วิชาภาวะผู้นำ : ว่าด้วยบุคลิกภาพผู้นำนิสิต (ภาคทฤษฎีกึ่งกระบวนการในชั้นเรียน)


ผมเชื่อว่าเมื่อนิสิต (ผู้เรียน) ได้ฟังบรรยายเสร็จสิ้นแล้ว คงย่อมสามารถวิเคราะห์ หรือบูรณาการความคิดไปสู่การเรียนรู้จากปรากฏการณ์จริงรอบตัวได้บ้าง เป็นต้นว่าการถอดรหัสความรู้ว่าด้วยเรื่องบุคลิกภาพของผู้นำผ่าน “ผู้นำ” ในระบบสังคมไทยและสังคมโลกที่ยังคงมีตัวตนและเรื่องราวให้ศึกษาเรียนรู้

การบรรยายให้ความรู้เรื่อง “บุคลิกภาพผู้นิสิต” เป็นอีกหนึ่งประเด็นการเรียนรู้ใน “รายวิชาภาวะผู้นำ” ที่บรรยาย หรือจัดกระบวนการเรียนรู้โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ อดีตคือรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และเป็นหนึ่งในทีมบุกเบิก “วิชาการพัฒนานิสิต” มากับผมในยุคเริ่มต้น


โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า “บุคลิกภาพ” เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ผู้นำนิสิต” เป็นอย่างมาก เสมอเหมือนสำนวนในทำนองว่า “บุคลิกภาพดีเหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพราะบุคลิกภาพที่ฉายเด่นอันเป็นส่วนผสมอย่างลงตัวจากภายในและภายนอก ย่อมสร้างความน่าสนใจ ประทับใจ รวมถึงความน่าเชื่อถือ-ศรัทธาไปในตัว




ผศ.ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ


ผศ.ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ ถือเป็นอาจารย์และผู้บริหารอีกท่านหนึ่งที่มี “บุคลิกภาพ/ภาพลักษณ์” ที่โดดเด่น สุภาพ แต่งกายเรียบร้อย พูดจากไพเราะเสนาะหู เข้าสังคมได้อย่างมีกาละ สิ่งเหล่านี้คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทีมวิชาภาวะผู้นำได้เรียนเชิญท่านมาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาภาวะผู้นำ




ต้นชั่วโมง : นิสิตทบทวนความรู้และการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ก่อนการเรียนรู้ในชั่วโมง ทีมกระบวนกรยังคงใช้กระบวนการนำเข้าสู่การเรียนรู้อย่างคงเส้นคงวา กล่าวคือ ให้นิสิตแต่ละกลุ่มได้ออกมานำเสนอความรู้และการเรียนรู้หน้าชั้นเรียน ผ่านวิธีการแห่งการบอกเล่า อธิบาย นำเสนอภาพอันเป็นผังมโนทัศน์ หรืออื่นๆ ตามแต่นิสิตจะพึงใจออกแบบ –

กระบวนการเช่นนี้ถูกออกแบบบนฐานคิดของการการยึด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” เน้นการเรียนรู้อย่างเป็นทีม เน้นการทำงานกลุ่ม เน้นการทบทวนการเรียนรู้อย่างเป็นทีม และเน้นการสื่อสารสร้างสรรค์ ถัดจากนั้น ผศ.ดร.สุจินฯ จึงออกมาจัดการเรียนรู้ด้วยตัวท่านเอง โดยเริ่มจากการหยิบจับเอานิยามคำว่า “บุคลิกภาพ” มาให้นิสิตได้ร่วมเรียนรู้ เป็นต้นว่า

“บุคลิกภาพ” หมายถึง สภาพนิสัยจำเพาะคน บุคลิกภาพมาจากคำภาษาอังกฤษ “Personality” แปลได้ คือ “ความเป็นเฉพาะคน” ซึ่งมีรากศัพท์เดิมมาจากภาษากรีก คือ “Persona” หมายถึง “หน้ากาก” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ)

ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ของบุคคลนั้น อันหมายถึงลักษณะที่ต่างกันของแต่ละบุคคล บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นแตกต่างจากบุคคล เช่น อุปนิสัย นิสัยใจคอ ความสนใจ วิธีการปรับตัว ทัศนคติ โครงสร้างทางร่างกาย เป็นต้น (นักจิตวิทยา)




ประเด็นข้างต้น ผมมองว่าเป็นการอธิบายความหมายที่ท้าทายต่อการเรียนรู้และถอดความมิใช่ย่อย เพราะคำว่า “หน้ากาก” คือรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นเด่นชัดเสมอเหมือน “หัวโขน” ที่สวมเด่นเป็นเป้าสายตา ต่อเมื่อนิสิตสามารถเบิ่งมองหยั่งลึกถอดความเข้าสู่สภาวะภายในหน้ากาก ย่อมบ่งชี้ หรืออธิบายความเป็น “ตัวตน” ของบุคคลนั้นๆ ได้ และนั่นย่อมเชื่อมโยงไปสู่วาทกรรมอีกหลายๆ คำที่อาจสัมพันธ์กับคำว่าบุคลิกภาพ เช่น อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์เฉพาะตน (Individuality)



มดผู้นำ มีวินัยดี




บันเทิงเริงปัญญา : เรียนรู้และสื่อสารสองทาง

อาจบรรยายให้ความรู้ดังกล่าวนี้ ถูกออกแบบไม่ให้ซับซ้อนอะไรมาก แต่ก็ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว ตรงกันข้ามคือการมุ่งกระตุ้นให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้ “คิดตาม” รวมถึงการ “ตอบคำถาม” หรือร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะๆ ตลอดจนการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ (คลิป)

กรณีประเด็นการเรียนรู้ในชั่วโมงนั้น มีหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า นิยามความหมายของบุคลิกภาพในมุมมองของนักวิชาการ หรือนักทฤษฎีจากสำนักต่างๆ องค์ประกอบของบุคลิกภาพ ลักษณะของผู้นำที่มีบุคลิกภาพที่ดีแนวทาง หรือกระบวนการของการการพัฒนาบุคลิกภาพให้พึงประสงค์

หรือกระทั่งประเด็นการพัฒนาบุคลิกภาพจากภายใน (Internal Personality) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เช่น

  • การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ความกระตือรือร้น
  • ความรอบรู้
  • ความคิดริเริ่ม
  • ความจริงใจ
  • การรู้กาลเทศะ
  • ปฏิภาณไหวพริบ
  • ความรับผิดชอบ
  • ความจำ
  • การมีอารมณ์ขัน
  • ความมีคุณธรรม



แน่นอนครับ-จากประเด็นข้างต้น ผมมองว่านั่นคือแนวปฏิบัติที่ดี หรือบันไดแห่งการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้นำนิสิตที่นิสิตต้องตระหนัก และหมั่นเรียนรู้-ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” ผ่านระบบและกลไก 3 มิติที่ประกอบด้วย การเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเอง (Learning by Self-studying) เรียนรู้จากคนอื่น (Learning by Others) เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)




เรียนรู้เพื่อกลับสู่ตนเอง

เหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อว่าเมื่อนิสิต (ผู้เรียน) ได้ฟังบรรยายเสร็จสิ้นแล้ว คงย่อมสามารถวิเคราะห์ หรือบูรณาการความคิดไปสู่การเรียนรู้จากปรากฏการณ์จริงรอบตัวได้บ้าง เป็นต้นว่าการถอดรหัสความรู้ว่าด้วยเรื่องบุคลิกภาพของผู้นำผ่าน “ผู้นำ” ในระบบสังคมไทยและสังคมโลกที่ยังคงมีตัวตนและเรื่องราวให้ศึกษาเรียนรู้

หรือแม้แต่การหวนกลับมาทบทวนบุคลิกภาพผู้นำที่อาจหมายถึงพฤติกรรมของผู้นำผ่านวาทกรรมที่คุ้นชินในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น

  • ไม้หลักปักเลน
  • นกสองหัว
  • พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
  • สอนงานสร้างทีม
  • เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
  • น้ำนิ่งไหลลึก
  • นกน้อยทำรังแต่พอตัว
  • น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
  • ได้อย่างเสียอย่าง
  • กล้าได้กล้าเสีย
  • กล้าคิดกล้าทำกล้ารับผิดชอบ
  • ตีลูกต่อหน้าแขก

รวมถึงหลักคิดสำคัญๆ ที่ควรต้องบ่มเพาะไว้ในตัวตนของนิสิต เพื่อก่อให้เกิดบุคลิกภาพและภาวะผู้นำที่ดีงาม เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียง ค่านิยม 12 ประการ ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) หรืออัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)




สิ่งเหล่านี้-ผมเชื่อว่าเกี่ยวโยง หรือยึดโยงกับคำว่าบุคลิกภาพของผู้นำนิสิตอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ต้องบ่มเพาะผ่านการลงมือทำอย่างจริงๆ จังๆ หาใช่บ่มเพาะผ่านทฤษฎีในชั้นเรียน โดยไม่คำนึงถึงการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงอย่าง ซึ่งระบบและกลไก หรือกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาภาวะผู้นำ และรายวิชาพัฒนานิสิตได้ถูกออกแบบไว้แล้วอย่างไม่ต้องกังขา



หมายเหตุ

ภาพ : ทีมกระบวนกร และนิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 595695เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สอนให้นิสิตเข้าใจบุคลิกภาพ เป็นเรื่องดี

แล้วบุคลิกภาพที่ควรเป็นในสมัยปัจจุบัน

นิสิตรับรู้อย่างไร

ขออนุญาตนำไปใช้ในสถาบัน

ขอบคุณหลายๆเด้อครับ ได้แนวทางหลายเลย

ไป มมส. มื้อวันศุกร์ กะบ่ได้พ้อกันซ้ำ

ไปงาน มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่

มีกระบวนการที่ครบขั้นตอนมาก

ชื่นชมการทำงานและการถ่ายทอดความรู้

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท