ชีวิตที่พอเพียง ๒๔๐๔. อุดมศึกษาที่ดีไม่ได้มีเฉพาะที่ฮาร์วาร์ด



ผมมีโอกาสได้อ่านคำวิจารณ์หนังสือ Where You Go Is Not Who You'll Be : An Antidote to the College Admissions Mania ถึง ๓ ภาค แสดงว่าหนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจในอเมริกามากทีเดียว ที่น่าสนใจคือผู้วิจารณ์เขียนคำวิจารณ์ไปคนละทาง

เป็นการตีความหนังสือที่เมื่อได้อ่านแล้วประเทืองปัญญาดีจริงๆ

คำวิจารณ์ชิ้นแรกที่ผมพบอยู่ใน The Wall Street Journal ชื่อ Gilding the Sheepskinตีความว่า หนังสือเล่มนี้บอกผู้อ่านว่ามหาวิทยาลัยที่ดี คือมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้และบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิต ให้ศิษย์ออกไปมีชีวิตที่ดีได้ มหาวิทยาลัยแบบนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น

เขาบอกว่า มหาวิทยาลัยที่ดี คือมหาวิทยาลัยที่ให้ "ประสบการณ์การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (transformative educational experience) ท่านที่สนใจเรื่องการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง โปรดอ่าน บันทึกชุดนี้

คำวิจารณ์นี้ ชี้ให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของอุดมศึกษา ว่าไม่ใช่เป็นการชุบตัว ไม่ใช่เป็นการหาตราติดหน้าผากว่าตนจบ มาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ให้พ่อแม่คุยอวด ว่าลูกของตนเอ็นท์เข้าฮาร์วาร์ดได้นะเข้าเยลได้นะฯลฯ แต่อยู่ที่การให้ประสบการณ์ชีวิต ที่ปูพื้นฐาน ให้เป็นคนดีมีความสามารถ ออกไปเป็นคนดี มีชีวิตที่ดี และทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดี

ผู้วิจารณ์ (Daniel Akst) บอกว่า ผู้เขียนหนังสือ (Frank Bruni) ยังเขียนไม่ครบ คือยังไม่ได้วิจารณ์ระบบการคัดคน เข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา ผู้วิจารณ์จึงวิจารณ์เองว่า เป็นระบบที่เอื้ออภิสิทธิ์แก่คน ๕ กลุ่มคือ คนมีพรสวรรค์ด้านกีฬา คนมีพรสวรรค์ด้านสมองดี คนพ่อรวย คนที่พ่อหรือแม่เป็นศิษย์เก่า และคนที่มาจากครอบครัวที่ไม่เคยมีคนเรียนมหาวิทยาลัยเลย

ดูจากรายชื่อประธานาธิบดี ประธานศาลฎีกา ผู้สร้างสรรค์ธุรกิจฉีกแนว ผู้บริหารบริษัทมีชื่อเสียง ก็จะเห็นจริงว่า การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงก็มีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างคนอีกมากมายที่ไม่ได้เข้าเรียน ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงขนาดนั้น แต่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี มีชื่อเสียงหรือ ranking รองลงมา ก็มีชีวิตที่ดี โดยเขาเอ่ยถึงคุณค่าของการได้ออกจากนครหรือรัฐภูมิลำเนา ไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในอีกซีกหนึ่งของประเทศ ช่วยเปิดโอกาสให้เรียนรู้โลกกว้าง

คำวิจารณ์ชิ้นที่สอง ที่ผมอ่านพบอยู่ในนิตยสาร ไทม์ ฉบับลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง The Elite Squeeze : Top Schools Appear More Exclusive Than Ever. But A High-Quality Education Has Never Been Easier To Findเป็นคำวิจารณ์ที่ผมคิดว่า ให้คุณค่ามากที่สุด เสียดายที่หากจะอ่านบทความนี้ ก็ต้องซื้อ ไม่มีให้อ่านฟรี

สาระในบทความคำวิจารณ์ชิ้นนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำว่า "มายาของอุดมศึกษา" ในยุคปัจจุบัน ที่มีการคิดค้นหรือสร้าง วาทกรรมขึ้นมาหาผลประโยชน์จากระบบอุดมศึกษา เกิดทั้งคุณและโทษต่อสังคม ดังกรณีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโดย นสพ. US News and World Report ที่ออกมาทุกปี สร้างความบ้าคลั่งในการแข่งขันกันสมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเพียงไม่กี่แห่ง โดยที่จริงๆ แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยที่ดี หรือเหมาะต่อนักเรียนรายบุคคล มากกว่าการเชื่อตาม US News and World Report

วาทกรรมลวงอีกอย่างหนึ่งคือ อัตราความสำเร็จของผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยใดอัตรายิ่งต่ำ ยิ่งถือว่าคุณภาพสูงในสายตาสาธารณชน คือชื่อเสียงดี เข้ายาก อัตรานี้ สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ยิ่งนับวันก็ยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ คือมีผู้สมัครเพียงหยิบมือเดียว ที่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นตัวเลขลวง เพราะในยุคนี้ การสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ทำทางอินเทอร์เน็ต ผู้สมัครจึงสมัครเผื่อฟลุ้กไว้หลายๆ แห่ง โดยไม่ต้องออกแรงเพิ่ม เพราะใช้เรียงความชิ้นเดียวกันได้

บทความนี้บอกเราว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเขามีเป้าหมายของเขาในการเลือกรับนักศึกษา เพื่อความสำเร็จ ของมหาวิทยาลัย ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนที่เกิดการปทะสังสรรค์กันทางสังคม แล้วนักศึกษาเกิดการงอกงามทางปัญญารอบด้าน จึงต้องการนักศึกษาหลายหลายแบบ มาอยู่ร่วมกัน เขาจะหาทาง "หยิบ" ผู้สมัครจากคุณสมบัติที่ระบุในใบสมัคร เช่นคนที่เล่นเครื่องดนตรี โอโบ คนที่เล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลล์ หมากรุก คนที่มาจาก รัฐไกลๆ เช่น อลาสก้า คนที่นับถือศาสนาฮินดู คนจีน เป็นต้น ทั้งนี้ น่าจะหมายความว่า ผลการเรียนวิชาโดยทั่วไปก็ต้องไม่ขี้เหร่ เกินไปด้วย

เป้าหมายความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในระยะยาว คือได้ฝึกฝนนักศึกษาออกไปดำเนินชีวิตประสบความสำเร็จ เป็นศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง กลับมาทำประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย เช่นบริจาคเงิน

หากมองมุมกลับ และมองแง่ดี จะพบว่า เวลานี้ในสหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยดีๆ ให้เข้าเรียนมากกว่าสมัยก่อน จำนวนนักศึกษาที่รับก็มากขึ้น โดยที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ใช่ ๑๐ อันดับแรก แต่อาจติด ๑๐๐ อันดับแรก หรือไม่ติดก็ได้ เพราะมีมหาวิทยาลัยที่มีจุดเด่นพิเศษของตน เช่นเก่งด้านจิตวิทยาพฤติกรรม เก่งด้านความเป็นนานาชาติ เพราะมีแคมปัส อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ให้นักศึกษาหมุนไปเรียน ภาคเรียนละประเทศก็ยังได้ เพื่อจะได้คลุกคลีสมาคมกับผู้คนในประเทศนั้นๆ

บทความไม่ได้เอ่ยถึง แต่ผมมีประสบการณ์ตรง ที่ลูกชายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเล็กๆ คือ Naropa University ที่มีคุณภาพสูงมาก

หัวใจคือ รู้ความต้องการของตน และเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่ตรงตามที่ตนต้องการ ที่ให้การศึกษาที่มีคุณภาพ ตามความต้องการนั้น ไม่ใช่เลือกตามข้อมูลการ "ปั่นราคา" ด้วย ranking ไม่ว่าจะจัดอันดับด้วยวิธีใด

เมื่อค้นในกูเกิ้ล จึงพบ คำวิจารณ์ชิ้นที่ ๓ ลงใน The New York Times ที่นี่ ผู้วิจารณ์ (Scott A. Sandage ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน)ระบุผลกระทบหลักที่ได้จากมหาวิทยาลัย ๓ ประการคือ อัตลักษณ์ (identity) ความสำเร็จ (success) และ ความสุข (happiness) และบอกว่า การได้รับการศึกษาที่ดีเยี่ยมไม่ใช่อยู่ที่ได้เข้าเรียนใน มหาวิทยาลัยใด แต่อยู่ที่เมื่อเข้าเรียนแล้วตั้งใจเล่าเรียนและฝึกฝน ตนเองเพียงใดต่างหาก

Scott Sandage วิจารณ์หนังสือทีเดียว ๒ เล่ม คือ Where You Go Is Not Who You'll Be กับ The End of College : Creating the Future of Learning and the University of Everywhereเขียนโดย Kelvin Carey

ผู้เขียนหนังสือไปสัมภาษณ์คนที่ไม่สมหวังตอนสอบเอ็นท์ แต่อีกหลายปีให้หลัง เมื่อผู้เขียนไปสัมภาษณ์ ก็บอกว่า รู้สึกยินดีที่ตอนนั้นไม่ได้ไปเรียนในใหาวิทยาลัยที่สมัครอันดับ ๑ แต่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นรองไกลบ้าน ต่างรัฐ มีผลให้ตนได้ออกไปจากชีวิตที่สะดวกสบาย (comfort zone) ไปเผชิญชีวิต และฝึกเป็นผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งมีผลให้มีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

ลักษณะของคนที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยคือ ใจที่เปิดกว้างรับรู้และเรียนรู้จากสิ่งที่ค้นพบ โดยบังเอิญ (serendipity) ความว่องไวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเปลี่ยนทิศทาง

Scott Sandage อ้างคำแนะนำที่ Kelvin Carey ให้แก่มหาวิทยาลัย ว่า ด้วยพลังของ ไอที นักศึกษาอาจไม่ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยใดๆ เลย แต่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่า ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการศึกษามีมากกว่าการเรียนวิชา ยังต้องมีเรื่องการเรียนและงอกงาม "ทักษะอ่อน" (soft skills) ที่ได้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กับเพื่อนนักศึกษา และอาจารย์ การเรียน on-line เป็นเพียงตัวเสริม ไม่ใช่ทดแทนการเรียนในมหาวิทยาลัย (on campus)

ผู้วิจารณ์กล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นเยี่ยม ที่เป็นนักวิจัยด้วย นักบริหารด้วย เป็นผู้ชักจูงให้รัฐบาล และกลไกอื่นๆ สนับสนุนเกณฑ์ "มหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม" ในสังคม สร้างความบ้าคลั่งแข่งขันกันสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่เป็น "มหาวิทยาลัยลูกผสม" (hybrid university) คือผสมระหว่างเรียนในแคมปัส กับเรียนออนไลน์ โดย Kelvin Carey ระบุว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไอที และความก้าวหน้าของศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ ทำให้เกิด "มหาวิทยาลัยแห่งทุกเทศะ" (University of Everywhere) ที่ผมอยากเติมให้ว่าเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งทุกกาละเทศะ" (University of Anytime and Everywhere) เรียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุดมศึกษาในอนาคต

การปฏิวัติการเรียนรู้ในอนาคตอันใกล้ เกิดจากการบรรจบของ "ศาสตร์ใหม่ว่าด้วยการเรียนรู้" (new science of learning), รูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์แบบใหม่ (new online business model), และ วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางดิจิตัลแบบใหม่ (new kind of verifiable digital credentials) ก็จะเกิด "สถาบัน" การเรียนรู้แบบใหม่ ขึ้นมาท้าทาย"มหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม" ในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลง "ภูมิประเทศอุดมศึกษา" ที่หายากและราคาแพง ให้มีอยู่ทั่วไปและไม่แพง ซึ่งหากเกิดสภาพนั้นจริงในอนาคต สิ่งที่จะขาดหายไป คือบรรยากาศห้องเรียนที่คนที่แตกต่างหลากหลายมามีปฏิสัมพันธ์กัน

มนุษย์สัมผัสมนุษย์หายไป อะไรจะเกิดตามมา


วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 589801เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2015 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2015 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท