เก็บตกวิทยากร (24) : ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ (1)


เฉพาะเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่าตอบโจทย์ระบบสุขภาพชุมชนได้หลายประเด็น อาทิ ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ชาติพันธุ์) ระบบสุขภาพชุมชนผ่านสมุนไพรทั้งจากอดีตสู่ปัจจุบัน ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดโลกร้อน ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานของงานศิลปะที่ว่าด้วยประติมากรรมนูนต่ำของชาวบ้านบนผนังอาคารดิน

วันนี้ (วันที่ 18 เมษายน 2559) ผมเดินทางไปเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ” ณ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

สารภาพตามตรง-ผมว่างเว้นเวทีการเป็นวิทยากรที่เน้นการบรรยายมานานมาก เพราะระยะหลังแทบไม่รับงานบรรยายเลยก็ว่าได้ ส่วนใหญ่จะเน้นการจัดกระบวนการการเรียนรู้และการถอดบทเรียนเสียมากกว่า –

การงานครั้งนี้ จึงมีสถานะของการ “เคาะสนิม” ความเป็น “วิทยากร” ในตัวเองไปพรางๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของการไม่ได้ถกคิดร่วมกันอย่างจริงจังมากนัก ทำให้ผมพะว้าพะวงกับโจทย์ที่ได้มาพอสมควร


แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมได้ตัดสินใจที่จะบรรยายในแบบฉบับของผม โดยปรับแต่งประเด็นจากเดิมมาสู่ประเด็นใหม่ในทำนอง “การจัดการเรียนรู้ระหว่างนักศึกษากับชุมชน” ซึ่งซ่อนประเด็นที่ว่าด้วย “ศิลปะ+วัฒนธรรมไทย+ภูมิปัญญาท้องถิ่น+การสร้างเสริม+สุขภาพชุมชน” ไว้ก่อน

แน่นอนครับ การตัดสินใจซ่อนประเด็นหลักไว้เช่นนั้น ไม่ใช่การจงใจละเลยที่จะบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น ทว่าเจตนาที่จะชวนให้นักศึกษาพยาบาล หรือกระทั่งอาจารย์ได้ “ถอดรหัส” หรือ “คิดตาม” ประเด็นทั้งปวงผ่าน “สื่อ” และ “วาทกรรม” หรือ “กรณีศึกษา” ที่ผมจะกล่าวถึงเป็นระยะๆ




เปิดเวทีแบบง่ายๆ : เขียนและวาดภาพชุมชนตนเอง


เวทีครั้งนี้ แทนที่ผมจะแนะนำตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน มีผลงานอะไร มีรางวัลใดติดไม้ติดอะไรบ้าง หรือกระทั่งมีอะไรที่ยึดโยงมาสู่การเป็นวิทยากรในวันนี้ได้บ้าง

ตรงกันข้าม- ผมเลือกที่จะบอกเล่าผลของการวิจัยที่ผมศึกษาค้นคว้ามาด้วยตนเองในประเด็น “กิจกรรมการเรียนรู้ของนิสิตกับชุมชน” หรือ “กิจกรรมนอกหลักสูตรการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน”

เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ผมศึกษาวิจัยนั้น ล้วนสัมพันธ์กับประเด็นที่นักศึกษาพยาบาลกำลังจะออกสู่การเรียนรู้ชุมชนในแบบของค่ายบริการสังคม –กิจกรรมในรายวิชา-การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือเกี่ยวโยงกับที่ผมกำลังจะบรรยาย นั่นเอง

ผมเปิดเวทีด้วยการเล่าเช่นนั้นจริงๆ ใช้เวลาร่วม 10 นาทีเลยทีเดียว จากนั้นจึงชวนให้นักศึกษาและอาจารย์ได้ “วาดภาพ” หรือ “เขียนเรื่องราวสั้นๆ” โดยมีประเด็นให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 2 ประเด็น กล่าวคือ

  • สถานที่สำคัญๆ ในชุมชน/หมู่บ้านของตนเองที่อยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก
  • กิจกรรมสร้างสรรค์ที่อยากจัดขึ้นในสถาบันการศึกษาของตนเอง




ผมกำหนดเวลาโดยสังเขปประมาณ 5 นาที ครั้งนี้-ไม่มีดนตรีเปิดคลอเพื่อสร้างบรรยายกาศใดๆ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตั้งหน้าตั้งตาทำงานตามโจทย์ที่ให้ไป จนบรรยากาศภายในห้องดูเงียบสงบจนเกินเหตุ ผมจึงขยับเข้าหยิกหยอกพอเป็นพิธี เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองร่วมเป็นระยะๆ –

ครั้นประเมินสถานการณ์ว่าส่วนใหญ่วาดและเขียนเรื่องราวเสร็จสิ้นแล้ว ผมจึงถือโอกาสสำรวจง่ายๆ ผ่านการหใ้ยกมือเพื่อให้รู้ว่าส่วนใหญ่วาดภาพ หรือการเขียนเรื่องราวกันแน่ ซึ่งพบว่าเกินกึ่งหนึ่งล้วนใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแทบทั้งสิ้น

ถัดมา ผมจึงเชื้อเชิญให้นักศึกษา หรือกระทั่งอาจารย์ได้บอกเล่าเรื่องราวให้ทุกคนได้ร่วมรับรู้ ผมไม่ได้เจาะจงชี้เป้าไปที่ใครเป็นพิเศษ หากแต่กระตุ้นกระตุกให้แต่ละคน “เกิดความกล้า” ที่จะ “สื่อสาร-แบ่งปัน” เรื่องราวของตนเองให้ผู้อื่นได้ร่วมรับรู้

ผลสรุปคือมีหนึ่งท่านที่ออกมาสื่อสารเรื่องราวที่ว่านั้นผ่าน “ภาพวาด” –

ภาพที่นักศึกษาวาดออกมานั้น เป็นภาพที่เกี่ยวกับ “ป่า” ในหมู่บ้าน และเป็น “ผืนป่า” อันเป็น “มรดกในครัวเรือน” ของตนเอง ซึ่งมีแมกไม้หลากพืชพันธุ์ ทั้งไม้พื้นบ้าน ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก เห็ด ข่าป่า สมุนไพร ฯลฯ ตลอดจนการบอกเล่าที่สื่อให้เห็นถึงมิติความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตัวเองกับเพื่อนบ้านด้วยการให้เพื่อนบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากผืนป่าเล็กๆ ของตนเอง

โดยส่วนตัวผมว่าตรงนี้แหละคือความง่ายงามที่สะท้อนให้เห็นระบบและกลไกลเชิงวัฒนธรรมของระบบสุขภาพชุมชนที่ร้อยรัดระหว่าง “คนกับป่า” หรือกระทั่ง “คนกับคน” ทะลุถึงโจทย์อันเป็นประเด็นหลักที่ว่าด้วย “ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ” อย่างไม่ต้องสงสัย (เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดแห่งเวลาที่ต้องบรรยาย ผมจึงไม่หยั่งรากลงลึก ได้แต่ตั้งประเด็นให้คิดตาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง)




เช่นเดียวกับอีกภาพเป็นภาพที่ว่าด้วย “กิจกรรมที่อยากจะจัดทำขึ้นในสถาบันการศึกษา” ของตนเอง นั่นก็คือ “สวนหย่อม” ซึ่งนักศึกษาอธิบายง่ายๆ สั้นๆ ว่า ต้องการให้สถานศึกษามีความร่มรื่น สวยงาม และเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต

กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมไม่ได้สรุปประเด็นอะไรให้ลึกซึ้ง เพราะคำนึงว่าเป็นการเปิดเวทีง่ายๆ และเน้นการชักชวนให้แต่ละคนได้ “สำรวจต้นทุน” ของตนเองเสียมากกว่า เป็นการสำรวจด้วยตนเองและให้ค้นหาคำตอบด้วยตนเองเป็นที่ตั้ง รวมถึงการชวนให้เพื่อนๆ ได้ช่วยกันสรุปว่าสิ่งที่เพื่อนได้นำเสนอนั้น มีประเด็นอะไรบ้าง และเกี่ยวโยงกับ “วิชาชีพ” ตนเองอย่างไร

ถึงกระนั้นผมก็ไม่ลืมที่จะหักมุมในแบบสไตล์ของผม กล่าวคือ ผมบอกบบกำปั้นทุบดินว่า ทั้งการเขียนและการวาดภาพ ล้วนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ชุมชน อีกทั้งเรื่องราวที่ปรากฏนั้น เสมมือนการฝึกให้เราได้มอง หรือวิเคราะห์ “โครงสร้างชุมชน” หรือ “ต้นทุนชุมชน” หรือ “บริบทชุมชน” ไปในตัว เฉกเช่นกับกิจกรรมที่อยากจัดขึ้นนั้น ผมก็สื่อสารง่ายๆ ว่านั่นคือหลักคิดของ “การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม” หรือ “การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” เพื่อก่อให้เกิด “ปัญญาปฏิบัติ”

และทั้งปวงนั้น ผมก็ยังไม่ได้ผูกโยงกลับมายังประเด็นหลักว่า เรื่องราวในภาพนั้นมีอะไรบ้างที่สะท้อนถึงมิติ “ศิลปะ-วัฒนธรรมไทย-ภูมิปัญญาท้องถิ่น-สุขภาพ”

ซึ่งจริงๆ มีหลายสิ่งอย่างเลยทีเดียวที่ยึดโยงกันอยู่ แต่ผมก็เก็บงำไว้ เพื่อนำเข้าสู่การบรรยายกึ่งกระบวนการในวาระถัดไป




เรียนรู้ผ่านสื่อ : คราม’ทรงจำอันแสนสุข

ถัดจากนั้นผมตัดสินใจแบบด่วนดิบเป็นการภายใน แทนที่จะนำเข้าสู่การบรรยายภาคทฤษฎี ผมก็พลิกแผนปฏิบัติการอย่างเงียบๆ ด้วยการนำวีดีทัศน์เรื่อง “คราม’ทรงจำ” มาให้นักศึกษาและอาจารย์ได้ร่วมเรียนรู้ เพราะสื่อชุดนี้คือผลพวงของการบริการวิชาการแก่สังคมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในชื่อ “โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์นวัตกรรมไหม

ผมเจตนาหยิบสื่อชุดนี้มาเพราะมีมิติทาง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” และ “ระบบสุขภาพชุมชน” อย่างเด่นชัด แถมยังเชื่อมโยงให้เห็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” ที่สื่อให้เห็นว่ามีการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยกับชุมชนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสนิทแน่น ทั้งอาจารย์ผู้สอน –นิสิต-ชาวบ้าน ต่างเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ทั้งในมิติของมหาวิทยาลัยและชุมชน




กรณีดังกล่าวนี้ผมชวนให้นักศึกษาสะท้อนการเรียนรู้ผ่านสื่อเรื่องนี้ โดยเริ่มจากการมองใน “มุมวิชาชีพ” ตนเอง หรือ “ใช้แว่นทางวิชาชีพ” ส่องเข้าไปในสื่อที่ว่านั้น

ว่าไปแล้ว สื่อเรื่องนี้ชัดเจนเกี่ยวกับการเรียนรู้คู่บริการที่หยัดยืนอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน และการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ใหม่จากมหาวิทยาลัยที่นำไปสู่การถ่ายทอดให้กับชุมชน เช่น การคัดเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปลูก การดูแลต้นคราม การเก็บเกี่ยวคราม การสกัดเนื้อคราม การย้อมคราม ฯลฯ

ทั้งนี้ถึงแม้สื่อเรื่องนี้จะยังไม่ถึงขั้นของการพูดถึงว่าเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเช่นใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมดังกล่าวชี้ให้เห็นคุณค่าทางสังคมอันทรงพลัง เพราะนี่คือกิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนหันกลับมา “รวมกลุ่ม” ทำงานและถักทอสู่การสร้าง “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” (OTOP) ได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้ “ครามเป็นต้นทุน” ของการสร้างระบบ “สุขภาพชุมชน” อย่างเป็นปึกแผ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ชุมชนได้ห่างหายไปจากการผลิตครามร่วมๆ 50 ปี หรือกึ่งศตวรรษเลยที่เดียว -

และที่แน่ๆ นักศึกษายังมองตรงกันว่า สื่อดังกล่าวสะท้อนสถานะของครามในอีกมิติว่า... แท้จริงแล้ว “คราม คือ ยา” ซึ่งชาวบ้านเองก็ยืนยันตรงกันว่า “คราม คือ ยา” จริงๆ ....




จาก “คราม” สู่ “บ้านดิน” : ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

จากเรื่องของ “คราม” ของบ้านหนองบัวน้อย (อ.นาดูน จ.มหาสารคาม) ก็วนกลับมาสู่บ้านท่าขอนยาง (อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยได้ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนผ่านการสร้าง “บ้านดิน” (อาคารดินอบสมุนไพร) ไว้ที่นั่น

ผมสื่อสารให้นักศึกษาและอาจารย์ฯ ได้เข้าใจตรงกันว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ไม่ได้มีวิชาเรียนที่ว่าด้วยการสร้างบ้านดินโดยตรง หากแต่มีวิชาที่ว่าด้วยพลังงาน หรือกระทั่งวิชาที่ว่าด้วยโครงสร้างของอาคาร ซึ่งนั่นคือ “ต้นทุน” อันเป็น “ศักยภาพ” ของมหาวิทยาลัยฯ ที่จะนำไปพัฒนาชุมชนบนฐานคิดของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม หรือบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน



สื่ออันเป็นคลิปความยาวไม่ถึง 10 นาที ชี้ให้เห็นกระบวนการบูรณาการภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสู่การรับใช้สังคม (การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม) ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการสร้างระบบสุขภาพชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการที่ชุมชนได้จารึกภาพตำนานจระเข้และการแต่งกายของชาติพันธุ์ตัวเอง (ชาวญ้อ : ญ้อผู้ไท) ลงในผนังอาคารดิน

นอกจากนั้นยังสื่อให้เห็นว่าอาคารดินอบสมุนไพรนั้น มิใช่เรื่องแปลกใหม่ของชุมชน เพราะเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ชุมชนเองก็เคยมีอาคารอบสมุนไพรที่ทำด้วยสังกะสีมาก่อน โดยมีกติการ่วมกันว่าหากใครจะมาอบสมุนไพรต้องจัดหาท่อนฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงเอง ส่วนสมุนไพรก็มีอยู่แล้วในวัด หรือไม่ก็สามารถจัดหามาเองด้วยก็ได้ จะได้ถูกโรคถูกขนาน

เฉพาะเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่าตอบโจทย์ระบบสุขภาพชุมชนได้หลายประเด็น อาทิ ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ชาติพันธุ์) ระบบสุขภาพชุมชนผ่านสมุนไพรทั้งจากอดีตสู่ปัจจุบัน ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดโลกร้อน ระบบสุขภาพชุมชนบนฐานของงานศิลปะที่ว่าด้วยประติมากรรมนูนต่ำของชาวบ้านบนผนังอาคารดิน ฯลฯ





เหนือสิ่งอื่นใด : (ผมกำลังบอกว่า อย่าแยกส่วนการเรียนรู้)

ไม่รู้สิครับ- เหมือนที่ออกตัวตั้งแต่ต้น ผมร้างเวทีการบรรยายไปนานมาก แถมสงกรานต์ก็ทำพิษยังฟื้นไม่เต็มที่ การบรรยายวันนี้จึงดูอืดเอื่อยอยู่มากไม่ใช่ย่อย แต่ก็ดีหน่อยที่พยายามหยิบกรณีศึกษามาสื่อสาร พร้อมๆ กับตั้งประเด็นให้ “คิดตาม” เป็นจังหวะๆ

รวมถึงการเจตนาที่จะ "ไม่บรรยาย" โดยใช้ประเด็นหลักเป็นตัวตั้ง เพื่ออธิบายว่า ศิลปวัฒนธรรมไทย คืออะไร ภูมิปัญญาท้องถิ่น คืออะไร และการสร้างเสริมสุขภาพคืออะไร -

  • ตรงกันข้ามกลับสร้างความท้าทายแก่นักศึกษาและอาจารย์ให้ถอดรหัสจากสื่อและเรื่องราวที่ผมนำมาสื่อสารเป็นกรณีศึกษาแทน เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องไม่แยกส่วน หรือการจะเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพที่ดีก็ไม่ใช่มุ่งสำรวจแต่เฉพาะระบบสุขภาพที่มาจากวิถีวัฒนธรรมการกินการบริโภคเป็นหลัก แต่ต้องมององค์รวมของวิถีการใช้ชีวิต และมองแบบไม่แยกส่วน เพราะทุกอย่างล้วนยึดโยงเป็นหนึ่งเดียว หรือส่งผลกระทบถึงกันและกัน

เช่นเดียวกับที่ผมย้ำว่า ทุกๆ เรื่องที่ผมนำมาสื่อสารนั้น ผมให้ความสำคัญกับบริบทชุมชนมาก กล่าวคือ....

  • นักสร้างเสริมสุขภาพชุมชนต้องทำความเข้าใจบริบทชุมชนให้ได้มากที่สุดและเข้าใจให้ลึกซึ้ง อย่ามองแบบแยกส่วน หรือสุดโต่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะหากไม่เข้าใจบริบทชุมชน ย่อมไม่ต่างอะไรจากการไม่เข้าใจต้นตอปัญหา พอจะออกแบบกิจกรรมบริการสังคม เพื่อคลี่คลายปัญหา กลับกลายเป็น “เกาไม่ถูกที่คัน” เฉยเลย

ครับ-แค่นี้ก่อน แล้วค่อยเล่าต่อในวาระถัดไป เพราะเรื่องยังอีกยาว

นี่ขนาดยังไม่เล่านะครับว่า ผมบรรยายภาคทฤษฎีในประเด็นอะไรบ้าง

ใช่ครับ-เรื่องมันยาว


....

หมายเหตุ

ภาพ : อาจารย์ศิราณี อิ่มน้ำขาว และคณาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 605104เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2016 03:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2016 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมาก ในเรื่อง การผนวกเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช่ในการสร้างเสริมสุขภาพนะคะ .... ไม่ว่าจะเป็น

- อาหาร (อ.อาหาร) การกิน ... อาหารพื้นบ้านดีดีทั้งนั้นเลยนะคะ

- ออกกำลังกาย (อ.ออกกำลังกาบ)... แบบการทำงานร่วม.. ทำงานตามวัย เหมาะสมกับวัยนะคะ

- อารมณ์ ไม่เครียด ไปวัด ทำบุญ ใสบาตร นะคะ(อ.อารมณ์)

- ตรวจสุขภาพ เมื่ออายุ เริ่มที่ 35 ปี..ไม่มีโรค (ลดโรค)

- การงดดื่มสุรา ยาดอง ของมึนเมานะคะ (อ.อโรคยา).....


มีงานวิจัยจากต่างประเทศ ที่พูดถึงมะเร็งลำใส้ ที่พบว่าเป็นกันมากขึ้น ... เนื่องจากทานอาหารสำเร็จรูปมากเกินไปนะคะ เช่น ใส้กรอก, แยม ... พวกขาดการทานอาหาร สดๆ .. ไม่เหมือนบ้านเรานะคะ .. เช่น บ้านเราทำกับข้าวก็เป็นของสด มาปรุงอาหาร เช่น แกงป่าไก่ มีไก่สด มีผักสด มะเขือสด พริกแกงสดนะคะ ... ตามด้วยผลไม้สด ในท้องถิ่นที่มีตามฤดูกาล เช่นมะละกอ มะม่วง ฝรั่ง นะคะ 555 คุยมากไม่แล้วนะคะ


ขอบคุณ ท่านอจ.ค่ะ

เป็นกระบวนการที่ครบมากเลยครับ

ยังจำเรื่องครามได้เป็นตัวอย่างให้นักศึกษาลงชุมชน

ได้เรียนรู้เป็นอย่างดี

ขอบคุณมากๆครับ

ขอบพระคุณ พี่ Dr. Ple มากๆ เลยนะครับ

เพราะได้ช่วย เฉลย หรือขยายความเกี่ยวกับ ระบบสุขภาพจากสื่อที่ผมนำเสนอ หรือกระทั่งถอดรหัสประเด็นการบรรยายของผม ซึ่งเบื้องต้นในเวทีวันที่ 30 เมษายน 2559 ผมจะเปลี่ยนสื่อประกอบการบรรยายใหม่ และจะเจาะประเด็นคล้ายๆ ที่พี่ฯ ได้สะท้อนนี่เลยครับ

รวมถึงการหยิบประเด็นกิจกรรมทางสังคมในชุมชนเข้ามาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้นักศึกษาพยาบาลลงอวิเคราะห์ว่า กิจกรรมทงสังคมที่ว่านั้น สะท้อนความเป็นระบบสุขภาพอย่างไร บ้าง

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ดร. ขจิต ฝอยทอง

เรื่องของคราม ผมว่าลงตัวมาก ระหว่างภูมิปัญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีประเด็นว่าด้วยระบบสุขภาพชุมชนให้แลกเปลี่ยนอย่างแจ่มชัดมากๆ ทั้งป่าชุมชน หยูกยาสมุนไพร น้ำและดิน พลังงานความร้อนผ่านเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ

ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท