KM โรงเรียนเพลินพัฒนา (๑)



โรงเรียนเพลินพัฒนา จัด งานชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙๑๒ ปีของความพยายามสร้างชุมชนเรียนรู้ และ ๑๐ ปีของการบุกเบิกงานจัดการความรู้”ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙

ผมได้รับเชิญไปร่วมงานด้วย และอยู่ร่วมตลอดวัน จึงตั้งใจไปสังเกต ว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้ KM อย่างไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นอย่างไร และน่าจะปรับปรุง KM ในโรงเรียนเพลินพัฒนาให้ทรงพลังยิ่งขึ้น เกิดการเรียนรู้ของครูในลักษณะที่พุ่งเป้า critical knowledge ของครูยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ ของนักเรียนดียิ่งขึ้น ได้อย่างไร

ไปพบว่า KM ที่ดำเนินต่อเนื่องมา ๑๐ ปี ก่อผลต่อครูและนักเรียนอย่างน่าประทับใจยิ่ง ดังกรณีผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตาม บันทึกนี้ ซึ่งสะท้อนความเป็น “องค์กรเรียนรู้” หรือ “โรงเรียนเรียนรู้” หรือ “ชุมชนเรียนรู้” ของโรงเรียนเพลินพัฒนาส่วนประถม

ผมสังเกตว่าบรรยากาศใน “งานชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ นี้ รู้สึกว่าครูมีความ สนุกสนานรื่นเริง กว่าปีก่อนๆ ไม่ทราบว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า ผมจึงถามครูปาดว่าอัตราลาออกของครู เป็นอย่างไรบ้าง เพราะผมทราบดีว่า ค่าตอบแทนที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาได้รับ ด้อยกว่าการเป็นครูของ กระทรวงศึกษาธิการ คำตอบคือ ครูที่อยู่มา ๔ - ๕ ปีจะไม่ลาออกเลย และครูที่เข้าใหม่ก็มีอัตราลาออกน้อยลง ผมเชื่อว่าครูที่อยู่นาน ๔ - ๕ ปี พบว่า ชีวิตการเป็นครูที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นชีวิตที่มีความหมาย ... ความหมายของการเป็นครู แต่ผมยังไม่มี โอกาสได้สัมภาษณ์ครูเหล่านั้นโดยตรง

ความหมายของการเป็นครู นอกจากอยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของศิษย์ และความตื่นเต้น สนุกสนานกับการตั้งโจทย์ ออกแบบการเรียนรู้ของศิษย์ และ "ด้นกลอนสด" (improvise) ในการจัดกระบวนการ เรียนรู้ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด แล้ว ชีวิตครูยังให้ความหมายด้านการเรียนรู้ ของตนเอง สิ่งดีๆ ที่นักเรียนได้เรียน ครูก็ได้เรียนรู้ด้วย

การเรียนรู้ของคนเรา (ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม) ไม่ได้มีเฉพาะส่วนเทคนิค หรือวิชาการเท่านั้น ส่วนที่สำคัญกว่าคือส่วนของความเป็นมนุษย์ที่จิตใจสูง มีทักษะส่วนที่เรียกว่าคุณลักษณะ/ลักษณะนิสัย/ อุปนิสัย ที่ดี เป็นทักษะ ฉันทะ และจิตใจ ที่ซับซ้อนยิ่ง ซึ่งต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็น "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning) ที่ต้องเรียนจากการปฏิบัติ ในชีวิตจริง ตามด้วยการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจัง (critical reflection) ยิ่งมีกัลยาณมิตรร่วม แลกเปลี่ยนการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิด การเรียนรู้จะยิ่งมีพลัง มีความลึกซึ้ง และเชื่อมโยงกว้างขวาง ได้โดยไม่ยาก รวมทั้งให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินจำเริญใจ และได้มิตรภาพ ไปด้วยในตัว

ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาได้รับอานิสงส์นี้โดยไม่รู้ตัว หากแลกผลประโยชน์ชิ้นนี้ กับเงินเดือนเพิ่มอีก ๕๐% ผมไม่เอา ผมคิดว่าได้เงินมากแลกกับคุณภาพชีวิตที่เลว ไม่ควรแลก

ผมคิดว่า ครูประถมที่โรงเรียนเพลินพัฒนา มีคุณภาพชีวิตดีกว่าครูของกระทรวงศึกษาธิการที่ ผลประโยชน์เชิงเงินและวัตถุสูงกว่ามากมาย แต่อยู่ในท่ามกลางสังคมด้อยคุณภาพด้านจิตใจ เพราะครู ในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คิดถึงผลประโยชน์ตัวเองรุนแรง คิดถึงอนาคตของศิษย์น้อยมาก ไม่ว่าใคร เป็นคนในอาชีพใด หากตกไปอยู่ในสังคมเห็นแก่ตัวจัด ถือว่าโชคร้าย

โรงเรียนที่ไม่ได้จัดกระบวนการให้ครูเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่สอนศิษย์ (แบบไม่สอน) ไม่ใช่โรงเรียนที่ดี ระบบพัฒนาวิทยะฐานะครู ที่ไม่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นครู เป็นระบบที่ผิด ดังที่กระทรวงศึกษาธิการ คุรุสภา และ กค.คศ. ใช้มาเป็นเวลานานกว่าสิบปี และกำลังหาทางแก้กันอยู่ในปัจจุบัน ทางแก้ในหลักการเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) หรือ Lesson Study และโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้เครื่องมือนี้

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ใช้ PLC โดยเขาไม่ได้เรียกชื่อนี้ และญี่ปุ่นใช้ Lesson Study มาเป็นเวลานานหลายสิบปี จึงทำให้คุณภาพคนของประเทศทั้งสองดีเด่นอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ คุณภาพการศึกษาไม่ใช่ดูที่คะแนนสอบนะครับ ต้องดูที่คุณภาพคน ประเทศต่างๆ จะดีเลวแค่ไหนขึ้นกับคุณภาพคน การจัดการเรียนรู้แบบของโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นวิธีการพัฒนาคุณภาพคน พัฒนาทั้งคุณภาพของนักเรียน และของครู

เนื่องจากเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงเท่ากับใช้ KM ในการพัฒนาครูนั่นเอง

ข้อค้นพบของ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกันของครู ของครูโรงเรียนเพลินพัฒนา มีความละเอียดอ่อนและประณีต อ่านรายละเอียดมากมายได้ ที่นี่

ผมฟันธงว่า KM ครูโรงเรียนเพลินพัฒนามีคุณภาพสูงขนาดนี้ เพราะมี "คุณอำนวย" ที่ดี คือ ครูปาดกับครูใหม่ ครูวิชาภาษาไทยบอกว่า ที่ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ภาษาไทยปี ๒๕๕๘ ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก็เพราะคำถาม ของครูใหม่ "คุณอำนวย" ที่ดี คือคนที่ไม่สอน แต่ชวนคิดตั้งเป้าทรงคุณค่าที่เชื่อว่าบรรลุได้ และชวนคิดหาวิธี ดำเนินการแปลกใหม่ สู่การบรรลุเป้าหมายนั้น ครูใหม่มีวิธีชวนอย่างนิ่มนวล

กำหนดการของงาน อ่านได้ที่นี่

ตอนเช้า ผมไปถึงโรงเรียนก่อน ๗.๓๐ น. มีเวลาเดินดูโปสเตอร์เล่าเรื่องราวความสำเร็จและการเรียนรู้ ของครู ก่อนเริ่มกิจกรรมของงานเวลา ๘.๐๐ น. ผมถ่ายรูปโปสเตอร์เอามาอ่านต่อที่บ้าน เพราะตาไม่ดีอ่านโดย ตรงจากโปสเตอร์ได้ไม่ชัด แต่อ่านจากจอคอมพิวเตอร์ขยายขนาดตัวหนังสือและรูปภาพได้

ผมเอารูปที่ถ่ายไว้ และเสียงที่บันทึกไว้ กลับมาทบทวน เพื่อเขียนบันทึกนี้ สำหรับเป็น AAR หรือ Critical Reflection ให้แก่คณะครูประถมของโรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อเป็นการตอบแทน หรือแสดงความขอบคุณ ที่เชิญไปร่วมงาน

ข้อแนะนำที่สำคัญที่สุด คือการยกระดับ KM / PLC / Lesson Study ไปเป็น R2R คือครูชักชวนกัน ทำงานวิจัยจากงานประจำ ซึ่งก็คือการทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ในชั้นเรียน เมื่อได้ผลงานวิจัย ก็นำไปเสนอ ในการประชุมวิชาการด้านการศึกษา ในงานประชุมวิชาการ R2R ประจำปีของประเทศไทย และนำไปตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการด้านการเรียนการสอนในประเทศ และในวารสารนานาชาติ จะช่วยให้โรงเรียนเพลินพัฒนา พัฒนาไปเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครู” อย่างที่ผมไปเห็นที่ฟินแลนด์ และเล่าไว้ ที่นี่

โรงเรียนเพลินพัฒนาจะก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง โดยสามารถหารายได้จากการจัด Workshop ฝึกทักษะสำคัญในห้องเรียนของครู ให้แก่ครูในโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งอาจจัด Workshop ให้แก่พ่อแม่ โดยที่ในการทำงานนี้ ครูของโรงเรียนที่มีความสามารถในระดับเป็นวิทยากรได้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่คงต้องตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ว่าจะคงภาระงานประจำไว้อย่างไร เพื่อไม่ให้เพื่อนครูรู้สึกว่าถูกกินแรง

จาก PLC / Lesson Study / KM สู่ R2R สู่ Training Workshop อาจใช้เวลาหลายปี และเป็นเส้นทางเดินที่ท้าทาย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมก็เชื่อว่าทีมครูปาด ครูใหม่ และคณะครูที่มีอยู่ทำได้ แต่ต้องมีการวางเป้า วางแผน วางยุทธศาสตร์ และมีการจัดการที่ดี อย่างเป็นขั้นตอน

ที่จริงเรื่องการขยับต่อไปทำ R2R นั้น ผมช่วยขยับให้นิดหนึ่งแล้ว คือได้แนะนำให้เชิญ อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ (ผู้อำนวยการกิจกรรม R2R ของศิริราช) ไปร่วมงานแบบเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ และ อ. หมออัครินทร์ติดใจ จนคราวนี้ก็ไปร่วมอีก อ. หมออัครินทร์จะช่วยแนะนำหลักการจัดการให้เกิดงานวิจัย จากงานประจำได้

หากทำได้ดังฝันที่เสนอในสองย่อหน้าข้างบน วงการศึกษาไทยจะได้ประโยชน์มาก เพราะโรงเรียน เพลินพัฒนาจะกลายเป็น active change agent ในการ transform ระบบการเรียนรู้ไทย จากรูปแบบเก่าโบราณ มาเป็นรูปแบบและเป้าหมายแห่งศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้ง น่าจะเปลี่ยน (หรือเพิ่ม) business model ของโรงเรียน เอกชน ให้ไม่เพียงมีรายได้จากการสอนนักเรียน แต่ยังมีรายได้จากการฝึกครูและผู้ปกครองนักเรียนด้วย เพราะผมเดาว่า ในปัจจุบันไปจนถึง ๑๐ ปีข้างหน้า คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของไทย จะยังไม่แข็งแรงพอ ที่จะทำหน้าที่นี้ ผมขออภัยนักการศึกษาไทยที่กล่าวเช่นนี้

ที่จริง ในเวลานี้โรงเรียนเพลินพัฒนาก็ทำหน้าที่ change agent ในการ transform ระบบการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ยังทำหน้าที่แบบ passive / conventional ผมอยากให้หาวิธีทำหน้าที่นี้แบบรุก

บันทึกจากการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ในงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ ของโรงเรียนเพลินพัฒนายังไม่จบ แต่บันทึกนี้ยาวเกินไปแล้ว จึงขอยกไปต่อในตอนที่ ๒


วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๙

บนเครื่องบินสายการบินฟินแอร์ จากกรุงเทพไปเฮลซิงกิ


หมายเลขบันทึก: 605272เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2016 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2017 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


หนูจะนำเรื่องที่อาจารย์ฝากไว้ในบันทึกนี้มาเป็นเป้าหมายในการ BAR งานในปีการศึกษา ๒๕๕๙ กับทีมขับเคลื่อนโรงเรียนประถม และตั้งภาพจินตนาการของอาจารย์ไว้เป็นภาพอนาคตของทีมค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท