ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้



การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยาก และต้องทำต่อเนื่อง แต่ทำสำเร็จได้ หากใช้ยุทธศาสตร์และวิธีการที่ถูกต้อง ที่สำคัญเรามีครูดีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ดังปรากฏใน เวทีพูนพลังครูครั้งที่ ๑ : ครูสอนลักษณะนิสัยที่ดี ที่จัดเมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ที่สำคัญคือ มีการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเอง เช่นโรงเรียนบ้านปะทาย โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล โรงเรียนเหล่านี้ผู้อำนวยการลุกขึ้นมาถือธงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ย้ำว่า ความหวังต่อความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา อยู่ที่ผู้บริหารสถานศึกษาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และบริหารการเปลี่ยนแปลง ต่อสู้กับแรงเสียดทาน หรือมีกลเม็ดในการเอาชนะการเปลี่ยนแปลงแบบที่มีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย ดังกรณีตัวอย่างโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย ที่ผมเล่าไว้ ที่นี่

ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวเปิด ใช้เวลา ๑๕ นาที โดยเขายกร่างคำกล่าวเปิดมาให้ แต่ผมใช้วิธีพูดปากเปล่า และ รศ. ประภาภัทร นิยม กรุณาสรุปเป็น infographic ดูได้ ที่นี่

โรงเรียนตัวอย่างเหล่านี้ควรได้รับการพัฒนาไปเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ที่มีคณะกรรมการโรงเรียนเข้มแข็ง และสามารถเลือกผู้อำนวยการและครูเองได้ มีระบบตรวจสอบภายนอกที่เข้มแข็ง และให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีของศิษย์

ใช้โรงเรียนตัวอย่างเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนโดยรอบที่ต้องการพัฒนาเป็นโรงเรียนแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยกระทรวงศึกษาธิการตั้งเกณฑ์ไว้ ว่าเมื่อบรรลุตัวชี้วัดใดบ้าง ก็ให้เป็นโรงเรียนนิติบุคคล ที่มีอิสระในการบริหารเงิน คน และหลักสูตร

ส่วนกลางเกื้อหนุน (empower) ด้วยวิธีการ Teacher Coaching / Teacher Empowerment ด้วยตัวอย่างครูที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ทั้งของนักเรียนและครู เน้นให้นักเรียนเรียนแบบ PBL ครูเรียนเป็นทีมผ่าน PLC โรงเรียนเป็นสถานที่เรียนรู้หลายชั้น ทั้งของนักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการโรงเรียน และผู้นำชุมชน

เวทีพูนพลังครูครั้งที่ ๑ ที่เพิ่งจัดเมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นตัวอย่างวิธีเกื้อหนุนครูที่ดี

หลังจบเวทีนี้ตอนเกือบ ๑๖ น. วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ผู้แทนภาคีร่วมจัดประชุมต่อกันถึง ๑๘ น. เพื่อหารือว่าควรทำอะไร อย่างไร ต่อไป โดยสรุปว่าเวทีนี้ได้ผลสูงยิ่ง แต่มูลนิธิสยามกัมมาจลจะไม่ทำหน้าที่แกนนำอีกต่อไป ต้องการให้ภาคีเข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของเวที โดยพื้นที่เองอาจจัดเวทีที่ย่อมเยากว่านี้

ข้อเรียนรู้คือ เวทีที่มีพลังต้องมีการไปถอดความรู้และตีความตัวอย่างที่ดี มีการทำงานอย่างประณีต เอามานำเสอนทั้งเป็นเอกสารประกอบภาพ และเป็น วีดิทัศน์



วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598411เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท