จาก “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  สู่ “1 ตำบล 1 ล้าน”


สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนค้นพบองค์ความรู้อันเป็นศักยภาพของตนเอง ตลอดจนการวิเคราะห์ลู่ทางของการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ "งอมือ งอเท้า" รอรับการช่วยเหลือจากภาคส่วนภายนอกเหมือนชุมชนอื่นๆ จนไม่สามารถเติบโตและหยัดยืนอยู่ได้

การดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เมื่อปี 2557 ในชื่อ "โรงเรียนชีววิถีอีสานเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยังยืน"บ้านบ่อแก บ่อทอง ต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม หาใช่ประสบความสำเร็จเพียงแค่เกิดศูนย์การเรียนรู้ (โรงเรียนชีววิถีอีสาน) เกิดวิทยากรชุมชน เกิดการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนสองชุมชนในชื่อ “กลุ่มปลูกพืชผักผสมผสานผลิตอาหารปลอดสารพิษกลุ่มบ้านบ่อแกบ้านบ่อทองซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้เขียนโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่อง “พื้นที่อาหารปลอดภัย” ต่อยอดหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเท่านั้น ทว่าปี 2558 กลุ่มดังกล่าวยังคงเดินหน้าด้วยตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการเสนอแนวคิดและโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากรัฐบาลจังหวัดมาขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่อาหารปลอดภัยได้อย่างน่ายกย่อง



การขอรับงบประมาณดังกล่าวเป็นการขอรับงบประมาณสนับสนุนเนื่องในโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งล้าน” อันเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อสร้างรายได้และรับมือกับภัยแล้งของแต่ละชุมชน ซึ่งกลุ่มปลูกพืชผักผสมผสานผลิตอาหารปลอดสารพิษกลุ่มบ้านบ่อแกบ้านบ่อทอง ได้สานต่อแนวคิดโรงเรียนชีววิถีอีสานด้วยการนำเสนอโครงการในภาพรวมของตำบลเลิงแฝก โดยมีฉันทามติในระดับตำบลด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะ “กกบก” เป็นพื้นที่ของการขยายฐานการผลิตเรื่องอาหารปลอดสารพิษหลังจากพื้นที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร



ภาพรวมของโครงการที่นำเสนอประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือปรับปรุงภูมิทัศน์ รื้อถอนวัชพืชจากแหล่งน้ำ สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ (พืชผัก) และการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชผักมาเพาะปลูกและแจกจ่ายให้กับผู้สนใจ จำนวน 15 ชุมชนในตำบลเลิงแฝก

เป็นที่น่าชื่นชมว่าโครงการที่นำเสนอในภาพของ “หนึ่งตำบลหนึ่งล้าน” เป็นภาพรอยต่อช่วงที่ชุมชนกำลังรอการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนต่อเนื่องในปีที่ 2 (2558) จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นภาพชีวิตที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการ “เรียนรู้คู่บริการ” ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับชุมชนอย่างเด่นชัด เพราะเป็นผลพวงของการหนุนเสริมให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้อย่ามีพลังในลักษณะกลุ่มคน ช่วยให้ชุมชนมีการจัดการความรู้ร่วมกัน มีหลักการบริหารองค์กรตามแนวทางองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยแนวคิดของการมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยและครรลอง “ฮีตฮอย” ของชุมชน

รวมถึงการสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนค้นพบองค์ความรู้อันเป็นศักยภาพของตนเอง ตลอดจนการวิเคราะห์ลู่ทางของการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ "งอมือ งอเท้า" รอรับการช่วยเหลือจากภาคส่วนภายนอกเหมือนชุมชนอื่นๆ จนไม่สามารถเติบโตและหยัดยืนอยู่ได้ -



ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการร่วมกันว่า “ศาลากกบก” ภายในพื้นที่ประกอบด้วยแปลงพืชผักปลอดสารพิษที่ “สมาชิกชุมชนแต่คุ้มจากทั้งสองหมู่บ้าน” เป็นผู้ดูแล โดยก่อนนั้นชุมชน นิสิตและนักเรียนในชุมชนได้ลงแรงช่วยกันปรับหน้าดิน เตรียมแปลงผัก รวมถึงการลงแรงใจเพาะปลูกร่วมกัน โดยพืชผักที่ปลูกเพื่อการบริโภค จำหน่ายและแบ่งปันส่วนใหญ่ล้วนเป็น “พืชผักสวนครัว” ตามหลักของการ “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา” แทบทั้งสิ้น



นอกจากนี้การปลูกสร้างศาลาเรียนรู้ใน “ศาลากกบก” ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางใจเชื่อมร้อยระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย เพราะนอกจากแรงกายและแรงใจที่ทั้งสองภาคส่วนได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว งบประมาณส่วนหนึ่งนิสิตและคณาจารย์จากวิทยาลัยการเมืองการปกครองก็มีการระดมทุนในรูปของ “ผ้าป่าสามัคคี” มาหนุนช่วยอย่างน่าชื่นใจ



ปัจจุบันศาลากกบก ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่แหล่งเรียนรู้ หรือพื้นที่การขยายฐานผลิตอาหารปลอดสารพิษ เพื่อป้อนกลับสู่ “ครัวเรือนและตลาดชุมชน” เท่านั้น หากแต่มีสัญญะทางสังคมที่น่าสนใจ เนื่องเพราะเป็นพื้นที่ของการโน้มนำให้ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือนก้าวพ้นออกมาจากตัวตน หรือความเป็นปัจเจกบุคคล ทั้งจากศูนย์เรียนรู้หลัก (โรงเรียนชีววิถีอีสาน) ศูนย์เรียนรู้ย่อยในแต่ละครัวเรือน เพื่อออกมาพบปะทำกิจกรรมทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งในแง่ของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และชีวิต การพลิกพื้นที่รกร้างสู่การเป็นพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Space) อย่างท้าทาย



นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนด้วยหลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ” ที่ขับเคลื่อนด้วยหัวใจแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนอย่างสนิทแน่น และบูรณาการความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิทยาการใหม่ๆ ได้อย่างลงตัว จนก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ทั้งในส่วนที่เป็นการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและชุมชนอย่างเป็นมรรคเป็นผลตามปรัชญา “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม”



หมายเหตุ : ภาพโดย พนัส ปรีวาสนา (วันที่ 5 กันยายน 2558)

หมายเลขบันทึก: 594460เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2015 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2015 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การทำกินเอง ปลอดสารพิษ ป้องกันโรคได้ด้วย

ขณะนี้ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ

พี่ว่าการกินผักที่ฉีดยาป้องกันแมลง ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ็บป่วย

ฝากเน้นเรื่อง ผักปลอดสารพิษ

แล้วกินอาหารสุกด้วยนะคะ

สวยจังเลยค่ะ .... ความสุข...ที่ไม่ต้องมีอะไรมากมาย นะคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท