​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๘: การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๘: การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion)

คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.สงขลานคนรินทร์จัดการเรียนการสอนผลิตแพทย์ด้วยโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาให้ได้บัณฑิตที่ "สังคมพึงปราถนา" อันบัณฑิตสาขาใดๆก็ตามนั้นจะต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติคือ ๑) มีความรู้ทักษะความสามารถตามสารวิทยาที่ตนเองร่ำเรียน ๒) ถึงพร้อมด้วยจริยะทั้งกาย วาจาใจ และ ๓) มีสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ในข้อหนึ่งนั้นการเรียนการสอนแบบ didactic ในความหมายของ สั่ง / สอน / บอก ให้เรียนรู้ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยง่าย แต่ในข้อสองและข้อสามที่จะท้าทาย เพราะเป็นการ "หล่อหลอม" ให้เกิดทัศนคติ เจตนคติ ที่จะติดตัวไปเป็นพลเมืองที่มีค่าในสังคม อันไม่สามารถจะแค่ สั่ง / สอน / บอก แล้วจะได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะสุดท้ายแล้ว "พฤติกรรมมนุษย์ หรือชีวิตมนุษย์นั้นเป็นองค์รวม"

พฤติกรรมเป็นการตกผลึกของ "ทั้งหมด" ของปัจจัยประสบการณ์ต่างๆของชีวิต แถมในบริบทต่างๆ ก็จะถูกอิทธิพลของมิติอันซับซ้อนเหล่านี้ได้ไม่เท่ากันอีก และไม่เพียงแต่เท่านั้น ถ้าหากจะแบ่งแบบหยาบๆว่าพฤติกรรมถูกบงการหรือบ่งชี้ด้วย "ตรรกะ เหตุผล ความคิด" หรือ "อารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ" มากกว่ากัน เราจะพบว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ในแต่ละวันถ้าเราไม่ได้เข้า "เกียร์ออโต้" ก็มักจะ "ตามใจ" มากกว่า "ตามคิด"
@ เราตื่นนอนมาบิดขี้เกียจ เราหยุดบิดขี้เกียจเพราะอะไร?
@ เราแปรงฟันตอนเช้า หยุดแปรงเพราะเชื้อโรคหมดปาก หรือเพราะ "อยากหยุด"
@ เราเดินทางไปที่ทำงาน เดินทางเส้นเดิมๆ ทั้งๆที่มีหลายเส้นทางเพราะอะไร?
@ เราไปกินข้าวกลางวัน เราเคยเลือกร้านเพราะคุณค่าทางอาหารที่เราต้องการ หรือว่าเพราะ "อยากกินร้านนี้"?

การสร้างเสริมสุขภาพตามนิยามของ Ottawa Charter คือ "Process to enable people to increase control over to improve their health" กระบวนการที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

นั่นคือ "มันต้องไปอยู่ในเนื้อในตัว ไม่ใช่แค่ในสมอง / จำได้ / ท่องได้ / ตีความได้ เท่านั้น"

นักศึกษาแพทย์ซึ่งเรียนสายวิทยาศาสตร์ เรียนรู้ทฤษฎีเรื่องประโยชน์ของการออกกำลังกายลงไปถึงระดับ molecular หรือระดับโมเลกุล รู้ละเอียด รู้ลึกซึ้ง ท่องได้ ตอบได้เป็นฉากๆ แต่ก็มีเด็กนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าไปถามว่า "ทำไม" เราคิดว่าจะเป็น "เหตุเป็นตรรกะ" หรือว่าเพราะ "อารมณ์"? หรือแม้แต่คนที่มาวิ่งรอบสนามนั้น คิดหรือว่าแรงผลักดันส่วนใหญ่เป็นเพราะทฤษฎี เพราะนิยาม เพราะตรรกะต่างๆจะเป็นส่วนสำคัญ ถ้าขาดซึ่ง "อยากทำ" อันเป็นแรงผลักจากสมองส่วนอารมณ์ (limbic system) ไปเสีย?

การพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคม หรือ social engineer จึงมีได้หลายแนว ถ้าเชื่อในแนว hard/direct/scientific ก็จะไปจัดนิทรรศการ จัดบรรยายให้ความรู้ จัดอบรมแล้วอบรมอีก หวังว่า "ถ้าคนรู้ คนจะเปลี่ยนพฤติกรรม" แต่ถ้าหันไปดูข้าศึกของพวกเรา คือบรรดาคนที่ขาย "สินค้าทำลายสุขภาพ" นั้น เขาไม่เคยที่จะมาแข่งจัดนิทรรศการ จัดบรรยาย จัดอบรมแข่งกับเราเลย แต่ไป approach ด้านความสวย ความเท่ห์ ความงาม ความ cool ความจ๊าบ ความฟิน ฯลฯ การศึกระหว่างสินค้าดี คือ "สุขภาพดี" กับสินค้านรก คือ "โรคตับ โรคปอด" ปรากฏว่าเราแพ้หลุดลุ่ย!!!

พอล้มเหลว ทำยังไง? เราก็ขอ "ทำเหมือนเดิม" อีกอย่างปีก่อนๆ ไปจัดนิทรรศการ จัดบรรยาย จัดอบรม หวังว่าสักวันหนึ่งทำแบบเดิมแล้วผลจะไม่เหมือนเดิม (ซึ่ง Einstein กล่าวไว้ มีเพียงคนบ้าเท่านั้นที่เชื่อว่าการทำเหมือนเดิมๆแล้วจะได้ผลที่แตกต่างขึ้นมา)

กระบวนการ health promotion มี enabling, mediating and advocating ถ้าแปลเป็นไทยอย่างหยาบๆก็คือ "ทำให้ทำได้ (can do/ enabling) ทำให้ทำง่ายๅ (mediating) และ advocate หรือการ "รณรงค์" คือ ทำให้รับรู้ว่า "ควรทำ ต้องทำ หรือน่าทำ" เด็กสายวิทย์คิดว่าทำยังไงดี จะลงเอยไปที่ ทำได้ ทำง่าย และไปบอกเค้าว่าทำไมต้องทำ หรือควรทำ แต่สิ่งเดียวที่เราทำไม่เป็นเลยคือ "ทำให้มันน่าทำ" แต่ศัตรูเราไม่เคยใช้ 4 วิธีแรก กลับใช้วิธีเดียวที่เราใช้ไม่เป็น คือทำให้สินค้านรกของเรา "น่าใช้" อันเป็น emotion mode หรือด้านอารมณ์ ความรู้สึก

แล้วเราก็พ่ายแพ้สงครามครั้งนี้มาตลอด

รอคอยเวลาถึงคิวที่จะออกไปบรรยาย จัดนิทรรศการ จัดอบรมครั้งต่อไป

พฤติกรรมมนุษย์นั้น ไม่เชิงเป็น "สมการเชิงเดี่ยว" แบบวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นสมการเชิงซ้อน มีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความสุนทรีย์ ความเศร้า ความสุข ความกังวล ความอิ่มใจ ฯลฯ และมีอิทธิพลมากมายกว่าด้านความคิด หรือตรรกะมากมายนัก

หนักๆเข้า ขอร้องไม่ได้ สอนไม่ได้ ก็เลยใช้ไม้ตายของสายสมการเชิงเดี่ยวคือ "ออกกฏหมายบังคับมัน (แม่ง) ซะเลย" พอคนทำตาม (เพราะกลัวถูกทำโทษ) ก็ดีอกดีใจว่าสำเร็จแล้วๆ มีบางประเทศคิดแบบนี้จริงๆ อยากจะให้คนมีครอบครัวใหญ่ อยากจะให้คนมีครอบครัวเล็ก อยากให้ ฯลฯ ใช้ออกกฏหมายตลอด ดูบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยดี แต่ถ้าสัมผัสลึกๆแล้ว เราคิดว่า จิตวิญญาณ ความสุขของคนนั้น อยากจะถูกบังคับหรือไม่? "ตัวเลข KPI" อันสวยงามนั้นคือผลลัพธ์ที่แท้จริง คือสุขภาวะของคนจริงๆ หรือเป็นสุขภาวะของหุ่นยนต์?

ทำไมคำ "อิสรภาพ" ถึงมีความยิ่งใหญ๋ สะเทือนอารมณ์ มากกว่าไปคำ "เป็นระเบียบเรียบร้อย" มาตลอดในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์"?

นี่คือสาระและความท้าทายของวิชา "การสร้างเสริมสุขภาพ" ที่เราจะต้องจัดการเรียนการสอน ที่ถึงทั้ง "ศาสตร์และศิลป์" แก่ว่าที่บัณฑิตของเราออกสู่สังคม

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ ม.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๒๓ นาฬิกา ๓๔ นาที
วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 597034เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2015 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2015 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจวิธีการเขียนแบบนี้

ได้อ่านและเข้าใจง่าย

ชอบข้อมูลนี้เลยครับ

Einstein กล่าวไว้ มีเพียงคนบ้าเท่านั้นที่เชื่อว่าการทำเหมือนเดิมๆแล้วจะได้ผลที่แตกต่างขึ้นมา.....

ขออนุญาตอาจารย์ นำบทความไปแบ่งปันต่อนะคะ

เป็นไปได้ไหมคะอาจารย์ว่าสังคมเราขาดเรื่องของสุนทรียะ ไม่ใช่ระดับบุคคลแต่เป็นภาพรวมทั้งประเทศ เรามีห้างสรรพสินค้ามากกว่าสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ เราตัดต้นไม้ที่มีคุณอนันต์เพื่อขยายถนน ระบบการศึกษาไม่ส่งเสริมวิชาศิลปะ


ความรู้สึกของการเข้าถึงความงามของธรรมชาติลดลง การเข้าถึงความงามของจิตใจยิ่งยาก ถ้ามีวิชาสุนทรียศาสตร์อยู่ในทุกสาขาอาชีพคงเยี่ยมมากเลยนะค

ขอบคุณครับ


ผมคิดว่าสุนทรียภาพไม่ได้งอกงามจากในชั้นเรียน แต่จากโอกาสที่ชีวิตได้ประสบกับความอ่อนโยนและความสวยงามก็ได้ หรือแม้กระทั่งความทุกข์ความเศร้าก็ได้ แต่ "ต้องมีเวลาอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น" ผมคิดว่าปัญหาในปัจจุบันคือเราไม่มีเวลาอยู่กับตนเอง เลยไม่ได้เห็นอารมณ์หรือความคิดของตัวเองสักเท่าไหร่ เพราะชีวิตมันเร็วและฉาบฉวยมากเหลือเกินในขณะนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท