ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๙๐. ครูกับชีวิตที่มีคุณค่า



เช้าวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ทึ่ทางออกขึ้นเครื่องหมายเลข 73 ของสนามบินดอนเมือง เพื่อไปพิษณุโลก ผมนั่งหันหลังฟังผู้หญิงวัยกลางคน 3 คนคุยกันเรื่องการวิจัย โดยเงี่ยหูฟังสาระกระท่อนกระแท่น และเดาได้ว่าเป็นเรื่องของครู หรือนักวิจัยทางการศึกษา

พอจะจับความว่าต้องทำตามที่ ผอ. สั่ง ทำหลายโครงการ ต้องช่วยคนอื่นด้วย ทำโดยเก็บข้อมูลตามแบบสอบถาม ตามด้วย "in-depth" มีการพูดถึงผู้ใหญ่คนหนึ่งว่า สนใจทุกเรื่อง ก่อความเดือดร้อนให้ลูกน้อง

มีการพูดถึง สกว., วช, ในทำนองว่าต้องอ่านทบทวนรายงานวิจัยของหน่วยงานเหล่านี้

ผมเงี่ยหูฟังว่าพูดถึงโจทย์วิจัยบ้างไหม พบว่าตลอดเวลาประมาณ ๒๐ นาทีไม่มีพูดถึงเลย ไม่มีเอ่ยถึงว่างานวิจัยที่ทำ จะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนอย่างไรบ้าง

ทำให้ผมไตร่ตรองสะท้อนคิดกับตนเองว่า ครู (อาจเป็นนักวิจัยทางการศึกษาก็ได้) เหล่านี้โชคไม่ดี เส้นทางชีวิตไม่ช่วย ให้เข้าถึงคุณค่าของกิจการงานที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน หมกมุ่นอยู่เพียงการทำงานที่จำเจ ทำตามคำสั่งของ "ผอ." ไม่ได้ทำเพราะ สิ่งนั้นมีคุณค่าต่อการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้แก่ชาติบ้านเมือง

ชีวิตของเขา จึงเป็นชีวิตที่จืดชืดไร้รสชาติ ไม่ปรุงรสด้วยคุณค่าต่อผู้อื่น และต่อสังคมภาพรวม

ผมนั่งฟังและบอกตัวเองว่าหญิงกลางคนสามคนนี้จิตใจหมกมุ่นอยู่เพียงผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น หากครูและคนใน วงการศึกษามีจิตในอยู่ในภพภูมิเช่นนี้ คุณภาพการศึกษาจะเป็นอย่างไร เราเห็นความจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว

ได้มีโอกาสไตร่ตรองสะท้อนคิดจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมตระหนักว่า ชีวิตของคนเราหากได้เข้าถึงความคิด หรือกระบวนทัศน์ ที่มุ่งทำเพื่อผู้อื่นหรือรู้จักทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อส่วนรวม หรือเพื่อความดีงาม ถือว่าผู้นั้นได้เข้าสู่ภพภูมิแห่ง “พรหม” คือเป็นที่พึ่งได้ แต่คนที่จิตใจมุ่งเพียงแสวงประโยชน์ตน หิวโหยผลประโยชน์ตน ภาษาพระเรียกว่าเป็น “เปรต”

คนเราในช่วงมีชีวิตตัวเป็นๆ นี่แหละ อาจเป็นพรหมได้ เป็นเปรต ก็ได้ การศึกษา/ครู เป็นบุคคลสำคัญในการเอื้อให้ศิษย์ เติบโตไปเป็นพรหม โดยที่การบริหารการศึกษาของประเทศต้องเป็นไปในทางให้ครูพัฒนาตนเองสู่ความเป็นพรหม



วิจารณ์ พานิช

๔ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 594329เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2015 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2015 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบใจบทความนี้มากครับ

ตรงประเด็นมาก

เป็นเช่นนั้นจริงครับ เศร้าใจ ...

ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้น (เกินครึ่งหนึ่ง) ในสังคม(กลุ่ม) นี้ แต่ก้อมีครูบางคนที่มีจิตเป็นครูที่ให้เด็ก โดยไม่ทราบว่าตนเองทำวิจัยอยู่จำนวนหนึ่ง ดิฉันเคยถูกรับเชิญจาก สพฐ.เขตให้ดูแลครูประมาณ 10 คนทำวิจัยเพื่อขอผลงาน ครูทุกคนจะมีต้นแบบงานวิจัยมาให้ดู (สงสัยในใจว่าจะเอามาดัดแปลง) ในครั้งแรกที่เจอกัน ต้องละลายพฤติกรรม เพื่อให้รู้จักคุ้นเคยกัน ดิฉันขอขอบคุณทุกคนที่มาพบกันว่า จะทำให้ดิฉันมีโอกาสทำความดี เราได้สร้างข้อตกลงร่วมกันว่าใครมีหน้าที่อย่างไร โดยดิฉันสัญญาว่า ถ้ามั่นใจในตัวดิฉันแล้ว งานทุกคนต้องผ่านแน่นอน หากจะต้องล่วงเกินกันทำให้ไม่สบายกายสบายใจ จะได้ไม่มีเวรต่อกัน ต่อมาดิฉันได้ขอให้ครูแต่ละคนว่าตนเองทำงานอะไรอยู่ แล้วมีปัญหาอะไรอย่างคร่าวๆ ครั้งที่ 2-3 ได้บรรยายแนวคิดการทำวิจัยอย่างคร่าวๆ พร้อมยกตัวอย่างานของครูแต่ละคนประกอบ แล้วเริ่มให้ทบทวนงานกัน ในการทำวิจัน ดิฉันสร้างกลุ่มขึ้นเพื่อให้แลกเปลี่ยนตรวจงาน ขณะตรวจงาน ดิฉันจะอธิบายจุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ สิ่งที่ถูกต้อง ครูเกือบทุกคนทำงานกันอย่างตั้งใจ เมื่อส่งผลงานพบว่า ร้อยละ80 ผ่าน เหลือ 2 คน ปรับปรุง เมื่อได้รับข่าว คุณครูดีใจกันมาก มาหาไปทานข้าวด้วยกัน ดิฉันจึงให้ทุกคนสะท้อนคิด ครูบอกว่าหลายคนแอบไปร้องไห้ คนละหลายรอบ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า งานวิจัยที่แท้จริงคือ อย่างไร ต่อมาอีก 2 คนที่ได้ปรับปรุงก้อ ผ่านอีก คุณครูแอบเม้าว่า เคยแอบอิจฉาเพื่อนเห็นอีกกลุ่มที่มี 10 คนที่ทำผลงานวิจัยขอผลงานเหมือนกัน แต่อจ.ที่ปรึกษษคนละคน เขาทำงานแบบสบายๆหัวเราะกันไป แต่ผลงานไม่ผ่าน/ปรับปรุง ทุกวันนี้คุณครูเหล่านั้นทุกคน ยังเป็นครูเพื่อศิษย์เหมือนเดิม แต่ถูกติดอาวุธทางปัญญาไป คิดว่าเป็นบุญของเด็กในถิ่งทุรกันดารที่มีครูเหล่านี้เพื่อพัฒนาเขา เพราะฉะนั้น หากมีโอกาส เราต้องหาทางช่วยคุณครูเขา เพื่ออกจากบ่วงมารความคิดทางลบนั้น แต่ก้อมีอจ.บางกลุ่ม ก้อสร้าง/สอนให้คุณครูเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยทำเป็นกระบวนการตั้งแต่ ทำจนถึงตรวจให้คะแนนประเมิน อันนี้ทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ๋หลวงนักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท