ความรู้เรื่องมาตรฐานคุณภาพสินค้า และความสำคัญ


          ธุรกิจส่งออก สำเร็จได้ รวยเร็ว หาซื้ออ่านได้ที่ซีเอ็ดบุคส์ทุกสาขา

                ---------------------------------

ความรู้เรื่องมาตรฐานคุณภาพสินค้า และความสำคัญ

คำว่ามาตรฐานคุณภาพสินค้า เราน่าจะมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการค้าขาย ยิ่งนานวันมาตรฐานต่างๆยิ่งจะมีมากขึ้นตามการพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาในท้องตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การกำหนดมาตรฐานสินค้านั้นมีประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ผลิตเอง และผู้บริโภค แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักมองมาตรฐานสินค้าเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการผลิตให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวก็ไม่ผิด แต่หากมองในแง่การผลิตเพื่อให้มีความสูญเสียในเรื่องการใช้วัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่า เกิดปริมาณของที่ตำหนิเยอะระหว่างผลิตแล้ว นับว่าตัวมาตรฐานสินค้าเองมีส่วนเข้ามากำกับมาตรฐานการทำงานของหน่วยการผลิตอีกทีนั่นเอง

อย่างที่ได้เคยมีคำถามกับผู้ประกอบการในหัวข้อแรกๆ หนึ่งในคำถามสำคัญก่อนที่จะเข้าไปในตลาดใดๆ ที่ท่านต้องตอบคือ ท่านทราบหรือยังว่า มาตรฐานสินค้า ของสินค้าที่ท่านต้องการนำไปเจาะตลาดนั้นคืออะไร เช่นจากตัวอย่างที่เคยอธิบายไว้ หากท่านเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับเงิน หนึ่งในมาตรฐานสำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปที่ต้องมีคือ ปริมาณนิเกิลในสินค้าซึ่งจะต้องมีเอกสารรับรองจากห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Lab) ว่าได้ตรวจสินค้าชิ้นนี้แล้ว จากผู้ผลิตรายนี้ ผลก็คือมีปริมาณนิเกิลเท่านี้ (ไม่เกินตามปริมาณที่มาตรฐานกำหนด) และเอกสารนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนึ่งในเอกสารที่ต้องส่งให้ทางลูกค้าเพื่อนำไปออกของกับกรมศุลกากรของเขาเองที่ประเทศปลายทาง และจะเป็นเอกสารที่เรานำไปขึ้นเงินค่าสินค้า (Bank Negotiation) กับทางธนาคารของเรากรณีที่ลูกค้าจะชำระผ่านทาง L/C (หนึ่งในเงื่อนไข L/C มักระบุบังคับไว้ว่าสินค้าต้องผ่านมาตรฐานใด ต้องส่งใบรับรองคุณภาพจากสถาบันใด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ผลิตได้ผลิตสินค้าตรงตามมาตรฐานจริง เป็นต้น) หากเราไม่ยื่นเอกสารการรับรองไปด้วยร่วมกับเอกสารอื่นๆที่ระบุ ก็จะไม่สามารถรับเงินค่าสินค้าได้ นอกจากตัวสินค้าเอง อาจมีมาตรฐานอื่นๆที่ผู้ผลิตต้องปฎิบัติให้สอดคล้องอีกด้วย ดังนั้นข้อแนะนำระหว่างการเจรจาการค้า เราต้องมีการสอบถามลูกค้าในคำถามต่างๆดังต่อไปนี้

  1. สินค้าที่กำลังเจรจาซื้อขายกันอยู่ ทางลูกค้ามีมาตรฐานใดที่กำหนดไว้บ้างสำหรับตัวสินค้า (เช่นข้อกำหนดของปริมาณสารบางชนิดในเนื้อวัสดุชนิดดังตัวอย่าง, สินค้าสามารถรองรับน้ำหนักได้เป็นน้ำหนักเท่าไหร่ เช่นหากสินค้าเป็นเก้าอี้ เป็นต้น)
  2. มีมาตรฐานใดที่กำหนดไว้บ้างสำหรับ Packaging (เช่น สินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย จะต้องมีมาตรฐานการตกของสินค้าหรือไม่ (Drop Test) หรือชนิดของกระดาษต้องเป็นกระดาษ Recycle, กันน้ำ เป็นต้น)
  3. มีมาตรฐานใดที่กำหนดไว้บ้างสำหรับ การจัดเรียง หรือโหลดสินค้าเข้าในตู้ Container (เช่น กรณีสินค้าที่เป็นไม่จะต้องมีการพ่นยา (fumigate) เพื่อฆ่าแมลงหรือเชื้อด้วยหรือไม่)

สำหรับข้อ 2 และ 3 ที่ไม่ได้เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับตัวสินค้าโดยตรงนั้น ส่วนใหญ่ลูกค้าอาจไม่ต้องการหนังสือรับรอง อาจแค่ให้เรารับรองว่าหากมีกรณีเสียหายระหว่างขนส่ง แล้วเราจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนั้นๆ ผู้ขายสินค้าก็ต้องทำข้อตกลงให้ชัดเจนในส่วนนี้ด้วย

สินค้าที่ดูจะมีมาตรฐานยุ่งยากซับซ้อนจะเป็นสินค้าเกี่ยวกับเด็กไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือเสื้อผ้า สินค้ากลุ่มยา และอาหาร นอกนั้นก็จะมีสินค้าที่ต้องมีความปลอดภัยสูงในการใช้เช่นอุปกรณ์ไฟฟ้า รถประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับตลาดที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลียเป็นต้น สำหรับสินค้ากลุ่มอื่นๆ ตลาดในประเทศอื่นๆก็จะมีระเบียบ หรือมาตรฐานต่างๆกันไป ทั้งนี้ท่านก็ต้องศึกษาด้วยว่ามาตรฐานสินค้าเดียวกันสำหรับตลาดต่างกันนั้น ก็อาจมีข้อกำหนดต่างกันด้วย แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาที่แต่ละรัฐสามารถกำหนดกฎหมายท้องถิ่นของตนเองได้ อาจมีมาตรฐานที่แตกต่างออกไปเช่น มาตรฐานโลหะหนักในภาชนะบรรจุ หรือเสิพอาหาร (Lead and Cadmium) ในรัฐ California จะมีความเข้มข้นกว่ามาตรฐานของ FDA จากรัฐบาลกลาง และ FDA ของสหรัฐอเมริกา อาจมีมาตรฐานแตกต่างจากสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นอีกเป็นต้น ผู้ส่งออกจึงต้องมีความรู้เหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อที่จะย้อนมาตรวจสอบตั้งแต่วัตถุดิบของตน กระบวนการผลิต(ส่วนนี้อาจมีเรื่องกฎหมายการใช้แรงงานทาส หรือแรงงานเด็ก มีมาตรฐานการผลิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งแวดล้อมเช่น ISO บาง category เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ) การบรรจุสินค้า จนกระทั่งถึงการโหลดสินค้าขึ้นเรือของเรานั้น ในทุกกระบวนการสอดคล้องกับข้อกำหนดทางมาตรฐานของลูกค้าในด้านต่างๆแล้วหรือไม่นั่นเอง

จะเห็นว่าผู้ส่งออกไม่ว่าเราจะผลิตสินค้าเอง หรืออยู่ในฐานะผู้จำหน่าย (Trading) ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ต่างๆเหล่านี้พอสมควร ทั้งนี้นอกจากตัวลูกค้าเองที่จะเป็นผู้ที่สามารถให้ข้อมูลเหล่านี้กับเราได้แล้ว เราก็ยังสามารถสอบถามจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ระดับหนึ่ง ที่บอกว่าระดับหนึ่งนั้นจากประสบการณ์แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเรามักมีความยุ่งยากในการเข้าถึง ความล่าช้าในการตอบ หรือแม้กระทั่งสุดท้ายก็เป็นว่าไม่ทราบระเบียบเลยก็มี แต่อีกแหล่งที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในการให้ความรู้เราก็คือบรรดาบริษัทด้านมาตรฐานสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติเช่น SGS, TUV, INTERTEK, UKAS เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับรับว่าเป็นหน่วยงานการตรวจสอบที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ พวกเขาก็จะเป็นเสมือนคลังความรู้ว่าสินค้านี้ สำหรับประเทศนี้ แล้วมาตรฐานเป็นเช่นไร ทั้งนี้แต่ละที่อาจมีความชำนาญไปในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือหลายๆสาขา ส่วนใหญ่มีสำนักงานในภูมิภาคในเกือบทุกประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของโลก มาตรฐานสินค้าบางอย่างบริษัทเหล่านี้ในประเทศไทยอาจทำการทดสอบไม่ได้ แต่ก็สามารถให้เขาสอบถามสาขาในประเทศที่ใหญ่กว่าเราได้ซึ่งเขาจะมี Lab ที่มีเครื่องมือ และขีดความสามารถที่มากว่าก็เป็นได้ แน่นอนว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้จะมีค่าบริการที่แพง แต่ระยะเวลาการทดสอบจะสั้น และแน่นอนกว่าหน่วยงานของรัฐบาล สำหรับสินค้าบางชนิดของบางประเทศก็อาจมีการระบุมาเลยว่าจะต้องใช้ Lab ของบริษัทนี้เท่านั้นในการตรวจสอบเนื่องจากความเชื่อถือของเขาที่มีต่อกันนั่นเอง

จะเห็นว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค และวิทยาการ ที่มีความสำคัญในการเรียนรู้เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วสินค้าของเราได้มาตรฐานครบถ้วนสำหรับการส่งออก ถึงมีส่วนจริงอยู่ว่าข้อกำหนดเหล่านี้หลายๆกรณีถูกใช้ในทางการเมืองเพื่อกีดกันทางการค้า แต่หากเราสามารถได้มาตรฐานนั้นๆก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้เรามากขึ้น ดังนั้นในส่วนที่จะเป็นกรณีการกีดกันภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการค้าไม่ตรงกันเหล่านี้ เราฐานะเอกชนผู้ที่ทำมาค้าขาย หาเงินตราต่างประเทศเข้ามาก็หวังพึ่งหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้ดูแล เจรจากับคู่ค้าต่างๆให้ได้เงื่อนไขการค้าที่เป็นมิตรกับเรามากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอื่นๆ เช่นความรู้รายละเอียดที่ครบถ้วน ถูกต้องหากเรามีคำถามใดๆไม่ว่าด้านมาตรฐานสินค้าเอง ระเบียบข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ปัจจุบันมีเขตการค้าเสรีมากมาย บางอย่างก็ทับซ้อนกันอยู่เหล่านี้ ล้วนเป็นความท้าทายร่วมกันสำหรับประเทศไทยทั้งภาครัฐ และเอกชนว่าเราจะยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงอย่างในปัจจุบัน

หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แนวคิดให้ท่านให้ดำเนินการได้รอบคอบ ถูกต้องขึ้น หากต้องการพูดคุยปรึกษา หรือต้องการแสดงความคิดเห็น ก็สามารถฝากข้อความ หรืออีเมล์มาได้นะคะ

ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินการ และการส่งออก


หนังสือแนะนำเรื่อง หลักการปรับปรุงคุณภาพ คลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 597650เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2019 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

When makers/traders understand that "ISO..." is not a 'password' to access a market (consumers) but a 'contract' between makers/traders and consumers that goods will be/do/have certain quality/properties/functions. All about 'standard' quality and so on will be just a smear on labels (of products -- including goods and services).

Reply to Khun "SR" Thank you for sharing comment, which is true.

I will add more topic about whole supply chain as how the quality & efficient one will be. So, will appreciate your return for sharing value ideas again. Have a wonderful and a quality day !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท