ดนตรีเพื่อการแบ่งปัน ปั้นอนาคตให้เยาวชนด้อยโอกาส


“ผมคิดว่าตัวเองเลือกทางที่ถูกแล้ว เพราะหลังจากที่มาเรียนดนตรีผมก็ได้ความรู้เรื่องต่างๆ เยอะมาก ได้ทักษะการเล่นดนตรี มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจที่เราเรียนมา 3 ปี เราเล่นได้ ครูพาไปแสดงออกงานก็มีบ้าง และตอนที่น้ำท่วมก็ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตโชว์ให้กับชาว มอญ พม่า ได้เงินมา 25,000 บาท ก็เอาไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่พม่า ก็รู้สึกภาคภูมิใจว่าเราทำได้” แง เยาวชนชาวพม่า เล่า

การแบ่งปันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขแบบง่ายๆ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ บางคนเลือกที่จะให้ปัจจัยสี่แก่ผู้ยากไร้ บางคนให้แรงกายแก่คนที่ต้องการมัน และมีอีกจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะให้ความรู้แก่คนที่ต้องการแสวงหา

ดนตรีและเสียงเพลง คือสิ่งที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเลือกมอบให้กับเด็กๆ และเยาวชนที่ด้อยโอกาส เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนเหล่านั้น ได้รู้ว่า ตัวเองมีคุณค่าและยังมีที่ยืนอยู่ในสังคม

ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ครูแอ๋ม เจ้าของโครงการดนตรีเพื่อการแบ่งปัน หรือ Music Sharing คือผู้นำคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ เธอเล่าว่า โครงการนี้เริ่มมาจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่เป็น ครูสอนดนตรี, นักศึกษาภาควิชาดุริยางคศิลป์, นักร้อง, นักแต่งเพลง ต้องการให้ดนตรีเกิดประโยชน์แก่สังคม โดยเริ่มมาจากการเปิดรับบริจาคเครื่องดนตรีไปให้เด็กชาวเขาและเด็กด้อยโอกาสที่คลองเตย

เมื่อมีเครื่องดนตรีแล้ว แต่ก็ไร้ประโยชน์เมื่อผู้รับเล่นไม่เป็น คนที่มีจิตอาสากลุ่มนี้ จึงเปิดรับสมัครครูอาสาช่วยสอนดนตรี ปรากฏว่ามีครูอาสาสนใจจำนวนมาก พร้อมกับเครื่องดนตรีบริจาคก็หลั่งไหลมาไม่ขาด ทั้ง กลอง เบส กีตาร์ อูคูเลเล่ ไวโอลิน จนทางกลุ่มสามารถสอนเยาวชนด้อยโอกาสที่อยากจะเรียนรู้ จนรวมตัวเป็นวงดนตรี เล่นตามพื้นที่สาธารณะหลายแห่งในกรุงเทพฯได้

“แอ๋มกับเพื่อนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นครูสอนเปียโน จึงเริ่มทดลองทำห้องเรียนดนตรีที่คลองเตยเป็นแห่งแรกมีเด็กๆ เข้ามาร่วมโครงการมาประมาณ 40 กว่าคน แต่พัฒนามาเป็นแกนนำเหลือ 10 กว่าคน โดยกระบวนการที่นี่จะสอน 3 วัน แบ่งออกเป็น วันจันทร์และพฤหัสบดี สอนดนตรีแบบตัวต่อตัว เน้นฝึกเครื่องดนตรีตามความถนัด ส่วนวันเสาร์จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์”

เหตุที่เลือกคลองเตยเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ครูแอ๋ม ให้เหตุผลว่า คือหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่เยาวชนในชุมชนอาจข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ความรุนแรง และปัญหาสังคมอื่นๆ หากใช้ศิลปะและดนตรี เป็นตัวนำทางให้พวกเขามีพื้นที่แสดงออก มีสมาธิ รู้จักการทำงานร่วมกัน อาจก่อให้เกิดแกนนำเยาวชนที่ดีในอนาคต

“มาแรกๆ ก็ตีกันเลย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะที่ผ่านมาวัยรุ่นที่มาเล่นดนตรีกับเราความรุนแรงจะลดลง เขาก็จะรู้สึกภูมิใจที่อยู่กับเรา เพราะเราก็ถือเป็นแก๊งหนึ่งในคลองเตย” ครูแอ๋ม เล่า

หลังจากคลองเตยเป็นรูปเป็นร่าง ได้แกนนำเยาวชนมาจำนวนหนึ่ง จึงได้ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ วัดปรก ยานนาวา กรุงเทพ ฯ ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ, ที่สมุทรสาคร ก็เป็นลูกหลานแรงงานพม่าและไม่ได้รับการศึกษาในระบบ และบางซื่อ กรุงเทพฯ

กว่า 3 ปีของการทำงานดนตรีเพื่อการแบ่งบัน ทำให้ครูแอ๋มตระหนักดีว่าการทำงานให้ได้ผลนั้น ต้องใช้ทุนจำนวนมาก เธอจึงเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทำกิจกรรมสร้างเวทีเชื่อมประสานองค์กรชุมชน และอาสาสมัครในชุมชน โดยมีองค์กรหลายๆ แห่งร่วมเป็นพันธมิตร เช่น มูลนิธิดวงประทีป ศูนย์เมอซี่ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN เป็นต้น

“ครูอั้ม” ปิยวัฒน์ ศุภมิตร์ ที่ร่วมเป็นอาสาสมัครครูสอนดนตรีร่วมกับครูแอ๋ม เล่าว่า ทุกครั้งที่เห็นเด็กด้อยโอกาส พ่อแม่แยกทางกันก็มักจะคิดถึงตัวเองเมื่อครั้งยังเด็กที่มีชีวิตไม่ต่างหัน แต่โชคดีที่พี่ชายให้เครื่องดนตรีมาชิ้นหนึ่ง มันทำให้โลกของเขาไม่เงียบเหงาและโดดเดี่ยวอีกต่อไป

“การที่เราได้ทำงานตรงนี้ เราได้เห็นพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดของเด็กๆ พวกเขาไม่หลงผิดไปกับสิ่งล่อตาล่อใจตามสิ่งแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจ เช่น เด็กที่สมุทรสาครที่เราไปสอนเขามีโอกาสที่จะเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยน้อยมาก เด็กพวกนี้เป็นเด็กโตเขาเล่นดนตรีเพื่อส่งเสริมตัวเอง ให้ได้มีที่ยืนในสังคมไทย และสามารถทำเป็นอาชีพได้ในอนาคต” ครูอั้ม เล่า

ทางด้าน “น้องอารียา” หรือ ปัญญาทิพย์ วีระธรรมกุล เล่าว่า ต้องขอบคุณครูทุกคนที่ให้โอกาสได้มาเรียนดนตรี ทำให้ตัวเองได้มองเห็นความฝันของตัวเอง ตอนแรกอยากเรียนไวโอลิน กับกีต้าร์ แต่ไวโอลินไม่มีคนสอน ส่วนกีต้าร์ก็ค่อนข้างยาก เธอจึงไปเรียนกีต้าร์เบส จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ปีกว่าๆ ก็ฝึกเล่นกีต้าร์ได้เป็นบางเพลง แต่ฝึกเล่นเบสอย่างหนักและร้องเพลง ซึ่งถ้าไม่ได้มาเรียนตรงนี้ เธฮคิดว่าเวลาว่าง ก็คงหมดไปกับการดูหนัง ฟังเพลง

ส่วน นายแง เยาวชนชาวพม่าเป็นอีกคนที่เรียนอยู่ที่วัดศรีสุทธาราม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อมีเพื่อนบอกว่ามีคนมาสอนเล่นดนตรีที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ก็เลยชวนกันไป ได้เจอครูแอ๋ม ครูอั้ม และครูอีกหลายๆ คน ตอนนั้น เขาอยากเล่นกีต้าร์ แต่มีคนเรียนหลายคนแล้ว เขาจึงหันไปเล่นกลองแทน

“ผมคิดว่าตัวเองเลือกทางที่ถูกแล้ว เพราะหลังจากที่มาเรียนดนตรีผมก็ได้ความรู้เรื่องต่างๆ เยอะมาก ได้ทักษะการเล่นดนตรี มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจที่เราเรียนมา 3 ปี เราเล่นได้ ครูพาไปแสดงออกงานก็มีบ้าง และตอนที่น้ำท่วมก็ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตโชว์ให้กับชาว มอญ พม่า ได้เงินมา 25,000 บาท ก็เอาไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่พม่า ก็รู้สึกภาคภูมิใจว่าเราทำได้” แง เล่า

จากการประเมินความสามารถทางดนตรีของเด็กๆ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ คนทำงานอย่างครูแอ๋ม มีความมั่นใจว่า พวกเขาน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทางโครงการจึงเตรียมทำ ทีวีออนยูทูปขึ้นมา

“เราทำเพลงเองทั้งหมด ตั้งแต่ แต่งเนื้อร้อง ทำนอง ดนตรี เด็กๆ ร้องเอง เล่นดนตรีเอง เช่น อัลบั้มเพลงเด็ก ก็จะมีเพลงเกี่ยวก้อยชวนพ่อเลิกเหล้าเข้าพรรษา เพลงปลูกผัก ซึ่งรายการสโมสรผึ้งน้อย ได้ขอไปใช้เป็นเพลงประจำรายการแล้ว พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดเพลงทางแฟนเพจ เวบไซต์ ซึ่งเป็นช่องทางการหารายได้เพื่อทำกิจกรรมและขยายโครงการต่อไป” ครูแอ๋ม กล่าว

ดนตรีเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ชวนเด็กๆ ให้มาร่วมแบ่งปัน เป้าหมายสูงสุดเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีก็ได้ ขอเพียงให้เขามีเกาะป้องกันตัวเองมากพอที่จะใช้ชีวิตในสังคมก็เพียงพอแล้ว


credit ภาพ จาก Facebook : aom amm

หมายเลขบันทึก: 597649เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท