ภาพข่าว ชาวนาแย่งน้ำ


...เห็นภาพข่าวชาวนาแย่งน้ำแล้วทำให้หดหู่ใจยิ่งนัก ด้วยตัวผู้เขียนเองเป็นลูกชาวนาทั้งสายเลือดเลยล่ะ แม้นวิถีการทำนาในแต่ละพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน และแต่ละยุคสมัยก็คงจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคงจะไม่พ้นความทุกข์ของชาวนา

...และการไม่มีน้ำทำนาน่าจะเป็นความทุกข์ของชาวนาที่นำมาแห่งความทุกข์ในทุกๆด้านติดตามมาเหลือคณานับ ภาพการใช้เครื่องสูบน้ำเป็นสิบๆเครื่องลากท่อพระยานาคจ่อลงไปในคลองส่งน้ำ เพื่อสูบน้ำขึ้นคลอง ก่อนจะกระจายไปตามที่ของแต่ละคน

...นั่นคือส่วนอยู่เหนือน้ำก็จะได้กันไปก่อน แต่ชาวนาที่อยู่ใต้น้ำต่ำลงมาของพื้นที่จะเหลือน้ำให้พอบรรเทาข้าวกล้าที่กำลังรอน้ำอยู่แทบจะยืนต้นตายแล้ว

...ข่าวมาหลายวัน ชาวนาใกล้จะเปิดศึกแย่งน้ำกันแล้ว...

...ก็ได้แต่หวังว่าผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบด้านชลประทานจะสามารถควบคุมและบริหารน้ำได้อย่างเป็นธรรม...



.............

...ย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็ก ครอบครัวผู้เขียนทำนาข้าวเหนียว ด้วยสภาพพื้นที่แห้งแล้งอย่างอีสาน ไม่มีคลองชลประทาน ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน รอน้ำฝนจากฟากฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปีหนึ่งจึงทำได้เพียงปีละครั้ง และใช่ว่าจะทำได้ทุกที่ ที่ดอนบางปีแทบไม่ได้ย่างกรายไปเหยียบผืนดินนั้น นาลุ่มก็ทำแบบพอเลี้ยงชีพได้ในแต่ละปี

...การที่จะทำหลายครั้งเหมือนชาวนาแถบภาคกลางไม่มีเลย การจะทำนาเพื่อธุระกิจจึงไม่มีเช่นเดียวกัน ทำไว้กินเป็นปีๆไปเท่านั้น ผู้เขียนจำได้ว่าปีไหนแล้งแม่จะพาไปหาจิ้งหรีดตามขี้ไถนาที่รอฝนจนแห้งกรัง ขุดปูตามคันนาที่เพิ่งเหือดน้ำดินหาย ตีตั๊กแตนที่พยายามกัดเล็มหญ้าที่ทนแล้งทอดยอดเป็นหย่อมๆ เซาะหอยขมตามสระหนองคลองขอดน้ำที่ยังพอให้ประทังชีวิตไปได้

...ด้วยความพอเพียงของการเป็นอยู่ ผู้เขียนไม่เคยเห็นพ่อกับแม่เดือดร้อนกลุ้มอกกลุ้มใจ จนเป็นทุกข์มากมายเหมือนข่าวของชาวนาในทุกวันนี้ ได้เพียงแต่ถอนใจโทษดินฟ้า ยอมรับกับชะตากรรม และก็ผ่านไปได้ในแต่ละปี

...ยังจำได้ คราวนอนนากับพ่อและพี่สาวคนติดกันกับผู้เขียน ตอนเย็นพ่อพาไปหากบ เดินเลาะตามห้วยน้ำที่ทอดยาวล้อมผืนนา ท่ามกลางเสียงเขียดร้องอยู่ แอ๊บๆ แอ๊บๆ ปลาที่ผุดบ้อนในห้วยเหมือนจะท้าให้จับตัวให้ได้ พ่อสอนให้เปิดรื้อหญ้าที่ปกคลุมดินปากห้วย เปิดไปเรื่อยๆเจอเขียดตัวน้อยก็จับใส่ข้อง เจอปูที่วิ่งรุดลงน้ำจับได้ก็โยนลงข้อง พี่สาวร้องดีใจสุดชีวิต เ็นครั้งแรกที่จับได้กบตัวบักเอ๊บ

...คืนนั้นพ่อต้มกบทำน้ำพริกครึ่งนึ่ง อีกครึ่งไว้ทำน้ำพริกกบรอบเช้าเมื่อแม่และพี่สาวคนอื่นๆตื่นจากบ้านมานาตอนเช้า กินข้าวมื้อเช้าเหมือนตอนเย็นพร้อมพ่อแม่พี่ๆ อร่อยไม่เบื่อแม้จะเป็นแจ่วกบตัวเมื่อคืนที่ต้มน้ำปลาร้าเหลือไว้

...............

...กลับมาเรื่องข่าวชาวนาแย่งน้ำ ด้วยทุนรอนที่ลงไปไม่น้อย ด้วยหนี้สินที่ติดตัวสลัดไม่หมดสักที ทุนนิยมหลั่งใหลมาท่วมท้นจนย้อนกลับไปเหมือนเดิมคงไม่ได้ ไหนจะต้องส่งรถที่ยังผ่อนไม่หมด ไหนจะเงินกู้ ธกส. ไหนจะส่งลูกคนเล็กเรียนในเมืองใหญ่ ลูกชายคนโตที่ทำงานโรงงาน ก็ไม่เคยส่งเงินมาให้เลยหลังแต่งงานมีครอบครัว

....แห่นางแมวหลายๆพื้นที่ คงจะทำให้ฝนฟ้าตกลงมาช่วยก่อนจะตายไปพร้อมๆกับข้าวกล้าที่ยืนต้นรอตาย....

................


หมายเลขบันทึก: 591566เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นลูกชาวนาเหมือนกันครับ

คิดถึงตอนหาปลาปักเบ็ดวางข่าย

ตอนนี้น่าสงสารชาวนานะครับ

รัฐนี้มีแต่ความสุขไว้แจกประชาชนค่ะ..หวังว่าผลผลิต..ที่ตกต่ำลง..คงยังคิดถึงข้าวที่ยึดมาจากรัฐก่อนบ้าง..ว่าจะเอามาแจกหรือขายราคาที่ขึ้นไปอีก..ข้าวไม่มีในนาเพราะน้ำไม่มี..หมายถึงว่าวงจรวัฏรจักรอาหารหมดไปเช่นกัน..นกไม่มีผึ้งไม่มีหนอนไม่มีปลาไม่มีเป็ดไม่มีไก่..ไม่มีสำหรับ ชาวนา ชาวบ้าน ชาวเมือง.อาหาร

ศูนย์การค้าโดนปล้นสดมส์..แต่.(วันนี้..มีข่าวในหนังสือพิมพ์ฮัมบอรก..บอกว่า..เศษรฐีCentral Groupไทยรวบซื้อAlsterhaus

ในเมืองจีนมีประวัติศาตร์..คนตายสามแสน..คนกินคน..เจ้าค่ะ..เนื่องจากความแห้งแล้ง..

ข่าวนี้สะท้อนวิกฤติขาดน้ำของโลกด้วยมิใช่แค่ประเทศไทย

ทั้งน้ำผิวโลก และน้ำใต้ดินน้อยลง เราจะทำอย่างไรกันได้บ้าง?

ในระดับครัวเรือนทำได้คือ ใช้น้ำอย่างประหยัดค่ะ

เราไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลยค่ะ แต่ตอนนี้คงต้องคิดแล้ว เพราะน้ำประปาที่ไหลมาตามท่อเปิดใช้ง่ายดายก็มาจาก 2 แหล่ง คือ น้ำใต้ดิน กับน้ำบนดิน แปลว่าเราเองก็แย่งน้ำจากชาวนาเหมือนกัน

ดิฉันก็เคยทำนามาก่อนค่ะ

ขอเชิญคุณพิชัยใส่คำสำคัญ ชุมชนคนรักโลก ด้วยนะคะ เราจะได้รวมตัวกันคุยเรื่องนี้ค่ะ

% years ago there were floods everywhere. A lot of places got land-fills and a lot of waterways got dug deeper to prevent future floods (and to let sand miners enjoy 'the spoil'). As a result the ground water level is down (water drains from grounds and flow down to the Gulf of Thailand.

The time for water management (for both droughts and floods; industries and households use; micro-climate and environment controls is never more urgent than now.

Next months (July, August and September) may see a lot of rains and floods. Will farmers be fighting over water released from neighbours and large dams? Will land fills and riverbed deepenings be on again? Will we have a water management system workingl?

เห็นแล้วหดหู่ใจมากค่ะ...ตามข่าวเรื่องนี้ทุกวันด้วยความเป็นห่วง...

เวรกรรม! ประเทศไทยเผชิญกับปัญหานี้มาทุกปี พอถึงเดือนนี้ ..แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาถาวรได้เลย ไม่เคยจำอดีต ไม่มีบันทึกความจำ เพื่อย้ำการแก้ปัญหาเลย พอถึงเวลานี้ ก็เกิดอีกซ้ำซาก.. อีกหน่อยเดือนหน้าน้ำมา ก็หมดปัญหาลง ปัญหาใหม่ตามมาคือ ภัยน้ำท่วม น้ำมาก น้ำหลาก น้ำเน่า น้ำล้น คนลำบาก ดินถล่ม โคลนทลาย น้ำไหลบ่า คร่าชีวิตคน ถนนถูกตัด น้ำซัดพังพินาศ ฯ

จึงไม่แน่ใจว่า น้ำแล้งกับน้ำมาก อันไหนจะหนักใจกว่ากันละครับพี่น้อง ตอนนั้นเราคงลืมไปแล้วว่า น้ำแล้ง คงเหลือแต่น้ำมาก......มันจะเป็นเช่นนี้อีกนานไหม นี่คือวัฏฏะแห่งกาลเวลา แต่คนยังเตรียมตัวไม่พร้อม ประมาทในกาลเวลาในแต่ละฤดูกาลจริงๆ จะแก้ไงครับพี่แจ่มจำรัสครับ

ขอบคุณทุกท่านครับ ที่เป็นห่วงชาวนา ที่โดนเรียกให้โก้หรูทานมานมนานว่า กระดูกสันหลังของชาติ

แล้วดูแลรักษายังไงกับหระดูกชิ้นนี้บ้าง

*มีข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะ มาร่วมแจมด้วยครับ...คุณเพลิน

ชาวนาไทยทั้งประเทศมีจำนวน 12,000,000 คน (สิบสองล้านคน)

ทำนาเฉลี่ยต่อไร่ที่ลงทุนจริง 21,355 บาท / ไร่
รายได้เฉลี่ยของราคาขายข้าว 10,400 บาท / ไร่
ทำแล้วขาดทุนทั้งสิ้น 10,955 บาท / ไร่
*หากทำนาหลายไร่ก็จะขาดทุนหรือทบหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ...ทำยังไงก็เป็นหนี้อยู่แล้ว

ผลผลิตของข้าวโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 680 กิโลกรัม / ไร่
ผลผลิตของข้าวไทยอยู่ที่ 448 กิโลกรัม / ไร่
*ผลผลิตของข้าวไทยต่ำกว่าเกณฑ์ 232 กิโลกรัม / ไร่

*สาเหตุของปัญหา...ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามปัจจัยทั้ง 2 ประการ คือ...
-ปัจจัยภายนอก
1. ถูกกดราคา
2. กฎหมายไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย
3. โครงสร้างตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย
4. ขึ้นกับกลไกราคาตลาด
5. ขึ้นกับภัยธรรมชาติ (แก้ไขยาก)
-ปัยจัยภายใน
1. ต้นทุนการผลิตสูง เช่น พันธุ์ ปุ๋ย ยาคุม ยาฆ่าแมลง และนาเช่าทำ
2. วิถีชีวิตบริโภคนิยม เช่น หมดไปกับการศึกษาของลูก กับดักเฟอร์นิเจอร์ เปลี่ยนมาทำนาจ้าง
3. ขาดความรู้ที่แท้จริง เช่น ขาดทักษะการเกษตรสมัยใหม่ ไม่รู้เท่าทันกลไกตลาด

***ชาวนา ...ควรปรับแก้ปัญหาที่ปัจจัยภายในเป็นหลัก ด้วยวิธีการ..
- ลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด
- ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคนิยม เป็นสารัตถะนิยม สุขนิยม หรือชีวิตนิยม
- ศึกษาเรียนรู้ทักษะการทำเกษตรสมัยใหม่ เรียนรู้เท่าทันกลไกตลาด
***รัฐบาล ควรให้ความช่วยเหลือปัจจัยภายนอก เบื้องต้น...
ดูข้อมูลรายละเอียดที่มาเพิ่มเติมได้ที่...
http://www.qlf.or.th/Mobile/Details?contentId=694

.........................................................................

ผมเขียนไว้ในเฟสอีกนิดนึง ในฐานะเป็นเด็กถ่ายเอกสารของหมู่บ้าน ...ดังนี้

“ขึ้นทะเบียนสำรวจหนี้สินภาคเกษตร”
...
สองวันมานี้ทำหน้าที่เป็นเด็กถ่ายเอกสารให้กับเกษตรกร เพื่อแจ้งเรื่อง “สำรวจหนี้สินเกษตรกร” ของทางอำเภอ น่าจะมีนโยบายให้ทำกันทั้งประเทศ...

พอเห็นตัวเลขส่วนใหญ่แล้ว ทำการเฉลี่ยด้วยความรู้สึกของตนเอง
ขั้นต่ำสุดน่าจะตกอยู่ที่ คนละ 50,000 บาท (รอฟังการประมวลผลสำรวจของทางรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง)...

เมื่อนำตัวเลขมาคูณกับจำนวนประชากร 12,000,000 คน (สิบสองล้านคน) ก็จะเป็นจำนวนตัวเลข “หนี้” ที่น่าตกใจมาก คือ...
จำนวน 600,000 ล้านบาท เขียนแบบตัวเลขเต็มๆ ให้ดูคึ ๆ เว่อร์ ๆ..
เท่ากับ 600,000,000,000 บาท (หกแสนล้านบาท) ... โอ!!! ไม่ใช่น้อย ๆ เลย...

เฉลี่ยขั้นต่ำสุดนะครับ...หากเป็นขั้นปานกลาง...ขั้นสูง จะเป็นจำนวนเงินเท่าใด...นี่ยังไม่รวมหนี้ "นอกระบบ" นะครับ
เมืองไทยเราน่าจะต้องเปลี่ยนคำกล่าวบาลีแบบใหม่เสียละกระมังครับ ว่า...
... น อิณา ทานัง ทุกขัง ปเทเส...คนไม่มีหนี้เป็นทุกข์ในประเทศ... (ฮา).
......
25/06/2558

ปีนี้แห้งสาหัสสากรรฉ์จริงๆ ครับ ที่หมู่บ้านของผมก็เจอปัญหาเรื่องการแย่งน้ำเช่นกัน ทะเลาะกันเป็นประจำเลยครับ

ทั้งนี้ คงจะโทษธรรมชาติและเทวดาฟ้าดินเท่านั้นแหละครับ จะโทษรัฐบาลก็คงไม่ได้ ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลก่อน เพราะต่างก็เจอปัญหากันคนละแบบ เลยทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปคนละทาง

จาก "กระดูกสันหลังของชาติ" ที่เราเคยภาคภูมิใจ ตอนนี้ชาวนากลายเป็นคนไข้ที่กระดูกสันหลังพรุนและไร้คนเหลียวแลอย่างน่าสงสารมากๆ เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท