เมื่อทีมกระบวนกร "เอาใจ" ไปช่วยงานวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" (คณะวิทยาการสารสนเทศ)


ผมเพียรพยายามกระตุ้นให้ “ทีม” มีความกล้าคิด กล้าทำ และกล้าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมไม่ได้มีน้ำเสียงใดที่บ่งบอกให้ทำงานในแบบ “ศิลปินเดี่ยว” เลยสักนิด ทว่าแฝงนัยสำคัญของการเป็น “ทีม” ภายใต้วาทกรรมที่ผมเขียนเมื่อหลายปีก่อน คือ ศรัทธาต่อตนเอง (Self-esteem) เชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง (Trust-for others)





บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม ต้อง “ขอใจ” น้องๆ ใน “ทีมกระบวนกร” วิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำไปช่วยเป็นกระบวนกรจัดการเรียนรู้ในวิชา “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ของคณะวิทยาการสารสนเทศระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2559

ครับ-บอกไม่ถูก

บอกไม่ถูก แต่รู้แก่ใจดีว่า... มันคืออะไร ทำไมต้องไปช่วย ทำไมต้องไปทำ ทำไม และทำไม
คนที่ไม่ได้ใช้ “ใจนำพา (ศรัทธานำทาง)” ย่อมไม่รู้ซึ้งหรอกว่า “อะไร ยังไง เพราะอะไร”





ออกแบบร่วม : หนุนวิชาการ สร้างความมั่นใจให้ทีม

ก่อนการเดินทางไปจัดกระบวนการในวันแรก (วันที่ 13 มกราคม 2559) ผมหารือ/โสเหล่กับน้องๆ ทีมงาน 4 คนที่ห้องทำงานที่ผมสิงสถิต

เราประเมินสถานการณ์ภาพรวมร่วมกัน ทั้งสถานที่ บรรยากาศ จำนวนคน และการเจาะลึกลงไปยัง “กระบวนการ” หรือ “กิจกรรม” ที่จะใช้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้แก่นิสิต ทั้งในมิติการสร้างแรงจูงใจ
การสะกิดมุมคิดเรื่องเทคนิค ความรู้ ทัศนคติของผู้เรียน และการเชื้อเชิญให้ทีมงานแต่ละคนถามใจตัวเองว่า “ตัวเอง เหมาะที่จะรับหน้าเสื่ออะไร”

ทีมงานยังคงหมายใจจะใช้กระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ไปขยายผลที่นั่น





จะว่าไปแล้ว ผมว่าก็ดีนะ เพราะอย่างน้อยก็จะได้ “ลับคม” กระบวนการนี้กับนิสิตใหม่ ซึ่งไม่ใช่นิสิตชั้นปีที่ 2 หรืออื่นๆ

ครั้งนี้ ผมให้เขาเลือกเองทั้งหมดว่าจะใช้กิจกรรมอะไร ใช้สื่ออะไร –

ผมทำหน้าที่เชื่อมร้อยกระบวนการทางความคิดและภาคีภายในทีมเป็นหลัก และชัดเจนว่าผมจะถอยห่างออกมาสังเกตการณ์ และจะไม่หวนกลับไป “ถือไมค์ให้ไฟส่องหน้า” อีกแล้ว มันได้เวลาที่น้องๆ จะต้องลุกมาเป็น “พระเอกนางเอก” อย่างแท้จริง มิใช่จ่อมจมอยู่กับ “ความเป็นผม” หรือ “อะไรๆ ก็ผม” (คิดอะไรไม่ออกก็บอกผม) จนคนนอกที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้พิพากษาว่าเอาเองว่า “ผมเผด็จการณ์ ครอบงำทีมงาน”



ถึงกระนั้นก็เถอะ ผมก็ชวนให้พวกเขา “ชำระ” กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ” อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องเกรงใจผมให้มากความ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าน้องๆ ยังไม่ตกผลึกเกี่ยวกับ “นัยสำคัญของกิจกรรม” เท่าที่ควรว่า โดยเนื้อแท้นั้นมันยึดโยงถึงแนวคิดและทฤษฎีอะไรบ้าง หรือพูดแบบสไตล์ผมก็คือ “มีความหมายใดในกิจกรรม” นั่นเอง –

ที่สุดแล้ว ผมจึงตัดสินใจ “สรุปประเด็น-ขมวดแนวคิด” ให้น้องๆ ทุกคนได้ฟังร่วมกันว่า กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอนั้นมีความหมายใดต่อมิติของการสร้างการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการยกตัวอย่างให้ทีมได้รับรู้ร่วมกันว่ากระบวนการนี้ทะลุถึงการเรียน การใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างไร

ไม่เท่านั้น ยังเสนอแนะให้นำตัวอย่างคลิปวีดีทัศน์จากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนไปใช้ประกอบเป็นสื่อการเรียนรู้แก่นิสิต เพื่อผูกโยงให้รับรู้ล่วงหน้า เสมือนการเตรียมความพร้อมเรื่องแนวคิดเรื่องวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนช่วยทางคณะไปในตัว -




แน่นอนครับ คลิปที่ผมแนะนำไปนั้น ผมถือวิสาสะสรุปและแนะนำให้ทีมกระบวนกรเชื่อมเรื่องราวในคลิปกลับมายังกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธออีกครั้งด้วยเหมือนกัน เพื่อให้รู้ว่าเรื่องนั้นๆ เกี่ยวโยงกับแนวคิดในกระบวนการที่เพิ่งจับปูใส่กระด้งเพื่อเรียนรู้ร่วมกันแบบสดๆ ร้อนๆ อย่างไร

ใช่ครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเฉลยบทสรุปในทางวิชาการให้ทีมกระบวนกรได้รับรู้และทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่แอบแฝง หรือซ่อนซุกให้ค้นหา (เพราะไม่มีเวลาแล้ว) แต่ย้ำให้ทุกคนนำไปขยายผล หรือกระทั่งนำไปบูรณาการกับฐานความรู้ของตัวเองและรังสรรค์ขึ้นใหม่อย่างเป็นทีมร่วมกัน

การหนุนทีมเช่นนี้ ผมเรียกมันว่า “จัดการความรักและจัดการความรู้” หรือ “จัดการความรู้คู่ความรัก” ...

และเป็นการยกระดับความรู้คู่ไปกับการยกระดับความเป็นคนที่อยู่ในทีมเดียวกัน





บันเทิงเริงปัญญา : กล้าเล่น-กล้าสัมภาษณ์และถามทักตัวตนทางวิชาชีพ

ครั้นผ่านไปหนึ่งวัน แม้เราจะไม่ได้มานั่งโสเหล่สรุปงาน AAR กันจริงๆ จังๆ แต่เราก็มีวิธีการจัดการความรู้ร่วมกันในแบบยืดหยุ่นผ่านการยืนคุยกันตามท้องถนน ระเบียงห้อง หรือกระทั่งพูดคุยผ่าน Facebook ถึงการงานเมื่อวาน และการงานที่จะมีขึ้นในครั้งใหม่

ผมให้ข้อเสนอแนะโดยสังเขป เช่น เปลี่ยนคลิปใหม่ หากแต่ยังเป็นเรื่องเก่า แต่สั้นและกระชับกว่าเดิม รวมถึงการการย้ำเน้นเรื่องบันเทิงเริงปัญญาให้มากๆ เพราะกลุ่มใหม่นี้จะมีจำนวนคนไม่เยอะเหมือนกลุ่มแรก และทางคณะจะแยกสาขา/หลักสูตรไว้รอ –



ผมให้ข้อเสนอแนะแก่ทีมกระบวนกรให้ “กล้าเล่น-กล้าสัมภาษณ์” เช่น ก่อนที่จะให้นิสิต (ผู้เรียน) สะท้อนงานตัวเอง ก็ไม่ต้องรีบร้อนอะไรให้มาก กล่าวคือ ให้ทีมกระบวนกรพูดคุยซักถามในแบบบันเทิงเริงปัญญา เช่น มาจากไหน ชื่อเสียงเรียงนาม ทำไมมาเรียนที่นี่ ทำไมเลือกสาขาเหล่านี้ รู้ไหมสาขาสอนวิชาชีพอะไรบ้าง หรือกระทั่งหยอกหยิกความเป็นอัตลักษณ์ของสาขา รวมถึงการถามทักแบบสนุกๆ เกี่ยวกับความเข้าใจของนิสิตที่มีต่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

ใช่ครับ-ทำไปเรื่อยๆ ดูเวลาประกอบไปด้วย ไม่ใช่ทำกระบวนการจนลืมเวลา และย้ำให้ดูว่านิสิตเริ่มผ่อนคลายหายตื่นเต้นหรือยัง รวมถึงนิสิตคนอื่นๆ เริ่มนิ่งสงบหันมาใส่ใจกับคนที่อยู่หน้าชั้นเรียนหรือยัง ถ้ายังก็ให้กระบวนกรกล้า “หยิกให้เจ็บ” กระตุกกระตุ้นถึงมารยาทของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) มิใช่ปล่อยให้นิสิตไม่สนใจอะไรเลย สรวลเสเฮฮาจนไร้กติกา

แน่นอนครับ ข้อเสนอแนะเหล่านั้น คือกระบวนการของการทบทวนผลการจัดการเรียนรู้จากเมื่อวานล้วนๆ เป็นการทบทวนบนฐานความเป็นจริงผ่านการ “สังเกตการณ์” (ในระยะประชิด) ที่มีทั้งที่เป็นการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมของผมเอง




แน่นอนครับ เป็นการทบทวนเพื่อการพัฒนาโดยใช้ฐานข้อมูลจากอดีต มิใช่หลับหูหลับตาดุ่มเดินไปข้างหน้าโดยไม่หันกลับไปมองอดีต และที่สำคัญเลยก็คือการที่ผมเพียรพยายามกระตุ้นให้ “ทีม” มีความกล้าคิด กล้าทำ และกล้าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมไม่ได้มีน้ำเสียงใดที่บ่งบอกให้ทำงานในแบบ “ศิลปินเดี่ยว” เลยสักนิด ทว่าแฝงนัยสำคัญของการเป็น “ทีม” ภายใต้วาทกรรมที่ผมเขียนเมื่อหลายปีก่อน คือ ศรัทธาต่อตนเอง (Self-esteem) เชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง (Trust-for others)

ส่วนพวกเขาจะไปออกแบบความเป็นทีมกันอย่างไร เป็นเรื่องของน้องๆ ผมจะไม่ไปลงรายละเอียดเชิงลึกด้วย แต่จะเฝ้าสังเกตการณ์และรอประเมินผลร่วมกันอีกครั้ง





อย่าแค่ทำและทำ : ประเมินตัวเราผ่านมุมมองของนิสิต

เอาจริงๆ เลยนะ ตอนนี้ผมยอมรับว่า “วางไมค์” แต่ไม่ถึงกับ “วางมือ” จากวงการวิทยากรหรอกนะครับ มันไม่ใช่เรื่องของการหมดมุก หมดไอเดีย หมดความรู้ หมดแรงบันดาลใจ หรือโดนคลื่อนลุกใหม่โถมทับจนสิ้นสภาพ หากแต่แน่วแน่ที่จะผันตัวออกมาเป็น “พี่เลี้ยง” อย่างเต็มรูปแบบเสียมากกว่า

เอาจริงๆ เลยนะ ในห้วงที่ผมจะหารือกับน้องๆ –

หลายต่อหลายครั้งผมก็แอบสื่อสารกับ “ต้นเรื่อง” (คณะวิทยาการสารสนเทศ) อย่างเงียบๆ โดยไม่ให้เขารู้ตัว หรือกระทั่งบางครั้งที่สื่อสารกับทีมงานผู้ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักของกิจกรรมนั้นๆ ผมก็ไม่วายแอบสื่อสารผูกโยงไว้กับผู้ช่วยของเขา (กันลืม) ด้วยเหมือนกัน

มันไม่ใช่เรื่องของความไม่เชื่อใจ หรือทำตัวเป็นมาเฟีย หรือนกสองหัวหรอกนะครับ แต่ผมแอบซ่อนกระบวนการสร้างทีมไว้อย่างเงียบๆ รวมถึงแอบซ่อนบททดสอบว่า “ทั้งเขาและเขา” จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีมได้แค่ไหน มีการ “แบ่งงาน-จอยงาน” กันแค่ไหน หรือบินเดี่ยว แบบไม่คิดว่ากิจกรรมนั้นๆ จะเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่นๆ อย่างไร



แต่ในบางเรื่องก็ยอมรับว่า “สั่งการ” มากกว่าต้อง “หารือ-แลกเปลี่ยน” เช่น การให้นำเอาใบงานไปทดลองใช้ในเวที การเลือกคลิปให้ เพราะพวกเขายังไม่มีประสบการณ์จริงในเรื่องหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน การมอบหมายให้เก็บใบงานกลับมาดู เพราะนั่นคือการประเมินผลกระบวนการของตนเอง เป็นการประเมินตัวเอง (Self Assesment) ผ่านผู้เรียน ซึ่งมันสำคัญมากๆ เพื่อให้รู้ว่า “เราทำกันได้ดีแค่ไหน” ก่อเกิดมรรคผลใดกับผู้เรียน ทั้งในเรื่องความรู้ ทักษะและทัศนคติ

หรือในอีกเรื่องที่บางครั้งผมก็สั่งการเลย นั่นคือ เอาภาพสดๆ ของกระบวนการเรียนรู้ขึ้นจอ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ตื่นตาตื่นใจ หรือเมื่อเสร็จกิจกรรมก็ชวนเชิญมาโสเหล่กัน- นี่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการ “สั่ง” ในอีกครรลองหนึ่งที่ผมไม่ปฏิเสธว่าเกิดขึ้นจริง เพราะรู้ดีว่า หากไม่กำชับพวกเขาก็ (มัก) จะ “ไหล” ไปข้างหน้า ดีไม่ดี อาจไม่สรุปผล ประเมินตัวเองก็เป็นได้

ครับ- ยังมีอะไรซ่อนงำไว้อีกเยอะ เป็นการออกแบบการเรียนรู้ให้แหลมคมขึ้น ไม่ใช่การแอบขุดหลุมดำให้ทีมเดินพลัดหลงตกลงไปจนหมดสภาพอย่างแน่นอน เพราะขี้เกียจมาสร้างทีมใหม่ ขี้คร้าน “สอนงาน สร้างทีม” กันใหม่ –มันเหนื่อย

ใช่ มันเหนื่อย



เหนือสิ่งอื่นใด

ต้องขอบพระคุณทีมคณาจารย์คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอย่างสูงที่เปิดโอกาสให้ทีมพวกเรา (เราเรียกตนเองขำๆ ว่า ทีม (รับจ้าง) "สร้างกระบวนการ") ได้มีเวทีการเรียนรู้ และลับคมทางปัญญาของพวกเราเอง

ขอบคุณน้องๆ ที่ "มีใจ" ไปช่วยงาน เพราะนั่นคือหลังเวลาราชการล้วนๆ
จันทร์-พุธ ...หนุนเสริมการเรียนวิชาภาวะผู้นำและวิชาการพัฒนานิสิต (เลิกเกือบสามทุ่ม)
พุธ-ศุกร์ ...หนุนเสริมการเรียนรู้วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะวิทยาการสารสนเทศ (เลิกสามทุ่ม)

ขอบคุณด้วย "ใจ" อีกครั้ง


หมายเลขบันทึก: 599553เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2016 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2016 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจชื่อใหม่ทีมกระบวนกร

ทีม (รับจ้าง) "สร้างกระบวนการ"..

555

เป็นการเสียสละมากครับ

ที่ทำงานนอกเวลา

มาชื่นชมทีมทำงานครับ

ฝากความระลึกถึงอาจารย์เป็ดด้วยครับ

เห็นความตั้งใจ..ความมีมานะ เสียสละ ... ของนักศึกษา ดีใจด้วยค่ะ .... พอมีงานทำจะได้ ... ตั้งใจทำงานเหมือนเป็นนักศึกษา นะคะ เพราะมีประสบการณ์ แล้วนะคะ


ครูคือผู้ให้ ด้วยใจมุ่งมั่นมิผันผวน

ครูคือผู้เชิญชวน ให้มวลศิษย์คิดใฝ่ในสิ่งดี



สวัสดีค่ะคุณครูแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท