ค่ายอาสาพัฒนา : ๓ ทศวรรษในแบบบันเทิงเริงปัญญา (๕ In ๑)


กิจกรรมที่ว่านี้เข้าข่าย “บันเทิงเริงปัญญา” อย่างไม่ต้องกังขา เนื่องเพราะชาวค่ายได้นำเอา “นิทาน ตำนาน และนิยาย” ที่คุ้นชินมาแปลงประยุกต์เป็นละครในภาคกลางคืน เช่น กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ พระอภัยมณี สังข์ทอง บ้านทรายทอง ถึงแม้จะไม่ได้คงไว้ซึ่งเค้าเรื่องเดิมอย่างเสร็จสรรพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือ “นวัตกรรมค่ายอาสาพัฒนา” ที่ละข้ามไม่ได้จริงๆ เพราะกิจกรรมที่ว่านี้อาจสะกิดเตือนให้คนในชุมชนได้ทบทวนเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้ง พร้อมๆ กับหวนกลับมาเล่าให้ลูกหลานฟัง

ปิดภาคเรียนที่เพิ่งผ่านพ้นสดๆ ร้อนๆ กลายเป็นห้วงเวลาอันแช่มชื่นของเหล่าบรรดานักกิจกรรมที่หลงรักการ “ออกค่าย” (ค่ายอาสาพัฒนา) เป็นที่สุด เพราะมีโอกาสได้สะพายเป้ความฝันลงสู่ชุมชนตามครรลองของการ “เรียนรู้คู่บริการ”


ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชมรมอาสาพัฒนา ถือเป็นองค์กรนิสิตที่เก่าแก่ที่สุดในวิถีค่าย จากวันนั้นถึงวันนี้รอยเท้าและเข็มไมล์การเดินทางยาวนานถึงสามทศวรรษอย่างภาคภูมิ


ล่าสุดสมาชิกชมรมอาสาพัฒนาได้หลอมรวมใจเดินทางสู่ค่ายอาสาพัฒนาในชื่อ “ค่าย 30 ปี อาสาพัฒนา รวมพลังจิตอาสาแบ่งปันรอยยิ้มเพื่อน้อง ระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2558 ณ โรงเรียนเม็กน้อยหนองไผ่ ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม




บูรณาการกิจกรรม : ๕ In ๑ ตอบโจทย์ความเป็น “มมส”


ค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า

  • ทาสีอาคารเรียนและซ่อมแซมอาคารเรียน
  • ปรับปรุงสนามเด็กเล่น
  • ทาสีป้ายชื่อโรงเรียน
  • จัดบอร์ด
  • ทำบุญตักบาตร
  • กีฬา-กิจกรรมนันทนาการ - กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์



  • กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
  • กิจกรรมส่งเสริมจินตนาการผ่านภาพวาด
  • การแสดงดนตรีและขับร้องจากนักเรียน
  • การแสดงโดยชุมชน
  • กิจกรรมการบายศรีสู่ขวัญ

เรียกได้ว่าค่ายครั้งนี้ “บูรณาการกิจกรรม” ได้อย่างหลากรูปแบบ ครบถ้วนในแบบฉบับ “บันเทิงเริงปัญญา” รวมถึงครอบคลุมระบบและกลไก ๕ ด้าน (๕ In ๑) ได้อย่างลงตัว ทั้งที่เป็นด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านบำเพ็ญประโยชน์ ด้านกีฬาและนันทนาการ ด้านวิชาการ และด้านศิลปวัฒนธรรม




ซึ่งทั้งปวงนั้นขับเคลื่อนบนฐานคิดสำคัญของการหล่อหลอมให้นิสิตได้ตระหนักถึงความเป็นปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) รวมถึงค่านิยมความเป็นนิสิต MSU FOR ALL : พึ่งได้” อันหมายถึง เป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น ...




กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน

ในทางกระบวนการขับเคลื่อนค่ายในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” นั้นเห็นภาพความร่วมมือระหว่าง “นิสิตกับชุมชน” อย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรม ชาวบ้าน “เทใจ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมหลักๆ อย่างน่ายกย่อง ทั้งการทาสีอาคารเรียน ซ่อมประตูหน้าต่างอาคารเรียน ทาสีอุปกรณ์สนามเด็กเล่น ทาสีป้ายชื่อโรงเรียน เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น การปรับภูมิทัศน์ หรือทำอาหารกลางวัน

รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น กีฬาและนันทนาการ ชาวบ้าน หรือชุมชนต่างก็เข้าร่วมอย่างไม่อิดออด เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของการเรียนรู้คู่บริการบนฐานของ “การมีส่วนร่วม” นับตั้งแต่ “ร่วมคิด-ร่วมตัดสินใจ- ร่วมทำ-ร่วมรับผิดชอบ”




เช่นเดียวกับธรรมเนียมนิยมของการอออกค่ายก็ยังไม่ละทิ้งระบบ “พ่อฮักแม่ฮัก” โดยค่ายครั้งนี้ยังคงดำเนินการเหมือนเช่นทุกค่าย ให้นิสิตได้มีพ่อฮักและแม่ฮักในชุมชน เพื่อเรียนรู้ “วิถีชีวิต-วิถีวัฒนธรรมชุมชน” ไปในตัว พร้อมๆ กับการนำพาไปสู่ระบบการ “ประชาสัมพันธ์กิจกรรม” เพื่อการรับรู้ข่าวสารค่ายฯ ผสมผสานกับการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของงานค่ายไปแบบอัตโนมัติ

ในทำนองเดียวกันนี้ ค่ายครั้งนี้ยังคงยึดมั่นในขนบเดิมๆ อย่างหนักแน่น ทั้งการสรุปงานประจำวัน การคัดเลือกประธานประจำวัน เพื่อสลับการเรียนรู้ความเป็น “ผู้นำ-ผู้ตาม” และ “ความเป็นทีม” รวมถึงเมื่อเสร็จสิ้นการงานค่ายฯ ก็มีเวทีการสรุปงาน-เปิดใจอย่างตรงไปตรงมาในแบบ “จริงจังและจริงใจ” รวมถึงการบายศรีสู่ขวัญจากชุมชน และการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารในค่าย เพื่อให้นิสิตและชุมชนได้ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน-




กระบวนการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนักเรียน

ค่ายครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดเด่นแต่เฉพาะความร่วมมือของนิสิตกับชุมชนเท่านั้น นักเรียนในโรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งกับค่ายครั้งนี้ไม่แพ้ผู้ปกครอง ดังจะเห็นได้จากภาพที่นักเรียนมาช่วยปัดกวาดเช็ดถูอาคารเรียน ทาสีอาคาร ทาสีและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์สนามเด็กเล่น รวมถึงการทาสีป้ายชื่อโรงเรียน และการจัดบอร์ด ตลอดจนการเขียนบัตรคำสื่อสารความรู้สึกไปยังพี่นิสิต–


แต่อีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมมองว่าถือเป็นจุดเด่นที่ชาวค่ายพยายามขับเคลื่อนในค่ายนั่นก็คือ “การอ่านและการวาดภาพ” กล่าวคือ นิสิตชาวค่ายได้ออกแบบกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ขึ้นภายในค่ายฯ โดยให้น้องๆ นักเรียนได้อ่านหนังสือนิทานให้กันฟัง เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน การฟัง ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านการอ่านหนังสือ รวมถึงการให้น้องนักเรียนได้วาดภาพตามจินตนาการของแต่ละคน โดยไม่ถึงขั้นต้องจำกัดว่า “ต้องวาดรูปอะไร” เพื่อให้เด็กๆ มีอิสระในการจินตนาการ จากนั้นค่อยมาวิเคราะห์ว่าภาพที่วาดนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับเรื่องอะไรบ้าง-



ผมคิดว่ากิจกรรมสองอย่างนี้เป็นกิจกรรมเติมเต็มค่ายอาสาได้อย่างน่าสนใจ อย่างน้อยย่อมช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับพี่ๆ นิสิตและเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันเอง เป็นการนำพาเด็กๆ ออกจากห้องเรียนมาสู่นอกห้องเรียนไปในตัว เสมือนการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ด้วยกายภาพและชีวิภาพใหม่ๆ ผสมผสานกับการให้พวกเขาได้มองเห็นถึงวิถีค่ายอาสา อันเป็นงานจิตสาธารณะ หรือเยาวชนจิตอาสาที่เด็กๆ จะได้รับรู้ว่า “คนต่างถิ่นยังเสียสละเวลามาสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขา-แล้วไฉนพวกเขาจะนิ่งเฉยอยู่ได้”





(โดยส่วนตัวผมนะครับ) หากสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมนี้ไปยัง “มิติชุมชน” ยิ่งน่าจะมีพลังอย่างยิ่งใหญ่ เช่น การบอกเล่านิทานในชุมชน โดยนักเรียน ครู หรือปราชญ์ชาวบ้าน หรือกระทั่งการวาดภาพสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน – ผมว่าถ้าออกแบบกิจกรรมในทำนองนี้ จะก่อเกิดมรรคผลของการเรียนรู้คู่บริการอย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว

หรือกระทั่งกิจกรรมอื่นๆ ที่นักเรียนได้นำมาแสดง (แลกเปลี่ยน) ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน และการขับร้อง ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความรู้และทักษะอันดีของนักเรียน และนั่นยังเชื่อมโยงถึงวิถีความเป็นศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นและสาระการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี




บันเทิงเริงปัญญา : จากนิทานและตำนานสู่นันทนาการภาคกลางคืน

ที่ฮือฮาสร้างสีสันไม่แพ้กิจกรรมหลักในค่าย คงหนีไม่พ้น กิจกรรมนันทนาการในภาคกลางคืน เพราะค่ายครั้งนี้คณะกรรมการค่ายลงทุนรับบทเป็นนักแสดงด้วยตนเอง เรียกได้ว่าสนุกและหัวเราะจนปวดกรามกันเลยทีเดียว

กิจกรรมที่ว่านี้เข้าข่าย “บันเทิงเริงปัญญา” อย่างไม่ต้องกังขา เนื่องเพราะชาวค่ายได้นำเอา “นิทาน ตำนาน และนิยาย” ที่คุ้นชินมาแปลงประยุกต์เป็นละครในภาคกลางคืน เช่น กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ พระอภัยมณี สังข์ทอง บ้านทรายทอง ถึงแม้จะไม่ได้คงไว้ซึ่งเค้าเรื่องเดิมอย่างเสร็จสรรพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือ “นวัตกรรมค่ายอาสาพัฒนา” ที่ละข้ามไม่ได้จริงๆ เพราะกิจกรรมที่ว่านี้อาจสะกิดเตือนให้คนในชุมชนได้ทบทวนเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้ง พร้อมๆ กับหวนกลับมาเล่าให้ลูกหลานฟัง



เช่นเดียวกับการเรียนรู้ในระบบการศึกษา นักเรียน หรือกระทั่งครูก็ย่อมได้ทบทวนว่าด้วยการเรียนรู้คติธรรมในนิทานและตำนานเหล่านี้ไปด้วย ยิ่งหากสามารถหยิบจับเอาเรื่องราวในชุมชนนั้นๆ มาประดิดประดอยเป็นเรื่องราวและแสดงในค่ำคืนของชาวค่ายอาสาฯ ผมว่ายิ่งน่าจะเกิดพลังของการเรียนรู้ได้อย่างมหาศาล –

และที่สำคัญที่ได้รับการโจษจันถึงมากเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นกิจกรรม “บอบบาง” ที่เรียนเชิญแกนนำชุมชน โดยเฉพาะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาแต่งตัวเลียนแบบผู้ใหญ่บ้าน ออกในแนวแปลกๆ แปร่งๆ เน้นฮา-สนุกสนาน แต่งตัวออกผู้หญิงๆ ร้องเต้นไปตามจังหวะเพลง ซึ่งในทุกๆ ค่ายของชมรมอาสาพัฒนาก็มักมีกิจกรรมในทำนองนี้เสมอ-

เรียกได้ว่า ไม่รักกันจริง แกนนำชุมชนก็คงจะไม่กล้ากระโดดออกมา “ร่วมเล่น-ร่วมแจม” ในกิจกรรมนี้อย่างแน่นอน - จึงอาจเป็นตัวชี้วัดเล็กๆ ที่สื่อให้เห็นถึงสัมพันธภาพระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน หรือกระทั่งระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกันเองด้วยก็เป็นได้




บทส่งท้าย : ไม่มีการงานใดที่ปราศจากปัญหาและอุปสรรค


สามทศวรรษค่ายอาสาพัฒนาของชมรมอาสาพัฒนา ดูเหมือนจะเห็นพัฒนาการของค่ายอาสาในแบบบูรณาการ (สหกิจกรรม) หรือการเรียนรู้คู่บริการอย่างเด่นชัดขึ้นตามลำดับ ถึงแม้อาจจะยังไม่เห็นกระบวนการเรียนรู้บริบทชุมชนอย่างแน่นหนักนัก แต่ก็พอจะมองเห็นถึงความพยายามของนิสิตที่เพียรพยายามเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในแต่ละวันอย่างน่ายกย่อง

เช่นเดียวกับการมาเยือนของ “ศิษย์เก่า” (พี่ชมรม) ก็ยังถือเป็นความงดงามเชิงวัฒนธรรมของชาวค่ายฯ เพราะในค่ายนี้มีรุ่นพี่ชมรมฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างน่าชื่นใจ บ้างเอาข้าวปลาอาหารมาฝาก บ้างมาเยี่ยมยามถามข่าวให้กำลังใจ บ้างถึงขั้นปักหลักทำค่ายกับน้องๆ จนจบค่าย นี่คือสายสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวที่ควรค่าต่อการเคารพ -ชื่นชมและถือเป็นแบบอย่างเป็นที่สุด




อย่างไรก็ดีในท่ามกลางความสำเร็จของค่ายอาสาพัฒนา ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้ค่ายครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างยิ่งใหญ่ กระนั้นยังพบว่ากิจกรรมที่นิสิตและชุมชนปลงใจออกแบบหนุนเสริม (เพิ่มเติม) เข้ามาก็มีบางส่วนที่ไม่แล้วเสร็จได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ นั่นก็คือการซ่อมแซมหน้าต่าง เพราะมีกระบวนการเกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งการรื้อถอนบานหน้าต่างเก่าออกมาซ่อมแซม การติดตั้งใหม่ ไหนจะต้องจัดการเรื่องนั่งร้านที่ไม่ได้ตระเตรียมไว้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทางชุมชนและคณะครูขันอาสาบริหารจัดการต่อด้วยตนเอง...

ซึ่งบางทีกรณีดังกล่าวก็เป็นนัยสำคัญที่นิสิตชาวค่ายต้องเรียนรู้ระหว่างความสมดุลของกิจกรรมกับห้วงเวลา หรือการบริหารเวลาเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมาย

ครับ- ชื่นชมและเอาใจช่วยครับ




หมายเหตุ

1.ภาพ : ชมรมอาสาพัฒนา / กองกิจการนิสิต / สุเมธี ศรีสวัสดิ์

2.ต้นเรื่อง : นส.สายสุดา รินทร และผองเพื่อนชมรม/ สุริยะ สอนสุระ


</span>

หมายเลขบันทึก: 590908เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2015 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2015 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีความหมายจริง ๆ ครับ ;)...

มาร่วมชื่นชมด้วยคนค่ะ ...


ทำให้อยากไปค่ายเลยครับอาจารย์พี่พนัส

-สวัสดีครับอาจารย์

-ผมชอบการบันทึกและภาพแบบนี้ครับ

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท