งานที่เป็น "อนุสาวรีย์ชีวิต"


"งานสร้างโรงเรียนเพลินพัฒนา คือ อนุสาวรีย์ชีวิตของผู้ที่มีใจคิดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยความรัก ความห่วงใย อยากเห็นคนที่เดินตามหลังมาเป็นคนที่มีประโยชน์ มีความสุข"

เอกสารชิ้นนี้คือต้นฉบับลายมือที่ดิฉันบันทึกปาฐกถาธรรมของท่านพระครูศีลวัฒนาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม เอาไว้ ในคราวที่ท่านได้มาเป็นประธานในพิธีลงเสาเอกอาคารประถมต้น และวางศิลาฤกษ์อิฐที่จะนำไปก่อสร้างอาคารอนุบาลของโรงเรียนเพลินพัฒนา เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖




ความว่า...


"งานสร้างโรงเรียนเพลินพัฒนา คือ อนุสาวรีย์ชีวิตของผู้ที่มีใจคิดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยความรัก ความห่วงใย อยากเห็นคนที่เดินตามหลังมาเป็นคนที่มีประโยชน์ มีความสุข


เนื่องด้วยชีวิตนั้นจำกัดด้วยวัย แต่ละวัยนั้นอยู่กับเราไม่นาน งานสร้างคนเป็นงานที่ก่อให้เกิดคุณค่า มีประโยชน์ เราจะเดินตามพระพุทธเจ้าด้วยการทำงานสร้างคนซึ่งเป็นอุดมคติของการทำงานโรงเรียน ที่จะช่วยให้เรามีโอกาสสร้างคนได้มากมาย เราไม่เพียงแต่จะสร้างลูกที่เกิดมาทางสายเลือด แต่เราสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นแก่เด็กทุกคนที่จะขยายตัวไปอยู่ในทุกส่วนของสังคม ทำให้เราได้ปีติ เป้าหมายของเราไม่ใช่การแข่งขันทางวัตถุ แต่คือการเห็นความดีของผู้อื่น สร้างมิตร สร้างเพื่อน การทำงานครั้งนี้เราไม่ได้มาหาเงินทอง แต่มาหาความดีที่เกิดขึ้นกับทุกเพศวัย เพราะความดีเป็นสากลที่ทำเมื่อไหร่ก็สุขใจ


ความดีที่ทำต้องอยู่บนฐานของความแบ่งปัน ไม่ใช่แข่งขัน การที่พระพุทธองค์ทำพระองค์เองให้เป็นที่มั่นใจของคนอื่น ก็เพื่อไม่ให้ทุกคนเกิดความระแวง ทุกคนที่มาเกี่ยวข้องจึงมีความสุขในทุกสถานการณ์


ความสุขเป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้กันไม่ได้ การมีความสุขอยู่ในโลกของวัตถุยิ่งทำให้คนอ่อนแอและเห็นแก่ตัว คนในลักษณะนี้ไม่ใช่คนที่จะช่วยชาติ ช่วยสังคม เราต้องอาศัยธรรมชาติเป็นสื่อชักนำสร้างเด็กที่มีความประพฤติย้อนยุค ไปรู้จักพ่อแม่ ครูอาจารย์ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้ที่สติระลึกได้ การทิ้งวัดทำให้ขาดสติ เราต้องทำความโปร่ง ร่มเย็น ให้เกิดขึ้นกับเขา สอนให้เขาประพฤติดี ประพฤติชอบ จากสถานที่ ถ้าทำอย่างนี้ได้ครูจะเหนื่อยน้อย เราต้องมีโอกาสให้เขาทำความดี มีความสะอาดเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความคิดล้ำยุค ทันโลก ทันเหตุการณ์


ชีวิตเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขต เด็กต้องรักทุกชีวิต รู้จักรับผิดชอบต่อธรรมชาติแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขา ไม่ใช่มุ่งทำลายธรรมชาติเพื่อมารับใช้ความพึงพอใจ ต้องรู้วิธีที่จะสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างมีความหมายและเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ยังต้องรู้จักรักครอบครัว รู้จักความพอดี รักเกียรติ ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่มีความสุภาพ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์ รักสุขภาพอนามัย และรักวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของสังคม"


พวกเราทุกคนคือผู้ที่ยอมเป็นอิฐก้อนแรกของการสร้างโลกผ่านเด็กๆ เพื่อให้อิฐก้อนต่อไปได้ก่อสร้างจนกลายเป็นที่พึ่งพิงของคนที่เดินตามหลังมา...เพื่อให้งานชิ้นนี้เป็นอนุสาวรีย์ชีวิตของเราต่อไป


(ต้นฉบับ จดหมายเหตุ เพลินใจ ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๑ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖)

หมายเลขบันทึก: 606358เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2016 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2016 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นรากฐานความคิดและแก่นกลางของโรงเรียนเพลินพัฒนาเลยนะคะ ชื่นชมค่ะ

มีคุณค่าอย่างยิ่งค่ะ ทั้งเนื้อหาและลายมือที่แสดงถึงความมั่นคงทางอารมณ์อย่างยิ่ง ครูใหม่ได้วางรากฐานของสิ่งดีๆเพื่อจรรโลงโลกจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท