ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 4


ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 4

13 พฤษภาคม 2558. [1]

บทวิเคราะห์ต่อ ตอนที่ 4


วิพากษ์มาแล้วสามตอนขอต่ออีกนิด กรณี ด.ญ.ธิชาพร "เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และมีเลขประจำตัว 13 หลักจากการถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0) สามารถแจ้งเกิด(ขอสูติบัตร)ได้หรือไม่ ?" มีข้อโต้แย้งอยู่ 2 ประการคือ

(1) ด.ญ.ธิชาพร ไม่สามารถขอแจ้งการเกิด (ขอสูติบัตรไม่ได้)

(2) ด.ญ.ธิชาพร สามารถขอแจ้งการเกิดได้ (ขอสูติบัตรได้)

ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายง่าย ๆ เกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (Civil Registration) ว่าสำนักทะเบียนกลาง (กรมการปกครอง) มีหน้าที่จดทะเบียนคนสองอย่าง [2] ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 คือ (1) จัดทำทะเบียนการเกิด "Birth Registration" ตามมาตรา 18 [3] มาตรา 20 [4] และ (2) จัดทำทะเบียนคนในบ้าน "House Registration" หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ตามมาตรา 36 [5] (สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร) หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร.13 และ ท.ร.อื่น) ตาม มาตรา 38 [6] (สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นฯ)

มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

(1) ความสามารถในการแจ้งการเกิด (ขอสูติบัตรได้หรือไม่ได้)

ตาม มาตรา 18 ประกอบมาตรา 38 กล่าวคือ มาตรา 18 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ในการแจ้ง "การเกิด" ของ "เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา" กรณีเกิดในบ้าน หากเกิดในบ้านให้ "บิดาหรือมารดา" เป็นผู้แจ้ง

และตามมาตรา 19 [7]กรณี "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง" บัญญัติให้ "เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่" เป็นผู้แจ้ง มาตรา 19/1 [8] กรณี "เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะ" บัญญัติให้ "หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด" เป็นผู้แจ้ง

ในกรณีของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยให้ "จัดทำทะเบียนบ้าน" ตามมาตรา 38 วรรคแรก ในคน 3 กลุ่มคือ (1) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาต "ให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว" และ(2) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ "ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย" ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ(3) "บุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร" มาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"

หมายความว่า ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนบ้าน (แยกต่างหากจาก ท.ร.14) ไว้ สำหรับบุคคล 3 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ ตามมาตรา 38 วรรคแรก จัดทำทะเบียนบ้าน ท.ร. 13 (ทะเบียนบ้าน ใช้สำหรับคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง) และตามมาตรา 38 วรรคสอง จัดทำ ท.ร.38 (ทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการคนต่างด้าว) ท.ร. 38 ก (ทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน) นั่นเอง

(2) ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา 18

กรณี "บุคคลสัญชาติไทย" ตามมาตรา 19/3 [9] บัญญัติว่า "ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา 18 อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้…"

หมายความว่า ตามมาตรา 18 นั้น ในกรณีการเกิดไม่ว่าจะเกิดในบ้านหรือนอกบ้าน อาจมีกรณีที่ไม่ต้อง "แจ้งการเกิด" ได้แต่เดิมถือปฏิบัติในกรณีของการเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทยในกรณีที่อายุเกินกว่า 15 ปี มีสาระสำคัญว่า "กรณีผู้ขอมีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นผู้ที่เกิดในเขตพื้นที่ของสำนักทะเบียนที่ยื่นคำร้อง ไม่ว่าจะมีหลักฐานหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) หรือไม่ก็ตาม ให้ใช้วิธีการแจ้งการเกิดหรือแจ้งการเกิดเกินกำหนดสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ให้ใช้วิธีการเพิ่มชื่อโดยไม่ออกสูติบัตร เว้นแต่ผู้นั้นจะมีความจำเป็นต้องใช้สูติบัตร ก็ให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดได้ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเป็นผู้ที่อยู่ในวัยที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้ว" [10] ซึ่งไม่ได้แจ้งการเกิดไว้ ก็ใช้วิธีการเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามข้อ 97 [11] แห่งระเบียบสำนักงานกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในกรณีที่เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา สามารถแจ้งการเกิดได้ จะเป็นกรณีตามข้อ (1) เพราะกฎหมายบัญญัติว่า "ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้ง" แต่หากเป็นกรณีที่เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา "ไม่สามารถแจ้งการเกิดได้" ตามมาตรา 19/3 วรรคแรก บัญญัติไว้เฉพาะ "ในกรณีผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น" แต่ ด.ญ.ธิชาพร ยังไม่มีสัญชาติไทย จึงเห็นว่าตามมาตรา 19/3 "นายทะเบียนผู้รับแจ้ง" ไม่สามารถ "ปฏิเสธ" การแจ้งการเกิด ด.ญ.ธิชาพร ได้ กล่าวคือ ไม่สามารถใช้ "ดุลพินิจ" ในการไม่รับแจ้งการเกิดได้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า ข้อ 97 (การขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย) แห่งระเบียบสำนักงานกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และมาตรา 19/3 แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 อาจไม่สอดคล้องกับมาตรา 18 มาตรา 20 ด้วยเหตุว่า เหตุใดจึงบัญญัติให้เฉพาะ "ผู้มีสัญชาติไทย" เท่านั้นที่ "อาจจะแจ้งการเกิดหรือไม่แจ้งการเกิดก็ได้" เพราะตามบทบัญญัติมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 นั้น ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งการเกิด ต้องไปแจ้งการเกิดต่อ "นายทะเบียน" เพื่อแจ้งการเกิดในทุกกรณี อันเป็นกระบวนการแรกของการจดทะเบียนคนคือ "การจัดทำทะเบียนคนเกิด" และเนื่องจากมาตรา 19/2 ได้กล่าวถึงการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ไว้ด้วย

ประเด็นปัญหาก็คือ มาตรา 19/3 บัญญัติไว้ว่า "ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด และให้นำความในมาตรา 19/2 [12] มาใช้บังคับโดยอนุโลม" คือ ใช้ "ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง" ตามมาตรา 19/2 โดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 97 ก็ไม่ได้ระบุเงื่อนไขของการแจ้งการเกิด หรือ การขอเพิ่มชื่อ(บุคคลสัญชาติไทย)ไว้ว่าจะต้องแยกแยะกันอย่างไร

ฉะนั้นจึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติของบุคคลที่ยังไม่ได้แจ้งการเกิด ในกรณีของ "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง" ตามมาตรา 19 และ "เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง" ตามมาตรา 19/1 (รวมทั้งคนมีสัญชาติไทย และคนไม่มีสัญชาติไทย) และผู้มีหน้าที่ในการแจ้งการเกิด สามารถที่จะยื่นคำร้องขอแจ้งการเกิดได้ จะมีแนวทางในการ "ขอแจ้งการเกิด" เพื่อออกสูติบัตรได้อย่างไร เนื่องจากมาตรา 19/3 มิได้บัญญัติถึง "ผู้ไม่มีสัญชาติไทย" ไว้ และยังไม่มีแนวทางปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ หรือกฎกระทรวงกำหนด ในกรณีของ

(1) บุคคลไม่มีสัญชาติไทย ที่ยังไม่ได้แจ้งการเกิด และมีความประสงค์หลักฐาน "เอกสารการเกิด" ไว้เป็นหลักฐาน และ

(2) บุคคลไม่มีสัญชาติไทย ที่ยังไม่ได้แจ้งการเกิด และไม่มีความประสงค์หลักฐาน "เอกสารการเกิด" ไว้เป็นหลักฐาน

ว่าสามารถกระทำได้ เพียงใดหรือไม่ ตามมาตรา 18 มาตรา 20 มาตรา 19 มาตรา 19/1 ประกอบมาตรา 38 และ หนังสือสั่งการสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.1/ว 8 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 [13] ได้แจ้งแนวปฏิบัติในกรณีที่ 3 ว่า "การเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ ท.ร. 38 ก ไม่ต้องออกสูติบัตร" (ก็ได้)

และนอกจากนี้บุคคลไม่มีสัญชาติไทยยังมีสิทธิขอ "หนังสือรับรองการเกิด" ตามมาตรา 20/1 [14] ซึ่งมิได้มีรายละเอียดเทียบเท่า "สูติบัตร" (Birth Certification) ได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 3 ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 เรื่อง การรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ [15] ข้อ 1 ประกอบ ข้อ 4 ว่า "นายทะเบียนท้องที่ต้องรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะอย่างใดก็ตาม" กล่าวคือ นอกจากบุคคลจะได้มีการออกเลขบุคคล 13 หลักแล้ว บุคคลก็ยังสามารถขอแจ้งการเกิด เพื่อออกสูติบัตรได้ตามข้อ 1 ซึ่งหลักการใหม่นี้ดูเหมือนจะไป "ยกเลิก" หนังสือสั่งการ สำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.1/ว 8 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ในกรณีที่ 3 กำหนดว่า "การเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ ท.ร. 38 ก ไม่ต้องออกสูติบัตร"

บทสรุป

ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อมีกรณีที่สามารถแจ้งการเกิดได้ ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดชอบที่จะขอแจ้งการเกิดเพื่อออกหลักฐาน "สูติบัตร" ไว้เป็นหลักฐานได้ในทุกกรณี แม้จะมีกฎหมายบัญญัติคำว่าผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น "อาจร้องขอ" ไว้ตามมาตรา 19/3 ว่า "ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา 18 "อาจร้องขอ" ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้…" แต่บทบัญญัติของระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้มิได้บัญญัติแยกแยะความชัดเจนไว้ว่า กรณีใดบ้างที่ไม่ต้อง "แจ้งการเกิด"

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า การที่บทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบเปิดช่องให้ "ไม่ต้องแจ้งการเกิด" หรือ "ไม่จัดทำทะเบียนการเกิด" ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 18 มาตรา 20 มาตรา 19/3 และ ข้อ 97 (การขอเพิ่มชื่อของบุคคลสัญชาติไทย) แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งที่เป็น "บุคคลมีสัญชาติไทย และบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย" ที่ไม่ต้องแจ้งการเกิด เนื่องจากมีเหตุผลความจำเป็นที่ "ไม่" สามารถแจ้งการเกิดได้ โดยไม่ถือเป็นการขัดแย้งกันในตัวของบทบัญญัติตามกฎหมายแต่อย่างใด

ในกรณีของบุคคลที่ "ไม่มีสัญชาติไทย" การไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 หรือ บัญญัติไว้ใน กฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกตามความแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร หรือ บัญญัติไว้ใน "ระเบียบสำนักงานกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535" ซึ่งเป็นกฎหมายของผู้ปฏิบัติงานเป็นกฎหมายในระดับรองลงไป ควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจน สอดคล้องกัน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติรวมไปถึงผู้มีอำนาจให้ดุลพินิจเองโดยไม่มีกรอบแนวทางซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเป็นการกระทบ "สิทธิของบุคคล" ตามกฎหมายแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าอาจเป็นช่องทางที่จะได้รับตำหนิในมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายที่อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ได้โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาส หรือที่เรียกว่า "คนชายขอบ" ทั้งหลาย

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นด้วยกับการแจ้งการเกิด "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง" ตามมาตรา 19 และในประเด็นการแจ้งการเกิดเด็ก "เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงาน" ตามมาตรา 19/1 ตามที่บทบัญญัติมาตรา 19/2 บัญญัติไว้เกี่ยวกับ "การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็ก"

สรุปสำหรับกรณีของ ด.ญ.ธิชาพรเป็นกรณีการจัดทำทะเบียนบ้าน"คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นฯ" (ที่ไม่ใช่ ท.ร. 14 และ ท.ร. 13) ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 18 มาตรา 20 มาตรา 19 มาตรา 38 วรรคสอง

ผู้เขียนเห็นว่า ด.ญ.ธิชาพร อาจแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 ได้ ซึ่งหากจะให้นายทะเบียนท้องที่เป็นผู้ใช้ "ดุลพินิจ" (Discretion) ในการ "รับแจ้งการเกิด" ว่าจะใช้มาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ย่อมไม่ถูกต้อง ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วใน "ตอนที่ 2" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็น "ช่องว่างของกฎหมาย" ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กระทรวงมหาดไทย) ควรรับไปพิจารณาแก้ไขอุดช่องว่างของกฎหมายในส่วนนี้เพราะเป็นกรณีที่ "ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิด"มีความสามารถมีความพร้อมเมื่อใดก็จะขอแจ้งการเกิดได้เสมอ


[1] ข้อเท็จจริงกรณี ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล, 13 มกราคม 2558, โดย นางสาวคอรีเยาะ มานุแช(Koreeyor Manuchae), นักกฎหมายองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี้, https://www.facebook.com/koreeyor.manuchae?fref=ts

[2] ดูใน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, 27 มีนาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/250722

[3] มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[4] มาตรา 20 บัญญัติว่า "เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 หรือมาตรา 19/3 ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้

สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานะการเกิดไว้ด้วย

มาตรา 20 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[5] มาตรา 36 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 36 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[6] มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 38 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[7] มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[8] มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 19/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[9] มาตรา 19/3 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา 18 อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด และให้นำความในมาตรา 19/2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองแจ้งแทนได้ แต่สำหรับกรณีของบิดามารดาให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการให้ต่อเมื่อได้ชำระค่าปรับตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเปรียบเทียบตามมาตรา 47 (2) และมาตรา 51 แล้ว

มาตรา 19/3 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[10] หนังสือเวียนกรมการปกครอง ที่ มท.0322/ว.36 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2535 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน และ หนังสือเวียนกรมการปกครอง ที่ มท.0309/ว.9 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 เรื่อง การแจ้งเกิดการเกิดและการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

[11] ข้อ 97บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) สอบสวนเจ้าบ้าน ผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณา

(2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่

(3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

(4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า "คำร้องที่… ลงวันที่… หรือ หนังสือ… ลงวันที่…" แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

(5) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (22)

(6) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (5)

"การเพิ่มชื่อตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านมีอายุตํ่ากว่า 7 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุอันควรสงสัยเรื่องสัญชาติของบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อ ให้นายทะเบียนรวบรวมหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบจากนายอำเภอท้องที่ก่อนพิจารณาอนุญาต"

(เพิ่มความตามข้อ 97 วรรคสอง โดยข้อ 10 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545)

[12] มาตรา 19/2 การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 19/2 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[13] http://www.mapfoundationcm.org/pdf/thai/policy24115.pdf& http://www.mediafire.com/download/qmo4fte8cbmhkff/StatelessWor8-2552-01_n.pdf

[14] มาตรา 20/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 20/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[15] http://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/str/book/58/01/mt03091_v3.PDF

หมายเลขบันทึก: 590197เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 02:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท