๑๓. สุดยอด...โรงเรียนขนาดเล็ก


ผมใช้การทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ ทำโรงเรียนให้มีคุณค่าน่าสนับสนุน ผมสร้างโอกาสทางการศึกษา คือ ทำโรงเรียนให้น่ามาเรียน และด้านคุณภาพการศึกษา ผมสร้างนักเรียนให้น่าภาคภูมิใจ....

ผมเป็นคนที่ใช้โอกาสไม่เปลือง ถ้ามีจังหวะที่จะทำประโยชน์ให้กับองค์กร..จะรีบทำทันที โอกาสที่ว่านี้ ต้องไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เป็นไปเพื่อนักเรียนและบุคลากร แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความ “พอเพียง”ด้วย คือ มีเหตุผล พอประมาณ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้โรงเรียน..

ปีการศึกษา ๒๕๕๗..ยุครัฐบาล คสช. บอร์ดการศึกษาให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างออกหน้าออกตา แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเร่งด่วน เพื่อหาวิธีการยกระดับคุณภาพในทุกด้าน จึงมีโครงการที่ใช้งบประมาณมากมายมหาศาลมาที่เขตพื้นที่ฯ ให้ลงไปที่โรงเรียน จนทำให้เป็นที่จับตามองของโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่

จากข้อมูลก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คสช. เข้ามาบริหารในห้วงเวลาที่งบประมาณไม่ทันใช้และใช้ไม่ทัน มีงบเหลือจ่ายมิใช่น้อย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ คิดโครงการฯแล้วลงมือทำได้ทันที มีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ

หนึ่งในนั้นคือโครงการ..คัดเลือก..สุดยอดโรงเรียนขนาดเล็ก โดยสั่งการให้ สพฐ.เป็นแม่งาน และรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน..ภายในเวลาไม่ถึงเดือน เขตพื้นที่ต้องคัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ ๓ โรงเรียน ด้วยเกณฑ์พื้นฐานที่ว่า ถ้าโรงเรียนใดจะส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือก จะต้องมีผลการทดสอบระดับชาติ ป.๓ (NT) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ.....และจะต้องมีผลการทดสอบระดับชาติ ป.๖ (O-NET) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศเช่นเดียวกัน......แล้วนำข้อมูลนี้ ไปกรอกไว้ในเอกสารหมายเลข ๑ ซึ่งถือเป็นข้อมูลพื้นฐาน หรือใบสมัครนั่นเอง

ส่วนหลักเกณฑ์การตัดสินว่าจะเป็นโรงเรียนสุดยอดของเขตพื้นที่หรือไม่ กรรมการจะดูที่ผลงานการบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมทั้งการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม การใช้นวัตกรรมและความสำเร็จของสถานศึกษา ถ้าติดอันดับ ๑ ใน ๓ โรงเรียนจะได้รับงบประมาณพัฒนาสถานศึกษา โรงเรียนละ ๕๐,๐๐๐ บาท และโรงเรียนที่ได้อันดับ ๑ จะได้ไปต่อในระดับภาคต่อไป

ผมใช้เวลาใคร่ครวญไม่นานนัก ก่อนตัดสินใจว่า จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกและส่งผลงานหรือไม่..เพราะ..การใช้ผลคะแนนของนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๖..ก็พอจะเข้าเกณฑ์ ถึงแม้จะน้อยกว่าโรงอื่น แต่ก็ยังมีเกณฑ์ข้ออื่นที่พอจะสู้ได้ และที่สำคัญที่สุด..ผมอยากได้งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท มาซ่อมแซมและปรับปรุงห้องเรียน...

ห้องเรียนที่ว่านี้ คือห้องเรียนชั้น ป.๕ เดิมชั้น ป.๕ เรียนรวมอยู่กับ ป.๖ ซึ่งเป็นห้องที่มีคอมพิวเตอร์(มือสอง)อยู่เกือบครึ่งห้อง ทำให้ห้องเรียนคับแคบมาก ผมตั้งใจจะปรับปรุงห้องสมุดที่มีขนาดเล็กมาก นำหนังสือที่มีไม่มากนักไปเก็บไว้ก่อน แล้วปรับปรุงให้เป็นห้องเรียนป.๕..ได้แต่คิดไว้แต่ขาดงบประมาณ

ผมส่งผลงานความหนา ๑๐๐ หน้า รวม ๕ เล่ม เป็นโรงเรียนแรก ในขณะที่เขตพื้นที่ในช่วงเวลานั้น..ว่างเว้น ผอ.เขตพื้นที่ฯ และยังไม่รู้ว่า..เรื่องสุดยอดโรงเรียนเล็กที่ว่านี้ จะให้งานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ..และจะประเมินกันเมื่อไหร่ อย่างไร..

จนใกล้จะหมดเวลาในการคัดเลือกเพื่อให้ได้งบประมาณ และหาตัวแทนอันดับ ๑ ไปต่อในระดับภาค..เขตพื้นที่ฯก็คัดเลือกโดยวิธีดูจากผลงานเอกสาร ไม่ต้องเดินทางมาดูการบริหารจัดการที่โรงเรียนว่า ในท่ามกลางความขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณนั้น เขาทำงานกันอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ ทั้งในเรื่องวิชาการ งานบริหารทั่วไป และงานสัมพันธ์ชุมชน

เขตฯตั้งธงไว้เลยว่า ..จะคัดเลือกโรงเรียนที่ส่งผลงาน..และมีผลโอเน็ตสูงที่สุด..โรงเรียนบ้านหนองผือ มีผลสัมฤทธิ์อยู่ในอันดับที่ ๓ ของโรงเรียนขนาดเล็กที่ส่งผลงานทั้งหมด จึงได้เงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้ไปต่อในระดับภาคฯ

วันที่ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ..ผมมีความรู้สึกโล่งใจและดีใจอย่างบอกไม่ถูก ดีใจที่ไม่ต้องมีภาระไปจัดแสดงผลงานเพื่อแข่งขันในระดับภาค เพราะบุคลากรเราไม่พร้อมและเป็นห่วงเรื่องการเรียนของนักเรียน..ดีใจ..ที่จะได้ห้องเรียนใหม่เพิ่มขึ้นอีกห้องหนึ่ง..

ห้องสมุด..จะไม่มีแล้ว..เดี๋ยวค่อยว่ากัน และคิดว่าถ้าปีหน้า ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ถ้ายังมีโครงการสุดยอดโรงเรียนเล็กนี้อีก...เราจะได้เจอกัน..ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ

เขตพื้นที่จัดสรรและอนุมัติเงินงวด ๕๐,๐๐๐ บาท ให้โรงเรียนจัดซื้อจัดจ้างโดยเร็วที่สุด ผมวางแผนเรื่องนี้ไว้นานแล้ว จึงหาผู้รับเหมาแล้วดำเนินการทันที แล้วเสร็จภายในสองสัปดาห์ เนื้องานประกอบด้วย ติดฝ้าเพดาน ทาสี ติดตั้งระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด จากนั้นก็ต่อเติมกันสาดรอบด้านด้วยเมธัลชีท ให้ดูกว้างขวางและร่มรื่นสวยงาม..จึงเป็นเงินรางวัลที่ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

งานพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเริ่มจะลงตัวมากขึ้น ปลายปีการศึกษา..ผมจึงมีเวลาเร่งรัดพัฒนาคุณภาพผลสัมฤทธิ์ในทุกระดับชั้น และนิเทศติดตาม ดูแลเป็นพิเศษที่ชั้น ป.๓ และ ป.๖ ขณะเดียวกันก็ศึกษาเกณฑ์ของ..สุดยอด..โรงเรียนขนาดเล็ก..อยู่เสมอ งานนี้ฝันไกลกว่าเดิม ..และวางแผนใช้งบประมาณไว้เป็นการล่วงหน้าอีกเหมือนกัน..ขนาดนั้นเลย

และแล้วโชคก็เข้าข้าง..สพฐ.ประกาศหลักเกณฑ์และแจ้งกำหนดการประเมิน..ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ และแน่นอน..ต้นสังกัดเอาจริง เกณฑ์ละเอียดและเข้มข้นมากขึ้น เพิ่มองค์ประกอบย่อย แต่ยังคงเน้นผลสัมฤทธิ์และให้ส่งผลงาน ๑๐๐ หน้า จำนวน ๑๓ เล่ม ส่วนเงินรางวัลยังคงเดิม ๕๐,๐๐๐ บาท

ครับ..งานนี้เข้าทางผมเลย มีโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงให้ความสนใจ ผอ.สพป.กจ.๔(นายไพฑูรย์ อรุณศรีประดิษฐ์) แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกให้เหลือ ๓ โรง ในจำนวนนั้นมีโรงเรียนบ้านหนองผืออยู่ด้วยและมีผลสัมฤทธิ์มาเป็นอันดับ ๑ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของเขตฯ

ส่งคณะกรรมการฯ นำโดยท่านผอ.เขต มาประเมินผลงานที่โรงเรียนและสัมภาษณ์ผมเกือบครึ่งชั่วโมง ในประเด็นที่เกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการ ผมก็พูดเหมือนที่ผมนำเสนอไว้ในเอกสาร โดยใช้..ชยันโตโมเดลเป็นหลัก ขยายความให้กรรมการเห็นว่า ผมใช้การทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ ทำโรงเรียนให้มีคุณค่าน่าสนับสนุน ผมสร้างโอกาสทางการศึกษา คือ ทำโรงเรียนให้น่ามาเรียน และด้านคุณภาพการศึกษา ผมสร้างนักเรียนให้น่าภาคภูมิใจ....

เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ เขตพื้นที่ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้โรงเรียนบ้านหนองผือ ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นสุดยอดโรงเรียนขนาดเล็ก..ได้รับเงินรางวัล..๕๐,๐๐๐ บาท..ผมนำเงินรางวัลไปสร้างสนามฟุตซอล..ให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้เล่นกีฬาอย่างมีความสุข

เรื่องนี้..สอนให้รู้ว่า..โรงเรียนขนาดเล็ก กว่าจะได้อะไรสักอย่างไม่ใช่ง่ายเลย ต้องวางแผนอย่างรัดกุม ต้องลงทุนลงแรงและมุ่งมั่นทุ่มเท..ฝันไกล..ไม่พอ..ต้องลงมือทำด้วย...ครับ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 597000เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แต่ละก้าวมีความหมาย มีเป้าหมาย สุดยอดครับ เข้ามาชื่มชมครับ คิดถึงทุกท่านที่หนองผือครับ

ทุกอย่างมาด้วยความภาคภูมิใจครับ

ตามมาเชียร์การทำงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท