กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ที่โรงเรียนบ้านห้วยไผ่


ไปเยี่ยมชมกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมขนาดเล็กในอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ กับชาวสพป.เชียงใหม่ เขต 3 ในบ่ายวันนี้ พบรูปแบบการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

กิจกรรมชั้น ป.1-3 เป็นการทำน้ำสมุนไพร แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ทำน้ำกระเจี้ยบ น้ำอัญชันมะนาว น้ำมะขาม และน้ำมะนาว แต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนคละกันทั้ง ป.1-3 ทำให้นักเรียนได้รู้จักกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกันแบบประชาธิปไตย แต่ละฐานจะมีครูเป็นที่ปรึกษา 1 คน จะอำนวยความสะดวกโดยจัดทำสื่อให้ความรู้ทุกแง่ทุกมุมของน้ำแต่ละชนิดและจัดเตรียมอุปกรณ์การจัดทำไว้ให้เด็กๆด้วย โดยให้เหตุผลว่าเด็กยังเล็ก ก่อนเริ่มกิจกรรมครูจะให้ความรู้พื้นฐานประกอบสื่อ ให้เด็กๆได้ซักถามจนเข้าใจ แล้วสาธิตอธิบายวิธีทำ แล้วให้นักเรียนแต่ละคนลงมือปฏิบัติและชิมทดสอบกันจนได้รสชาติเป็นที่พอใจ แล้วแลกเปลี่ยนกันชิม จากนั้นครูจะให้นักเรียนชั้น ป.3 นำสะท้อนความรู้กับเพื่อนๆและน้องๆในกลุ่ม โดยครูจะคอยเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นและตั้งคำถามเพิ่มเติม เมื่อการสะท้อนความรู้เสร็จสิ้น นักเรียนจะทำใบงานสรุปความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ และวันต่อไปก็เวียนไปปฏิบัติในกลุ่มอื่น จนครบทั้ง 4 น้ำ รวมกิจกรรมเรื่องนี้ใช้เวลา 4 วัน

กิจกรรมชั้น ป.4 เป็นการทำกระทงจากต้นกล้วยและใบตอง เด็กเริ่มโตขึ้นแล้ว ครูจะให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอุปกรณ์และการหาความรู้เพิ่มเติ่ม ส่วนการสาธิตวิธีทำครูจะยังคงต้องช่วยเหลือเขาอยู่

กิจกรรมชั้น ป.5 การทำเหรียญโปรยทาน เด็กๆจะได้ฝึกการปฏิบัติ และค้นคว้าขั้นตอนการทำงานด้วยตนเองจากคอมพิวเตอร์ แล้วจัดทำเป็นโครงงาน

กิจกรรมชั้น ป.6 การปักครอสติส จะใช้เวลาฝึกและเรียนรู้หลายวัน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือแต่ละกิจกรรมจะใช้เวลาแตกต่างกัน ตามบริบทของเด็กและตามลักษณะของแต่ละกิจกรรม ทุกกิจกรรมจะเน้นการเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ถ้าเป็นเด็กเล็กครูจะช่วยเหลือมากหน่อย แต่เมื่อโตขึ้นครูจะให้เด็กค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น ที่สำคัญคือมีการสะท้อนความรู้ซึ่งกันและกัน แล้วสรุปบทเรียน โดยพยายามให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความรู้จากการปฏิบัติมากกว่าผลผลิตจากการปฏิบัติ ทั้งนักเรียนและครูจะสนุกกับกิจกรรมต่างๆอย่างเห็นได้ชัด

โรงเรียนบอกว่าผู้บริหารและครูจะประเมินผลการจัดกิจกรรมนำมาสะท้อนแลกเปลี่ยนกันทุกวันศุกร์ แล้วปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เช่น จะเชิญวิทยากรท้องถิ่นและผู้ปกครองมาชื่นชมและมาร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆให้มากขึ้นเป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 597654เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในที่สุดครูก็ต้องหาอะไรที่ไม่ใช่วิชาการมาให้เด็กทำอยู่ดี คิดว่าให้กลับบ้านได้ ถ้าเอาเวลามาเพิ่มให้กับวิชาที่เด็กไทยอ่อน เช่นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อย่างละสองชั่วโมง จะผิดมั้ยคะ หรือให้ไปต่อเอาที่โรงเรียนสอนพิเศษเองคะ

ดีมากๆ เลยนะคะ และที่ชอบมากที่สุดค่ะ "ผู้บริหารและครูจะประเมินผลการจัดกิจกรรมนำมาสะท้อนแลกเปลี่ยนกันทุกวันศุกร์"

น่าสนใจมากเลยครับ

ผมกำลังให้นักเรียนปลูกผักครับ

https://www.gotoknow.org/posts/597661

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท