KM โรงเรียนเพลินพัฒนา (๒)



ตอนที่ ๑

บันทึกเรื่องเดียวกันของครูใหม่ ,

ท่านที่อ่านเรื่องนี้อย่างจริงจัง โปรดอ่านบริบทของการประชุม จากบันทึกของครูใหม่ก่อน จะเข้าใจสาระในบันทึกของผมได้ชัดเจนขึ้น

ผมขอย้ำอีกที ว่าทักษะที่น่าทึ่งของครูใหม่คือการตั้งคำถาม ที่ทั้งชวนคิดและชวนทำไปพร้อมๆ กัน โดยที่ครูไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือจูงใจ ครูจึงเป็นเจ้าของกิจกรรมที่คิดขึ้นและเมื่อครูนำเทคนิคเดียวกันไปใช้ กับศิษย์ นักเรียนก็จะเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน

ต่อไปนี้เป็น critical reflection จากการไปร่วม “งานชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ ของโรงเรียนเพลินพัฒนาในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ต่อจากตอนที่แล้ว

รายการ "ครูอัมเปิดชั้นเรียนหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา" เป็นรายการ "live show" ว่าบรรยากาศชั้นเรียนแบบ active learning หรือที่ทางโรงเรียนเพลินพัฒนาเรียกว่าเป็น open approach ที่ดีเป็นอย่างไร เป็นชั้นเรียนทดลอง/สาธิตแบบครูจริงนักเรียนจริง ในห้องเรียนวิชาวิทยาศาตร์ ของเด็กชั้น ป. ๔ นักเรียนเป็นเด็กที่เพิ่งเรียนจบ ป. ๓ มาหมาดๆ เป็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นทั้งผู้แสดง (ครูอัมและศิษย์) และผู้ชม

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดคือสภาพที่นักเรียนอายุ ๙ ขวบ สามารถมีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมการเรียน ๙๐ นาทีต่อเนื่องได้ สะท้อนว่ารูปแบบการเรียนรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาจัด ได้ช่วยเอื้อต่อพัฒนาการของเด็ก อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Executive Function และการพัฒนาสมองครบทุกส่วน เดาว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียนนำเด็กมาเรียนที่โรงเรียนนี้ (ทั้งๆ ที่ค่าเล่าเรียนสูง) ก็เพราะหวังผลตามที่ผมสังเกตเห็น

ทางโรงเรียนได้บันทึกเทปวีดิทัศน์เหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ ผมจึงเสนอว่า ทางโรงเรียนเพลินพัฒนาควรชวน ครูวิทยาศาสตร์ และครูที่สนใจ หาเวลาว่างมาดูเทปวิดีทัศน์ร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ลงรายละเอียด ใช้ critical reflection เป็นเครื่องมือเรียนรู้จากการจัดชั้นเรียนหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยาของครูอัม

ขอย้ำว่า AAR หรือ Critical Reflection นี้ต้องลงรายละเอียดมาก ทั้งการตรวจสอบ Learning Objectives เทียบกับผลการประเมินแบบ Embedded Formative Assessment และการให้ Constructive Feedback ในชั้นเรียนของครูอัม รวมทั้งร่วมกันสังเกต Learning Outcome ในลักษณะ Summative Evaluation แล้ว นำมาร่วมกันออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ในวิชานี้ และวิชาใกล้เคียง ในเทอมต่อไป

ผมขอให้ความเห็นว่า การจัดการเรียนแบบนี้ จะให้ผลดีต่อการเรียนรู้ไม่เฉพาะด้านเรียนรู้วิชาเท่านั้น แต่จะบ่มเพาะทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อีกหลายด้าน ที่ครูจะต้องออกแบบวิธีตั้งคำถาม และปฏิสัมพันธ์ ระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดครูต้องคิดออกแบบวิธี สร้างบรรยากาศอิสระในชั้นเรียน ซึ่งตามข้อสังเกตของผม ดูจะเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนเพลินพัฒนา

ผมเข้าใจว่า ครูอัมและเพื่อนครู จะได้ชวนนักเรียนที่มาเข้าชั้นเรียนสาธิตในวันนั้น ทำ AAR สภาพชั้นเรียนในวันนั้นด้วย เพื่อเป็นข้อเรียนรู้วิธีเรียนของนักเรียน และข้อเรียนรู้วิธีสอนของครู

ผมมีความเห็นว่า วิธีสอนของครูอัม ไม่ทดแทนการเรียนแบบโครงงาน (PBL – Project-Based Learning) ที่ทีมนักเรียนต้องคิดโจทย์เอง และต้องทำโครงงานในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ๑ - ๒ เดือน หรือ ๑ ปี ซึ่งจะให้โอกาสนักเรียน ได้ฝึกทักษะอีกหลายด้าน และที่สำคัญที่สุด เป็นสภาพการเรียนรู้ที่ใกล้ความเป็นจริง (authentic) ยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น โรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม น่าจะพิจารณาใช้ flipped classroomเพื่อให้เวลาที่ ครูกับศิษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน ให้มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของศิษย์ยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่า วิธีการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม ได้สร้าง Growth Mindset แก่ศิษย์ จึงอยากให้คณะครูและ “คุณอำนวย” ทั้งสอง (ครูปาดและครูใหม่) คิดวิธีวัด Growth Mindset และวัดว่า เมื่อนักเรียนโตขึ้นแต่ละปี Growth Mindset หนักแน่นขึ้นหรือจางลง เพื่อจะได้ร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หาวิธีพัฒนา mindset นี้ขึ้นในตัวเด็ก อันจะมีคุณค่าไปตลอดชีวิต

หากวัด Growth Mindset ของครูได้ด้วย จะยิ่งดี กิจกรรมเหล่านี้ ทำเป็นงานวิจัยได้ทั้งสิ้น

ในช่วงบ่าย ผมเข้าห้องย่อย นำเสนอการ “ถอดบทเรียนการพัฒนาสื่อการสอน” ของครูในกลุ่ม หน่วยวิชาประยุกต์ และวิชาจินตทัศน์ ช่วงชั้นที่ ๒ คือประถมปลาย ที่ครูเสนอวงจรการพัฒนาสื่อ ที่พอเห็นจาก PowerPoint บนจอ ผมก็บอกตัวเองว่า นี่คือ “วงจรการเรียนรู้” ของครู ที่ร่วมกระบวนการ ระหว่างนั่งฟัง ผมนึกในใจว่า นอกจากพัฒนาสื่อ ครูควรทำอีก ๒ อย่าง (๑) กลับทางห้องเรียน และ (๒) นำนักเรียนออกไปเรียนรู้จากชีวิตจริง ซึ่งในตอนพักของช่วงบ่าย ผมไปชมแฟ้มเอกสารที่ตั้งแสดง ไปพบรูปนักเรียนกำลังสัมภาษณ์แม่ค้าในเรือ จึงเอามาให้ดู ซึ่งแสดงว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาส่งเสริม ให้นักเรียนออกไปเรียนโดยเก็บข้อมูลจากชีวิตจริงของผู้คนอยู่แล้ว

เรียนจากการสังเกต เก็บข้อมูล เอามาหาความหมาย เป็นกระบวนการเรียนจากความรู้มือหนึ่ง คือ ที่ได้จากการสังเกตเก็บข้อมูลของตนเอง เอามาไตร่ตรองสะท้อนคิดหาความหมาย หรือสร้างเป็นความรู้ขึ้นในตน ซึ่งตรงกับนิทรรศการของ ครูกรรณิการ์ ทองสุข ครูสอนวิชามานุษกับโลก ป. ๒ หัวข้อ “การเรียนรู้เกิดจากการ สัมผัสและ ลงมือทำ” ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ (ลิ้งค์ไปยังไฟล์กรรณิการ์) การฝึกให้นักเรียนเรียนรู้แบบนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้หลายชั้น หลายมิติ ซึ่งมิติที่สำคัญที่สุดคือ ฝึกทักษะการเรียนรู้ (learning skills) ที่ถูกต้องต่อ ยุคสมัยศตวรรษที่ ๒๑

เพื่อให้ครูเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น ผมขอเสนอให้ครูบันทึก “ปิ๊งแว้บ” ของตนที่เกิดในห้องเรียนจากการสังเกตพฤติกรรมเด็ก นำมา ลปรร. กันในกระบวนการ Lesson Study (หรือ PLC – Professional Learning Community) ข้อมูลนี้ น่าจะทำเป็นข้อมูลดิบที่แม่นยำน่าเชื่อถือ สำหรับนำมาใช้ใน R2R ที่เสนอในตอนที่แล้ว

ผมเชื่อว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ในเรื่องทักษะในชั้นเรียนของครู หากครูมีท่าทีหรือความเชื่อเช่นนี้ ทุกขั้นตอนการทำงานของครู ก็จะเป็นการเรียนรู้ทั้งสิ้น หากตั้งคำถามของการเรียนรู้ให้ชัดเจน ก็จะได้โจทย์วิจัย งานสอนนักเรียน ก็จะกลายเป็น R2R ผลของ R2R ก็นำมาใช้พัฒนกิจกรรมในชั้นเรียนให้มีคุณภาพและ ประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นวงจรไม่รู้จบ

ผลลัพธ์สุดท้าย (ที่วงการศึกษาไทยไม่เอาใจใส่) คือครูมีชีวิตที่เรียนรู้ต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีวิต วิชาเรียนรู้ และวิชาพัฒนาจิต ชีวิตที่อยู่กับการเรียนรู้ทั้งของศิษย์และของตนเองเป็นชีวิตอันประเสริฐ การดำเนินชีวิตแบบนี้ ไม่ยาก เพราะมีเพื่อนร่วมทาง ทั้งในโรงเรียนเพลินพัฒนา และนอกโรงเรียนเพลินพัฒนา รวมทั้งมี “คุณอำนวย” ที่เยี่ยมยุทธ ทั้งสองท่านเป็นพี่เลี้ยง

ผมขอขอบคุณครูใหม่ ที่ชวนไปร่วมงานต่อเนื่องเสมอมา ทำให้ผมได้เรียนรู้ และฝันต่อ แถมครูใหม่ยังรับคำท้าในบันทึกที่แล้วอีกด้วย ทำให้มีความหวังว่า การพัฒนาการศึกษาไทย ให้เดินตรงทาง เป็นไปได้



ครูใหม่ที่หน้าอาคารจัดกิจกรรม


บรรยากาศนิทรรศการ


ครูญากับศิษย์ ป. ๓๓ ลองขยายตัวหนังสืออ่านดู


นักเรียนไปเก็บข้อมูล เพื่อเรียนรู้จากชีวิตจริงของผู้คน


บรรยากาศในห้องประชุมช่วงสัมภาษณ์ครูใหม่


ครูอัมแสดงชั้นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สาธิต

นักเรียนกำลังทดลองและเขียนรายงาน


วงจรการพัฒนาสื่อ


วิจารณ์ พานิช

๒๕ เม.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 606262เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2016 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2017 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนื้อหาหลายส่วนใช้ภาษาอังกฤษมากไปถ้าใช้ภาษาไทยบ้างอาจจะใช้ประโยชน์ต่อครูมากมากกว่านี้นะค่

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณาให้กำลังใจ และ "ชี้แนะ" พวกเราชาวเพลินพัฒนาให้เดินตรงไปในทิศทางที่ก่อเกิดประโยชน์แก่เยาวชนและสังคมไทยมาโดยตลอดค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท