ผมยังจำได้อย่างแม่นยำ ว่าข้อมูลจำนวนนักเรียน เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อมูล ๑๐ มิถุนายน ที่ใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการได้รับงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษา ที่เรียกว่างบรายหัว โรงเรียนบ้านหนองผือ มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น ๖๔ คน
จากนั้นกลางปีการศึกษาไม่มีการย้ายออกกลางคัน มีแต่นักเรียนย้ายมาเข้าใหม่ พอถึงปลายปีการศึกษา นับถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ นักเรียนเมื่อสิ้นปีอยู่ที่ ๖๘ คน..ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว สำหรับโรงเรียนในชุมชนเล็กๆ ที่มีไม่ถึง ๒๐๐ ครัวเรือน สภาพเศรษฐกิจชุมชนไม่ค่อยจะเข้มแข็งเท่าที่ควร และประชากรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และไปทำงานในเมืองกันมากขึ้น
ข้อสังเกตที่เห็นชัดเจน ก็คือ หนุ่มสาวจะมีคู่ครองในช่วงที่เป็นวัยรุ่น แต่ก็ไม่มีลูก หรือถ้ามีก็มีเพียงคนเดียว บางครั้งไม่ทันจะมีบุตรด้วยกัน ก็เปลี่ยนคู่ครองคนใหม่ ทำให้โรงเรียนขาดแคลนนักเรียนเป็นลำดับ ภาพเหล่านี้ เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมไทย ไม่เฉพาะแต่โรงเรียนบ้านหนองผือ
ในระยะหลัง ผมบอกกับเพื่อนครูว่า คงถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนของเราจะเริ่มมีนักเรียนลดน้อยลง หลังจากเพิ่มขึ้นปีละ ๒ – ๓ คน เพราะจากการสำรวจประชากรในวันเข้าเรียน อายุ ๔ ขวบ เข้าเรียนชั้น อนุบาล ๑ พบในทะเบียนบ้านเพียง ๕ คน เท่านั้น ถ้ายังเป็นเช่นนี้เรื่อยๆโรงเรียนก็คงเล็กลงทุกที
แต่คุณครูที่โรงเรียนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างไป โดยมองว่า การคมนาคมสะดวกมากขึ้น ถึงแม้ในหมู่บ้าน จะมีเด็กไม่มากนัก ก็อาจจะมีจากที่อื่นย้ายมา คำว่าที่อื่นของครู หมายถึงในเขตบริการอื่นที่ใหญ่กว่า จะย้ายมาในสถานที่ที่เล็กกว่า...แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ความคิดของครูมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนักเรียนในเขตบริการของหนองผือ ที่มีเพียงหมู่บ้านเดียว มีเด็กเข้าเรียนไม่ถึง ๕ คน แต่มีนักเรียนมาเข้าเรียนมากกว่า ๑๐ คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ย้ายมาจากตลาด แทนที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ หรือเข้าเรียนที่โรงเรียนดีศรีตำบลที่อยู่ใกล้บ้าน แต่เปลี่ยนใจมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองผือ ไกลจากบ้าน ๓ กิโลเมตร ก็สู้ทนรับ-ส่ง กันทั้งเช้าและเย็น
เริ่มต้นเก็บข้อมูล ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ จำนวนนักเรียนที่รายงานพร้อมเอกสารทะเบียนบ้าน รวมทั้งสิ้น ๗๓ คน ระหว่างภาคเรียนมีย้ายมาจาก อ.อู่ทองบ้าง จากต่างจังหวัดบ้าง ผมก็ให้รู้สึกว่าปีนี้ทำไมนักเรียนเพิ่มขึ้นผิดสังเกตนัก
เปิดเรียนภาคเรียนที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ มีผู้ปกครองนำลูกหลานมาเข้าเรียนต้อนรับเปิดเทอมใหม่ อีก ๒ คน ป.๒ และ ป.๕ รวมเป็นนักเรียนทั้งสิ้น ๗๘ คน ผมเตรียมรายงานข้อมูลให้เขตพื้นที่ทราบ ภายในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนนี้ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายหัว ตามที่เขตได้สั่งการเอาไว้เป็นประจำทุกปี
จึงเป็นสถิติใหม่ของโรงเรียน และเป็นข้อมูลที่น่าภาคภูมิใจที่ว่า โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่ มากกว่าร้อยละ ๘๐ นักเรียนจะลดลง และที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยร้อยละก็ไม่สูงมากนัก ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกันแล้ว เพิ่มจาก ๖๘ เป็าน ๗๘ คน ก็ถือว่าบ้านหนองผือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ มาเป็นอันดับ ๑
ผมรับนักเรียนตอนเช้า และส่งนักเรียนกลับตอนเย็น ยืนอยู่ที่หน้าประตูโรงเรียน ณ วันนี้ พบว่า รถวิ่งเข้าออกมากมาย ผู้ปกครองแปลกหน้ามีมากขึ้น ผมยิ้มทักทายไว้ก่อน ไม่นานคงจะได้คุ้นเคยกันว่าทำงานอะไร บ้านอยู่ตรงไหน..
ครับ....ขณะที่เขียนบันทึกนี้...๑๙.๓๕ นาที คุณครูที่เช่าบ้านอยู่ในอำเภอ โทรมาบอกว่า พรุ่งนี้เช้า ผู้ปกครองจะย้ายลูกจากโรงเรียนอนุบาล...มาเข้าเรียน ป.๓ ผอ.จะรับอีกได้หรือไม่...” “ได้สิครับ”
นึกในใจ..ไม่รับได้อย่างไร... ลูกค้าคนสำคัญด้วย ลำดับที่ ๗๙...เลขสวยถูกใจ ผอ.ยิ่งนัก
ชยันต์ เพชรศรีจันทร์
๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
จิ๋วแต่แจ๋วจริงๆครับ
เยี่ยยมากเลยครับ
ได้นักเรียนเพิ่มนะครับ
-สวัสดีครับ
-นักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะโรงเรียนน่าอยู่นะครับ
-เป็นกำลังใจให้ทีมงามพัฒนาโรงเรียนทุกท่านครับ
ทีละก้าว ครึ่งก้าว เราเดินหน้า
รอเวลา ถึงเส้นชัย มิไกลห่าง
แม้จะเหนื่อย ขอเพียงว่า อย่าปล่อยวาง
เห็นหนทาง อันงามหรู อยู่...ไม่ไกล
เรื่องที่ 351 ขอคิดด้วยคนเรื่องการถอดบทเรียน ดังนี้ 1. ข้อมูลใหม่คือ จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น 2. ความเป็นมาของเหตุการณ์คือคำอธิบายตั้งแต่วรรคที่1-วรรคที่ 9 3. ตัวชี้วัดที่เป็นเงื่อนไขความสำเร็จคือ การคมนาคมสะดวกมากขึ้น, มีบุคลิกเป็นมิตร, ต้อนรับเช้าและเย็น. เด็กจากตลาดมาเข้าเรียน (สัมภาษณ์เพิ่ม) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (มีผลไหม) 4. ตัวชี้วัดเงื่อนไขความไม่สำเร็จ คือ ประชากรวัยเรียนลดลง มีครัวเรือนน้อย ครัวเรือนมีบุตรน้อย ครัวเรือนมีรายได้น้อย (ข้อมูลเหล่านี้เราแก้ไม่ได้) แต่นำมาใช้เป็นข้อมูลพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ด้วย ชยันโตโมเดล ด้านผลสัมฤทธิ์ ด้านประกันคุณภาพภายใน รวมทั้งเอกลักษณ์/อัตลักษณ์ที่มีอยู่. 5. ผู้ร่วมกิจกรรมมีใครบ้าง เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง. 6. กระบวนการถอดบทเรียนมีขั้นตอนอย่างไร