​“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ : ทำประสบการณ์ให้แจ้งชัดด้วยพลังของ Explicit Knowledge



เมื่อดิฉันกลับมาทบทวนประสบการณ์การทำงานเป็น “ครูของครู” ที่ได้ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับคุณครูในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยชั้นประถมในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา และไตร่ตรองประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการสะท้อนเอาไว้นี้ ก็พบว่าดิฉันทำหน้าที่นี้โดยอาศัยความรู้ฝังลึกที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งตรงกันกับบทบาทของ ผู้ชี้แนะ ที่ปรากฏอยู่ใน เอกสาร9 วิถีสร้างครูสู่ศิษย์ : เอกสารประมวลแนวคิดและแนวทางพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับคณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ที่มี อ.บังอร เสรีรัตน์ อ.ชาริณี ตรีวรัญญู และ อ.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ เป็นบรรณาธิการ ผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการนี้คือ สสค.


บทที่ ๗ ของเอกสารฉบับนี้ ว่าด้วย การชี้แนะ (Coaching) ที่ Beach and Reinhartz (2000) ได้ประมวลรูปแบบการชี้แนะว่ามีอยู่ด้วยกัน ๓ รูปแบบ ดังนี้

  • การชี้แนะแบบเพื่อนชี้แนะ (peer coaching) เป็นการชี้แนะภายในกลุ่มเพื่อนครู อาจใช้ทีมครูข้ามระดับหรือ ข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
  • การชี้แนะทางปัญญา (cognitive coaching) เป็นกระบวนการที่ไม่เน้นการตัดสินความถูกผิด แต่ใช้การประชุมวางแผน การสังเกต การสะท้อนพฤติกรรมการเรียนการสอน และยังใช้เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ การตัดสินเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน เป็นแนวทางการพัฒนาครูโดยใช้ผลสะท้อนกลับที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จากการเรียนรู้แบบชี้นำตนเอง ส่งผลให้ครูเกิดความสามารถในการตัดสินใจ ผู้ชี้แนะมีบทบาทในการเป็นสื่อกลาง เป็นผู้ฟัง ผู้ตั้งคำถาม พูดทวน เพื่อให้ครูสะท้อนคิดเกี่ยวกับการกระทำของตนเองและนำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา โดยผู้ชี้แนะจะให้ความช่วยเหลือ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอก
  • การชี้แนะสะท้อนคิด (reflective coaching) เป็นการชี้แนะที่ช่วยให้บุคคลได้สะท้อนความสามารถของตนเพื่อหาจุดที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเป็นการช่วยเหลือรายบุคคลในการนำความรู้ไปใช้ในการทำงานและพัฒนาความสามารถของตน การชี้แนะสะท้อนคิดไม่ใช่การสอนสิ่งใหม่ จุดพื้นฐานของการชี้แนะสะท้อนคิดอยู่บนพื้นฐานของความรู้หรือทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว


การชี้แนะทางปัญญาจะประสบความสำเร็จเมื่อผู้ชี้แนะมีเวลาเพียงพอให้สมาชิกในกลุ่มได้ทำงานร่วมกันด้วยบรรยากาศที่อิสระในการพิจารณาประเด็นที่ไม่คุ้นเคย และทำการสังเกตซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่บนฐานของความไว้วางใจ การชี้แนะในรูปแบบนี้จะทำให้ครูมีความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตนเอง และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน


ดูเหมือนว่ารูปแบบการชี้แนะที่ดิฉันปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาตินี้ จะมีลักษณะเป็นการผสมผสานของการชี้แนะทางปัญญา (cognitive coaching) ร่วมกับกับการชี้แนะสะท้อนคิด (reflective coaching) และวิธีการของการชี้แนะก็เป็นไปตามที่ Knight (2004) นำเสนอไว้ว่า ตัวของผู้ชี้แนะเองก็ต้องการเรียนรู้ และปรับตัวในการมีส่วนร่วมกับครู โดยใช้วิธีการหลัก คือ

  • การสร้างทางเลือก (choice) วิธีนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกับครู คือ การเคารพในการตัดสินใจของครู ให้ครูได้รับทางเลือกในการทำงานร่วมกับผู้ชี้แนะ และเชื่อว่าครูมีความคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองรู้ และเรื่องที่ผู้ชี้แนะต้องการ
  • การสนทนา (dialogue) ผู้ชี้แนะและครูใช้เวลาในการสนทนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาไปพร้อมกัน
  • ความรู้ในการปฏิบัติ (knowledge in action) ผู้ชี้แนะสอนการทำงานในสมมติฐานว่า การเรียนรู้จะเกิดเร็วขึ้นเมื่อเรียนจากการทำงาน ที่ผู้ชี้แนะสามารถแบ่งปันความคิดกับครูได้ทั้งในระหว่างการประชุม ในช่วงเวลาที่ว่างจากการสอน หรือจากการเป็นแบบอย่างการสอนในชั้นเรียน


ในส่วนที่ว่าด้วยการชี้แนะ Costa & Garmston (1994) นำเสนอว่าการชี้แนะสามารถเกิดขึ้นทั้งในลักษณะของการสนทนาที่ไม่เป็นทางการ ตามโอกาสและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การพูดระหว่างเดินไปด้วยกัน หรือในการประชุมที่มีการกำหนดวันเวลาล่วงหน้า


ที่สำคัญคือ ผู้ชี้แนะต้องใช้ภาษาที่มีจุดมุ่งหมายในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของบุคคลอื่น ซึ่งเครื่องมือทางภาษาต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงบรรยากาศของความไว้วางใจ การตั้งคำถามที่มีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การทำให้เห็นถึงสภาพที่พึงปรารถนา การไม่ตัดสินและต่อต้านแนวทางการแก้ปัญหาของผู้อื่น


ที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการชี้แนะที่ Costa & Garmston (1994) กล่าวว่าได้แก่ เครื่องมือทางภาษา ทั้งวัจนภาษา และอวัจนภาษา โดยปราศจากการตัดสิน ที่ประกอบไปด้วยภาษาท่าทาง พฤติกรรมการตอบสนอง เช่น การรอคอยคำตอบ ที่ทำให้ผู้รับการชี้แนะรู้สึกว่าตนมีคุณค่า และรู้สึกได้ว่าได้รับความเคารพจากผู้ชี้แนะ หรือการยอมรับที่ปราศจากการตัดสิน ซึ่งสามารถแสดงออกมาเป็นการแสดงกริยาท่าทางต่างๆ เช่น การพยักหน้า หรือการบันทึกคำพูดของผู้รับการชี้แนะในบันทึก


เครื่องมือสุดท้ายคือการตั้งคำถาม ในการชี้แนะจะใช้การตั้งคำถามเพื่อวัตถุประสงค์ในการดึงหรือปรับความคิดและแง่คิดของอีกบุคคลหนึ่ง โดยคำถามที่ใช้ในการชี้แนะมี ๓ ลักษณะ ได้แก่

  • การเชื้อเชิญ เป็นการใช้คำถามด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรเพื่อเชิญชวนให้คิด ซึ่งส่วนใหญ่คำถามนี้จะมีได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ
  • การดำเนินการเพื่อพัฒนากระบวนการความคิด คำถามลักษณะต่างๆ ใช้กระตุ้นความคิดในระดับที่หลากหลาย ซึ่งสามารถใช้เพื่อกระตุ้นความคิดในระดับที่ซับซ้อน เช่น การเปรียบเทียบ การสร้างข้อสรุป การวิเคราะห์ การจัดลำดับ การทำนาย การประเมิน การคาดการณ์ เป็นต้น
  • การถามเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอก การถามเพื่อให้ได้ข้อมูลภายนอก ได้แก่ การถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ส่วนการถามเพื่อให้ได้ข้อมูลภายใน ได้แก่ การถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจและในความรู้สึก เช่น ความพึงพอใจ ความสับสน ความสงสัย หรือความคิดต่างๆ การให้คุณค่า หรือการตัดสินใจ การถามที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาการคิด คือการถามเพื่อให้ได้ข้อมูลภายในโดยการถามเพื่อให้ได้ข้อมูลภายนอก




เมื่ออ่านเอกสารชุดนี้จบลง ดิฉันก็เห็นเส้นทางของการนำพาให้ครูน้องๆ ที่ทำหน้าที่เป็นครูแกนนำ ให้สามารถทำงานของตนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และเชื่อว่าความรู้ชุดนี้จะช่วยให้พวกเขาเกิดความเข้าใจในประสบการณ์ของตัวเองได้มากขึ้น และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น และเร็วขึ้นกว่าการเรียนรู้ผ่าน tacit Knowledge เพียงอย่างเดียว


ขอขอบคุณโครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน และ อ.ชาริณี ตรีวรัญญู กัลยาณมิตรผู้มอบเอกสารชุดนี้ให้

หมายเลขบันทึก: 606254เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2016 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2016 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท