๑๔๓ : ภาษาไทย-วรรณคดี-คีตศิลป์ ไม่สูญสิ้นด้วยอาขยาน


เราควรภาคภูมิใจในความเป็นไทย สมควรอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันสืบทอดการท่อง "อาขยาน" ต่อไป การสอนท่องอาขยานไม่ใช่การสอนให้เด็กท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่เป็นการสอนที่แฝงด้วยวิธีการที่แยบยล แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทย รักความเป็นไทย ซาบซึ้งในภาษาไทย ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีให้กับลูกหลานไทย อีกทั้งยังเป็นบันไดสู่การสร้างทักษะการคิดขั้นสูงไปในตัว

บันทึกที่ ๑๔๓ : ภาษาไทย-วรรณคดี-คีตศิลป์ ไม่สูญสิ้นด้วยอาขยาน

..........ในระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ผู้เขียนได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาครูผู้สอนภาษาไทย "อ่านได้ อ่านดี อย่างมีสุนทรียภาพ" ตามโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระภาษาไทย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๑ วิทยาการให้การอบรม คือ วิชชาจารย์ณัฏฐกฤษฏิ์ อกนิษฐ์ธาดา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคีตวรรณกรรมระดับชาติ

.........ผู้เขียนประทับใจ ชื่นชอบเป็นอย่างยิ่งที่วิทยากรที่ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี สนุก เข้าใจง่าย น้ำเสียงที่ไพเราะเวลาอ่านบทอาขยานให้อรรถรสและถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องบทอาขยาน ท่านได้เสนอแนะการอ่านบทอาขยานในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย และการสอนภาษาไทยในหนังสือแบบเรียนเร็ว ใคร่ขอสรุปย่อคำบรรยายบางส่วนของท่านไว้ดังนี้

"...อาขยาน นับเป็นแบบแผนของการสืบทอดและถ่ายทอดวรรณคดีที่ถูกคัดสรรแล้วว่ามีคุณค่าสมควรนำมาเล่าขานสู่กันฟัง เพื่อให้เกิดการซึมซับรับรู้ในคุณค่า และนำไปสู่การยกระดับจิตวิญญาณให้สูงส่งยิ่งขึ้น

...อาขยาน มีไว้เพื่อให้ท่อง คือ เปล่งเสียงก็จริง แต่มิได้มุ่งให้จำ การจำเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น มิใช่เป้าหมายอันแท้จริง...การท่องอาขยานจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่อยู่ที่เราคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู-นักเรียน จะเข้าใจความหมายและเป้าหมายที่แท้จริงของอาขยานหรือไม่...

...การเปล่งเสียงเป็นหัวใจของทุกภาษาในโลก เมื่อภาษานั้นๆได้มีวิวัฒนาการและถูกยกระดับเป็นวรรณคดี อันเป็นงานศิลปกรรม การเปล่งเสียงก็ยิ่งทวีความสำคัญในฐานะเป็นคีตศิลป์ อันถือเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวรรณคดีให้เกิดสุนทรียภาพแก่จิตใจ...ภาษาร้อยแก้วเป็นภาษาถ่ายทอดความรู้(ข้อเท็จจริง) ส่วนภาษาร้อยกรองหรือวรรณคดีเป็นภาษาที่ใช้ถ่ายทอด ความรู้สึก (จินตนาการ)..."

.........ผู้เขียนเห็นว่าเราโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทย มีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติและเป็นภาษาของตนเอง ภาษาที่บรรพบุรุษได้สร้างและถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่ทรงคุณค่ามีทั้งวรรณคดี และคีตศิลป์เป็นของตนเอง มีแบบแผนในการถ่ายทอดวรรณคดีด้วยการท่อง "อาขยาน" และด้วยแบบแผนแห่งอาขยานนี้เองที่เป็นเครื่องมือในการสืบทอดวรรณคดีได้อย่างลึกซึ้งเข้าถึงคุณค่า ซึ่งมีน้อยประเทศในโลกนี้ที่จะมีแบบแผนอย่างนี้เช่นประเทศไทยของเรา เราควรภูมิใจในภาษาของเรา

.........จากการเข้ารับการอบรมตลอดสองวันนี้ รับฟังวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของภาษาไทย การสอนภาษาไทยแบบเดิม การขับขานบทอาขยานตามรูปแบบคีตศิลป์แบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านทำนองเสนาะ การขับร้องเพลงไทย-เพลงสากล-เพลงไทยลูกทุ่ง ทำนองสรภัญญะ ทำนองพากย์โขน ทำนองเห่เรื่อ ทำนองขับหุ่นกระบอก ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่ามีความประทับใจ ซาบซึ้งในความไพเราะของวรรณคดีไทย ชวนให้หลงใหลในภาษาไทย ผู้เขียนไม่ได้จบด้านภาษาไทยแต่ด้วยความเป็นคนไทยหัวใจไทยเต็มเปี่ยมจึงรักหวงแหนภาษาไทยมากยิ่งขึ้น

.........เราควรภาคภูมิใจในความเป็นไทย สมควรอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันสืบทอดการท่อง "อาขยาน" ต่อไป การสอนท่องอาขยานไม่ใช่การสอนให้เด็กท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่เป็นการสอนที่แฝงด้วยวิธีการที่แยบยล แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทย รักความเป็นไทย ซาบซึ้งในภาษาไทย ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีให้กับลูกหลานไทย อีกทั้งยังเป็นบันไดสู่การสร้างทักษะการคิดขั้นสูงไปในตัว

........."ภาษาไทย-วรรณคดี-คีตศิลป์" จะคงอยู่คู่ไทยตลอดกาลก็ต่อเมื่อพวกเราคนไทยทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริม สนับสนุน การอ่าน/ท่องบทอาขยาน รวมถึงการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ตลอดจนอนุรักษ์ภาษาไทยของเราให้คงอยู่ชั่วกาล



อ่านเพิ่มเติม http://www.gotoknow.org/posts/590157

หมายเลขบันทึก: 590199เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 04:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

อาขยานหลายบทจำได้มาจนถึงบัดนี้ค่ะ

ต้นรากภาษาพาใจใฝ่รู้...ขอบคุณที่ช่วยกันฟื้นฟูค่ะ

ผมยังจำอาขยานได้หลายบทจนมาถึงตอนนี้ เช่น ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ฯ, บันดาลลงบันได้ฯ, ชนวนชวนชนางฯ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ ดร.จันทวรรณ

อาขยานหลายบทในวัยเด็กยังจำได้จนถึงทุกวันนี้เช่นกันค่ะ อาจารย์

ขอบคุณนะคะอาจารย์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์นงนาท สนธิสุวรรณ

"ต้นรากภาษาพาใจใฝ่รู้"

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ต้น

บทอาขยานหลายบทในวัยเด็กยังจำได้เช่นกันค่ะ

ด้วยซาบซึ้งในอรรถรสของภาษา

ประทับใจครูที่สอนในวัยเด็กด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

เป็นกลวิธีกลอุบายที่คนไทยในอดีตมอบให้เรานะครับ ...อาขยาน.....ภาษาไทยอะไรจะเพราะและคล้องจ้องกันได้ขนาดนี้นะครับ

ขอบคุณค่ะ คุณทิมดาบ

"เป็นกลวิธีกลอุบายที่คนไทยในอดีตมอบให้เรา"

ขอบคุณค่ะที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

...ร้อยกรอง เฉกเช่น ร้อยแก้ว
เรื่องคิด ครบแล้ว พร้อมเขียน
พึงเริ่ม ร่ายคำ นำเรียน
จูงใจ ให้เพียร อ่านไป

...เนื้อหา อย่าหลวม ละแก่น
กวาดแพน ภาพกว้าง กระจ่างใส
แล้วลง ล้ำลึก ระทึกใจ
จารไข คลี่คลาย สลายปม

...จักจบ ครบความ กำหนด
ทุกบท เบิกบาน ฤ ขื่นขม
พึงร้อย เรียงสรุป คำคม
อารมณ์ สบซึ้ง ตรึงนาน

ขอบคุณค่ะ คุณ share

ที่ให้ข้อเสนอแนะเป็นบทร้อยกรองไพเราะ

ชอบอ่านมากค่ะ

ภาษาไทย หากขาดการท่องจำเสียแล้ว ก็เปรียบเสมือนการขาดมูลรากที่แท้จริง ... เรียนอะไรนั้นก็ต้องอาศัยการท่องจำทั้งนั้น เช่น คณิตศาสตร์ หากเราไม่ท่องจำสูตร เราก็คงจะหาผลลัพธ์ได้ยากแน่นอนนะครับ

"เรียนอะไรนั้นก็ต้องอาศัยการท่องจำทั้งนั้น"

การจดจำเป็นพื้นฐาน...

ขอบคุณค่ะ คุณลูกสายลม ทีเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท