วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล เพื่อการพัฒนาระบบ



ช่วงเช้าวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมไปร่วม "การประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ" ที่ HITAP ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ ๑ ชั่วโมง ผมก็บอกตนเองว่า นี่คือส่วนเล็กๆ ของการพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า ของประเทศไทย

ที่จริงนี่คือการนำเสนอผลงานวิชาการตามข้อกำหนดของทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย ของ สกว. ที่มอบให้แก่ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส และเรื่องที่นำมานำเสนอขอข้อเสนอแนะในวันนี้ เป็นเรื่อง การทำงานภายใต้คณะทำงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ผมฟังแล้วบอกตัวเองว่า นี่คือเรื่องราวของการทำให้การตัดสินใจในเรื่องยุ่งๆ มีความยากและซับซ้อน เสี่ยงต่อความลำเอียง การเล่นพวก และคอร์รัปชั่น กลายเป็นเรื่องที่มีข้อมูลหลักฐาน และเปิดเผย เกิดการตัดสินใจแบบ ยืนอยู่บนหลักฐาน (evidence-based)

ผลงานวิจัย ประเมินเทคโนโลยีสุขภาพ ที่นำมาเสนอ ทั้ง ๔ เรื่อง เป็นเรื่องยา ที่คณะอนุกรรมการ พัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะต้องตัดสินใจว่าจะเพิ่มเข้าในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ โดยที่ยาที่จำเป็นมากๆ ใช้ได้ผลดี และราคาไม่แพง ก็เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหมดแล้ว ดังนั้นยาที่ได้รับการเสนอให้ทำวิจัยในปี ๒๕๕๗ จึงเป็นยายากๆ มักราคาแพง และผลไม่ชัดเจน นพ. ยศบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นยาเบาหวานและยามะเร็ง ดังเรื่องที่นำเสนอในวันนี้เป็นยามะเร็ง ๓ เรื่อง และยารักษาข้ออักเสบรูมาตอย ๑ เรื่อง

ผู้เสนอรายชื่อยามาให้พิจารณาคือหมอผู้ดูแลผู้ป่วย เมื่อคณะทำงานได้รับรายชื่อ ก็เอามาจัด ลำดับความสำคัญ ยาที่อยู่ในกลุ่มลำดับความสำคัญสูง ก็เข้าสู่กระบวนการวิจัย ยาที่อยู่ในกลุ่มที่ลำดับ ความสำคัญต่ำ บริษัทยาสามารถทำงานวิชาการและนำเสนอด้วยตนเองได้ กระบวนการแบบนี้เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ทำให้ระบบตัดสินใจเรื่องระบบบัญชียาหลักมีความชัดเจนแม่นยำ และเป็นวิชาการดีมาก รวมทั้งเป็นมิตรต่อบริษัทยาด้วย เป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆ

ระเบียบวิธีวิจัยก็เป็นระบบ มีขั้นตอน นำเอาเรื่องมั่วๆ หรือยืดหยุ่นมาก มาทำให้มีขั้นตอน มีสมมติฐาน และเก็บข้อมูลเอามาวิเคราะห์ เพื่อตอบคำถามความคุ้มค่า ในกรณีที่ยายังไม่คุ้มค่า ก็มีวิธีเสนอว่า จะทำอย่างไรจึงจะคุ้มค่า ซึ่งข้อเสนอมาตรฐานคือ ต่อรองกับบริษัทยาให้ลดราคาลง ซึ่งยาบางตัวต้องลดลงเหลือ ๑๐% ของราคาเดิมจึงจะคุ้มค่า บางตัวลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หรือหนึ่งในสาม ก็คุ้มค่า โดยที่ผู้รู้บอกว่า ลดราคาขนาดนั้น บริษัทยาก็ยังได้กำไรมาก มีการพูดกันว่ายาบางตัว ต้นทุนเพียง ๐.๕% ของราคาขาย

แต่ก็มียาตัวหนึ่ง แม้บริษัทยายอมลดราคาลงมาจนคุ้มค่า ประเทศไทยก็ไม่มีเงินจ่ายอยู่ดี เพราะเงินที่มีต้องเอาไปดูและผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย คือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพขึ้นปีละ ๕,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ สปสช. ได้รับงบประมาณเพิ่มเพื่อดูแลทุกเรื่องเพียง ๕,๐๐๐ ล้านบาท

ในฐานะคนที่ไม่มีความรู้เชิงสาระ ผมฟังแล้วเกิดความสุข ความภูมิใจ ที่ระบบสุขภาพของเรา มีขีดความสามารถในการจัดการพัฒนาข้อมูลหลักฐานเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ดีถึงเพียงนี้ โดยที่ นพ. ยศบอกว่า เรายังมีลู่ทางพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้อีกมาก

และตัว " คอขวด" ในปัจจุบัน คือข้อมูลจากการดูแลผู้ป่วยทางคลินิก ซึ่งในกรณียายากๆ เหล่านี้ ข้อมูลอยู่ในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมักมีการหวงข้อมูล หรือไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและแม่นยำ เราจึงตกลงกันว่า จะจัดการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเอาชนะข้อจำกัดนี้

ผมอยากเห็นสภาพของการวิจัยประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในทำนองนี้ ในระบบอื่นๆ ของประเทศ เช่นระบบการศึกษา ระบบพลังงาน ระบบเกษตร ระบบสิ่งแวดล้อม จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศเป็นอันมาก

ผมเคยบรรยายเรื่องวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลในบริบทของภาคประชาสังคมในชนบท ดังใน บันทึกนี้


วิจารณ์ พานิช

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘

ห้องรับรองการบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ


หมายเลขบันทึก: 589803เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2015 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2015 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท