Border Pass กับการแจ้งเกิด


Passport และ Border Pass สามารถใช้เป็นเอกสารเข้าออกในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายเหมือนกัน

25 มีนาคม 2552

 

ผมไม่รู้ว่านักกฎหมายท่านอื่นจะเป็นเช่นผมไหม ผมมีกิเลสอยู่บ้างอย่างประการ คือยามผมประสบข้อเท็จจริงแปลก ๆ ผมปรารถนาที่จะทราบผลทางกฎหมายว่าในทางปฏิบัติแล้วจะเป็นเช่นไร ผมยิ่งใคร่รู้มากขึ้นไปเมื่อเข้าไปพัวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพม่าเพื่อนบ้านของเรา

 

เรื่องมีอยู่ว่าตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม.13(2) ระบุว่า คนต่างด้าวต่อไปนี้ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (2) คนสัญชาติของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยเดินทางข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราว โดยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น

 

แต่ตามหนังสือสั่งการฉบับที่ มท 0309.1/ว 8 ลว.17 กุมภาพันธ์ 2552 ข้อ ก(1) กรณีการแจ้งการเกิดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนผู้รับแจ้งสามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไม่ว่าบิดามารดาของเด็กที่เกิดจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง หรือเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร และไม่ว่าบิดามารดาของเด็กที่เกิดจะมีชื่อและรายการบุคคลในเอกสารการทะเบียนราษฏรมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักหรือไม่ก็ตาม โดยประเภทของสูติบัตรที่ออกให้แก่เด็กย่อมขึ้นอยู่กับสิทธิและสถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรของบิดามารดาของเด็กที่เกิดเป็นสำคัญ...   

 

กิเลสอันอ่อนเยาว์ไร้ประสบการณ์ทางกฎหมายของผมอยู่ที่ประโยคซึ่งผมเน้นอักษรสีแดง 2 ประโยคนี่แหละ

1.แม่ถือหนังสือเดินทางประเภท Border Pass ของประเทศพม่า ถือว่าเป็นหนังสือเดินทางที่มีศักดิ์เทียบเท่า Passport หรือไม่ อย่างไร

 

2.Border Pass ดังกล่าวเป็นเอกสารตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม.13(2) หรือไม่ อย่างไร

         

สำหรับผมแล้วทั้ง Passport และ Border Pass สามารถใช้เป็นเอกสารเข้าออกในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายเหมือนกัน แต่ต่างที่มา และผู้ที่เป็นผู้ออกให้และเงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทย เท่านั้น Passport ออกโดยส่วนกลาง มีกำหนดเป็นสิบสิบวัน เดินทางได้ทั่วประเทศ Border Pass ออกโดยส่วนภูมิภาค มีอยู่ได้มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน เดินทางได้ในเขตอำเภอเมืองซึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก

 

3.ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรประสงค์สิ่งใดระหว่างพ่อแม่ที่ถือ Passport กับพ่อแม่ที่ถือ Border Pass ใช่การเข้าเมืองมาโดยถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 2 หรือไม่ หากใช่พ่อแม่ที่ถือเอกสารต่างกันถือได้ว่าเข้าเมืองโดยชอบตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองใช่หรือไม่

 

4.สิทธิและสถานการอาศัยของพ่อแม่ที่ถือ Passport และ Border Pass ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรต่างกันอย่างไร จึงได้สรุปในตารางสรุปเรื่องการจัดทำสูติบัตร...ตามหนังสือสั่งการข้างต้นในว่าคนต่างด้าวถือพาสปอร์ตเทียบได้กับบุคคลรหัส 6 ส่วน Border Pass  ไม่มีการเอ่ยถึง เพราะการได้สูติบัตรของเด็กแตกต่างกันไป

 

ผมเห็นว่าหากพ่อแม่ถือ Border Pass ในระหว่างเวลาก่อนลูกเกิด, ลูกเกิด, ภายหลังลูกเกิดมีช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน แม้ว่าจะต่อ Border Pass ทุกสัปดาห์ การแจ้งเกิดของบุตรที่เกิดในประเทศไทย ลูกควรได้รหัสบุคคลเป็น 7 และได้ประเภทสูติบัตรเป็น ท.ร.3 และได้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านกลางท.ร.13

 

ดังกรณีของด.ช.เฮ๊งไปแท๊ก ซึ่งเกิดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 โดยแม่ถือ Border Pass ที่ไม่ขาดต่ออายุทั้งในช่วงเวลาก่อนเด็กเกิด, เด็กเกิด, และหลังเด็กเกิด  

หมายเลขบันทึก: 250722เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอตรวจการบ้านนักศึกษาก่อนนะคะ

แล้วจะมาแลกเปลี่ยนด้วย

ว่าจะตอบเอง แต่คิดไปคิดมา เห็นว่า ให้ อ.ไหมตอบดีกว่า เพราะ เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่คุณจันทร์กระดาษถาม ก็คือ ประเด็นในหัวข้อวิทยานิพนธ์ของ อ.ไหม

โดยหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ มนุษย์คนหนึ่งจะได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใด ก็เพราะมีข้อเท็จจริงที่ทำให้มีสิทธิในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ซึ่งโดยทางปฏิบัติของนานาอารยประเทศ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑) รัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรต้องยอมรับที่จะบันทึก "คนสัญชาติ" ในทะเบียนราษฎรของตน ซึ่ง "ทฤษฎีความเป็นเจ้าของประเทศของคนสัญชาติ" คงเป็นที่ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขในประเทศประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องก็คือ มาตรา ๓๔ แห่งรัฐธรรมนูญฯ และการบันทึกคนสัญชาติไทยย่อมเป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ

(๒) รัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรอาจยอมรับที่จะบันทึก "คนต่างด้าว" ในทะเบียนราษฎรของตน ซึ่ง "ทฤษฎีความยินยอม" นี้เองที่ชี้ว่า คนต่างด้าวซึ่งโดยธรรมชาติไม่มีสิทธิในดินแดนของรัฐ อาจได้รับสิทธิที่จะเป็นราษฎรของรัฐได้ หากรัฐนั้นยินยอมให้สิทธิอาศัยบนดินแดนของรัฐ กรณีของประเทศไทย ก็จะมี ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) การบันทึกคนต่างด้าวอยู่ถาวรในไทยย่อมเป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ (๒) การบันทึกคนต่างด้าวอยู่ชั่วคราวย่อมเป็นไปตามมาตรา ๓๘ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ

(๓) รัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรต้องยอมรับบันทึก "คนต่างด้าวไร้รัฐ" ในทะเบียนราษฎรของตน ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเกิดขึ้นจาก "หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ว่าด้วยสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย" ดังที่เราเห็นในข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ เหตุผลก็เพราะเมื่อเขาไร้รัฐเจ้าของสัญชาติและเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน รัฐที่พบตัวจึงมีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลให้แก่เขา

เมื่อย้อนกลับมาที่ "เด็กชายเฮ็งไปแท็ก" จึงต้องมาถามว่า รัฐไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่จะปฏิบัติอย่างไรต่อคนเกิดคนนี้

คำตอบในประการแรก ก็คือ รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนย่อมต้องรับรองจุดเกาะเกี่ยวให้แก่คนที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งหน้าที่นี้กฎหมายไทยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล เป็นเรื่องตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ นั่นเอง

คำตอบในประการที่สอง ก็คือ รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนย่อมจะต้องรับรองการเกิดให้แก่คนที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งโดยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ฟังได้ว่า เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎรของรัฐที่ออก "birth certification"  ซึ่งในกรณีนี้ รัฐไทยเพิ่งทำความชัดเจนในกฎหมายไทยเพื่อให้นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยได้ทำหน้าที่สำหรับมนุษย์ทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าการเกิดนั้นจะมีขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าบิดาหรือมารดาของคนเกิดจะมีรัฐหรือไร้รัฐ ไม่ว่าบิดาหรือมารดาของคนเกิดจะเข้าเมืองไทยถูกหรือผิดกฎหมาย

คำตอบในประการที่สอง ก็คือ รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรย่อมจะต้องทำ "birth registration" ให้คนเกิดซึ่งเป็นคนในทะเบียนราษฎรของตน ในกฎหมายไทย ก็คือ การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ในกรณีของคนเกิดที่ไม่มีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ก็ต้องเริ่มต้นจาก "การลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร" เสียก่อน

ย้อนกลับมาในกรณีของเด็กชายเฮ็งไปแท๊ก จึงต้องมาพิจารณาว่า บิดาหรือมารดามีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็ร้องขอเพิ่มชื่อบุตรในสถานะคนเกิดในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติได้เลย แต่ถ้าบิดามารดาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ก็จะต้องมาพิสูจน์สิทธิอาศัยให้แก่คนเกิด หากจะต้องการทำทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติให้แก่คนเกิด

ในกรณีตามข้อเท็จจริงนี้ ควรต้องแนะนำให้มารดาไปแจ้งเกิดให้แก่บุตรในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าด้วย เพราะมารดามีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่า เป็นคนละเรื่องกับที่กำลังแสวงหาสิทธิที่ดีในทะเบียนราษฎรไทย

ประเทศพม่ากำลังจะดีขึ้น แม้ช้า ขอจันทร์กระดาษค่อยๆ พิจารณาเรื่องนี้

ในไม่ช้าคงมีการทำใบอนุญาตทำงานของคนชายแดนตามมาตรา ๑๔ แห่ง  พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งคงต้องผลักดัน กฎหมายบัญญัติแล้ว แต่ถ้าไม่มีการใช้สิทธิ ก็น่าเสียดาย ไม่ทราบว่า เอนจีโอระนองเข้าใจเรื่องนี้เพียงไหนค่ะ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนโดยกฎหมาย

เอาแค่นี้ก่อน แล้วให้ อ.ไหมมาตอบต่อไป

มาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นทางเข้าที่ ๙ สู่ตลาดงานไทยของแรงงานชายแดน

คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้ ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานภายในท้องที่ที่อยู่ติดกับชายแดนหรือท้องที่ต่อเนื่องกับท้องที่ดังกล่าว คนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะทำงานตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวพร้อมกับแสดงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางต่อนายทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในการออกใบอนุญาต ให้นายทะเบียนระบุท้องที่หรือสถานที่ที่อนุญาตให้ทำงาน ระยะเวลาที่อนุญาตให้ทำงาน ประเภทหรือลักษณะงาน และนายจ้างที่คนต่างด้าวนั้นจะไปทำงานด้วย ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ความในมาตรานี้จะใช้บังคับกับท้องที่ใด สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติใด เพื่อทำงานประเภทหรือลักษณะใด ในช่วงระยะเวลาหรือฤดูกาลใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เราคงต้องรอกฎหมาย(กฎกระทรวง) ตามที่อ.แหวว ไว้เหมือนกันว่าจะมาถึงเมื่อไร หรือมีแล้วแต่ผมหาไม่เจอ !

ต้องค้นคว้านะคะ

คิดว่า ยัง

ลองถามคุณอดิศรไหมคะ ?

เดี๋ยวอีเมลล์ไปถามก่อนค่ะ

ต้องเอาเรื่องขอ "เฮ๊งไปแท๊ก" มาคุยกัน เป็นต้นแบบความคิดที่ชัดๆ มาทำการบ้านกับ อ.วีนัส และ อ.อุดมเขต

หาเวลาเขียนบันทึกเกี่ยวกับเฮ๊งไปแท๊ก อีกมักเรื่องก็ดีนะคะ

พ่อเป็นคนไทยแม่เป็นคนต่างด้าวแต่แม่ไม่มีเอกสานสามาดแจ้งเีกีดลูกได้ไหม

พ่อเป็นคนไทย แม้แม่ไม่มีเอกสารก็แจ้งเกิดลูกได้ครับ แต่ให้พ่อเป็นคนไปแจ้งการเกิด เพื่อยืนยันความเป็นพ่อ พิสูจน์ว่าพ่อเป็นคนมีสัญชาติไทย

เวลาแจ้งเกิดแม่ก็ใช้ชื่อแม่ที่แท้จริง ได้ครับ

ตามมาตรา 14 ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงครับ ผมก็รอลุ้นแล้วลุ้นเล่า

กรณีประเทศพม่าดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของอาจารย์ ต้องดีเบตยาว ฮ่าๆ ๆ (ผมกับอาจารย์มอง Modern State กับการใช้อำนาจในมิติที่ต่างกันระดับหนึ่ง ตามกระบวนการที่ได้รับเทรนมาที่ต่างกัน อิอิอิ) อันนี้แซวอาจารย์เฉยๆ นะครับ ไม่ดีเบตต่อเด็ดขาด ฮ่าๆ ๆ

ผมไม่กล้าฟันธงกรณีเอกสารผ่านแดน ถ้าหากเอาไปโยงกับการได้เลข 7

อื้อ น่าคิดแฮะ ขออนุญาตไปดูเพิ่มเติมเรื่องหนังสือผ่านแดนอีกทีนะครับ เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้านด้วยครับ

ขอไปค้นดูอีกที

ถ้าจะขอลูกพม่ามาเลี้ยงโดยแจ้งเกิด ชื่อพ่อและแม่ที่เป็นคนไทยเลยได้มั้ยคะ หรือต้องมีใบมอบบุตรคะ

ตอบคุณรัก ขอลูกชาวพม่ามาเลี้ยง ควรจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เ้พื่อความยั่งยืนของเด็ก และความปลอดภัยของคุณเองนะครับ

การนำลูกพม่ามาเลี้ยง แล้วแจ้งเกิดให้เป็นพ่อแม่ไทยผิดกฎหมายอาญาครับ ผู้ที่ไปแจ้งและผู้สนับสนุนจะต้องโทษทางอาญาไปด้วย

การแจ้งเกิดต้องแจ้งไปตามความเป็นจริงครับ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น ก็ไม่ต้องหวาดหวั่นว่าจะถูกค้นประวัติว่าการแจ้งเกิด เกิดจากการกระทำผิดอันจะส่งผลให้เด็กหมดอนาคต ทั้ง ๆ ที่ เด็กไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำความผิดนั้น

การแจ้งเกิดเด็กเป็นลูกของคนไทย หากเด็กจะต้องกลับประเทศต้นทางของพ่อแม่ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ไม่อาจจะกลับไปและอยู่ในฐานะของคนพม่าได้ เพราะสูติบัตร มิได้ระบุชื่อพ่อแม่เป็นชาวพม่า หรือเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นชาวพม่าของพ่อแม่แต่ประการใด

การแจ้งเกิดก็แจ้งไปตามความเป็นจริง หากต้องการรับเป็นลูก ก็ยื่นคำขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเป็นทางออกที่ดี และถูกต้องกตามกฎหมายครับ

สวัสดีครับ...คุณจันทร์กระดาษ

            ผมมีเรื่องอยากจะถามหน่อยครับ พอดีไม่มีความรู้ในด้านนี้เท่าไหร่ คือว่าผมเป็นคนไทยและได้แต่งงานกับแรงงานต่างด้าว(พม่า) จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน แฟนผมมีพาสปอร์ตและมีใบอนุญาติทำงาน ซึ่งผมเป็นนายจ้าง และลูกผมตอนนี้ อายุ 9 เดือนเศษ มีใบเกิด(สูติบัตร)เป็นคนไทย ปัญหามีอยู่ว่า ผมและแฟนจะพาลูกไปเยี่ยมแม่ยายซึ่งอยู่ทางประเทศพม่า ซึ่งผมไม่รู้ว่าผมต้องดำเนินการอย่างไร เท่าที่ผมทราบคือผมต้องยื่นขอวีซ่าที่กงศุลพม่า เพื่อขอเข้าประเทศพม่า ส่วนแฟนผมก็แจ้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองว่าจะขอกลับบ้าน ปัญหาคือเรื่องลูกครับ เรื่องลูกนี้ผมต้องทำอย่างไรครับ ผมต้องไปทำพาสปอร์ตใหม่โดยถ่ายรูปคู่กับลูกเพื่อขอเข้าประเทศพม่า หรือใช้ใบเกิดเป็นหลักฐานแค่นั้นก็พอ 

             และอีกอย่างครับ สมมุติว่าในกรณีที่ผมไม่ได้ไปด้วย แล้วแฟนผมจะพาลูกกลับไปเยี่ยมแม่ยายที่ประเทศพม่าเอง จะพาไปได้หรือไม่ เพราะเอกสารใบเกิดเป็นคนไทย(ผมกลัวว่าทางเจ้าหน้าที่จะไม่ยอม หาว่าลักพาเด็กเข้าประเทศ) รบกวนคุณจันทร์กระดาษให้คำแนะนำด้วยครับ พอดีจะไปเดือนหน้าที่จะถึงนี้แล้ว


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท