​พฤติการณ์การจัดการศึกษา“ไม่สร้างนักคิด”


ต้องอธิบายเป็นด้วยเหตุผลกลใด เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างไร ไม่รวบรัดตัดความ เป็นเด็กต้องเชื่อฟัง ไม่ใช้อำนาจที่เหนือกว่า ทำไมดื้อด้าน รั้นไม่เข้าเรื่อง หรือถึงขั้นใช้กำลัง ตามตัวอย่างที่เห็นในข่าว ฯลฯ เพราะเหล่านี้จะทำให้เด็กๆหยุดคิด และอาจเลือกวิธีเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัดแทน

ไม่ว่าจะเป็นผล PISA ซึ่งเน้นประเมินสมรรถนะที่จะใช้ความรู้และทักษะ เพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริง หรือผลของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ที่ผ่านมา พบว่านักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้อยในเรื่องคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณ หมายถึง เด็กๆบ้านเราคิดไม่เก่ง มีปัญหากับวิธีคิด

ลองพิจารณาสาเหตุ อะไรบ้างมีผลต่อเรื่องนี้ ถ้าเชื่อว่า “เด็กเสมือนผ้าขาว สุดแล้วแต่ผู้ใหญ่ในสังคม จะแต้มแต่งสีใดลงไป” อย่างนั้นผู้ใหญ่ในสังคมนั่นเองเป็นสาเหตุ เพื่อให้แคบเข้า ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการจัดการศึกษา โรงเรียน หรือครู ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง โดยละเหตุอื่นๆไว้ก่อน

การบริหารจัดการที่โรงเรียน ต้องกระตุ้นให้เด็กคิด ทุกคำถามต้องมีคำตอบ คำตอบต้องอยู่บนเหตุผลและคุณธรรมจริยธรรม ทำไมต้องผมสั้น ต้องกระโปรงยาว ไม่ใส่เครื่องประดับ ไม่ใช้เครื่องสำอาง ไม่ใช้โทรศัพท์ ห้องน้ำไม่สะอาดเท่าห้องน้ำครู ห้องเรียนไม่สวยงามเท่าห้องผู้อำนวยการ ฯลฯ

ต้องอธิบายเป็นด้วยเหตุผลกลใด เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างไร ไม่รวบรัดตัดความ เป็นเด็กต้องเชื่อฟัง ไม่ใช้อำนาจที่เหนือกว่า ทำไมดื้อด้าน รั้นไม่เข้าเรื่อง หรือถึงขั้นใช้กำลัง ตามตัวอย่างที่เห็นในข่าว ฯลฯ เพราะเหล่านี้จะทำให้เด็กๆหยุดคิด และอาจเลือกวิธีเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัดแทน

นักเรียนคิดไม่เก่ง มีปัญหากับวิธีคิด เป็นผลสืบเนื่อง ลองพิจารณาความคิดและการปฏิบัติ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหลาย ทั้งระดับนโยบาย โรงเรียน และครู ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง

เมื่อปีที่แล้ว(2557) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้แนวปฏิบัติโรงเรียนเรื่องการให้การบ้าน ซึ่งเกิดจากกรณีที่มีข่าว นักเรียนจ้างทำการบ้านมาส่ง ธุรกิจรับจ้างทำการบ้านผุดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้

1) ให้ครูพิจารณามอบหมายการบ้านอย่างเหมาะสม ไม่ยากและไม่มากเกินไป ควรมอบหมายให้ทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น โครงงานต่างๆเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ในแง่มุมต่างๆ จึงจะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริงมากกว่า

2) ให้ผู้บริหารสถานศึกษา นิเทศติดตาม การจัดการเรียนการสอน การให้การบ้านของครูอย่างเหมาะสม หากพบว่ามีการลอก หรือจ้างทำการบ้านกันจริง ให้พิจารณาโทษตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนดอย่างจริงจัง

3) ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีการสอนเสริมนอกเวลาเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาว่างตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้ากว่าเพื่อน หรืออาจจัดให้มี “คลินิกเพื่อนช่วยเพื่อนเรียน” หรือกิจกรรมอื่นๆที่จะช่วยให้นักเรียนบรรลุผลตามหลักสูตร

4) ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กำชับผู้บริหารสถานศึกษา ให้ติดตามการให้การบ้านของนักเรียนอย่างใกล้ชิด

เมื่อได้พิจารณาข้อความดังกล่าว รู้สึกบอกไม่ถูก การบ้านเป็นเพียงภาระงานที่ครูประจำวิชามอบหมายให้ศิษย์ เพื่อทบทวนหรือวัดประเมินผลเรื่องที่เรียน มีประเด็นใดอีกที่ต้องเติมเสริมให้แต่ละคน ครูที่โรงเรียนคิดเองทำเอง แก้ปัญหาจ้างทำการบ้านมาส่งเองไม่ได้หรือ จึงต้องเกิดแนวปฏิบัติ สมมติฐานที่เป็นไปได้ ครูแก้เองไม่ได้จริงๆ แสดงว่า ครูก็คิดไม่เก่งหรือมีปัญหากับวิธีคิดเช่นเดียวกัน แต่ถ้าครูบอกเรื่องเล็กๆที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเหล่านี้ ทำไมจะแก้เองไม่ได้ นั้นก็หมายถึง ระดับนโยบายเอง ที่มีปัญหากับวิธีคิด

อีกเรื่องเมื่อต้นปีการศึกษา(2558) เป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แนวปฏิบัติในการลดภาระครูและนักเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน(สสค.) มีบทสรุปว่า จาก 200 วันที่โรงเรียนเปิดสอน ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน หรือเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด เจียดให้กับกิจกรรมภาคบังคับตามระบบการศึกษา ระดับโรงเรียน ศธ.แนะไว้อย่างนี้

1) ให้โรงเรียนคัดกรองโครงการ/กิจกรรมที่หน่วยงานภายนอกขอความร่วมมือ โดยพิจารณาเฉพาะโครงการ/กิจกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้เอง

2) ทบทวนโครงการ/กิจกรรม ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่ยังดำเนินการอยู่ หากพบว่าเป็นภาระหรือส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนให้ยกเลิก เว้นแต่โครงการ/กิจกรรมนั้น มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน

3) โรงเรียนต้องไม่ร่วมดำเนินการโครงการ/กิจกรรมกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องที่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครูและนักเรียน กรณีที่มีหน่วยงานภายนอกขอความร่วมมือในเรื่องที่จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครูและนักเรียน หรือใช้ระยะเวลามาก ให้โรงเรียนเสนอขอความเห็นชอบ จากคณะกรรมการสถานศึกษา และกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาก่อนดำเนินการ

นี่ก็เช่นกัน แค่นี้โรงเรียนคิดเองไม่ได้หรือ เลือกร่วมเฉพาะที่โรงเรียนทำไม่ได้ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ก็ยกเลิกเสีย ถ้าจะเป็นการเพิ่มภาระให้ครูและนักเรียนต้องไม่ร่วม เรื่องอย่างนี้อันที่จริงต้องเป็นความปกติในการพิจารณาดำเนินการโครงการ/กิจกรรมใดๆของโรงเรียนอยู่แล้ว ทำให้น่าคิด ว่าแนวปฏิบัติดังกล่าว เกิดจากระดับนโยบายคิดไม่เก่ง หรือโรงเรียนคิดไม่เก่ง ฝ่ายใดมีปัญหากับวิธีคิด หรือทั้งคู่

ที่โรงเรียนไปสุ่มถามได้ มีสักกี่คนกล้าวิพากษ์การจัดการของฝ่ายบริหาร เป็นครูมีหน้าที่สอน ฝ่ายบริหารมีหน้าที่จัดการ แยกหน้าที่กันชัด แต่ความเป็นจริง ที่นั่นโรงเรียนเดียวกัน ทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเหมือนกัน อยากพัฒนาโรงเรียนตัวเองให้ดีคล้ายกัน สอนแย่อย่างไร ฝ่ายบริหารสามารถกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ แต่กับการบริหารจัดการแล้ว ครูอย่ายุ่ง ทำหน้าที่สอนตัวเองไปแค่นั้น อย่างนั้นหรือ? แต่ส่วนใหญ่ ที่โรงเรียน ก็เป็นลักษณะนั้นจริงๆ

อำนาจหน้าที่ในระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ฝ่ายบริหารมีอยู่ รวมทั้งบทลงโทษ ทำให้ครูเลือกที่จะเฉย คงเหมือนกับคนทั่วไป แส่หาเรื่องทำไม คิดมากนอกจากไม่ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว อาจต้องเจ็บตัวด้วย เลิกคิดเสีย แล้วสอนหนังสือลูกเดียว ทำหูหนวก ตาบอด และแกล้งโง่ เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานกว่าเยอะ

เมื่อครูเฉย ไม่คิด นานวันเข้ากลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไป และถ้าพิจารณาจากคำกล่าว “วิธีสอนที่ดี ครูต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง” สุดท้ายเด็กๆผู้เป็นศิษย์ ก็จะไม่คิด คิดไม่เก่ง หรือมีปัญหากับวิธีคิดไปในที่สุด ขาดทักษะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อพิจารณาถึงที่มาที่ไป วิธีคิด และการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหลาย ทั้งในระดับนโยบาย โรงเรียน และครู ซึ่งเป็นเช่นนี้ แล้วบ้านเมืองเราจะได้เด็กที่คิดเก่ง เป็นนักคิด สักปีการศึกษาละกี่คนเชียว โปรดลองตรอง!

หมายเลขบันทึก: 595773เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2015 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2015 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

-สวัสดีครับอาจารย์ฺ

-ตามมาเยี่ยมและให้กำลังใจครับ

-"มีสักกี่คนกล้าวิพากษ์การจัดการของฝ่ายบริหาร..... "

-เป็นประโยคที่่สั้น ๆ แต่มองเห็นภาพ ณ ปัจจุบันขณะ...ที่กำลังเป็นอยู่

-มาส่งข่าวว่า"เดี๋ยวนี้ผมไปสานฝันเล็ก ๆ บนพื้นที่ไม่มากนัก ณ บ้านหนองราง ครับ"

-หากอาจารย์มาพรานกระต่าย ขอเชิญแวะพักผ่อนได้นะครับ..

-ด้วยความระลึกถึงครับ

  • แปลกใจตัวเองครับ หรือคนอื่นก็เป็นเช่นนี้ อายุยิ่งมาก ยิ่งถวิลหาอดีต เสียงเพลง สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต..
  • มีความสุขไปด้วยเลยครับ "สานฝัน" หนองรางอยู่ตรงไหนหนอ มีโอกาสต้องขออนุญาตรบกวนแน่ๆเลยครับ
  • ขอบคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ


ต้องปฏิรูปการศึกษาให้เด็กๆรู้จักคิดวิเคราะห์ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง...ช่วยกันขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมนะคะ...

ทั้งสอนอันข้างบน

คุณครูและผู้บริหารคิดเองได้

เรื่องเมื่อต้นปีการศึกษา(2558) เป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แนวปฏิบัติในการลดภาระครูและนักเรียน....


ให้ครูคิดและทำเองบ้างเถอะ

อย่าสั่งให้ครูทำประกันคุณภาพด้วยเอกสาร อย่าให้ครูรายงานเรื่องต่างๆจิปาถะ

อย่าให้ครูไปอบรมมากๆแล้วทิ้งห้องเรียน

เลิกสั่งคุณครูทำงานแล้วให้รายงาน สพม สพป และสพฐ เถอะ

ให้ครูได้พัฒนาการเรียนการสอน อยู่กับนักเรียนมากๆน่าจะดี

เฮ้อ ผมบ่นยาวไป....

อะไรที่ตามน้ำ....มันก็มองธรรมดาเกินไป

..

ผม นึกถึงตอนที่พระพุทธองค์ท่านอธิษฐานจิต แล้วลอยถาด ....ถาดนั้นทวนน้ำ ทวนกระแสนะครับอาจารย์

..

บางครั้งมันต้องทำแบบทวนกระแสนี่แหละครับ....จึงจะเกิดผล

..

คิดไปเรื่อย ก่อนเข้านอนครับ

..

ด้วยความระลึกถึง


  • การศึกษานะครับ ที่จะทำให้บ้านเมืองเราก้าวต่อไปได้..
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • ตรงใจมากครับ ช่วยกันบ่น หลายครั้งหลายโอกาสแล้ว น่าจะฟังเสียงพวกเราบ้าง(ฮา)
  • ขอบคุณอ.ขจิตมากครับ
  • พยายามสะท้อนภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในมุมมองของผู้ปฏิบัติครับ เพราะเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก ถ้าเราจริงใจ มุ่งมั่น ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันจริงๆ
  • ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีครับ!

พี่เพิ่งว่าง ตามมาเก็บอ่านบันทึกที่ยังไม่ได้อ่านค่ะ อ่านบันทึกอาจารย์แล้วก็ "อึ้ง" ค่ะ

พี่คิดว่า ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นปัญหา "ประจำชาติ" ไปแล้วนะคะ

พี่เจอคนไข้โรคเรื้อรังไม่น้อยที่ไม่ยินดีที่จะ "เรียนรู้" และ "ลงมือปฏิบัติ" เพื่ออยู่กับโรค หรือ หายจากโรค ทั้งที่การปฏิบัติ การปรับพฤติกรรม เป็นหลักกว่าครึ่งของการรักษาโรค การจ่ายยาเป็นแค่ ๑ ใน ๓ ของการรักษา

พี่คิดว่าถ้าการศึกษาช่วยให้เด็กไทย "คิดเป็น" เราก็จะมีผู้บริหารการศึกษาที่คิดเป็น เราจะมีคนไข้ที่ คิดเป็น เราจะมีข้าราชการที่คิดเป็น เราจะมีนักการเมืองที่คิดเป็น ฯลฯ เป็นวงจรที่ไม่รู้ว่าจะออกไปอย่างไร (นี่ว่าเฉพาะ "คิดเป็น" นะคะ หากกว้างไปถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ก็จะเป็นเรื่องประจำชาติที่ยิ่งใหญ่ในกาลไม่ช้า

คนที่กล้ามองตามความเป็นจริงแบบครูธนิตย์ มีไม่กี่คนนะคะ

เป็นการมองตามจริงนะคะ ถ้าเรามัวแต่มองโลกสวย ปัญหาก็ไปอยู่ใต้พรม

  • ทุกครั้งที่ได้ยินว่าจะปฏิรูป จะเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาครั้งใด ก็มักจะคิดถึงสภาพทั่วๆไปที่เราเห็นอยู่ทุกวันครับ หลายเรื่องเป็นมานานและก็ยังเป็นอยู่ แล้วเรื่องใหญ่ที่คิดกันนั้นจะสำเร็จหรือ ถ้าเรื่องเล็กๆที่โรงเรียนไม่ได้รับการแก้ไขหรือแม้แต่จะพูดถึง อาจจะรู้กันดีอยู่แล้ว หรือไม่รู้..ตัวเองจึงอยากสะท้อนแง่มุมเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้ครับ เพราะเชื่อว่าคงมีพลังมากกว่า
  • เรื่องพื้นฐาน เรื่องที่ไม่น่าจะแก้ไขยาก ถ้าจริงใจ จริงจัง หรือมุ่งมั่นกัน เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ตัวเองคิดอีกอย่างครับว่า หรือบ้านเราขาดความเอาจริงเอาจังเท่านั้น ไม่ใช่นวัตกรรม เครื่องมือ หรือวิธีการใหม่ๆดอก วิธีการที่ดี นวัตกรรมต่างๆ ไม่ต้องคิดมากคิดซับซ้อนก็ได้มั้ง ที่มีอยู่ก็น่าจะเหลือเฟือแล้วล่ะ ขอให้ทำจริงๆ ติดตามกันจริงๆเสียทีเถอะ
  • ขอบคุณพี่Nuiมากๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท