“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ : ออกแบบกระบวนการ


วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของพวกเราชาวเพลินพัฒนา เพราะวันนี้นอกจากจะเป็นวันที่คุณครูในช่วงชั้น ๑ – ๒ และคุณครูในส่วนงานวิชาการทุกคน พร้อมใจกันจัดงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ แล้ว โอกาสนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ “๑๒ ปีของความพยายาม สร้างชุมชนเรียนรู้” และ “๑๐ ปีของการบุกเบิกงานจัดการความรู้” อีกด้วย

เพื่อให้งานครั้งนี้มีความพิเศษสมกับที่เป็นโอกาสสำคัญ ดิฉันจึงได้ชวนให้คุณครูนุช– ชัญญานุช คมกฤช และส่วนงานมาตรฐานการศึกษาและการเทียบโอน ประสานไปยังช่วงชั้นให้คุณครูทุกคนได้มีส่วนร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นว่าอยากให้งาน KM ครั้งนี้มีอะไรบ้าง มีอะไรที่คุณครูยังอยากรู้อยากเรียนเพิ่มเติม และมีขั้นตอนใดในการทำ Lesson Study ที่ยังไม่กระจ่าง ฯลฯ เมื่อได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาแล้วส่วนงานมาตรฐานได้ทำการประมวลข้อมูลแล้วส่งมาให้ดิฉันนำไปใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบกระบวนการ

ประเด็นที่คุณครูมีความสนใจใคร่รู้ที่ดิฉันประมวลออกมาได้ก็คือ

  • การสร้างแผนการเรียนรู้ของหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ที่มีขั้นตอนการเรียนรู้แบบ Open Approach ครบทุกขั้นตอน และจบได้ภายในระยะเวลา ๒ คาบเรียน (๙๐ นาที)
  • การเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ
  • การทำโครงงานที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้
  • การสร้างสื่อการเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนเข้าถึง Concept สำคัญของการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อได้เห็นประเด็นเหล่านี้ครบถ้วนแล้วดิฉันก็อดอมยิ้มไม่ได้ เพราะคำถามและความสนใจเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มครูของเพลินพัฒนาส่วนประถม เป็นคนที่มีคุณภาพที่เกาะติดอยู่กับงานการจัดกระบวนการเรียนรู้ และมีการเรียนรู้ที่เกิดจากการเติบโตไปกับงานจริงๆ

ข้อคิดเห็นเหล่านี้ช่วยให้ดิฉันสามารถคัดสรร Best Practice ที่จะช่วยตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มครูได้ดีมาก เมื่อดิฉันนำยกร่างกำหนดการไปเสนอคณะทำงาน กำหนดการจัดงานก็ค่อยๆ ขยายจากงานที่ใช้ระยะเวลาหนึ่งวัน เป็นหนึ่งวันครึ่ง เพราะมีการเพิ่มช่วงเวลาให้คุณครูได้มีเวลามาอ่านนิทรรศการเรื่องเล่าล่วงหน้าก่อนวันงานครึ่งวัน ซึ่งการเพิ่มเวลาการอ่านเรื่องเล่านี้เป็นประเด็นที่ได้จากการ AAR การจัดงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๘ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่มีครูจำนวนหนึ่งสะท้อนว่าอยากมีเวลาได้อ่านเรื่องเล่าของเพื่อนครูมากขึ้นอีก

นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ขอให้ส่วนงานมาตรฐานการศึกษาและการเทียบโอน เพิ่มช่วงของการนำเสนอข้อสังเกตที่พบจากการประมวลค่าแบบทดสอบเจตคติตลอดปีการศึกษา ๒๕๕๘ ว่า มีเหตุและปัจจัยใดที่เอื้อให้หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยของช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ มีค่าความรู้สึกอยากเรียน และความรู้สึกว่าเข้าใจ สูงขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยได้มอบหมายให้คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ มาเป็นหัวหน้าคณะในการถอดบทเรียน ความสำเร็จในครั้งนี้ (ตามวิธีที่ได้ไปเรียนรู้มาจากเวที “การถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้และเสริมพลัง” ที่ทางโครงการภาคีพูนพลังครูของมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) เพื่อให้เวทีนี้เป็นเวทีที่ครูเล็กจะได้ทดลองวิชา และได้นำเสนอการถอดบทเรียนที่สะท้อนคุณค่าอันจะนำไปสู่การสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มครูอีกกว่า ๘๐ คนด้วย

กำหนดการที่สำเร็จออกมาจึงเป็นกำหนดการที่เข้มข้น และเปี่ยมล้นไปด้วยการเรียนรู้ในทุกจังหวะก้าว เริ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็น




กำหนดการ

“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙

“๑๒ ปีของความพยายามสร้างชุมชนเรียนรู้ และ ๑๐ ปีของการบุกเบิกงานจัดการความรู้”

๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙


๐๗.๓๐ - ๐๘.๐๐ น.

ลงทะเบียนหน้าห้องประชุมเพลินพัฒนา อาคารมัธยม ชมวีดิทัศน์เปลี่ยนกระบวนทัศน์พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ จุดเริ่มต้นของการจัดการความรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา


๐๘.๐๐ - ๐๙.๓๐ น.

ส่วนงานพัฒนามาตรฐานการศึกษาและเทียบโอนนำเสนอข้อสังเกตจากประมวลค่าแบบทดสอบเจตคติตลอดปีการศึกษา ๒๕๕๘ ที่เป็นเหตุให้ต้องถอดบทเรียนจาก หลักสูตรแฝงเร้น = “ครูใหม่


๐๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ น.

แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูในหัวข้อ “การพัฒนาตนเองและแผนการเรียนรู้สู่การพัฒนาครูและผู้เรียนในระบบ Lesson study”


๑๐.๓๐ - ๑๒.๓๐ น.

ครูอัมเปิดชั้นเรียนหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ที่ห้องประชุมเพลินเพลินพัฒนา

๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน


๑๓.๓๐ - ๑๔.๓๐ น. แบ่งกลุ่มเรียนรู้ตามความสนใจ

ห้องเรียนรู้ ๑ : การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ : กรณีศึกษาแผนการเรียนรู้หน่วยภูมิปัญญา ภาษาไทย ชั้น ๔

ห้องเรียนรู้ ๒ : โจทย์โครงงานที่สร้างพลังในการเรียนรู้ให้กับครูและผู้เรียน : กรณีศึกษา โครงงานต้นไม้ประหลาด ชั้น ๒ และโครงงานการจัดรายการวิทยุ ชั้น ๖

ห้องเรียนรู้ ๓ : ชุดความรู้ และสื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดสำคัญ : กรณีศึกษาชุดความรู้และ สื่อการเรียนรู้ของครูกลุ่มวิชาประยุกต์ ช่วงชั้นที่ ๒


๑๔.๓๐ – ๑๔.๔๕ น. พักรับประทานอาหารว่าง

๑๔.๔๕ - ๑๕.๑๕ น. อาจารย์วิจารณ์สะท้อนการเรียนรู้

๑๕.๑๕ - ๑๖.๐๐ น. เขียนบันทึกสะท้อนการเรียนรู้

๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. สะท้อนการเรียนรู้และร้องเพลงร่วมกัน



............................................................


หมายเลขบันทึก: 605060เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2016 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท