สสส. - ฝ่ามรสุม สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน


สิ่งที่สาธารณชนต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นคือ รัฐบาลนี้ไม่ควรแก้ พรบ. สสส. เพื่อถอยหลังเข้าคลอง เอา สสส. เข้ากรอบ bureaucracy หมดโอกาสทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นรอยแผลที่จารึกความผิดพลาดของรัฐบาล คสช. ไปตลอดประวัติศาสตร์การเมืองและการสาธารณสุขไทย

สสส. - ฝ่ามรสุม สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

เรื่องราวเกี่ยวกับ สสส. ดังข่าว , , , , , ทำให้ผมคิดถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว สมัยผมเป็นผู้อำนวยการ สกว. ผมโดน นสพ. ไทยรัฐโจมตีด้วยข่าวหน้า ๑ ห้าวันซ้อน ว่าใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ใช้สนับสนุนโครงการที่ไร้ประโยชน์ โดยยกโครงการวิจัยโรคกระดูกพรุนโดย ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน และข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอื่นๆ ขึ้นมาโจมตี เหตุการณ์นั้นทำให้ผมได้ความรู้เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์มากมาย และมีคนออกมาช่วยปกป้อง สกว. และตัวผม จากข่าวที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งผลสุดท้ายคือ สกว. เข้มแข็งขึ้น เพราะเราได้ประโยชน์จากการกล่าวหานั้นด้วย คือช่วยให้ทำงานอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น และสุดท้าย เราได้มิตรภาพ และความเชื่อถือ จาก นสพ. ไทยรัฐ

ในทางส่วนตัว ผมได้รับประโยชน์ในเชิงการยอมรับนับถือมากขึ้น มากขึ้นจนผมตกใจ

กรณีของผม ไม่ใหญ่โตอย่างกรณี สสส. คงจะเล็กกว่ากันสักร้อยเท่า แต่ผมก็ยังมั่นใจว่า กรณีของ สสส. ทำให้เป็น “พรจำแลง” (blessing in disguise) ได้ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ฝ่ามรสุม สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” จากการยึดมั่นในการทำประโยชน์แก่สังคมหรือบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง เพราะผลงานของ สสส. ในเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นคุณต่อบ้านเมืองอย่างล้นเหลือ เอาเงินไปให้หน่วยราชการใช้เท่าๆ กัน ผลงานด้านการสร้างเสริม “สุขภาวะ” อย่างสร้างสรรค์ อย่างที่ สสส. ทำ จะไม่เกิดขึ้น หรือดูที่ผลกระทบ จะน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว

ที่จริง หน่วยงานที่ควรถูกตรวจสอบ และแก้ไข คือหน่วยราชการ รัฐบาล คสช. น่าจะทำ crowdsourcing ถามคนทั่วไปว่า เงินหลวงก้อนไหนบ้าง ที่คิดว่าก่อผลกระทบน้อยไม่คุ้มค่า หรือใช้ไปในทางที่ไม่ก่อผล แล้วให้ คณะทำงานอิสระที่เชื่อถือได้และเป็นกลาง เข้าไปตรวจสอบ โดยเป้าหมายไม่ใช่เอาผิดใคร แต่เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้เงินราชการ ให้ก่อผลดีต่อบ้านเมืองจริงๆ จะเกิดผลเชิงบวกเป็นลูกโซ่ และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการบริหารกิจการบ้านเมือง เพราะในประสบการณ์ในชีวิตที่ยาวนานของผม ได้รับรู้โครงการที่ใช้เงินไม่คุ้มค่ามากมาย อย่างน่าตกใจ

ผมแปลกใจ ที่เมื่อ สสส. โดนรุม ว่าทำไมคณะกรรมการ (บอร์ด) สสส. โดยเฉพาะประธาน ไม่ออกมาบอกสังคม ว่าคณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับให้ สสส. ทำงานตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พรบ. และตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และคณะกรรมการได้หมั่นตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง

ผมตีความว่า เหตุการณ์ที่มีผู้กล่าวหา สสส. แล้ว ประธาน บอร์ด และกรรมการไม่ออกมาช่วยชี้แจงว่า บอร์ดได้กำกับดูแลองค์กรอย่างดี หากมีการทุจริต หรือทำงานผิดพลาด บอร์ด ต้องรับผิดชอบ ยิ่งกว่าฝ่ายบริหาร เป็นเครื่องบอกว่า สังคมไทยเรายังไม่เข้าใจความรับผิดชอบของระบบหรือกลไกกำกับดูแล (governance) องค์กร สิ่งที่ควรทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองคือ ทำความเข้าใจกับกรรมการ (บอร์ด) ขององค์กรอิสระของรัฐ (องค์การที่มี พรบ. จัดตั้ง แบบไม่เป็นหน่วยราชการ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ และองค์การมหาชน) ว่า บอร์ดเป็นจำเลยที่หนึ่ง หากมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตขึ้นในองค์กร แบบเดียวกับที่ผมได้รับทราบเมื่อเข้าไปเป็นบอร์ดของธนาคารไทยพาณิชย์

กรรมการของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการเหล่านี้ ควรไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร DCP ของ IOD

ผมขอเชิญชวนให้ผู้ที่เคยทำงานเป็นภาคีสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. ช่วยกันเขียนเล่าประสบการณ์ของตนอย่างตรงไปตรงมา ดัง ตัวอย่างนี้ เพื่อให้สังคมรับรู้ความจริงจากหลากหลายประสบการณ์ หลากหลายมุมมอง

ความเห็นจากผู้ว่า สตง. ตาม ข่าวนี้ น่าตกใจมาก ที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไม่เข้าใจธรรมชาติของ สสส. และองค์กรของรัฐตระกูล ส. ที่มีหน้าที่ทำงานในลักษณะใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ ที่ต้องการความคล่องตัว ไม่ใช่ทำตามแผนงานที่กำหนดทั้งหมดแบบราชการ แต่ไม่ว่าจะยืดหยุ่นคล่องตัวเพียงใดก็ต้องอยู่ภายใต้กลไกตรวจสอบ ที่กำหนดโดย บอร์ด และกลไกอื่นๆ ของบ้านเมือง รวมทั้งการตรวจสอบสาธารณะ

หน่วยงานที่ทำงานหลากหลายหน้า อย่างซับซ้อนในแบบของ สสส. จะให้หมดจดจากข้อตำหนิย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องมีน้อยมาก และเมื่อตรวจพบก็ต้องแก้ไขเสีย ไม่ทำผิดพลาดซ้ำซาก ผมเชื่อว่า ข้อผิดพลาดหรือกำกวมน่าจะมีไม่ถึงร้อยละ ๕ ของงานและเงินทั้งหมด ในขณะที่ส่วนนี้ของราชการมีสัดส่วนมากกว่ามาก

ผมถูกผู้เขียน บทความนี้ เอาชื่อมาใส่ในตารางเพื่อบอกเป็นนัยว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งผมขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง หน้าที่เหล่านั้นมีการสรรหาหรือขอร้องให้ทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ผมไปแสวงหา และเมื่อทำหน้าที่เหล่านั้น ก็ยึดประโยชน์บ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนองค์กร แบบเบี้ยวๆ บูดๆ เลย ท่านผู้เขียนบทความนี้คงจะอยู่กับสังคมแบบที่ผู้คนมุ่งแต่แสวงประโยชน์ตน ซึ่งผมอยู่คนละภพภูมิกับท่าน ดัง บันทึกนี้

ที่จริงผมเกี่ยวข้องกับองค์กรสาธารณะมากกว่าที่ผู้เขียนบทความดังกล่าวค้นมาใส่เสียอีก ดังบันทึกนี้

และผมเชื่อว่า หาก สสส. ปรับปรุงการดำเนินงานตามข้อท้วงติงที่สมเหตุสมผล รวมทั้งจัดให้มีคนนอก ที่อาจมองโลกแตกต่าง แต่เป็นคนทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง เข้ามาเป็นกรรมการตามจุดต่างๆ มากขึ้น สสส. น่าจะทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้นไปอีก

สิ่งที่สาธารณชนต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นคือ รัฐบาลนี้ไม่ควรแก้ พรบ. สสส. เพื่อถอยหลังเข้าคลอง เอา สสส. เข้ากรอบ bureaucracy หมดโอกาสทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นรอยแผลที่จารึกความผิดพลาดของรัฐบาล คสช. ไปตลอดประวัติศาสตร์การเมืองและการสาธารณสุขไทย

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ต.ค. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 596872เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2015 06:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

I support this: "...สิ่งที่สาธารณชนต้องช่วย กันแสดงความคิดเห็นคือ รัฐบาลนี้ ไม่ควรแก้ พรบ. สสส. เพื่อถอยหลังเข้าคลอง เอา สสส. เข้ากรอบ bureaucracy หมดโอกาสทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นรอยแผลที่จากรึกความผิดพลาดของรัฐบาล คสช. ไปตลอดประวัติศาสตร์การเมืองและการสาธารณสุขไทย ..."

Why do we want to fix what is working excellently now? There are more than enough work to fix what NOT WORKING in government already.

พวกผม คนชุมชน เติบโตทางความคิดและการทำงาน ถอดบทเรียน เรียนรู้ รู้ผิด รู้ถูก ผ่านประสบการณ์ งานชุมชนมาถึงวันนี้ ได้เพราะการ หนุนเสริมของ พอช และพี่น้องตระกูล ส.ในการสร้างสุขสู่ชุมชน


ระฆังทองยิ่งตียิ่งกังวาล คนจะเห็นค่ามากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท