การสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ


รวมความแล้ว ผมคิดว่าวิธีคิด (mindset) ที่ครองมหาวิทยาลัยไทย อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่วิธีคิดเพื่อความเป็นเลิศ ทางวิชาการที่แท้จริง หากเราเปลี่ยนวิธีคิดนี้ไม่ได้ ก็ยากที่มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในระดับ ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ผมมีข้อสังเกตจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมากว่าสิบแห่ง และมีประสบการณ์มา ๔๐ ปี ว่ากฎเกณฑ์และวิธีการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยใช้อยู่ จะไม่สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการที่แท้จริง ให้แก่มหาวิทยาลัยไทย อย่างมากก็ได้เพียงความก้าวหน้าในระดับปัจจุบัน และเน้นความราบรื่นภายในสถาบัน จึงขอเสนอความเห็นไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ (หรือคิดแย้ง) และช่วยกันแก้ไข เพื่อให้วิถีปฏิบัติของมหาวิทยาลัย กลุ่มที่เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” เป็นวิถีเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการอย่างแท้จริง เพื่อบ้านเมืองของเราได้รับประโยชน์เป็นกลไก พัฒนาประเทศไปสู่สภาพ Knowledge-Based Society

เมื่อนำเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการสรรหา (ซึ่งมักเป็นอธิการบดี หรือรองอธิการบดี) จะนำเสนอขั้นตอนการสรรหา ที่ประกอบด้วยการให้เสนอชื่อ และการสนทนากับตัวแทนกลุ่มต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็น รวมทั้งการสนทนาหรือสัมภาษณ์ candidate แต่ละคน และมติของคณะกรรมการสรรหา มักไม่ได้เอ่ยถึงเป้าหมายในอนาคต ๔ ปี, ๘ ปี หรือ ๒๐ ปี ว่าส่วนงานนั้นควรเดินไปในทิศไหน เพื่อสร้างความเป็นเลิศ ทางวิชาการอย่างไร ผมอ่านไต๋ว่า ผู้นำเสนอมุ่งแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกติกาแล้ว อย่างโปร่งใส ไร้การเล่นพวก แต่ผมไม่สบายใจเลย ที่แทบไม่มีการพูดถึงผลประโยชน์ด้านการพัฒนาการของวิชาการ ของส่วนงานนั้นเลย

กติกา หรือข้อบังคับให้เป็นได้สมัยละ ๔ ปี ไม่เกิน ๒ สมัย ก็เอื้อต่อประโยชน์บุคคลในโอกาสดำรงตำแหน่ง ไม่เอื้อต่อการหาคนที่เก่งและเอาจริงเอาจังถึงขนาดมาเป็นผู้นำ ในการสร้างวิชาการระดับนวัตกรรม ซึ่งจะต้องใช้เวลา ทำงานอย่างพากเพียรอดทน เป็นเวลานานมาก อาจจะถึง ๒๐ ปี

นี่ไม่ได้เอ่ยถึง ในกรณีที่มีการล็อกตัวกรรมการผู้สรรหาเพื่อให้คนบางคนได้เป็นผู้บริหารมาตั้งแต่ต้น ซึ่งคนแบบนี้ จะยิ่งไม่ใช่ผู้นำทางวิชาการ แต่จะเป็นผู้นำทางการเล่นพวก เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ยิ่งกว่าเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการที่แท้จริง ที่คนกลุ่มนี้ไม่รู้จักอยู่แล้ว

รวมความแล้ว ผมคิดว่าวิธีคิด (mindset) ที่ครองมหาวิทยาลัยไทย อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่วิธีคิดเพื่อความเป็นเลิศ ทางวิชาการที่แท้จริง หากเราเปลี่ยนวิธีคิดนี้ไม่ได้ ก็ยากที่มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในระดับ ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผมอยากฟังความเห็นที่แตกต่าง หรือเห็นด้วย และให้เหตุผลหรือข้อมูลประกอบครับ


วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595761เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2015 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2015 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นภาพที่ท่านอาจารย์ฉายชัดเจน ถึงว่ามหาวิทยาลัยไทยถึงหาอันดับในโลกยากเหลือเกิน อยากให้ท่านอาจารย์เล่าเปรียบเทียบว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศเอาใกล้ๆในสิงคโปร์เขามีวิธีการคัดเลือกอย่างไรครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อสังเกตของอาจารย์ ระบบของเราจะต้องปฏิรูป องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยไม่เหมาะสม เพราะว่า 2 ใน 3 เป็นของผู้บริหาร โครงสร้างมหาวิทยาลัย

ควรปรับปรุง คิดว่าอาจารย์คงจะเห็นเพราะว่าเคยเป็นคณบดีและอธิการบดี คณะควรจะทำหน้าที่แค่

ผู้ประสานงาน งานทุกอย่างอยู่ที่ภาควิชา หัวหน้าภาควิชาคือหัวใจของมหาวิทยาลัย อธิการบดีคือสมอง

ของมหาวิทยาลัย ผมเคยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย สภาใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แต่งตั้งหัวหน้า

ภาควิชา แต่ใช้เวลามากในการลงคะแนนเลือก คณบดี ผู้อำนวยการ ไม่มีหนังสือแนะนำเกี่ยวกับ

การบริหารของคณบดี แต่มีสำหรับหัวหน้าภาควิชา ซึ่งมีหน้าที่ประมาณ 30 อย่าง แต่ของไทยเรามีมากกว่า เช่นเขียนสเป็กในการซ่อมแซม สร้างตึก คุมสร้างตึก ดูแลประปา ไฟฟ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท