โครงการพระธรรมจาริกสัญจร (นำธรรมะห่มดอย)


หลักการและเหตุผล

...............ประเทศไทยมีชาวเขาตามที่ทางราชการจำกัดความไว้ จำนวน ๙ ชนเผ่า ประกอบด้วย กะเหรี่ยง, ม้ง, เย้า, มูเซอ, อีก้อ, ลัวะ, ขมุ และถิ่น จากสถิติประชากรชาวเขาที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ปี พ.ศ.๒๕๔๕ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, ๒๕๔๕: ๑๑) จำแนกรายการตามกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ๒๐ จังหวัด มีจำนวน ๙๒๓,๒๕๗ คน ๑๖๔,๖๓๗ หลังคาเรือน ๑๘๖,๔๑๓ ครอบครัว ๓,๔๒๒ กลุ่มบ้าน จากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงให้ชาวเขามีความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองซึ่งผิดแผกแตกต่างกัน โดยเฉพาะความแตกต่างจากคนไทยพื้นราบทั่วไปซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จากการที่ประชากรภายในประเทศขาดความเป็นเอกภาพเช่นนี้ทำให้ส่งผลต่อการพัฒนาที่ดำเนินการไปด้วยความยากลำบาก ในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงหรือชาวเขาสิ่งที่สำคัญคือ การทำสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ให้ชาวเขามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนในชาติเท่าเทียมกับคนพื้นราบทั่วไป และทำให้ชาวเขารู้สึกว่าชาวเรามีความหวังดีต่อชาวเขาอย่างแท้จริง มิได้ทำความเดือดร้อนแก่ชาวเขา ชาวเรามาช่วยชาวเขาอย่างสนิทมิตรสหายผู้หวังดีต่อกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"

การดำเนินงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เพื่อให้ชาวขาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอนตามบริเวณที่เหมาะสมบนภูเขา เลิกค้าสิ่งเสพติด เลิกการปลูกฝิ่น(บางพื้นที่) หยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอย เลิกการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การล่าสัตว์ป่า การหาของป่ามาจำหน่ายและประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นการถาวร เป็นพลเมืองที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศในการช่วยเหลือรักษาความสงบตามชายแดนอันเป็นนโยบายของรัฐบาล การดำเนินการเช่นนี้ย่อมต้องอาศัยความผูกพันทางจิตใจให้ชาวเขามีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกับคนไทย มีความรักความหวงแหนและมีความภักดีต่อชาติไทยเป็นประการสำคัญ ชาวไทยภูเขาย่อมจะทำตามด้วยความเต็มใจ ตามคำแนะนำของผู้ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ควรแก่การเคารพนับถือ ซึ่งพระสงฆ์ ถือเป็นบุคคลที่มีสถานะเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลโดยทั่วไป การกราบอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์เพื่อให้จาริกไปตามหมู่บ้านชาวเขาจึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ และจะเป็นผลพลอยได้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่ชนชาวเขาที่ยังมิได้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพื่อให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชากรไทยส่วนใหญ่นับถือเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ประกอบกับชาวไทยภูเขาบางพื้นที่จะได้รับการพัฒนามาอย่างดีแล้วทั้งการศึกษา การสาธารณสุข และระบบสาธารณูปโภค แต่ก็ยังมีชุมชนชาวเขาอีกมากที่ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐเท่าที่ควร อาจเนื่องเพราะอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร การขาดแคลนงบประมาณ หรือบุคลากรเชี่ยวชาญ

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ จึงได้เกิดโครงการพระธรรมจาริกขึ้น โดยพระธรรมกิตติโสภณ (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นองค์สถาปนาโครงการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางจิตใจของชาวเขากับชาวเราให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความสันติสุขและมีปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรองหาเหตุหาผลในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ตราบจนถึงปัจจุบันมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานคณะพระธรรมจาริกสืบต่อมา กว่า ๕๐ ปี โครงการพระธรรมจาริกประสบความสำเร็จในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการการสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนชาวเขาให้มีต่อพระพุทธศาสนา โดยกิจกรรมที่พระธรรมจาริกได้ดำเนินการที่ผ่านมา ได้แก่ การสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชนชาวเขา (ยุวพุทธธรรมจาริก) สอนจริยธรรมในโรงเรียน จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขา จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จัดบวชเนกขัมมะศิลจาริณี จัดปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ จัดอบรมธรรมเคลื่อนที่ (ธรรมจาริกสัญจร) จัดปลูกป่า บวชป่าเฉลิมพระเกียรติ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จัดบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จัดพิธีธรรมะเสียงตามสาย และจัดพิธีสืบสานวัฒนธรรมไทย วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของพระมหากษัตริย์ ประเพณีวัฒนธรรมนิยมแต่ละชนเผ่าตามท้องถิ่นต่างๆ ทุกอาศรมฯจนทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความมั่นคง มั่งคั่ง ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยภูเขา จรรโลงสังคมด้วยพุทธธรรม เป็นแบบฉบับแห่งการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมประชาธิปไตย เน้นให้มีการอบรมด้านศีลธรรม จริยธรรม การสร้างความมั่นคงด้านจิตใจ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้านการศึกษา อนามัย อาชีพ การปกครอง และเกิดความรู้ใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดกระแสแห่งความร่มเย็น และความร่วมมือในการสร้างสรรค์สังคมคนบนพื้นที่สูง สู่สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมแห่งประชาธิปไตยด้วยหลักพุทธธรรม นำไปสู่ต้นแบบทางศีลธรรม เพื่อความสงบ สามัคคี และสมานฉันท์ จากการนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้ชาวไทยภูเขาคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่พึงประสงค์ของชาติได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันโครงการพระธรรมจาริกมีอาศรมพระธรรมจาริกในสังกัด ๓๐๔ แห่ง มีพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระธรรมจาริกอยู่ในความรับผิดชอบกว่า ๓๐๐ รูป มีหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบในเขตภาคเหนือและภาคกลางบางส่วนกว่า ๒๐ จังหวัด ๑๔ ชาติพันธุ์ ยังเหลือพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาที่ควรเข้าถึงอีกประมาณ ๒,๐๐๐ หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามในช่วงระยะที่ผ่านมา งานเผยแผ่ศาสนธรรมตามชุมชนบนพื้นที่สูงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนงบประมาณ และทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างยิ่ง ทั้งที่เป็นงานสำคัญเร่งด่วนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ กอปรกับสถานการณ์ปัญหาในชุมชนบนพื้นที่สูงก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปัญหาครอบครัว การศึกษา การอนามัย การอาชีพ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการหย่าร้าง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยภาคีในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการออกธรรมสัญจรเพื่อเผยแผ่ศาสนธรรมแก่ประชาชนชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงจะเป็นการช่วยรัฐในการแก้ปัญหาชุมชนได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ การสำรวจและรับทราบปัญหาจากการออกธรรมสัญจร การช่วยเหลือเบื้องต้น (แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) ซึ่งในช่วงการทำโครงการธรรมสัญจรในครั้งที่ผ่านมานั้น การดำเนินงานได้ผลเป็นน่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์มากขึ้นและการที่ชาวบ้านรู้จักนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักของศีลห้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางโครงการพระธรรมจาริกคาดหวังไว้

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า มีประชากรน้อยเป็นอันดับ ๕ ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ ๘ ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ มีลักษณะการจัดตั้งหมู่บ้านที่ห่างไกลกัน นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยร้อยละ ๖๐ ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวเขา ได้แก่ ม้ง (แม้ว), ลีซู (ลีซอ), ล่าหู่ (มูเซอ), ลัวะ, และปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ซึ่งต่างรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จากลักษณะของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่กล่าวมา เป็นเหตุให้การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของหน่วยงานองค์กรภาครัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่โครงการพระธรรมจาริกซึ่งเป็นตัวกลางในการสร้างเข้าใจระหว่างชาวบ้านในชุมชนบนพื้นที่สูงกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนด้านบุคลากร โดยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอาศรมพระธรรมจาริก จำนวน ๕๗ อาศรม มีพระธรรมจาริกปฏิบัติศาสนกิจ จำนวน ๒๗ รูป ซึ่งยังมีหมู่บ้านขาวเขาที่ควรเข้าถึงอีก จำนวนกว่า ๕๐ หมู่บ้าน

จากเหตุผลที่กล่ามาข้างต้น สำนักงานบริหารงานโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาคจึงได้จัดทำโครงการพระธรรมจาริกสัญจรนำธรรมะห่มดอยขึ้น โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้พระธรรมจาริกที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่บนพื้นที่สูงสามารถดำเนินกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงได้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยการปฏิบัติตามนโยบายเผยแผ่ศาสนกิจเชิงรุก [Mobile Team] และเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงระหว่างพระธรรมจาริกกับและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้าใจ เข้าถึง ให้โอกาส และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

...............................................................................ป.วรสทฺโธ......................

หมายเลขบันทึก: 595689เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท