะสื่อได้ชัดเจนมายิ่งขึ้น

จัดกระบวนการอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการอย่างเข้าใจ "เข้าใจอะไร" ความเข้าใจนั้น ควรเข้าใจในเรื่อง ดังต่อไปนี้

  • เข้าใจเรียนการเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวก โดยกิจกรรม กระบวนการ เเละเครื่องมือ ต้องมีความเหมาะสมกับบริบทของผู้เข้าร่วมเป็นมาตรฐานสำคัญ เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาทักษะ ค่ายเรียนรู้วิถีอาหารดั้งเดิม ค่ายฝึกทักษะทางภาษา เป็นต้น
  • เข้าใจ เป้าหมาย วิธีการ กระบวนการ การวัดผล เเละการพัฒนาต่อ ที่ชัดเจน เเละเป็นพลวัตรอยู่ในฐานคิดของนักเรียนรู้อยู่เสมอ
  • เข้าใจมิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งเเวดล้อม เเละเศรษฐกิจ โดยสามารถเชื่อมโยงจากประเด็นสู่ประเด็นได้อย่างมีเหตุมีผล
  • เข้าใจกระบวนการการหลายรูปแบบเเละสามารถประยุกต์หลักคิดสู่หลักทำได้อย่างสอดรับกันเเละกัน
  • เข้าใจการมองปัญหา-ปัญหา เหตุปัจจัย ผลที่เกิดขึ้น-ตามมา-กระทบ วิธีการสร้างสรรค์-เป็นไปได้ เป้าหมายในการพัฒนาเเละพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • เข้าใจเรื่องการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ หลักจิตวิทยาการศึกษา ทฤษฎีสมอง-ปัญญา ทฤษฎีการเรียนรู้ของมนุษย์ เป็นต้น
  • เข้าใจการจับประเด็นในมิติตรรกศาสตร์ เช่น รวมกันได้ แยกกันอยู่ เป็นเหตุให้ไปสู่สิ่งนั้น ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เเละ สวนทางกัน เป็นต้น
  • มีความรู้ในการอธิบายสรรพสิ่ง(Propositional knowledge) ในการชี้รูปธรรมเเละนามธรรมให้คนได้เห็น หากเรื่องนั้นเป็นรูปธรรมให้เสริมนามธรรม เเละหากเรื่องนั้นเป็นนามธรรม ให้เสริมรูปธรรม เป็นต้น
  • มีความรู้เรื่องศิลปะทางการสื่อสาร เช่น การวาดภาพ การทำแผนผังความคิด สื่อด้วยภาพเเละคำสำคัญ เป็นต้น เพื่อจะสื่อให้คนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น



ความเห็น (3)

อ่านแล้ว เห็นวุฒิภาวะทางปัญญาชัดเจน

..

เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่อนาคตไกลมาก ๆ

..

ขอชื่นชม

ขอบคุณมากค่ะ ได้ปัญญาเพิ่มมากเชียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท